Search
Close this search box.

PLAY SPACE FOR SOLVING THE PROBLEM OF NATURE DEFICIT DISORDER
เด็กอยากเล่นเป็น (เรื่อง) ธรรมชาติ

พื้นที่สนามเด็กเล่นก็เหมือนโลกกว้างของเหล่าเด็ก ๆ ที่อยู่ในวัยกำลังทดลองใช้ชีวิตให้มีความสุข ทำความรู้จักกับธรรมชาติมากขึ้น แต่ถ้าพื้นที่จำกัดก็เท่ากับโลกของพวกเขาจะแคบลง การเชื่อมต่อกับธรรมชาติก็ขาดหายไป เพราะถ้าโลกของเด็กขาดธรรมชาติ ไม่แปลกใจนักที่เด็กยุคนี้เข้าสู่ภาวะโรคขาดธรรมชาติ กลายเป็นว่าโลกที่เขารู้จักมันเป็นเพียงโลกออนไลน์ผ่านทางหน้าจอเท่านั้นเอง

เช่นเดียวกับ น้องมี่ วริชญา นิตยไสว บัณฑิตใหม่จากคณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ ภาควิชา ภูมิสถาปัตยกรรม ที่ย้อนกลับไปตอนที่เป็นเด็ก ก็เป็นคนหนึ่งที่อยากออกไปเล่นสนุกนอกบ้าน แต่กลับไม่มีพื้นที่ที่ตอบโจทย์ ความรู้สึกที่ค้างคาในวัยเด็กพามาถึงจุดที่มองเห็นความความเป็นไปได้ในการทำธีสิส PLAY SPACE FOR SOLVING THE PROBLEM OF NATURE DEFICIT DISORDER AND SUPPORTING CHILDREN’S DEVELOPMENT โครงการออกแบบพื้นที่ Play Space เพื่อแก้ปัญหาโรคขาดธรรมชาติ และส่งเสริมพัฒนาการเด็กและเยาวชน

น้องมี่บอกกับเราว่าสถานที่ Play Space ในยุคนี้ มีเยอะมากมาย แต่น่าเสียดายที่มันกลับไปอยู่ให้ห้าง ซึ่งช่างห่างไกลกับธรรมชาติ เลยเริ่มต้นค้นหาพื้นที่ในกรุงเทพที่มีศักยภาพและความเป็นไปได้มากพอที่จะพัฒนาโครงการนี้ จนมาพบกับพิพิธภัณฑ์เด็กกรุงเทพมหานคร แห่งที่ 2 (ทุ่งครุ) และพื้นที่รอบข้างที่เป็นค่ายลูกเสือกรุงธน ที่มีความสอดคล้องกับไอเดีย ทั้งในแง่โลเคชั่นและขนาดพื้นที่

จุดประสงค์ของโครงการนี้ น้องมี่ต้องการเปลี่ยนภาพจากลานลูกเสือเดิม ให้เป็นสถานที่สำหรับทำกิจกรรมและสร้างประสบการณ์สำหรับเด็ก ประสานความสนุก เรียนรู้ แต่รับรู้ถึงความสำคัญของธรรมชาติให้ได้มากที่สุด และสามารถรองรับกิจกรรมของครอบครัวไปพร้อม ๆ กัน โดยใช้แนวคิด “PLAY FOR CHANGE” เริ่มจากเปลี่ยนห้องเรียนให้เป็นห้องเรียนธรรมชาติ เปลี่ยนรูปแบบการเรียนรู้จากในหนังสือเป็นการได้ทดลองด้วยตัวเอง เปลี่ยนพฤติกรรมติดจอให้ออกมาใช้ชีวิต และเปลี่ยนสังคมจากในโรงเรียนให้เด็กๆ ได้ก้าวออกไปพบปะผู้คนใหม่ๆ

สิ่งที่ทำให้เด็กๆ สนใจอยากเรียนรู้มากขึ้น แน่นอนว่าความชอบ และแรงจูงใจเป็นสิ่งสำคัญ น้องมี่จึงนำรูปแบบของการ Role play เข้ามาในทุกกิจกรรมที่จะเกิดขึ้น เพื่อให้เด็ก ๆ รู้สึกว่า พวกเขาเป็นฮีโร่ และรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้โลกใบนี้ดีขึ้น ผ่านคาแรคเตอร์มาสคอตสัตว์ 3 ชนิด อย่าง หมี ลิง และช้าง เพื่อเป็นตัวแทนของพื้นที่แต่ละโซน และกลายมาเป็นผองเพื่อนของเด็กๆ ทำให้พวกเขาเล่นสนุกได้มากขึ้นกว่าเดิม

จากตัวพิพิธภัณฑ์ที่ภายในจัดนิทรรศการให้เด็ก ๆ เรียนรู้เกี่ยวกับภัยพิบัติ และปรากฏการณ์ธรรมชาติต่างๆ อยู่แล้ว และตรงกับคอนเซ็ปต์ที่วางไว้พอดี เลยต่อยอดการออกแบบให้ทางเข้าของพิพิธภัณฑ์ดูมีชีวิตชีวามากขึ้น ด้วยการเพิ่มจุด Photo Spot ให้มาสคอตสัตว์ทั้งสามชนิดที่เป็นไฮไลต์ของโครงการ

เด็กๆ จะได้ทำความรู้จักกับธรรมชาติตั้งก้าวแรก เริ่มต้นจาก โซน Creative ที่เปิดโอกาสให้ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ ไปพร้อมๆ กับสิ่งรอบตัวในธรรมชาติ เรียนรู้ผ่านการ Workshop ที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกิจกรรมสุดเพลิดเพลินไปเรื่อยๆ อย่างการเพ้นท์ต้นไม้ใบหญ้า ระบายสีกำแพง โดยบรรยากาศถูกโอบล้อมด้วยต้นไม้และดอกไม้หลากสี แถมมีหลากหลายพันธุ์ ให้ทำความรู้จัก เด็ก ๆ จึงได้ปลดปล่อยจินตนาการของตัวเองออกมาอย่างเต็มที่

ต่อไปคือ โซน Nature Play ให้เด็กเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นในธรรมชาติมากขึ้น และสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างชาญฉลาด จากการจำลองเหตุการณ์ มลภาวะต่างๆ ในเมืองที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบันมาสร้างเป็นกิจกรรมที่สนุกสนาน เข้าถึงง่าย ไม่ว่าจะเป็นภารกิจ “Air Pollution Play” ที่จำลองให้เด็กๆ เจอกับกลุ่มหมอกควัน pm 2.5 และวิ่งหนีเอาตัวรอด หรือจะเป็นภารกิจ “Water Pollution Play” การจำลองน้ำเสียเป็นสีต่างๆ เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกส่วนรวม และภารกิจสุดท้ายของโซนนี้อย่าง “Find Plastic Waste Play” เรื่องใกล้ตัวอย่างขยะ ขุดทรายหาขยะ รวบรวมไว้เพื่อนำไปแลกของรางวัล

การพัฒนาของเด็กจะสมบูรณ์ไปไม่ได้เลย ถ้าขาดร่างกายที่แข็งแรง โซน Physical Play จึงถูกออกแบบมาเป็นพิเศษเพื่อพัฒนาร่างกายของเด็กๆ ในแต่ละวัยอย่างเหมาะสม เช่น พื้นที่สำหรับเด็กเล็กที่มีสเตปขั้นจิ๋วๆ และสไลด์เดอร์ ส่วนเด็กประถมวัย พื้นที่จะถูกออกแบบให้เป็นเนิน จำลองที่อยู่อาศัยของสัตว์ และมีเครื่องเล่นที่โลดโผนให้พวกเขาได้ปีนป่าย ปลดปล่อยพลังออกมาอย่างเต็มที่ ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้ ถูกออกแบบมาจากวัสดุจากธรรมชาติ เพื่อความกลมกลืนกับพื้นที่ และให้เด็กๆ รู้สึกใกล้ชิดกับธรรมชาติมากขึ้น

มาถึงภารกิจสุดท้ายของการพัฒนาศักยภาพของเด็กๆ อย่างกิจกรรม Hero Mission Play ที่จะให้เด็กทุกคนจับกลุ่ม พบปะผู้คนใหม่ ร่วมมือกันพิชิตธง ซึ่งช่วยพัฒนาด้านการเข้าสังคมของเด็ก ๆ ได้เป็นอย่างดี

นอกจากมาสคอตสัตว์ทั้ง 3 ที่เป็นเสมือนเพื่อนฮีโร่สำหรับน้อง ๆ แล้ว ในพื้นที่ก็ยังออกแบบให้ผู้ปกครองสามารถมีส่วนร่วมกับภารกิจของน้องๆ ด้วยเช่นกัน รวมไปถึงมีพื้นที่นั่งคอยท่ามกลางธรรมชาติกระจายตัวอยู่ทุกจุด เรียกได้ว่าทุกคนที่มาที่นี่สามารถสัมผัสกับบรรยากาศที่ถูกโอบกอดไปด้วยธรรมชาติอย่างเป็นมิตร

โครงการนี้ คือผลงานจากอินไซต์ของน้องมี่ ซึ่งออกแบบไว้อย่างเรียบง่าย และเข้าถึงง่าย
เพราะธรรมชาติเป็นเรื่องธรรมดาที่ควรให้ความสำคัญกับเด็กวัยกำลังเติบโต ถ้าโครงการนี้เกิดขึ้นจริงทั่วกรุงเทพ น่าจะช่วยพัฒนาศักยภาพของน้อง ๆ ในทุกด้าน ซึ่งสุดท้ายอาจจะกลายมาเป็นคนที่สร้างพื้นที่ธรรมชาติให้คนรุ่นต่อไปได้วิ่งเล่นมากขึ้นก็ได้ เพราะเด็กอยากเล่นเป็นเรื่องธรรมชาติ และธรรมชาติอาจจะทำให้เด็กคนหนึ่งโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพในโลกใบนี้

Designer: วริชญา นิตยไสว (warichaya.nittayasawai@gmail.com)

Picture of Janjitra Horwongsakul

Janjitra Horwongsakul

สถาปนิก ผู้หลงใหลในการเดินทางและสเปซคลีนๆบนภาพฟิล์ม อดีต'นักคิดคำถาม'ของปริศนาฟ้าแลบ ที่ผันตัวเองมาเป็น'นักเล่าความรู้(สึก)'ผ่านตัวหนังสือ
Writer

Discover more from Design Makes A Better Life.

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading