OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

Residence Rabbit : ปฏิสัมพันธ์ของกำแพงสีขาวและธรรมชาติ

ภาพแสงแดดและเงาไม้ที่สะท้อนบนผนังสีขาวสะอาดตา ดอกแคนาที่ร่วงหล่นกระทบผิวน้ำตามแรงลมที่พริ้วไหว บ้านสีขาวท่ามกลางสีเขียวแห่งความร่มรื่นของไม้เล็กใหญ่นานาพรรณ ปฏิสัมพันธ์ระหว่างสถาปัตกรรมและธรรมชาติที่เกิดขึ้นตรงหน้า…ทำให้เราไม่สามารถละสายตาไปจากความงามที่ลงตัวนี้ได้เลย

เรากำลังกล่าวถึงบ้าน Residence Rabbit ของ “คุณป๊อก อรรถพร คบคงสันติ” ภูมิสถาปนิกเจ้าของบริษัทออกแบบภูมิทัศน์แนวหน้าของไทยอย่าง T.R.O.P : terrains + open space ผู้ต้อนรับการมาของเราอย่างเป็นมิตรในวันหยุด พร้อมทั้งสมาชิกในครอบครัวที่แสนอบอุ่น คุณเพียว รมณี และน้องพูมิ ภรรยาและลูกชายวัย 4 ขวบของคุณป๊อก ซึ่งทั้งสามคนพึ่งย้ายมาอยู่บ้านหลังใหม่นี้ได้ไม่นาน หลังจากการปรับแบบและก่อสร้างมานานกว่า 6 ปี

Residence Rabbit

Location: ลาดพร้าว, ประเทศไทย

Architect: คุณบุญเลิศ เหมวิจิตรพันธ์ Boon Design

Landscape & Owner: คุณอรรถพร คบคงสันติ TROP : terrains + open space 

“การเลือกสถาปนิกมาออกแบบบ้านตัวเองนี่ยากนะ เนื่องจากเราเป็นภูมิสถาปนิก รู้จักคนเก่งๆเยอะ แต่เลือกพี่บุญเลิศ เพราะน่าจะเป็นสไตล์เดียวกับเรามากที่สุด พี่เองชอบบ้านสีขาว เรียบๆ นิ่งๆ”

คุณป๊อกเล่าถึงที่มาของภาพกำแพงสีขาวสะอาดตา ที่คุณบุญเลิศ เหมวิจิตรพันธ์แห่ง BOON DESIGN เขียนเส้นสายสถาปัตยกรรมหลังนี้ร่วมกับพื้นที่สวนที่สร้างสรรค์โดยเจ้าของบ้านเอง ซึ่งมาลงตัวกันในแบบที่ 4 มีกำแพงสีขาวและสวนสีเขียวเสมือนเป็นภาพจำอันเด่นชัดของบ้านหลังนี้

ความสัมพันธ์ระหว่างกำแพง “Series of walls”

เมื่อการออกแบบเริ่มต้นจาก “พื้นที่แนวตั้ง” อย่างกำแพงผืนใหญ่ 4 ชุดที่เรียงตัวขนานกันอยู่ หรือที่สถาปนิกเรียกว่า “Series of wall” แล้วค่อยๆเติมเต็มช่องว่างระหว่างกำแพงนั้นด้วยฟังก์ชันต่างๆ พร้อมการปิดล้อมด้วยผนังกระจกใสเต็มบานจากพื้นถึงฝ้า จนเกิดเป็นสเปซภายในบ้าน 3 ชั้นที่ลงตัว ซึ่งระยะห่างและความสูงแต่ละกำแพงนั้นขึ้นอยู่กับฟังก์ชันที่เกิดขึ้น โดยพื้นที่ชั้นหนึ่งที่ประกอบไปด้วยห้องนั่งเล่น ห้องครัวที่เป็น double space และห้องรับรองแขก ชั้นสองเป็นห้องทำงานของคุณป๊อกและภรรยา ส่วนชั้นสามนั้นเป็นส่วนของห้องนอน

แปลนชั้น 1 ของบ้าน Residence Rabbit

มุมห้องนั่งเล่นที่อยู่ชั้น 1 ของบ้าน และพื้นที่ชั้น 2 ที่สามารถมองทะลุกำแพงกระจกไปยังสวนได้

แปลนชั้น 2 และ ชั้น 3 ของบ้าน Residence Rabbit

กำแพงสีขาวภายในบ้านที่ดูเข้ากันกับพื้นลายหินอ่อน

ด้วยความที่กำแพงทึบขนาดใหญ่ทั้งสี่วางอยู่ในแนวทิศตะวันออกและทิศตะวันตก จึงช่วยกันความร้อนจากแสงแดดที่ส่องมาจากทิศใต้ได้เป็นอย่างดี ส่วนในทิศตะวันตกและตะวันออกที่เป็นผนังกระจกใสบานสูงนั้น ก็ได้มีการออกแบบเลือกต้นไม้ที่เหมาะสมเพื่อช่วยกรองแสงแดด โดยที่เป็นบานกระจกสูงเพื่อสร้างความพิเศษให้กับทุกๆห้อง โดยสามารถมองเห็น courtyard ได้มากกว่า 2 คอร์ท ซึ่งตรงกับความต้องการของคุณป๊อก ที่ต้องการสัมผัสมวลสีเขียวธรรมชาติในระยะใกล้ชิดนั่นเอง

เรื่องเล่าในสวน “Series of courtyards”

“พี่มองรวมๆ ก่อนว่าอยากเห็นมวลของสีเขียวตรงไหน ขณะที่พี่ทำอะไรอยู่ในบ้าน” นี่คือคำตอบของคุณป๊อกเมื่อเราถามถึงวิธีการออกแบบและเลือกสรรพันธุ์ไม้ในคอร์ทยาร์ดต่างๆ พื้นที่ธรรมชาติที่รวมเป็นหนึ่งเดียวกับพื้นที่ภายในบ้าน ทุกพื้นที่สามารถเชื่อมต่อความร่มรื่นผ่านสายตาได้ โดยวางลักษณะแต่ละคอร์ทยาร์ดแตกต่างกันไปตามตำแหน่งที่ตั้งและหน้าที่ของคอร์ทยาร์ดนั้นๆ

“เป็นสิ่งแรกที่เห็นตอนเข้าบ้าน และสิ่งสุดท้ายก่อนออกจากบ้าน พี่ต้องการอะไรที่ดีเห็นแล้วรู้สึกอุ่นใจ” คุณป๊อกเริ่มอธิบายถึงสวนบริเวณทางเข้าบ้านด้านทิศตะวันออก ที่ผสมผสานต้นเสม็ดแดงใหญ่ พุ่มไม้เล็กๆของต้นนีออน ไทรเกาหลี และผักสวนครัวอย่างผักชีลาว เข้ากับโซฟาสีเทาภายนอกที่ดูกลมกลืนกับสวน ซึ่งมีหน้าที่ง่ายๆอย่างต้อนรับแขก และสามารถนั่งมองพระจันทร์ที่เห็นได้อย่างชัดเจนในยามค่ำคืน เป็นที่มาของชื่อสวนที่ว่า “สวนพระจันทร์” หรือ Moon Court และเหตุผลในการยกระดับสวนนี้ให้สูงขึ้น เมื่อมองจากที่จอดรถเข้ามาจะพอดีกับระดับสายตานั่นเอง

ถัดไปเป็นสวนระหว่างห้องกับห้อง ที่ทำหน้าที่ดึงแสงและอากาศธรรมชาติเข้ามาภายใน โดยต่อเนื่องไปยังชั้น 2 ซึ่งเป็นห้องทำงานของภรรยาที่จะได้รับแสงธรรมชาติเช่นกัน โดยมีต้นเหลืองปรีดียาธรที่มีดอกสีเหลืองในคอร์ทนี้ เพื่อสร้างบรรยากาศภายในบ้านให้สดใส

บรรยากาศภายในห้องทำงานของภรรยาคุณป๊อก

คอร์ตยาร์ดเล็กๆรูปร่างสามเหลี่ยม ที่สถาปนิกตั้งใจออกแบบให้เป็นดั่งทางเดินของแสงเข้ามายังห้องนั่งเล่น เป็นการสร้างมุมมองจากห้องนั่งเล่นไปยังสระว่ายน้ำภายนอกได้อย่างน่าสนใจ

“สุดท้ายการจัดสวนที่ตอบโจทย์กับสภาพภูมิอากาศบ้านเรานั่นแหละสำคัญที่สุด” คุณป๊อกเล่ามาถึงสวนสุดท้าย ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในบ้าน รวมถึงเป็นพื้นที่กิจกรรมที่ทุกคนในบ้านชื่นชอบนั่นคือการว่ายน้ำ สระว่ายน้ำรูปตัวแอลที่ล้อมรอบสวนป่านี้ไว้ ต้นไม้สูงใหญ่อย่างต้นกระพี้จั่น ต้นปีบทอง และต้นแคนา กระจายตัวกันอย่างอิสระ เพื่อสร้างร่มเงาและความร่มรื่นสูงไปถึงห้องนอนหลักที่อยู่ชั้น 3

“การออกแบบสวนบ้านตัวเองยากกว่าการออกแบบสวนให้ลูกค้าอีก เพราะต้องเดาทุกอย่างที่เป็นตัวเรา ตัวเราในวันนี้ก็ไม่เหมือนตัวเราในวันพรุ่งนี้ พี่ต้องการเห็นภาพความเปลี่ยนแปลงของครอบครัวเรื่อยๆ จึงอยากให้บ้านเป็นเหมือนฉากหลังสีขาวที่ว่างเปล่า”

และนี่เป็นเหตุผลที่บ้านหลังนี้ไม่ประดับภาพใดๆอยู่บนผนังเลย มีเพียงหัวสัตว์ของสะสมที่มีคุณค่าทางจิตใจในสถาปัตยกรรมสีขาวและสวนสีเขียวที่เรียบ นิ่งดั่งผืนผ้าใบ รอคอยภาพวาดการเติบโตของทุกชีวิตในครอบครัว ผ่านแสงและเงาที่เกิดขึ้นโดยจิตรกรที่มีชื่อว่า “ธรรมชาติ”

Something MORE

  • ของตกแต่งภายในบ้านอย่างหัวสัตว์ โคมไฟ Horse Lamp หรือโซฟา Living Divani ภายในห้องนั่งเล่น เป็นความชอบส่วนตัวของคุณป๊อกและครอบครัว ที่คุณป๊อกแอบกระซิบบอกเราว่า เห็นภาพสิ่งของเหล่านี้ก่อนบ้านจะสร้างเสร็จด้วยซ้ำ
  • สำหรับที่มาของชื่อบ้าน Residence Rabbit นั้นมาจากปีเกิดของคุณป๊อก นั่นคือปีเถาะ หรือปีกระต่ายนั่นเอง

ขอขอบคุณ

Architect: คุณบุญเลิศ เหมวิจิตรพันธ์ Boon Design

Landscape & Owner: คุณอรรถพร คบคงสันติ TROP : terrains + open space