Search
Close this search box.

Stay Cool Pavilion
นวัตกรรมทางสถาปัตยกรรมจากประสบการณ์ของ Nikken Sekkei

ในงาน Bangkok Design Week 2021 บริเวณลานพลาซ่าของ Bangrak Riverview พื้นที่ริมน้ำหลังอาคารไปรษณีย์กลาง ช่วงระหว่างวันที่ 12-20 มิถุนายนนี้ เราพบกับพาวิลเลียนอิฐขนาดกะทัดรัด ซึ่งวัสดุและสีสันคุ้นตาพาเราไปสัมผัสประสบการณ์ภายในอาคารรูปแบบใหม่ภายใต้อุณหภูมิอากาศที่ลดลง ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจากฝีมือและประสบการณ์ของ Nikken Sekkei Thailand ซึ่งมีบริษัทแม่เป็นออฟฟิศสถาปนิกสัญชาติญี่ปุ่นอายุกว่า 120 ปี กับการมองหาความเป็นไปได้ครั้งใหม่ในวัสดุท้องถิ่นเมืองไทย

(Photo credit : WEERAPON SINGNOI)

จากปรากฏการณ์ความร้อนเมืองที่สะสมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกปี ประกอบกับแนวความคิดหลักของงานในปีนี้ ‘Resurgence of Possibilities – ก้าวต่อไปสู่ความเป็นไปได้ใหม่’ ที่สอดคล้องกับปรัชญาในการทำงานของออฟฟิศ ทีมออกแบบจึงเลือกหยิบเอาหลักการของเทคโนโลยี Bio Skin ผิวอาคารลดความร้อนที่เคยใช้กับอาคาร NBF Osaki ในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น มาดัดแปลงให้เข้ากับบริบทแบบไทยๆ สร้างแรงบันดาลใจและจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ในงานนวัตกรรมจากสิ่งรอบตัว

(Photo credit : Harunori Noda)

Bio Skin แบบไทย อุณหภูมิอากาศลดลงด้วยพลังงานการออกแบบ

ต้องเท้าความก่อนว่า Bio Skin คือนวัตกรรมฟาซาดลดอุณหภูมิให้กับอาคาร NBF Osaki ที่ทาง Nikken Sekkei พัฒนาขึ้น ด้วยหลักการที่ว่า ตัวฟาซาดนอกอาคารซึ่งเป็นท่อเซรามิกชนิดพิเศษ (Ceramic Tube) ที่มีคุณสมบัติรูพรุน เมื่อปล่อยน้ำฝนที่สะสมไว้ใต้ดินให้ไหลเวียนในท่อเซรามิคบนฟาซาดนี้ จนเกิดการระเหยของน้ำ จะช่วยลดอุณหภูมิของตัวฟาซาดและอากาศนอกตัวอาคารลง ท่อเซรามิกนี้จึงทำหน้าที่ทั้งเรื่องความงาม เป็นทั้งฟาซาดอาคาร และราวจับ รวมทั้งเป็นฟังก์ชันทางนวัตกรรมให้กับผู้ใช้งานอาคาร

จากไอเดียแนวความคิดนี้เข้ามาสู่บริบทแบบไทยด้วยการมองหาวัสดุที่มีคุณสมบัติคล้ายกัน นั่นคือมีรูพรุน ยอมให้น้ำซึมและระเหยได้ ซึ่งผลสุดท้ายคือการเลือกอิฐสีน้ำตาลแดงที่เห็นกันชินตาในงานก่อสร้างมาใช้เป็นวัสดุหลักของอาคาร โดยการประกอบกันของตัวอาคารคำนึงถึง 2 องค์ประกอบหลักของผนัง นั่นคือผนังระบายอากาศ (Ventilation Wall) ด้วยการก่อผนังเว้นช่องเปิดเพื่อรับลมธรรมชาติเข้าสู่อาคาร และผนังความเย็น (Cooling Wall) ด้วยการก่อผนังสองชั้นให้เป็นเหมือนกับท่อสำหรับกักเก็บน้ำ แล้วไอน้ำจะระเหยออกผ่านรูพรุนของก้อนอิฐ หล่อเลี้ยงให้ภายในอาคารเย็นอยู่ตลอด

(ภาพระหว่างการติดตั้งงาน ซึ่งยังไม่มีผ้าใบ) (Photo credit : WEERAPON SINGNOI)

ตั้งแต่ทางเดินเข้าภายในอาคาร ผู้ใช้งานจะรู้สึกถึงอุณหภูมิอากาศที่ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงจากสภาพอากาศปกติภายนอกเข้าสู่ภายในตัวอาคารที่ค่อยๆ เย็นลง จนมาถึงภายในห้องหลักที่สบายตัวแม้อยู่กลางแจ้ง พื้นที่จัดแสดงนิทรรศการภายในเน้นย้ำความเป็น zero energy ด้วยการใช้แสงแดดเข้ามาสร้างแสงสว่างภายในและระบบการไหลเวียนของน้ำผ่านระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อให้ภาพรวมของการใช้พลังงานจากธรรมชาติชัดเจนมากยิ่งขึ้น

รู้จัก Nikken Sekkei สั่งสมความเชี่ยวชาญ​ เพื่อประสบการณ์ใช้งานที่ดี

นอกจากอาคาร NBF Osaki ที่เล่าไปแล้ว Nikken Sekkei ยังเป็นเจ้าของฝีมืองานออกแบบอาคารและงานสถาปัตยกรรมในประเทศญี่ปุ่นที่แน่นอนว่าคนไทยจะต้องรู้จักกันเป็นอย่างดี อย่าง Tokyo Sky Tree หรืออาคาร Tokyu Plaza Ginza อาคารห้างสรรพสินค้าใจกลางกินซ่า ที่สนุกกับงานสะท้อนเล่นแสงเงาของฟาซาดกระจกสามมิติกับสิ่งแวดล้อมที่รายรอบอาคาร แรงบันดาลใจจากภูมิปัญญาวิธีการตัดแก้วแบบโบราณ ‘Edo Kiriko’ ในคอนเซ็ปต์ Vessel of Light 

หรือจะเป็นอาคารนอกประเทศญี่ปุ่น อย่าง One Za’abeel อาคาร Mixed Use ในดูไบที่กำลังก่อสร้างอยู่ ซึ่งความท้าทายอยู่ที่เรื่องของโครงสร้างและการก่อสร้างตรงที่จะต้องเชื่อมสองอาคารเข้าด้วยกัน ด้วยอาคาร 4 ชั้นที่เรียกว่า the link ซึ่งเป็น cantilever ความยาว 226 เมตร อยู่เหนือจากพื้นดิน 100 เมตร และมีชั้นล่างเป็นทางด่วนที่ยังคงต้องใช้งานสัญจรอย่างเป็นปกติตลอดเวลาขณะทำการก่อสร้าง 

(Photo credit : Koji Fujii)
(Photo courtesy of Ithra Dubai)

Nikken Sekkei เองมีสำนักงานหลักอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 1900 และมีสาขาครอบคลุมหลายประเทศในทวีปยุโรปและเอเชีย โดยมีปรัชญาสำคัญคือ Experience, Integrated หรือการสั่งสมความเชี่ยวชาญทุกศาสตร์ของงานการก่อสร้างทั้งสถาปนิก วิศวกร และภูมิสถาปนิก ผสานสร้างให้เกิดงานสถาปัตยกรรมที่มาพร้อมกับนวัตกรรมเพื่อการใช้งานที่ดีสำหรับทุกคน และสถาปัตยกรรมทั้งหมดเองก็ถูกแต่งแต้มขึ้นภายใต้ผืนฟ้าสีฟ้า สีประจำบริษัทซึ่งมีที่มาจากท้องฟ้าที่เป็นเหมือนกับแบคกราวด์หรือผืนผ้าใบให้กับอาคาร

สำหรับสาขาของ Nikken Sekkei ในประเทศไทยเอง ก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการในเดือนมิถุนายนปี 2018 ด้วยวิสัยทัศน์ที่ต้องการเผยแพร่ภูมิปัญญาและความรู้ทางด้านสถาปัตยกรรมแบบญี่ปุ่นให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายมากขึ้น และด้วยยุทธศาสตร์ของประเทศไทยเองที่อยู่ตรงกลางระหว่างเอเชีย-ยุโรป เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งยังเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความเคลื่อนไหวทางด้านสถาปัตยกรรมและความคิดสร้างสรรค์เป็นลำดับต้นๆ ของโลกอีกด้วย

(Photo credit : WEERAPON SINGNOI)

สัมผัสประสบการณ์นวัตกรรมการออกแบบผ่าน Stay Cool Pavilion ได้ในงาน Bangkok Design Week 2021 ระหว่างวันที่ 12-20 มิถุนายนนี้ และสามารถติดตามข่าวคราวงานออกแบบจากทั่วมุมโลกโดยฝีมือของ Nikken Sekkei ได้ที่ http://www.nikken.co.jp/en/index.html

Writer
Picture of Nathanich Chaidee

Nathanich Chaidee

อดีตนักเรียนสัตวแพทย์ผู้หลงใหลในเส้นสายสถาปัตยกรรม ก่อนผันตัวเองมาเรียน'ถาปัตย์ และเลือกเดินบนถนนสายนักเขียนหลังเรียนจบ สามสิ่งในชีวิตที่ชอบตอนนี้คือ การได้ติ่ง ไปญี่ปุ่น และทำสีผม

Discover more from Design Makes A Better Life.

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading