บ้านหลังใหม่ของ T.R.O.P
ที่เติมเต็มที่ว่างทางสถาปัตยกรรมด้วย Landscape

ออฟฟิศในฝันของคุณแบบไหน ?
หลายคนตอบว่า ออฟฟิศที่ยืดหยุ่น ไม่จำเป็นต้องนั่งโต๊ะทำงานน่าเบื่อเพียงอย่างเดียว
บางคนตอบว่า ออฟฟิศที่มีพื้นที่สีเขียว เงยหน้าจากคอมพิวเตอร์ก็ได้มองเห็นธรรมชาติ
และยังมีผู้คนอีกมากมายที่ตอบว่า ออฟฟิศที่มีพื้นที่ผ่อนคลายให้พนักงาน ทำกิจกรรมอื่นได้บ้าง

เพราะชั่วโมง หรือการผ่อนคลายเพียงเสี้ยวนาที ก็สร้างการทำงานประสิทธิภาพที่ดีได้
รูปแบบของออฟฟิศในฝันทั้งหมดที่กล่าวมานี้ จึงเป็นแนวคิดที่อยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลจากบ้านหลังใหม่ของ Trop : terrains + open space บริษัทออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมที่นำทีมโดยภูมิสถาปนิก ป๊อก-อรรถพร คบคงสันติ ก่อนจะได้รุ่นน้องคนสนิทอย่าง จูน เซคิโน จาก JUNSEKINO Architecture & Design มารับหน้าที่ออกแบบออฟฟิศหลังใหม่ที่พร้อมเติมเต็มความรู้สึกผ่อนคลาย และยกระดับชีวิตการทำงานของเหล่า TROPster ให้ดีขึ้น

หากมีคนคุ้นตากับบ้านพักส่วนตัวของคุณป๊อกอย่าง Residence Rabbit คงจะจินตนาการถึงอาคารทรงกล่องสีขาว ที่เรียบ นิ่ง และที่สำคัญต้องเนี้ยบ แต่เปล่าเลย…ออฟฟิศหลังใหม่ของ TROP กลับมีบรรยากาศของความโคซี่ เหมือนบ้านที่ปล่อยให้ธรรมชาติเข้ามาใช้งานไปพร้อมๆ กับคน “เรามองว่าพี่ป๊อก เขาเป็นคนเนี้ยบมาก แต่เขาไม่อยากให้ออฟฟิศดูเนี้ยบขนาดนั้น เพราะอยากให้รู้สึกเหมือนเป็นบ้านมากกว่า ปล่อยให้มันรกได้บ้าง สะท้อนความเป็น landscape หน่อยๆ มีต้นไม้ขึ้น มีมอสเกาะบ้าง พูดง่ายๆ ก็คือยอมให้เขรอะได้นิดนึงแต่ต้องไม่สกปรก” คุณจูนเล่า

Open Space ที่ซ่อนอยู่ภายใต้ชื่อ T.R.O.P

หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่า T.R.O.P ตัวอักษรภาษาอังกฤษสี่ตัวนี้ ย่อมาจาก Terrains ที่แปลว่า ผืนดิน และ Open Space ที่แปลอย่างตรงตัวว่า พื้นที่เปิดโล่ง ซึ่งทั้งสองคำก็สะท้อนขอบเขตของงานภูมิสถาปัตยกรรมได้อย่างสมบูรณ์ ในการออกแบบอาคารเพื่อสื่อตัวตนของ T.R.O.P แน่นอนว่าสองคำนี้ย่อมเข้ามาเป็นองค์ประกอบอย่างไม่ต้องสงสัย

(แปลน TROP : terrains + open space ชั้น 1)
(แปลน TROP : terrains + open space ชั้น 2)
(แปลน TROP : terrains + open space ชั้น 3)

Open Space กลายเป็นส่วนสำคัญของอาคาร โดยมีคอร์ดเปิดโล่งกระจายตัวอยู่ตามมุมอาคารคล้ายโอเอซิสสีเขียวขนาดเล็ก ที่สร้างความผ่อนคลายให้กับพนักงาน คอร์ดแรกคือ Welcome Space ที่มองเห็นได้จากที่จอดรถ เปิดมุมมองเข้าสู่ห้องประชุม และห้องทำงาน ซึ่งต้อนรับแขกเรื่อหรือลูกค้าที่อาจมาเยี่ยมเยือนเป็นบางครั้งคราว บรรยากาศอาคารท่ามกลางความเป็นธรรมชาติจากพื้นที่เปิดโล่งจึงพร้อมทักทาย และแสดงถึงตัวตนของ T.R.O.P ได้เป็นอย่างดี

ถัดจากทางเข้าหลัก พื้นที่เปิดทะลุสู่คอร์ดเปิดโล่งขนาดใหญ่ที่ซ่อนอยู่ภายใน ซึ่งเป็นเสมือน Common Area ของเหล่า Tropster ที่สามารถออกมานั่งเล่น เปิดวงสนทนาพูดคุยกัน พักจากการนั่งโต๊ะทำงานมาอยู่ท่ามกลางธรรมชาติได้บ้างเพื่อรีเซ็ตตัวเอง

บริเวณคอร์ดนี้เองยังเป็นตำแหน่งของบันไดที่ใช้เชื่อมอาคาร ซึ่งเป็นความตั้งใจแรกของคุณป๊อก ซึ่งต้องการให้ทางสัญจรที่จะเชื่อมพื้นที่ทั้งหมดอยู่ภายนอกอาคารเป็น Open Space แกมบังคับ ที่ทำให้พนักงานได้ออกมาสัมผัสอากาศธรรมชาติแทนที่จะนั่งอยู่ภายในห้องสี่เหลี่ยมอุดอู้ทั้งวัน

“อีกอย่างหนึ่งคือ พี่ป๊อกเขาใฝ่ฝันอยากมีโต๊ะทำงาน 8 เมตร ที่เปิดมุมมองได้กว้าง อยากให้ทั้งพนักงานและตัวเขาเองมองเห็นธรรมชาติสีเขียวได้ หรือออกมาสัมผัสอากาศภายนอกได้ในขณะที่ยังเป็นส่วนตัว ไม่มีคนนอกมองเข้ามาเห็น” คุณจูนเล่าให้เราเห็นภาพไปตามผังเลย์เอาท์ที่ตนเองเป็นคนออกแบบ

ที่ชั้นสองของออฟฟิศหลังนี้ เป็นห้องทำงานขนาดใหญ่ของพนักงานและห้องทำงานของไดเรกเตอร์ใหญ่อย่างคุณป๊อก ซึ่งถูกออกแบบให้แยกมุมและกั้นกลางระหว่างกันด้วยคอร์ดพื้นที่สีเขียวที่ยังคงมองเห็นกันได้ แต่แบ่งสัดส่วนของพื้นที่ให้ตัดขาดกันอย่างชัดเจน ซึ่งวิธีนี้นอกจากจะทำให้ทุกห้องได้มุมมองพื้นที่สีเขียวที่อยู่ส่วนกลางแล้ว ยังลดความเกร็ง ความไม่เป็นตัวเองที่เกิดขึ้นจากการที่หัวหน้างานและพนักงานนั่งทำงานอยู่ใกล้กันอีกด้วย

ส่วนบริเวณชั้นบนสุด ออกแบบให้เป็น Pantry และพื้นที่กิจกรรมของพนักงาน รวมถึงมีสวนดาดฟ้าที่สามารถมาใช้ทำกิจกรรม พักผ่อน จัดปาร์ตี้ หรือทำบาร์บีคิวเอาท์ดอร์กันได้อย่างสนุกสนาน

เรียบง่ายแต่มีรายละเอียด 

เมื่อเราถามถึงการทำงานร่วมกับดีไซน์เนอร์ชื่อดัง มีความกดดันหรือแตกต่างจากการออกแบบโปรเจ็กต์อื่นๆไหม ? คุณจูนก็เล่าให้ฟังว่า “พอเราทำงานกับดีไซน์เนอร์ บางทีเรากลัวว่ามันจะไม่มีอะไร ผมว่าคำนี้มันน่าสนใจ ซึ่งสำหรับพี่ป๊อกเอง เขาก็คอยบอกเราว่า เท่านี้แหละ พอแล้ว เขาต้องการแค่อะไรที่เหมาะสม พอดี ไม่มากและไม่น้อยไป ไม่ใช่ต้องมองหาแต่ความ ‘มีอะไร’ จนเกินความพอดี”

ความเรียบง่าย พอดีที่ว่าสะท้อนผ่านการออกแบบสถาปัตยกรรม โดยเติมแต่งรายละเอียดที่ซ่อนอยู่ตามแบบฉบับของ JUNSEKINO Architecture & Design โดยงานนี้คุณจูนเลือกใช้อิฐเข้ามาเป็นวัสดุที่เติมเต็มเรื่องราว รายละเอียดและสร้างกิมมิคให้กับอาคาร ด้วยการก่อจัดเรียงอิฐสลับแนวนอนและแนวขวาง สร้างกรอบเฟรมเส้นด้วยเหล็กแผ่นบาง ทำให้งานก่อผนังอิฐดูเนี้ยบ และเฉียบคม บ่งบอกคาแร็กเตอร์ ความเป็น T.R.O.P ได้อย่างลงตัว

อิฐยังมีข้อดีตรงที่ใช้งานได้ทั้งภายนอกและภายใน ซึ่งคุณจูนยังนำอิฐมาใช้ออกแบบบริเวณพื้น เพื่อให้รู้สึกถึงความเป็นธรรมชาติ ไม่จำเป็นต้องเรียบ เนี้ยบกริบ ความรู้สึกจึงแตกต่างจากการที่เราเดินบนพื้นกระเบื้องอย่างสิ้นเชิง นอกจากนั้นยังสามารถสร้างความเป็นส่วนตัวในขณะที่เปิดให้ลมธรรมชาติไหลผ่านได้ดี เมื่อวันเวลาผันผ่านไป มอสหรือความชื้นจากต้นไม้นานาชนิดที่ปลูกไว้ยังทำหน้าที่เปลี่ยนอิฐสีส้มให้เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา เติมเต็มกลิ่นอายความเป็นธรรมชาติและลดความแข็งแกร่งของสถาปัตยกรรมได้อย่างนุ่มนวล

สถาปัตยกรรมเรียบง่ายที่ปล่อยให้ภูมิทัศน์รับบทเด่น

ความเป็นธรรมชาติจากการออกแบบแลนด์สเคปเข้ามาเติมเต็มอาคารทรงกล่อง สร้างอารมณ์คอนทราสได้อย่างน่าสนใจ สถาปัตยกรรมกล่องสี่เหลี่ยมที่ดูประดิษฐ์มากๆ จึงดูมีชีวิตและความเคลื่อนไหว มีความฟรีฟอร์ม หรือความเขียวขจีจากธรรมชาติมาช่วยทำให้อาคารดูซอฟลง

กล่าวได้ว่าการออกแบบสถาปัตยกรรมเป็นผลงานจากสถาปนิกเพียงครึ่งนึง ซึ่งอาคารเหล่านั้นจะสมบูรณ์ได้ต้องอาศัยผู้ใช้งาน ความมีชีวิตชีวาในอาคารจึงไม่ใช่สเปซแต่คือผู้ใช้งานและธรรมชาติที่เติบโตและมีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา ซึ่งความที่เป็นออฟฟิศออกแบบภูมิสถาปัตยกรรม แน่นอนว่าย่อมขาดพื้นที่สีเขียวไปไม่ได้ คุณป๊อกจึงเลือกที่จะแทรกธรรมชาติเข้ามาในที่ว่างทางสถาปัตยกรรมที่เหลืออยู่ อย่างพื้นที่เปิดโล่งทั้งหมดของอาคาร รวมถึงผนัง Green wall ที่ห่อหุ้มอาคาร ตอบโจทย์ในเรื่องมุมมองและความผ่อนคลายจากจุดพักสายตา

คุณจูนเล่าทิ้งท้ายว่า “อาคารมันมีสถาปัตยกรรมอย่างเดียวไม่รอด มันต้องประกอบด้วยแลนด์สเคป อินทีเรีย ผู้รับเหมา หรือการออกแบบแสงสว่างที่ดี ผมอยากทำงานออกแบบที่ไม่ใช่แค่สถาปัตยกรรม แต่ผมอยากให้คนที่อยู่ในตึกมองออกมานอกอาคาร ในทุกอณูของอาคารมีพื้นที่สีเขียว หรือแม้กระทั่งเงาตกกระทบ มันก็ยังคงมองเห็นความเป็นธรรมชาติภายในสเปซ”

จริงอยู่ที่มีเพียงคอมพิวเตอร์ โต๊ะและเก้าอี้ก็สามารถนั่งทำงานได้ แต่จะดีแค่ไหนหากบรรยากาศรอบๆ ถูกออกแบบมาเพื่อยกระดับชั่วโมงทำงานของมนุษย์เงินเดือนอย่างเราๆ ให้ดีขึ้น เงยหน้าจากคอมพิวเตอร์ก็ได้เจอกับมุมมองสีเขียวพักสายตา หรือหากเกิดอาการเบื่อ จะย้ายการทำงานจากห้องที่อุดอู้มานั่งทำงานกลางคอร์ดยาร์ดที่รายล้อมไปด้วยบรรยากาศธรรมชาติ ความยืดหยุ่นและผ่อนคลายจากบรรยากาศและการออกแบบสถาปัตยกรรมคงจะช่วยเติมเต็มชั่วโมงทำงานในฝันสำหรับใครหลายคนได้มากทีเดียว

Location: ลาดพร้าว กรุงเทพฯ
Built Area: 740 ตารางเมตร
Architects: Junsekino Architect and Design
Interior: Junsekino Interior Design
Landscape Architect: TROP: terrains + open space
Contractor: G.A. House
Interior Contractor: A2J
Photo credit: Spaceshift Studio

Writer
Rangsima Arunthanavut

Rangsima Arunthanavut

Landscape Architect ที่เชื่อว่าแรงบันดาลใจในงานออกแบบ สามารถเกิดขึ้นได้จากทุกสิ่งรอบตัว และการบอกเล่าเรื่องราวการออกแบบผ่าน 'ตัวอักษร' ทำให้งานออกแบบที่ดี 'มีตัวตน' ขึ้นมาบนโลกใบนี้