ภูเขา-บ้าน-ทะเล
“บ้านลูกปลา” คือชื่อเล่นที่คุณนิค สถาปนิกในนามของบริษัท Araya Kubota architect และลูกชายของครอบครัวใช้เรียกชื่อบ้านพักตากอากาศหัวหินบริเวณเขาตะเกียบ ที่เมื่อเวลาผ่านไปบ้านเริ่มเก่าทรุดโทรม จึงคิดอยากที่จะปรับปรุงบ้านให้บ้านดูใหม่ทันสมัยมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็ยังคงบรรยากาศแบบเดิมเอาไว้
เมื่อได้รับโจทย์ในการออกแบบมาแล้ว สถาปนิกก็เริ่มต้นวิเคราะห์จากลักษณะเด่นของตัวบ้านเดิม ทำเลที่ตั้งบ้านพักตากอากาศที่ทางทิศตะวันออกจะหันหน้าออกทะเล ทิศตะวันตกหันหน้าออกภูเขารับทิวทัศน์ทั้งสองด้าน ที่ตั้งตรงนี้ยังมีลมพัดผ่านตลอดเวลา ตัวบ้านเดิมจึงถูกออกแบบในลักษณะบ้านไทยพื้นถิ่น ที่มีบริเวณใต้ถุนสำหรับทำกิจกรรมพร้อมกับรับลมทะเลได้ ในขณะที่ชั้น 2 ออกแบบเป็นส่วน Private มากขึ้น มีห้องนั่งเล่น ห้องนอน ระเบียงทั้งสองฝั่งที่สามารถชมวิวทั้งทะเลและภูเขาได้ ซึ่งผู้ที่เข้ามาใช้งานถึงแม้ว่าจะอยู่ภายในอาคารก็สามารถรู้สึกเชื่อมต่อกับธรรมชาติรอบ ๆ ได้ ทำให้รู้สึกว่าได้มาพักผ่อนจริงๆ
ออกแบบเพื่อส่งเสริม ปรับปรุงเพื่อรักษา
สถาปนิกตัดสินใจที่จะคงรูปทรงของบ้านรวมถึงโครงสร้างที่ยังดีอยู่เพื่อที่จะคงบรรยากาศแบบนี้ไว้ โดยตีความใหม่ในการจัดสรรพื้นที่ภายในใหม่และการเปลี่ยนวัสดุบางส่วนให้มีความร่วมสมัยมากขึ้น ในแนวทางเดียวกับวัสดุเดิมที่มีอยู่ โดยเริ่มจากใต้ถุนชั้น1 ซึ่งเป็นพื้นที่กึ่งภายนอก มีการทุบห้องบางส่วนออกเพื่อเปิดวิวทะเล ติดประตูบานเฟี้ยมรอบด้าน กลายเป็นห้องที่สามารถเปิดรับลมทะเลในวันที่อากาศดี หรือจะเปลี่ยนมาใช้เครื่องปรับอากาศตอนที่รู้สึกอบอ้าว รวมถึงมีการวางเคาเตอร์บาร์ เพิ่มห้องน้ำภายในตัวบ้าน จากแต่ก่อนในบริเวณชั้น 1 ต้องเดินออกไปใช้ภายนอกบ้าน ทำให้จากใต้ถุนบ้านเปลี่ยนเป็นห้องนั่งเล่นที่สะดวกสบายตอบโจทย์กับวิถีชีวิตยุคใหม่
ส่วนชั้น 2 มีการปรับเปลี่ยนเพียงเล็กน้อย โดยที่ระเบียงฝั่งทะเลจากเดิมเป็นหลังคากันสาดโครงสร้างไม้และกระเบื้องซีเมนต์ทำให้ดูทึบอึดอัด จึงเปลี่ยนเป็นหลังคาโครงสร้างเหล็กกรุแผ่นโพลีคาร์บอเนตใสห้อยด้วยผ้าโปร่งสีขาว ทำให้ภาพรวมดูโปร่งสบายมากขึ้น ห้อง Master bedroom มีการเจาะช่องกระจกให้ใหญ่ขึ้นเพื่อที่จะรับวิวทะเลได้เต็มที่ ส่วนห้องน้ำมีการแบ่งโซนแห้งและโซนเปียกอย่างชัดเจนเพื่อให้สะดวกกับการใช้งาน
บ้าน Colonial ในหัวหิน
ในการเลือกใช้วัสดุ มีการเปลี่ยนกระเบื้องหลังคาใหม่ทั้งหมดจากแต่ก่อนเป็น Metal sheet ที่ทำให้บ้านดูแข็งกระด้างเปลี่ยนเป็น หลังคา Fiber Cement สีขาวทรงกระเบื้องว่าว ซึ่งเป็นเสมือนภาพลักษณ์ของบ้านตากอากาศของหัวหินที่ได้รับอิทธิพลมาจากสถาปัตยกรรมแนว Colonial วัสดุสมัยใหม่อย่างกระเบื้องพอซเลน ไม้เทียมที่ทนทานในการใช้งานถูกนำมาใช้บริเวณชั้น 1 และงานภายนอก
ขณะเดียวกันพื้นไม้มะค่าที่ชั้น 2 ก็ยังเก็บรักษาไว้คงเดิม บานหน้าต่างไม้เก่าของห้องน้ำถูกนำมาใช้และจัดเรียงใหม่ให้มีความน่าสนใจบริเวณทางเข้าบ้าน ราวกันตกไม้ที่สามารถเปลี่ยนเป็นราวกันตกกระจกแบบสมัยนิยมได้ แต่เลือกที่จะเก็บไว้ ทาสีขาวแทนเพื่อให้ดูสะอาดตา อีกทั้งมีการนำกระเบื้องดินเผาที่ใช้กรรมวิธีผลิตแบบดั้งเดิม ซึ่งในหนึ่งลอทกระเบื้องจะมีเฉดสีที่ต่างกัน ถูกนำมาใช้ภายในบ้านให้ดูมีความน่าสนใจมากขึ้น เช่น บริเวณเคาเตอร์บาร์ที่ใช้กระเบื้องสีฟ้าโดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากทะเลตัดกับผนังไม้สักเก่า
เฟอร์นิเจอร์ของตกแต่งบ้าน เมื่อถูกนำมาวางแล้วจะต้องกลมกลืนไปกับบรรยากาศรอบๆ จึงเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ที่ทำมาจากวัสดุอย่างหวายและไม้ เพราะฉะนั้นผู้มาใช้งานจึงสามารถได้รับความสะดวกสบาย ในขณะเดียวกันก็รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับธรรมชาติรอบๆ บ้านได้
รักทะเลให้ร่มรื่น
แม้แต่งานภูมิสถาปัตยกรรมก็มีการเก็บต้นลีลาวดีต้นเดิมที่ถูกปลูกไว้ตั้งแต่ก่อสร้างบ้าน เพิ่มด้วยพันธ์ไม้ที่สามารถดูแลได้ง่ายเช่น ต้นรักทะเล ต้นหลิว จั๋ง หรือพุดศุภโชค ทำให้บรรยากาศดูร่มรื่น ขับตัวบ้านสีขาวให้ดูโดดเด่น ส่วนที่ถือว่าเป็นไฮไลท์ของบ้าน คือบริเวณริมหาดที่มีการสร้างสระว่ายน้ำแบบ Infinity Pool ปูด้วยหินสุขภูมิสีเขียวน้ำทะเล ให้ความรู้สึกเชื่อมต่อกับผืนน้ำด้านหน้า ศาลาไม้เดิมก็นำมาปรับปรุงใหม่โดยถอดกระเบื้องหลังคาออก ทาสีใหม่ ตกแต่งด้วยผ้าโปร่ง และวางเบาะสำหรับใช้งานภายนอกใช้เป็นส่วนนั่งเล่นริมสระว่ายน้ำ
ระหว่างการก่อสร้างเกิดการปรับเปลี่ยนแบบตามสภาพหน้างานตลอดเวลา เพื่อให้การออกแบบนั้นสามารถนำไปสร้างจริงได้ จึงต้องมีการเข้าไปดูสถานที่จริงบ่อยๆ เพื่อทำความเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้น สุดท้ายนี้ผมคิดว่าเสน่ห์ของงานออกแบบปรับปรุงอาคารเก่าให้มีความร่วมสมัย คือ การที่ตัวอาคารยังคงแสดงเอกลักษณ์และบรรยากาศในแบบยุคสมัยนั้นๆ ผ่านการอนุรักษ์องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมไว้ ไม่ว่าจะถูกนำมาใช้ในรูปแบบใดก็ตาม แต่ในขณะเดียวกันก็สามารถดูกลมกลืนไปกับยุคสมัยใหม่ได้ผ่านการออกแบบที่มีการคิดวิเคราะห์มาอย่างดี
Location: Huahin, Prachuap Khiri Khan, Thailand
Site Area: 1.20 Rai
Floor Area: 300 sq.m. (Main House)
Designer: Araya Kubota, Siriwat Raveeripoopai(RAV Studio)
Photographer: Beer Singnoi
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!