Search
Close this search box.

Richard Neutra
เจ้าพ่อแห่งการออกแบบบ้าน Mid-Century Modern
ที่มองความต้องการของผู้อยู่อาศัยเป็นสำคัญ

มีคนเคยกล่าวไว้ว่า ‘บ้าน’ คือสถาปัตยกรรมหน่วยย่อยที่สุด แต่ที่แห่งนี้กลับมีการใช้เวลาอยู่ร่วมกันของผู้คนมากที่สุด บ้านที่ใส่ใจในเรื่องของการออกแบบจึงมักจะเป็นสถาปัตยกรรมที่ยกระดับคุณภาพชีวิตได้เห็นภาพชัดเจนที่สุด เพราะต้องอาศัยและใช้เวลาอยู่ในนั้นร่วม 24 ชั่วโมง ทุกระนาบของการออกแบบที่เกิดขึ้นจึงย่อมส่งผลต่อนิสัย และไลฟ์สไตล์ของผู้อยู่

GreatArchitect ในครั้งนี้ เราจึงขอหยิบเรื่องราวของ Richard Neutra สถาปนิกระดับโลกผู้มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักผ่านการออกแบบ ‘บ้าน’ เพียงแต่บ้านของ Neutra นำความต้องการของผู้อยู่อาศัยมาเป็นที่ตั้ง โดยให้ความสำคัญ เน้นมุมมอง และความรู้สึกเกิดเป็น Well- being ภายใต้รูปลักษณ์โมเดิร์นทันสมัยในแบบเฉพาะตัว แต่ยืดหยุ่นเหมาะกับการอยู่อาศัยจริง แนวคิดดังกล่าวเป็นที่ต้องการจนทำให้เขากลายเป็นสถาปนิกชื่อดังแห่งยุค ผู้ออกแบบบ้าน Mid-Century Modernists ที่สำคัญที่สุดคนหนึ่งของโลก

Born to be Architect

Richard Neutra  เกิดที่เมืองเวียนนา ประเทศออสเตรียในครอบครัวชาวยิวที่ค่อนข้างร่ำรวย อาชีพแรกของเขา คือ การเป็นสถาปนิกชาวยุโรป โดยเขาเองมีโอกาสได้คลุกคลีอยู่กับสถาปนิกคนดังมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาภายใต้การดูแลของสถาปนิกชาวออสเตรียชื่อดัง Adolf Loos ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีเวียนนา และมีโอกาสได้ทำงานในสำนักงานของสถาปนิกชาวเยอรมัน Erich Mendelsohn หลังจากเป็นหัวหน้าสถาปนิกที่เมืองลัคเคินวัลด์ ประเทศเยอรมันในช่วงสั้น ๆ ครอบครัวชาวยิวของเขาก็ตัดสินใจอพยพออกจากยุโรปไปสู่ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งนูตราก็ยังคงทำงานร่วมกับดาราดังแห่งวงการสถาปัตยกรรมอย่าง Frank Lloyd Wright ก่อนที่จะเริ่มเส้นทางการเป็นสถาปนิกฝั่ง West Coast ด้วยตนเอง ผ่านชื่อเสียงจากการสร้าง Lovell House ในปีค.ศ.1929

Lovell House สร้างความตื่นตาให้กับวงการสถาปัตยกรรมทั้งในยุโรปและอเมริกา งานแรกของนูตรานี้ความคล้ายคลึงกับงานของ Le Corbusier และ Mies van der Rohe สองศาสตราจารย์ด้านสถาปัตยกรรม โดยหลายคนมองว่าบ้านหลังนี้เป็นตัวแทนของสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ โดยแสดงให้เห็นศักยภาพของอุตสาหกรรมที่ไปไกลกว่าแค่บ้านที่มีประโยชน์ใช้สอยทั่วๆ ไป

โครงสร้างของบ้านค่อนข้างเป็นนวัตกรรมใหม่ในสมัยนั้น โดยตัวระเบียงถูกแขวนด้วยสายเคเบิลเหล็กเรียวจากโครงหลังคาเช่นเดียวกับสระว่ายน้ำที่แขวนลอยอยู่ในคอนกรีตรูปทรงตัวยู นอกจากนี้บริบทที่ตั้งซึ่งเป็นเนินเขายังท้าทายการก่อสร้าง โดยทีมก่อสร้างจำเป็นต้องแบ่งการสร้างโครงของบ้านโลเวลล์เป็นส่วนๆ และขนส่งวัสดุด้วยรถบรรทุกขึ้นไปบนเนินเขาสูงชัน 

สัญลักษณ์หนึ่งของความฝันในแบบ American Dream

ในยุคปัจจุบัน เราเห็นภาพยนตร์จำนวนไม่น้อยที่พยายามตีแผ่เรื่องราว เสนอชีวิตในแบบ American Dream หรือเรียกง่ายๆ ก็คือคติความเชื่อของคนอเมริกันเกี่ยวกับ ความสุข และความสําเร็จในชีวิตที่ทุกคนต่างก็ปรารถนา และอาจเรียกได้ว่า หนึ่งในสัญลักษณ์เหล่านั้น คือ บ้าน  Mid-Century Modern ที่นูตราออกแบบ บ้านที่ซึ่งใช้สถาปนิกดีไซน์ โดยหยิบเอกลักษณ์ความโมเดิร์นเข้ามาเป็นส่วนผสมหลัก เพื่อเติมเต็มสุนทรียะ

บ้านของนูตราเป็นที่นิยมแบบ American Dream มากในยุคนั้น ไม่ว่าจะเป็นองค์ประกอบสำเร็จรูป (prefabricated elements) ในการออกแบบของเขา การใช้กระจกและการดีไซน์ให้บ้านโปร่ง โล่ง สบาย ปรับแต่งให้เหมาะสมกับสไตล์การใช้ชีวิตของเจ้าของบ้านคนนั้นๆ อีกทั้งยังรวมถึงภูมิทัศน์ ความเป็นธรรมชาติที่เขาใส่ใจ ทั้งหมดล้วนเป็นแนวคิดที่บ้านจัดสรรในแถบอเมริกาต่างดิ้นรนตามหา และโฆษณาชวนเชื่อเพื่อให้ได้มาซึ่งยอดขาย

VDL Research House สำหรับการออกแบบบ้านหลังนี้ นูตราพยายามแสดงให้เห็นว่านวัตกรรมของ Lovell House สามารถนำมาปรับใช้ในการออกแบบอาคารได้โดยไม่จำเป็นต้องเป็นเพียงลูกค้าที่ร่ำรวยใช้งบประมาณสูงเท่านั้น นูตราออกแบบโดยใช้แสงธรรมชาติผ่านผนังกระจกที่เปิดออกสู่ลานสวน

บ้านหลังนี้เป็นเหมือนโครงการนำร่อง ที่เขาต้องการแสดงให้เห็นว่าการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ภายในพื้นที่จำกัด ก็ยังสามารถเป็นส่วนตัวได้ ผ่านการออกแบบวางผังบ้านให้รู้สึกถึงความสบาย โปร่งโล่ง ในขณะที่แต่ละฟังก์ชันยังมีความเป็นส่วนตัวระหว่างกันอย่างชัดเจน  

VDL Research House (https://www.dwell.com/)

เมื่อ Bauhaus Modernism ผสมผสาน Southern California

บ้านที่นูตราออกแบบผสมผสานความทันสมัยในแบบ Bauhaus เข้ากับประเพณีการสร้างของ Southern California การปรับตัวที่ไม่เหมือนใครกลายเป็นที่รู้จักในนาม Desert Modernism โดยบ้านของเขามักจะเป็นอาคารที่มีพื้นผิวเรียบและมีลักษณะแบนราบ สร้างด้วยเหล็ก กระจก และคอนกรีตเสริมเหล็ก

The Kaufmann Desert House เป็นบ้านที่ตั้งอยู่ในเมืองปาล์มสปริงส์ รัฐแคลิฟอร์เนีย โดยมีเจ้าของบ้านคือ Edgar J. Kaufmann เจ้าของคนเดียวกับ Falling Water House ที่ออกแบบโดย Frank Lloyd Wright นั่นเอง บ้านหลังนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นสถาปัตยกรรมที่ช่วยนิยามสุนทรียศาสตร์สมัยใหม่ของเมืองตากอากาศปาล์มสปริงส์ให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

การออกแบบบ้านค่อนข้างเรียบง่าย โดยมีใจกลางบ้านเป็นห้องนั่งเล่น ห้องรับประทานอาหาร และห้องทำกิจกรรมของครอบครัว ส่วนที่เหลือของบ้านแตกกิ่งก้านออกไปในแต่ละทิศทาง โดยมีพื้นที่สระว่ายน้ำทำหน้าที่สร้างความสมดุลและกลมกลืนขององค์ประกอบในการออกแบบโดยรวม ระนาบแนวนอนที่มีระดับต่ำถูกเน้นผ่านชุดประตูกระจกบานเลื่อนที่เปิดออกเพื่อให้ครอบคลุมทางเดินหรือลานบ้าน เป็นวิธีที่นูตราออกแบบบ้านให้กลมกลืนกับภูมิทัศน์ เมื่อเราเปิดประตูกระจกบานเลื่อน ความแตกต่างของพื้นที่ภายในและภายนอกจะถูกเบลอให้รวมกันกลายเป็นพื้นที่เดียว

The Kaufmann Desert House (https://www.dwell.com/)

‘Biorealism’ กลมกลืนกับธรรมชาติ

พูดถึงศัพท์ใหม่ๆ ในยุคหลังอย่าง biophilia, biomimicry หรือ biodiversity คำว่า “bio” มีบทบาทอย่างมากมาย แต่สำหรับ นูตรา เขาเองบัญญัติศัพท์คำว่า ‘Biorealism’ (สัจธรรมชีวนิยม) เพื่อสื่อถึง “ความสัมพันธ์โดยธรรมชาติที่แยกออกไม่ได้ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ” เป็นที่มาที่เราเห็นบ้านโมเดิร์นในรูปทรงเรียบง่าย เข้าถึงและพยายามสร้างความสัมพันธ์กับภูมิทัศน์โดยรอบได้อย่างกลมกลืน

บ้านที่นูตราออกแบบ จึงมักมีลานหรือเฉลียงที่จัดวางในแนวนอน เพื่อให้พื้นที่เอาท์ดอร์ดูเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของบ้าน ซึ่งเขาเชื่อว่าสถาปัตยกรรมควรเป็นหนทางในการนำมนุษย์กลับคืนสู่ความเป็นตัวเองและความเป็นธรรมชาติ

Taylor House (Photography: Tim Street-Porter via Crosby Doe Associates)

Person-Centered Design ดีไซน์บ้านเพื่อผู้อยู่

อีกหนึ่งแนวคิดที่ทำให้นูตราเป็นที่รู้จักในวงกว้าง คือ การออกแบบที่เน้นลูกค้าเป็นศูนย์กลางแทนที่จะใส่แนวคิดความเป็นตัวเองลงไป เหมือนสถาปนิกระดับโลกคนอื่นๆ เขากลับออกแบบอาคารที่เหมาะสำหรับผู้อยู่อาศัยและตอบโจทย์ความต้องการของพวกเขามากที่สุด ซึ่งในกระบวนการออกแบบของนูตรา เขามักจะสอบถามถึงความต้องการ ลักษณะนิสัยของลูกค้าเป็นระยะเวลานาน เพื่อทำความเข้าใจว่าจริงๆแล้ว อะไรที่สิ่งที่ผู้อยู่ต้องการ ก่อนจะลงมือทำการออกแบบ

Constance Perkins House คอนสแตนซ์ เพอร์กินส์ทำงานเป็นศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ศิลปะที่ Occidental College  นูตราและเพอร์กินส์ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดในการออกแบบพัฒนาบ้าน โดยเพอร์กินส์เองได้ส่งรายการสิ่งที่ชอบและไม่ชอบ ให้กับนูตราพร้อมอัตชีวประวัติแบบย่อ เพื่อให้นูตราทำความเข้าถึงสิ่งที่เธอต้องการสำหรับบ้านหลังใหม่

บ้านหลังเล็กนี้สร้างด้วยวัสดุราคาไม่แพง อย่างไม้ ปูนปลาสเตอร์ และกระจก คานลักษณะขาแมงมุมขยายพื้นที่ออกไปยังแอ่งน้ำทรงคดเคี้ยวเล็กๆ ผ่านผนังกระจกด้านหนึ่งของบ้าน ในทางกายภาพ สัดส่วนและระยะของอาคารทั้งหมดเขายังอ้างอิงมาจากเพอร์กินส์ซึ่งเป็นผู้หญิงตัวเล็ก เธอเป็นผู้หญิงทำงานคนเดียวที่เลือกอาชีพการงานมากกว่าครอบครัว ฉะนั้นบ้านหลังนี้จะไม่มีห้องนอนหลัก แต่รวมพื้นที่ส่วนนอนเข้าไปในพื้นที่ทำงาน เพราะเธอต้องการสภาพแวดล้อมในบ้านที่มีความคิดสร้างสรรค์และเน้นการทำงานเป็นส่วนตัวมากกว่ากิจกรรมครอบครัวและการพักผ่อน บ้านของเธอจึงถือว่ามีอิทธิพลต่อสถาปัตยกรรมสมัยใหม่เนื่องด้วยการออกแบบเฉพาะตัว

ยิ่งมองเห็นบ้านที่ Richard Neutra ออกแบบ (ผ่านภาพถ่าย) เรายิ่งรู้สึกว่าหน้าตาของบ้านคลับคล้ายคลับคลาเหมือนบ้านโมเดิร์นยุคปัจจุบันในบ้านเรา เพียงแต่สำหรับเขา นั่นเป็นแนวคิดที่ถือกำเนิดเมื่อหลายทศวรรษก่อน ไม่แปลกใจที่นูตราจะกลายเป็นผู้มีส่วนสำคัญต่อแนวคิดสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ในฐานะสถาปนิกชาวอเมริกันผู้ยังคงเป็นที่จดจำ นอกจากนี้ เขายังเปลี่ยนแนวคิดของสถาปัตยกรรมด้วยโครงสร้างที่ผสมผสานสภาพแวดล้อมภายนอกเข้ากับพื้นที่ภายใน และที่สำคัญที่สุด คือการศึกษาจิตวิทยาผู้คนไปพร้อมกับการออกแบบ ความสามารถในการวิเคราะห์เกี่ยวกับสุขภาพจิตของเขาทำให้นูตราสามารถออกแบบ ‘บ้าน’ ได้เข้ากับแต่ละบุคคลอย่างแท้จริง

แม้ว่าเขาจะเสียชีวิตลงในปีค.ศ.1970 แต่ผลงานของ Richard Neutra ก็ได้ทำหน้าที่ขยายขอบเขตสถาปัตยกรรมโมเดิร์น และการค้นพบของเขาก็ยังคงเป็นแรงบันดาลใจในการเติบโตของสถาปัตยกรรมในยุคปัจจุบัน

ที่มา :
https://failedarchitecture.com/richard-neutras-therapeutic-architecture/
https://www.thoughtco.com/richard-neutra-the-international-style-177868
https://www.britannica.com/biography/Richard-Joseph-Neutra
https://www.archdaily.com/104112/ad-classics-kaufmann-house-richard-neutra
https://www.laconservancy.org/architects/richard-neutra
https://blogs.lt.vt.edu/architectureblogdelbridge/class-studies/writing-sample/richard-neutra-with-design-in-mind/
https://www.atomic-ranch.com/architecture-design/preservation-corner/richard-neutra/

Writer
Picture of Rangsima Arunthanavut

Rangsima Arunthanavut

Landscape Architect ที่เชื่อว่าแรงบันดาลใจในงานออกแบบ สามารถเกิดขึ้นได้จากทุกสิ่งรอบตัว และการบอกเล่าเรื่องราวการออกแบบผ่าน 'ตัวอักษร' ทำให้งานออกแบบที่ดี 'มีตัวตน' ขึ้นมาบนโลกใบนี้

Discover more from Design Makes A Better Life.

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading