Search
Close this search box.

บ้านหอมดิน
บ้านพื้นถิ่นร่วมสมัย ที่มีวิวภูเขาเป็นของตัวเอง

จุดเริ่มต้นจาก 2 คุณหมอเจ้าของบ้านกำลังมองหาที่ดินเพื่อจะตั้งรกราก อยากจะมีบ้านที่มีวิวภูเขาเป็นของตัวเอง มองออกไปเห็นต้นไม้ใบเขียวเป็นเพื่อนบ้าน  สุดท้ายจึงได้ที่ดินนาข้าวเก่าที่ถูกขนาบด้วยแนวเขา ขนาดประมาณ 2 ไร่ผืนนี้ตรงที่ราบของจังหวัดเพชรบรูณ์

ความต้องการของคุณหมอทั้ง 2 คน คือ บ้านที่ตอบรับการใช้ชีวิตที่ไม่แน่นอนของเวลาการทำงาน ออกแบบการใช้งานให้เรียบง่าย เน้นจุดสำคัญที่บ้านหลังนี้จะต้องเข้ากับสภาพแวดล้อมโดยรอบ มีปฏิสัมพันธ์กับภูเขาที่อยู่ทางทิศเหนือได้ดี และเผื่อพื้นที่สำหรับลูก ๆ ในอนาคต

กลมกลืน เรียบง่าย ในบ้านพื้นถิ่นร่วมสมัย

ตำแหน่งที่ตั้งของบ้านหอมดินอยู่ในบริเวณชายขอบของหมู่บ้านที่ถูกแวดล้อมไปด้วยบ้านพักอาศัยสไตล์พื้นบ้านสมัยใหม่แทบทั้งหมด ทำให้สถาปนิกตั้งใจที่จะออกแบบงานสถาปัตยกรรมที่มีความกลมกลืน แต่ยังคงดำรงไว้ซึ่งตัวตนของเจ้าของบ้านที่เป็นคนต่างถิ่น สมัยใหม่ เรียบง่าย และอ่อนน้อม เป็นที่มาของอาคารรูปทรงกล่องคอนกรีตที่เรียบง่ายปกคลุมด้วยหลังคาจั่ว และกระจายตัวอาคารเลียนแบบผังเรือนของบ้านพื้นถิ่นในประเทศไทยในอดีต

แนวคิดการวางผังภาพรวมของพื้นที่
แปลนอาคาร

ต่อยอดเอกลักษณ์ของบ้านพื้นถิ่นสมัยก่อนให้เข้ากับวิถีชีวิตใหม่ในอนาคต ด้วยการยกตัวอาคารขึ้นเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมจากพื้นที่ราบลุ่มของบ้าน รวมทั้งช่วยยกระดับตอบรับกับมุมมองฝั่งภูเขาให้ชัดเจนมากขึ้น แต่ทางคุณหมอเจ้าของบ้านก็มีความกังวลว่า เมื่อถึงวันที่ทั้งสองแก่ชราลง จะไม่สามารถขึ้น-ลงอาคารที่ยกสูงได้สะดวกนัก ทำให้สถาปนิกกลับมาคิดทวบทวน เสนอแนวทางแก้ปัญหากลับไปใหม่ นั่นคือ การออกแบบให้บ้านหลังนี้เชื่อมต่อกันด้วยทางลาดขนาดใหญ่ โดยปลายทางจะนำไปสู่มุมมองที่ดีที่สุดในการชมวิวภูเขา

หยิบธรรมชาติ มาทำบ้าน

บ้านหอมดินมีรายละเอียดสำคัญหลายจุดที่สถาปนิกตั้งใจออกแบบบ้านให้สอดคล้องกับสภาพอากาศ ดึงประโยฃน์จากการมีอยู่ของธรรมชาติโดยรอบเข้ามาใช้งาน เสริมเติมตกแต่งงานดีไซน์ของบ้านเพื่อช่วยเจ้าของบ้านประหยัดพลังงาน  ตั้งแต่การวางตัวอาคารไม่ให้ขวางตะวัน คือ หันด้านแคบของอาคารไปทางทิศตะวันออก ตะวันตก (เรือนรับแขก เรือนนอนใหญ่) ส่วนผนังด้านยาวของอาคารหลักจะโดนแดดตอนกลางวัน (ทิศใต้) เป็นผนัง 2 ชั้น โดยมีช่องอากาศตรงกลาง เป็นฉนวนตามธรรมชาติ

ถ้าคุณสังเกตในรูปด้านของบ้าน จะเห็นว่ามีช่องเปิดค่อนข้างน้อยซึ่งมีสาเหตุจากแสงแดด ทำให้สถาปนิกเลือกทำช่องเปิดโล่งด้านในแทนเพื่อรับแสงเช้าและลม ยกตัวอย่างเช่น ห้องนั่งเล่น และห้องนอนใหญ่ นอกจากนี้ได้กำหนดตำแหน่งทั้งสองห้องหลักนี้ให้อยู่ทางทิศตะวันออก ดึงชายคาให้ต่ำ เพื่อกันแดดทางทิศใต้ที่จะเข้าตรงช่องเปิด โดยเจาะช่องเปิดเฉพาะบริเวณที่มีชายคาคลุม และออกแบบหลังคาทรงจั่ว ซึ่งมีข้อดีคือ ความร้อนสามารถไปกองอยู่ใต้หลังคา บริเวณหน้าบันไม้ของหลังคาจั่วแบบไม้เว้นร่อง เพื่อให้ความร้อนจากใต้หลังคาถูกระบายออกด้านนอกอาคารได้เร็วขึ้น

ตัวอาคารแต่ละหลังถูกคลุมด้วยหลังคาไฟเบอร์กลาส ที่ช่วยกรองแสงและกระจายแสงธรรมชาติสู่ภายในอาคาร ส่วนภายในตัวอาคาร มีการเพิ่มคอร์ดภายในเพื่อระบายอากาศ และรับแสงธรรมชาติด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ไม้ที่ใช้ในการทำประตู หน้าต่างและเฟอร์นิเจอร์ ทั้งหมดเป็นไม้เก่าจากจังหวัดใกล้เคียง เช่นเดียวกับไม้ไผ่ที่ใช้ทำผนังภายนอก ก็เลือกใช้บางส่วนเป็นไม้ไผ่ในจังหวัดและจังหวัดใกล้เคียงเช่นกัน

Location : Phetchabun province, Thailand
Architect & Interior : TA-CHA Design 
Area : 175 sq.m (Enclosure space) / 240 sq.m.(Terrace)
Photographer : BeerSingnoi

Writer
No.028

No.028

นักออกแบบจากรั้วศิลปากรที่ทดลองผันตัวเองมาเป็นนักเขียน หมั่นเสาะหาข่าวสารที่น่าสนใจจากทั้งไทยและต่างประเทศ มาขบคิด เรียบเรียง บอกเล่าผ่านตัวอักษรให้กับคนที่สนใจ เพราะเชื่อว่าแท้จริงแล้ว ดีไซน์ คือเรื่องรอบตัวระยะใกล้ที่กำลังรอใครซักคนมาเปิดอ่าน // Dsign is everything.

Discover more from Design Makes A Better Life.

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading