Search
Close this search box.

WAWARA Design
จากบทบาทดีไซน์เนอร์สู่ผู้รับเหมาอินทีเรีย
ที่หวังอยากให้ผู้คนมองภาพลักษณ์ของคำว่า ‘ผู้รับเหมา’ เปลี่ยนไป

สเกลของงานที่ใกล้ชิดกับชีวิตมนุษย์อย่างการออกแบบอินทีเรีย แน่นอนว่าสำคัญไม่แพ้ส่วนอื่นๆ ของอาคาร และการที่จะสร้างสรรค์แบบในกระดาษของอินทีเรียดีไซน์เนอร์ให้ออกมาเป็นงานจริงในสเกล 1:1 ต้องอาศัย ผู้รับเหมาอินทีเรีย ที่เข้ามามีบทบาทสำคัญ แต่ขึ้นชื่อว่า ‘ผู้รับเหมา’ ไม่ว่าจะสาขาไหน ในอีกมุมหนึ่งอาชีพสามพยางค์นี้ก็แฝงความน่ากังวลใจ โดยที่ผู้คนส่วนใหญ่มักจะติดภาพว่า ผู้รับเหมาจะต้องมีเล่ห์เหลี่ยมบ้าง ทำงานไม่ตรงตามแบบบ้าง หรือหนีงานไปบ้าง

WAWARA Design บริษัทรับเหมา (อินทีเรีย) ของคนรุ่นใหม่ อยากให้ผู้คนมองภาพลักษณ์เหล่านั้นเปลี่ยนไป ด้วยบทบาทของผู้รับเหมาที่เป็นทั้งอินทีเรียและสถาปนิกมาก่อน นำโดยคุณท็อป-วรายุทธ มะตะบอง และคุณฐา-ฐาปนวุฒิ ภาคกาย

คุณฐา-ฐาปนวุฒิ ภาคกายและคุณท็อป-วรายุทธ มะตะบอง WAWARA Design
โปรเจกต์ GAA Designer : ARCHITECTKIDD / Interior Contractor : WAWARA Deign Photographer: Aey Somsawat, Luke Yeung

01 Beginning

อยากให้เล่านิดหนึ่ง เรียนจบอะไรมา?
ท็อป : ผมจบออกแบบตกแต่งภายใน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ คือถ้าเล่าย้อนไป เราจบพระนครเหนือฯ ก็จริง แต่ก่อนหน้านั้นผมเป็นเด็กอาชีวะ จบ ปวช. วิทยาลัยเทคนิคดอนเมือง ในสาขาออกแบบเครื่องเรือน งานไม้เลย ซึ่งตอนที่เราเรียนออกแบบเครื่องเรือน มันจะมีเรียนออกแบบอินทีเรียด้วยนิดหน่อย เรารู้สึกว่าชอบ เลยตัดสินใจมาศึกษาต่อ
ฐา : ส่วนผมจบสถาปัตยกรรมหลัก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

จบสายดีไซน์มาทั้งคู่ แล้วเปลี่ยนสายมาเป็นผู้รับเหมาได้อย่างไร
?
ท็อป :
พอจบอินทีเรียมา เราก็ได้รู้งานสองแบบทั้งดีไซน์เนอร์หรืองานช่าง งานไม้ งานประกอบอินทีเรียทั้งหมดด้วย เราเลยตัดสินใจเบนสาย จบมาไม่เป็นดีไซน์เนอร์ดีกว่า ลุคเราน่าจะลุยงานมากกว่า เลยไปเป็นโฟร์แมนที่โรงงานเอกชนแห่งหนึ่ง ก็เลยได้ทำงานเบื้องหลัง ดูรายการผลิต ดูคิวติดตั้งหน้างานทั้งหมด

ฐา : เรียนจบมา เรามีโอกาสทำรับเหมาอินทีเรียอยู่ช่วงหนึ่งสั้นๆ ประมาณ ปีครึ่ง-สองปี แต่ก็เป็นงานรับเหมาเทิร์นคีย์ โรงพยาบาลรัฐ ทำนองนี้ หลังจากนั้นเรากลับไปเป็นดีไซน์เนอร์ทำงานกับคุณดวงฤทธิ์ บุนนาค อยู่ 5 ปี ก็เป็นจังหวะที่อยากหาอะไรใหม่ๆ ทำ แล้วก็มีโอกาสได้มารู้จักกับท็อปพอดี เลยได้มาฟอร์มทีมร่วมงานกัน

และมาเปิด WAWARA Design เป็นของตัวเอง?
ท็อป : มันคือความอิ่มตัวจากงานประจำมากกว่า ถึงเวลาหนึ่งเราก็เหมือนคนอื่นๆ ที่อยากขยับขยาย แล้วมันมีโอกาสเข้ามาพอดี เรารู้สึกว่าพนักงานออฟฟิศคนหนึ่ง จะออกมาทำของตัวเองได้ มันไม่ใช่แค่มีความสามารถ แต่ต้องมีโอกาส ลูกค้าหรือใครก็ตามที่หยิบยื่นเข้ามา ผมมีงานนะ…คุณลองไหม แล้วเราถึงจะกล้าออกมาจากพื้นที่เดิม ๆ

ฐา : พอมีโอกาสยิบยื่นเข้ามา เรารับจ๊อบ พอรู้สึกว่าทำได้ ก็เริ่มมีมาต่อเนื่อง เราทำยาวกันมา จนถึงทุกวันนี้ WAWARA Design ก็มีอายุ 6 ปีแล้ว

โปรเจกต์ THE REVISION OF HAPPYNEST 2nd floor Designer : FATT STUDIO / Interior Contractor : WAWARA Deign Photographer: Panoramic Studio

02 Work hard
Work (with Details) harder

สำหรับคนที่ไม่รู้จัก ‘ผู้รับเหมาอินทีเรีย’ เราจะอธิบายให้เขาฟังง่ายๆ ว่าอย่างไร?
ท็อป : ถ้าง่ายๆ คือ ทำทุกอย่างจากกระดาษออกมาเป็นวัสดุ อุปกรณ์ต่างๆ หรืองานเฟอร์นิเจอร์ ถ้าของ WAWARA Design หลังจากที่เราได้รับบรีฟ ขั้นแรก เราจะเอาแบบทั้งหมดมาเปิดดูก่อนว่าผู้ออกแบบใส่ดีเทลอะไรลงไปในนั้นบ้าง เพราะเราให้ความสำคัญกับงานดีไซน์ อาจเพราะเราจบอินทีเรียมาก่อน เราจะรู้ว่าเขาแฝงดีไซน์อะไรอยู่ในแบบบ้าง ดีไซน์เนอร์เขาคิดอะไรอยู่ ขั้นที่สอง เราจะไปดูว่าวัสดุ อุปกรณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานอินทีเรีย อย่าง Fitting ต่างๆ ถ้ามีอุปกรณ์เฉพาะทาง เราต้องสั่งทำ สั่งซื้อก่อนก่อนที่เราจะนำมาประกอบ เพราะสิ่งเหล่านี้จะบอกว่า ดีไซน์ที่ผู้ออกแบบทำไว้ มันจะมีการปรับเปลี่ยนไหม ประกอบเข้าไปแล้ว จะทำให้ช่องไฟ หรือระยะต่างๆ คลาดเคลื่อนไปไหม

กว่าจะออกมาเป็นห้องหนึ่งห้อง มันประกอบด้วยปัจจัยหลายอย่าง จากช่างหลายแขนง ช่างประปา ช่างไฟฟ้า ช่างเหล็ก ช่างเชื่อม งานไม้ งานหิน กระเบื้อง หรือช่างสี ซึ่ง ‘ผู้รับเหมาอินทีเรีย’ ต้องมาจัดการกับงานทั้งหมดนี้ อะไรต้องเริ่มก่อนเริ่มหลัง เพื่อให้งานมันราบรื่นที่สุด เพราะบางอย่างถ้าเราทำข้ามขั้นตอน ผลลัพธ์ปลายทางอาจจะไม่มีความเรียบร้อยของงาน

สมมติ เขาออกแบบระแนงไม้สีโทนอ่อน เราต้องไปเลือกไม้ คัดไม้ไว้ตั้งแต่แรก ถ้าเราปล่อยให้ช่างค่อยๆ ทำไป สีมันจะไม่เหมือนกันเลย มันไม่ใช่แค่เรื่องทำสีไม้ให้เหมือนกัน แต่วัสดุพื้นผิวต้องเหมือนกันก่อน ถึงจะได้ตรงตามแบบที่เขาต้องการ

ฐา : ในมุมผม ผมมองว่ามันคืองานบริหารแขนงหนึ่ง เพราะผู้รับเหมา คือคนกลางที่จะมาบริหารทั้งคน เวลา งบประมาณ คน คือการที่เราเป็นตัวกลางระหว่างช่าง  เจ้าของบ้าน ทีมงาน หรือบางครั้งมีนิติโครงการ เราต้องดูให้บรรยากาศการทำงานร่วมกันเป็นไปได้ด้วยดี เรื่องของ เวลา คือ การวางแผนทำงาน อะไรก่อนหลัง ส่วนงบประมาณ คือ บางอย่างมันสามารถทำให้ทั้งแพง ทั้งถูกได้ ถ้าทำได้ตามแบบ 80-90% แล้วราคาเป็นแบบนี้ เขาโอเคไหม?  แล้วยิ่งเรามีพื้นฐานเป็นดีไซน์เนอร์ เรายิ่งเข้าใจว่า เขาดีไซน์แบบนี้ไว้ เขาต้องการอะไร ต้องการให้แนวตู้อิงกับแนวพื้น ผู้รับเหมาบางคนอาจจะมองแค่ภาพรวม แต่เราจะเห็นเส้นสาย การจบวัสดุแบบนั้นอยู่ เราเลยเน้นหนักไปที่การทำงานออกมาให้ตรงตามที่ดีไซน์เนอร์อยากได้

ท็อป : ใช่ บางทีผู้รับเหมาอาจจะมองว่า ปลายทางเหมือนกันแหละ ซึ่งมันอาจทำให้ดีไซน์ที่เขาทำไว้มันคาดเคลื่อนไปนิดนึง เราพยายามจะรีเช็คเก็บตกตรงนี้ ให้มันตรงตามคอนเซ็ปต์ที่ดีไซน์เนอร์เขาวางไว้ เราค่อนข้างให้ความสำคัญกับตรงนี้ เส้นสายความต่อเนื่องของงานทั้งหมด เพราะเราเป็นผู้รับเหมาที่มองงานเป็นอินทีเรียด้วย

ฐา : บางอย่างมันนิดเดียวเลย แต่ทำให้ภาษาดีไซน์มันเปลี่ยน เช่น เส้นนี้ตั้งใจให้ต่อมุมกันแบบนี้ ถ้าเราต่ออีกแบบมันอาจจะเหลื่อมกัน ทำให้ภาษาตรงนั้นมันคาดเคลื่อนไป

ที่บอกว่า ‘ผู้รับเหมา’ ทำหน้าที่บริหารคน แสดงว่าคอนเนคชั่นเป็นสิ่งสำคัญ?
ท็อป : เราแบ่งเป็นสองอย่าง  คือ คอนเนคชั่นที่ไม่ได้เกี่ยวกับหลังบ้านเราเอง อย่างพวกโรงชุบ สแตนเลส โรงอบ เราจำเป็นต้องมีคอนเนคชั่นที่ดี และยิ่งมีคอนเนคชั่นในมือเยอะเท่าไร เรายิ่งมีเครื่องมือในการทำงานเยอะขึ้นเท่านั้น เพราะข้อจำกัดพวกนี้มันจะส่งผลกับการทำงาน หรือสิ่งที่ดีไซน์เนอร์ออกแบบไว้ ด้วยความที่ suppliers แต่ละเจ้าก็จะมีข้อจำกัดของตัวเอง เช่น ถ้าเรามีโรงชุบโครเมียมที่ใหญ่ที่สุด บ่อใหญ่มาก กับผู้รับเหมาอีกเจ้าหนึ่งที่รู้จักแค่บ่อชุบเล็กๆ เขาก็ต้องบอกดีไซน์เนอร์ว่าที่ออกแบบไว้อาจจะต้องปรับเพราะลงบ่อชุบไม่ได้ ซึ่งถ้าเรามี มันจะลดข้อจำกัดเหล่านั้นไป ปลายทางก็จะตรงตามที่ผู้ออกแบบต้องการ

ส่วนหลังบ้านของเราเอง ความยาก คือ ต้องทำงานร่วมกับคนรุ่นพ่อ รุ่นน้า รุ่นอา ซึ่งบางครั้งคำพูดที่เราบอกไป เขาอาจจะไม่เชื่อ เราต้องทำให้เขาเปิดใจยอมรับว่าเราคุยภาษาเดียวกันนะ เราเองก็เป็นช่างเหมือนกัน เพราะถ้าเขาไม่ยอมรับเรา เวลาเราบอกอะไรไปเขาก็จะทำตามที่เราบอกทั้งหมด โดยขาดการปรึกษา การแชร์ประสบการณ์ร่วมกัน ประสบการณ์เรา 10 ปี แต่ประสบการณ์เขา 40-50 ปี ถ้าเราเปิดใจยอมรับกัน แน่นอนว่าการทำงานไปได้ดีกว่า

โปรเจกต์ RESIDENCE BLACK&WHITE Designer : RAD studios / Interior Contractor : WAWARA Deign Photographer: Chalermwat Wongchompoo

03 From Designer to Contractor
From Contractor to Designer

เป็นดีไซน์เนอร์มาก่อน แล้วต้องมาทำงานกับดีไซน์เนอร์ มันยากหรือง่ายกว่าอย่างไร?
ท็อป : ผมว่ามันง่ายขึ้นนะ เพราะเราพยายามเข้าใจก่อนแล้วว่าเขาต้องการอะไร เหมือนเราคุยภาษาเดียวกันแหละ เขาต้องการจะสื่อสารอะไร อยากให้ปลายทางมันเป็นยังไง เราค่อนข้างอ่านเกมส์ออก แล้วก็จะรู้ว่าเราต้องเริ่มยังไง ทำยังไงให้มันออกมาตรงตามที่เขาต้องการ

ฐา : ในอีกมุมหนึ่ง ผมว่าเราต้องยกความเป็นดีไซน์เนอร์ของตัวเองออกไปประมาณนึง ไม่งั้นเราจะรู้สึกแบบว่า…อันนี้มันใช่หรอ…อันนี้มันน่าจะเป็นแบบนี้นะ…ซึ่งการทำแบบนั้นไม่มีผลดีเลย เราให้เกียรติวิชาชีพเขา เพราะฉะนั้นถ้าเราได้แบบมา เราก็จะยึดตามแบบนี้ แต่บางครั้งก็จะถามรีเช็คก่อนว่า..เขาตั้งใจให้เป็นแบบนี้ใช่ไหม หรืออาจจะมีเสนอแนะบางครั้ง ซึ่งถ้าเขาตั้งใจให้เป็นแบบนั้น เราเคารพวิชาชีพของเขา

ท็อป : เราทำงานในบทบาทของผู้รับเหมาที่พยายามทำความเข้าใจอินทีเรีย เราเอาแบบของเขามาทำการบ้านต่อให้มันเหมือนที่เขาออกแบบไว้ แข็งแรง อยู่ได้และสร้างได้จริง เราอยากส่งมอบงานให้เหมือนกับที่เขาออกแบบไว้แทบจะ 100% โดยที่ไม่ขยับอะไรของเขาเลย แต่ถ้าเห็นว่าตรงไหนมันผิดปกติ ไม่แข็งแรง หรือมีผลกับผู้ว่าจ้างเอง เราก็มีการทักท้วงไป เพราะเราไม่อยากเป็นผู้รับเหมาที่พูดว่า ‘ก็ผมทำตามแบบอ่ะครับ’…เราพยายามตัดภาพลักษณ์ผู้รับเหมาแบบนี้ออกไป พยายามทำให้ทุกฝ่ายทำงานร่วมกันได้มีประสิทธิภาพและมีความสุข

โปรเจกต์ RESIDENCE RSK49 Designer : Variation architecture / Interior Contractor : WAWARA Deign

ด้วยประสบการณ์ อาชีพผู้รับเหมาอินทีเรีย มีข้อจำกัดอะไรไหม?
ท็อป : ความท้าทายของเรา คือ การทำงานร่วมกับดีไซน์เนอร์ (หัวเราะ) พอเราไม่ได้เป็นดีไซน์เนอร์เอง ความหลากหลายของงานมันจะมีมากกว่า แต่ละคนก็เก่งดีไซน์แต่ละด้านไม่เหมือนกัน เขาจะวางคอนเซ็ปต์แต่ละโปรเจกต์ไม่เหมือนกัน เราทำงานกับดีไซน์เนอร์ 10 คน เราต้องตอบสนองให้ได้ทั้ง 10 คน มันก็มีความยากง่ายของงานตรงนั้น

ฐา : ทุกครั้งที่เรามีดีไซน์เนอร์คนใหม่ๆ ส่งแบบมาให้ มันจะเกิดรูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนไป เลยเหมือนว่าเราได้เรียนรู้ใหม่ตลอดเวลา บนการทำงานของเราว่าเราต้องปรับให้เข้ากับเขาอย่างไรบ้าง แล้วเราก็ต้องปรับทีมด้วย ยิ่งทำงานกับทีมช่าง ถ้าเป็นทีมใหม่ๆ เขาก็จะรู้สึกว่า ทำไมทำงานไม่เหมือนกับโปรเจกต์ที่แล้ว ซึ่งก็ต้องมาปรับกันว่า เพราะโปรเจกต์นี้ดีไซน์เนอร์เขาต้องการแบบนี้นะ มันก็คือเรื่องการบริหารคนที่เป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง

แล้วความท้าทายที่เรามองว่าต่างจากการเป็นดีไซน์เนอร์อย่างสิ้นเชิง?
ฐา : ตอนที่เป็นดีไซน์เนอร์ ผมมองว่า มันคือการคิดจาก 0 แล้วไป 100 แต่การเป็นผู้รับเหมา คือ มันมีโจทย์ที่เจาะจงมาประมาณนึงแล้วเราจะทำยังไงให้มันเกิดขึ้นได้จริง 

ท็อป : เรารู้สึกสนุกและภูมิใจ เวลาเห็นหน้างานจริงแล้วรู้สึกว่า เห้ย!…เหมือน Perspective เลย เพราะเวลาดีไซน์เนอร์ขายงานให้ลูกค้า เขาขายงานด้วย Perspective ของจริงมันก็ควรจะเป็นแบบนั้น

ผมว่าถ้ามีแบบให้หนึ่งเล่ม โยนให้ผู้รับเหมาสิบเจ้าทำ คุณภาพงานอาจจะใกล้ๆ กัน คล้าย ๆ กัน แต่อยู่ที่ว่าใครจะมองดีเทล เล็กๆ น้อยๆ ได้มากที่สุด แล้วทำให้เหมือนแบบที่สุดเท่าที่จะทำได้ และขึ้นอยู่กับว่าผู้รับเหมาเจ้าไหนมองข้อจำกัดของวัสดุอย่างไร ยิ่งเรามองข้อจำกัดได้มาก ก็ยิ่งทำให้เราหาวิธี หาเครื่องมือที่จะทำให้มันออกมาได้ละเอียดมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งมันก็มาจากประสบการณ์ที่หาได้จาก Supplier นี่แหละ วัสดุคืออะไร เราอยากได้แบบนี้ๆ คุณทำได้แค่ไหน อาจจะมีการเสนอแนะ เอาข้อจำกัดของเราเติมของเขาไปอีก เราอาจจะถามว่าข้อจำกัดสูงสุดที่เขาทำได้มันคือตรงไหน เก็บข้อมูลเหล่านี้มา พอทำไปเรื่อยๆ มันก็กลายเป็นคลังข้อมูลที่เรามีอยู่ในมือ เหมือนความเคยชินไปเลย

ฐา : หรือบางทีเราก็เรียนรู้จากข้อผิดพลาด อย่างไซท์ที่แล้วพลาดตรงไหน งานต่อไปก็แก้ไขปัญหาเหล่านั้น

ทำมาหลายปี เรารักอาชีพนี้ ที่ตรงไหน?  
ท็อป :
เรารู้สึกภูมิใจนะ มันเหมือนเราได้เอาวิชาชีพที่เราเรียนมาใช้เต็มๆ เพราะเราเรียนตั้ง 6 ปีรวมปวช.และปริญญาตรี แล้วมันท้าทายเวลาเราได้เจอดีไซน์เนอร์เจ้าใหม่ๆ เวลาเขาดีไซน์อะไรยากๆ แล้วเราสามารถตอบสนองเขาได้ เราสนุกไปกับมัน

ฐา : มันมีช่วงหนึ่ง ตอนที่ผมเป็นดีไซน์เนอร์ ผมเคยเจอผู้รับเหมาเจ๋งๆ เขาทำงานเหมือนเวลาเราดูทีวีแชมป์เปี้ยน (ยิ้ม) ….…ดูสิเจ๋งไหม…ผมทำแมคคานิคประตูนี้มา…เอาไหมครับ และผู้รับเหมาเก่งๆ คนนั้นแหละ ที่คอยช่วยให้ผมทำดีเทลงานออกแบบได้ดี แล้วมันทำให้งานมันยิ่งดีขึ้นไปอีก ผมเลยอยากเป็นผู้รับเหมาแบบนั้น มันคือการช่วยเหลือและเติมเต็มซึ่งกันและกัน เราเอาประสบการณ์ที่เป็นดีไซน์เนอร์ มาช่วยทำให้งานมันยังคงความเป็นดีไซน์อยู่ และเพิ่มคุณภาพขึ้นไปอีกด้วยดีเทลในแง่ของการก่อสร้าง

จริงๆ พอพูดว่า ‘ผู้รับเหมา’ มันดูน่ากลัวไปเลยใช่ไหมสำหรับ Owner คือทุกคนจะติดภาพว่าเดี๋ยวต้องมีเล่ห์เหลี่ยม หรือหนีงานไปแน่เลย WAWARA Design เราอยากให้คนลืมภาพนั้น อยากให้คนมองภาพลักษณ์ของวิชาชีพนี้เปลี่ยนไป (ทั้งคู่ทิ้งท้าย…)

WAWARA Design
website : http://wawaradesign.com/
facebook : https://www.facebook.com/wawaradesign
Instagram : https://www.instagram.com/wawaradesign/

Writer
Rangsima Arunthanavut

Rangsima Arunthanavut

Landscape Architect ที่เชื่อว่าแรงบันดาลใจในงานออกแบบ สามารถเกิดขึ้นได้จากทุกสิ่งรอบตัว และการบอกเล่าเรื่องราวการออกแบบผ่าน 'ตัวอักษร' ทำให้งานออกแบบที่ดี 'มีตัวตน' ขึ้นมาบนโลกใบนี้

Discover more from Design Makes A Better Life.

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading