นี่คือปี พ.ศ. 2565 และเราเชื่อว่าตอนนี้คงมีใครหลายคนที่ไม่ได้อาศัยประจำในบ้านหลังที่ตนเองเติบโตมาอีกแล้ว อาจด้วยหน้าที่การงานที่ทำให้ต้องออกไปใช้ชีวิตที่อื่น กวิน ว่องวิกย์การ สถาปนิกจาก Destroy Dirty Things อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และผู้ออกแบบที่พักอย่าง เส้น นอน บ้าน (Home Stay & Gallery) ในจังหวัดอุทัยธานี เป็นหนึ่งในผู้คนเหล่านั้น ซึ่งเขาได้ให้ความหมายของชื่อDestroy Dirty Things ไว้ว่า “ผมให้ความสำคัญกับสุนทรียะมาก สถาปัตยกรรมต้องพาให้คนใช้รื่นรมย์ อาหารหล่อเลี้ยงร่ายกาย ส่วนสุนทรียะมีหน้าที่หล่อเลี้ยงจิตวิญญาณ เมื่อไหร่ก็ตามที่เราทำลายความน่าเกลียดได้ ผมคิดว่าหัวใจของคุณจะพองโต”
เส้น (สาย-ลายเส้น)
“ศิลปะของเส้นมี 2 นัยยะ นัยยะหนึ่งคือวาดเส้นลงไปบนสถาปัตยกรรม วาดอุทัยลงไปในสถาปัตยกรรม ไม่ว่าจะเป็นเรือนแพ ภาพเห็นเมืองอุทัย อีกนัยยะหนึ่งของเส้นก็คือ เส้นที่เกิดจากสถาปัตยกรรม ไม่ว่าจะเป้นเส้นโครงสร้าง เสา คาน ตง ชั้นหนังสือทั้งหลาย” อาจารย์กวินบอกถึงที่มาของคำว่า ‘เส้น’ ที่เป็นชื่อของโครงการนี้
“ผมคิดว่าไม้นี่มันมีสเน่ห์ตรงมันเป็นเส้นด้วยตัวมันเอง การประกอบสร้างของไม้ ไม้ที่มาเทคทอนิคกัน มันก็เกิดเป็นโครง จุดเริ่มต้นของ Architecture คือโครง โครงกระดูกของมันก็คือเส้น การวาดภาพก็เริ่มขึ้นจาก ‘เส้น’ เช่นกัน เส้นของไม้อาจจะอยู่ในรูปของท่อนหรือแผ่น ถ้าเกิดเอาท่อนไม้มาประกอบกันก็จะกลายเป็นโครง(สร้าง) ถ้าเกิดเอาแผ่นไม้มาต่อกันก็จะกลายเป็นพื้นหรือฝา แต่ทุกอย่างก็จะต้องเริ่มขึ้นจากโครงก่อน
“ภาษาหลักในบ้านนี่จะเห็นเส้นเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นเฟรมของชั้นหนังสือ เฟรมของหน้าต่าง เส้นของเสา เส้นของคานที่มันวิ่ง ซึ่งเส้นเหล่านี้มันก็เป็นฟังก์ชั่นในตัวเองด้วย อีกส่วนคือมันเป็นตัวประดับตกแต่งด้วยตัวมันเอง คือมันไม่ต้องมีอะไรตกแต่ง เราเห็นความเป็นเส้นแล้วมันทอนสายตาด้วยตัวมันเอง มันก็ละมุนด้วยตัวมันเอง
“บ้านหลังนี้เมื่อก่อนมันจะมีฝ้าเพดานแบบตรงๆ เรียบๆ สีขาว ผมรื้อออกหมดเลยฝ้า แล้วมันก็จะเห็นท้องพื้น เห็นตงพื้น เส้นก็จะปรากฏ ไม้ก็จะปรากฏตัว ข้างบนก็จะเห็นโครงหลังคา เห็นอะเส-ขื่อ-ดั้งวิ่งลอยๆ ที่มันเคยถูกซ่อนอยู่เหนือฝ้าเพดาน มันก็ปรากฏตัว เส้นของไม้ก็ปรากฏ ซึ่งมันอาจจะไม่เนี้ยบ เพราะช่างที่เขาทำตอนแรกเขาไม่ต้องการโชว์ ความไม่เนี้ยบก็คือความคราฟต์ชนิดหนึ่ง ผมเลยมองว่าเส้นที่มันปรากฏตัวเหล่านี้เป็นศิลปะที่มันอยู่ใน Architecture ผ่านโครงสร้างไม้”
นอน (บน-สัจจะวัสดุ)
“เวลาเราเสพสถาปัตยกรรม เราไม่ได้เสพแค่ตาเห็น เราได้ยิน เราเอามือไปลูบ เราเอาก้นไปนั่ง เราเอาเท้าไปเหยียบ เราตัวไปทาบ เราเอาตัวไปนอน เราได้กลิ่น เราสัมผัส มันเป็นงานศิลปะที่มนุษย์รับรู้หลากสัมผัส Multisensory มากกว่าการดู ตรงนี้ผมให้ความสำคัญมาก คือการสัมผัสสถาปัตยกรรม อันนี้คือต้นทุนอันหนึ่ง ก็เลยมองว่าสถาปัตยกรรมไม่ได้จบแค่ฟอร์มและหน้าตาสวยงาม
“จะเห็นว่ามีเตียงจริงจัง 2 ตัว แต่อีก 2 ห้องที่เหลือจะนอนบนฟูก ฟูกจะนอนบนพื้น ผมต้องการให้คนสัมผัสพื้นไม้ใกล้ๆ หรือว่านั่งที่พื้น ขนาดคนญี่ปุ่นยังไปอาบป่ากันเลย
“สถาปัตยกรรมที่ผมเชื่อมันต้องพาให้คนไปสัมผัส รื่นรมย์ อิ่มเอม ใจพองโต เพราะฉะนั้นสิ่งที่มันจะแนบแน่นกับมนุษย์ที่สุดคือ Texture คือ Material โดยเฉพาะวัสดุธรรมชาติ เราเอาเท้าไปเดินบนพื้นไม้ เอาก้นไปนั่ง เอาเท้าไปเหยียบ หรือเราเอามือไปลูบไม้ลูบผนังอิฐคือเรื่องเดียวกัน มันทำให้มนุษย์เชื่อมโยงความงาม มนูษย์ซึมซับความงามทางสถาปัตย์ที่มันลึกขึ้น มันอินมากขึ้น และมันก็วิ่งไปที่ใจมากขึ้น ถ้าเราออกแบบดีๆ คนที่มาอยู่ที่บ้านก็จะสงบ อบอุ่น เย็น คือมันกระทำไปมากกว่าตา”
บ้าน (เกิด-เมืองนอน)
ที่นี่–อุทัยธานีเป็นบ้านเกิดของอาจารย์กวิน และก็เป็นบ้านหลังที่เขาเติบโตมาด้วยเช่นกัน อายุบ้านประมาณ 40 ขวบปี บ้านจะเป็นครึ่งปูนครึ่งไม้ ซึ่งถือว่าเป็นภาษาของบ้านต่างจังหวัดในยุคนั้น สัดส่วนเรียบง่าย มีความซื่อๆ
“พ่อผมแกชอบซื้อเฟอนิเจอร์ไม้ แล้วก็ซื้อไม้มาให้ปู่ทำ เขาเป็นช่างไม้ ทำทั้งบ้านหลังนี้แล้วก็เฟอร์นิเจอร์ เพราะฉะนั้นมันจะเป็นภาษาแบบช่างบ้านๆ น่ะ อีกอันคือพื้นหินขัด ผมรู้สึกว่าเป็นภาษาของยุคนั้น เป็นสเน่ห์ แล้วก็ฝีไม้ลายมอของปู่ผมที่ทำบันได ราวจับบันได มันเป็นสเน่ห์เป็นต้นทุนอันหนึ่ง
“พ่อผมนี่เป็นคนอ่านหนังสือเยอะ แกชอบซื้อหนังสือแล้วสะสมเต็มบ้านไปหมด พอรีโนเวทบ้าน ผมมีความรู้สึกว่าถึงแม้แขกที่มาพักจะไม่อ่าน แต่หนังสือนี่แหละเป็นสเน่ห์อันหนึ่งที่หายากขึ้น หนังสือเก่าๆ อะไรทั้งหลาย ตัวหนังสือเองก็ทำมาจากไม้ แล้วโดยไม่จำเป็นต้องอ่าน เพียงแค่คุณเห็นหนังสือที่เรียงเป็นแผงที่ชั้น เสมือนเป็นส่วนหนึ่งของสถาปัตยกรรม มันก็ทำให้คนรู้สึกดี มันซอฟต์”
ด้นสดเหมือนเพลงแจ๊ส
ไม้จากเรือนเก่า–เรือนข้างหลังที่ไม่ได้อยู่ในภาพเป็นเรือนไม้ อาจารย์กวินได้ซื้อมาเพื่อใช้ไม้เพื่อทำเป็นส่วนประกอบใหม่ๆ ให้แก่เรือนนี้ที่เขากำลังสร้าง “ไม้นี่เป็นวัสดุที่สุดยอดเลยนะ คุณสามารถใช้งานได้ 3 เจนเนอเรชั่น” เขากล่าวถึงความผูกพันและสำคัญของไม้เก่า
“ผมเอาไม้ที่คงเหลือมาใช้ พวกนี้มันมีสเน่ห์ตรงที่มันมีรสมือช่างอยู่ในนั้น ไม่ว่าจะเป็นรอยบาก รอยวางคานในเสา นั่นคือร่องรอย หรือไม้กระทั่งความงามของหน้าต่างที่มันเหลือมาไม่ได้ใช้ ผมเอาไม้จากเรือนเก่าเหล่านี้มาพูดในภาษาใหม่ มาทำหน้าที่ใหม่ หน้าต่างไม่ได้เอามาทำเป็นหน้าต่างแต่เอามาทำสกรีนบังตา เพื่อแบ่งพื้นที่บ้านข้างหลังกับระเบียงวคนพักไม่ให้กวนกัน
“ผมเอาเสากันมาทำเป็นม้านั่ง มันก็จะเห็นความไม่สมบูรณ์เหล่านี้ มันเห็นสองเรื่องในตัวมันเอง เรื่องหนึ่งคือเห็นความงามในความสมบูรณ์ ผมไม่ค่อยสนใจความงามที่สมบูรณ์ ผมรู้สึกว่ามันเครียด มันดูไม่ค่อยธรรมชาติ ให้เห็นรอยที่มันผากบ้าง บากบ้าง เบี้ยวบ้าง ก่ออิฐไม่ค่อยตรงบ้าง มันคล้ายวาบิ-ซาบิ มันคือชีวิต มันไม่มีอะไรเพอร์เฟค มันก็เป็นความอีกชนิดหนึ่งที่ทำให้คนไม่ยึดติด ปล่อยวางบ้าง เราก็จะไม่ลบรอยบากใดๆ มันคือความงามที่หาไม่ได้ มันเป็นความงามที่ไม่ได้จัดตั้ง บางที่สถาปนิกจะเขียนแบบเป๊ะๆ ถ้าเราไปซื้อไม้จากโรงมันก็จะคมๆ พอใช้ไม้จากเรือนเก่ามันไม่คม พอมันไม่คม ใจมันก็ละมุน
“ตรงที่เอาเสามาแปลงให้มันทำหน้าที่ใหม่ ตรงนี้ผมไม่ได้เขียนแบบ ผมไม่ได้ดีไซน์มันตั้งแต่ต้น เมื่อไหร่ก็ตามที่เราบงการทุกเรื่องบนโต๊ะเขียนแบบหรือจอคอม มันจะไม่มีชีวิต แล้วผมคิดว่ามันเหมือนดนตรีแจ๊ส มันเป็นจังหวะที่มันด้นสด ผมไปดูหน้างานบ่อยมากนะ ผมจ้างลูกศิษย์ไปคุมงาน การจะทำแบบนี้ได้ต้องใช้เวลา เราจะไม่เห็นถ้าเราไม่ได้เดินไปดูมัน มันวาดขึ้นมา ณ ตรงนั้น เหมือนนักดนตรีแจ๊สด้น เห็นว่าตรงนี้มันเป็นสเน่ห์นะ มันทำให้สถาปัตยกรรมมันมีชีวิต”
DESTROY DIRTY THINGS
จะเห็นได้ว่าไม้และอิฐ เป็นวัสดุหลักในอาคาร เชื่อตัวของสถาปนิกเองย่อมต้องมีปรัชญาที่นุ่มนวลซ่อนไว้ภายใต้ก้อนอิฐนี้อย่างแน่นอน ซึ่งก็เป็นอย่างนั้นจริง ๆอาจารย์ได้อธิบายในส่วนของตัววัสดุธรรมชาติต่อว่า
“บางส่วนของอาคารใช้ไม้ไม่ได้ มันก็ต้องเป็นวัสดุที่มีให้เลือกกี่อย่าง คอนกรีต หิน แต่คอนกรีตนี่มันไม่ตรงกับวัสดุธรรมชาติที่ต้องการ เวลาเราทำปูนนี่มันต้องระเบิดภูเขา มันสะเทือนโลกแรงไปหน่อย ผมไม่ใช้หิน เพราะกินไม่ได้อยู่ ณ ตรงนั้น แต่อุทัยมีเตาเผาอิฐ มีคนเผาอิฐ เพราะฉะนั้นมีวัสดุหลักอยู่สองตัว คือไม้และอิฐ ไม้เป็นวัสดุที่มีชีวิต ยังไงมันละมุนด้วยตัวมันเอง คุณไม่ต้องไปเขียนลวดลาย”
“ผมมี พื้นที่สีเทา (Semi-outdoor Space) ทำให้คนใกล้ชิดธรรมชาติ พอผมใช้ไม้-ใช้อิฐ ผมพาดินให้คนสัมผัสผ่านสถาปัตยกรรม ผมใช้อิฐเพราะอุทัยฯมีการเผาอิฐ มันก็เชื่อมโยงกับชุมชน เชื่อมโยงกับถิ่นที่ เหมือนกับพาธาตุดินมาเป็นกำแพงบ้าน
“ถ้าเราถือว่าไม้มีความนุ่มนวล อิฐมันก็มีธาตุไฟในตัว มันดูอบอุ่น มันดูเร้านิดๆ แล้วมันก็ดูซอฟต์ ผมชอบมากกกับอิฐโชว์แนว มันดูซอฟต์แต่มีพลัง ไม่รู้จะอธิบายอย่างไร แต่สุดท้ายแล้วมันก็ไปตอบการรับรู้หลากสัมผัส (Multisensory)”
“โดยที่เรายังไม่จำเป็นต้อลูบผนังอิฐจริงๆ แค่คุณเห็นรูปก็รู้สึก eye touching ไม่ใช่แค่ seeing มันก็เลยวิ่งไปที่ใจ มันกระทำกับเรามากกว่าที่เราเห็นผนังอื่นเรียบๆ นี่คือพลังของวัสดุธรมชาติ ผมก่ออิฐโชว์แนว แล้วแนวผมก็เว้นซัก 1.5 เซนติเมตร มันก็เห็น Dept ของ Shade / Shadow มันก็ช่วยทำให้มันมีติมากขึ้น มันทำให้ผู้พบเห็นมาสัมผัสมากขึ้น ไม่ใช่แค่ดู
“ผนังอิฐผมไม่ได้มองมันไม่ได้เป็นแค่รั้วหรือฉากบังตา ผมมองเป็นผนังห้อง แต่เป็นผนังห้องในแลนด์สเคป เพราะเราไม่ได้มีท้องทุ่งกว้างเป็นสิบๆไร่ เพราะฉะนั้นเราต้องทำให้ Landscape มีตัวตนด้วยการสร้างห้องให้มัน เป็นการบริหารจัดการพื้นที่อันจำกัดเพื่อให้คนรู้สึกว่าธรรมชาติมันมีค่า” เขาตอบทิ้งท้ายในคำถามที่ทางเราได้ถามไปในตอนแรกที่สุด เพื่อให้เห็นถึงความงามแบบที่ DESTROY DIRTY THINGS จริงๆ ซึ่งนั่นคือการสั่นสะเทือนโลกให้น้อยที่สุดแบบที่เขาทำ
หากท่านใดต้องการติดต่อที่พักสามารถติดต่อได้ที่ https://www.facebook.com/zennonwad/
Architect : Kawin Wongwigkarn
Studio : Destroy Dirty Thing
Location : Uthaithani , Thailand
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!