Search
Close this search box.

น้อยแต่มากคือคำจำกัดความของบ้าน ‘AREN SHOW UNIT’

เมื่อเราเห็นบ้านสไตล์มินิมอลในปัจจุบันที่มักจะการตกแต่งและจัดวางที่ดูเรียบง่าย มีสิ่งของการใช้งานเท่าที่จำเป็น รวมไปถึงเรื่องของสีสันที่ใช้เพียงแค่ สีขาว และสีเทา เน้นรูปทรงการออกแบบเป็นเลขาคณิต ถึงแม้จะดูเหมือนว่าไม่มีอะไรแต่ในทุกๆ ส่วนนั้นได้ผ่านการคิดสร้างสรรค์มาอย่างครบถ้วน

และความน้อยแต่สร้างสรรค์มากก็ถูกถ่ายทอดลงมายัง AREN SHOW UNIT บ้านตัวอย่างสีขาวโพลน ที่ดูเรียบง่าย แต่แฝงไปด้วยรายละเอียดมากมาย ซึ่งทางโครงการ Areeya Property ได้มอบหมายให้มัณฑนากรผู้หลงใหลในสไตล์มินิมอลอย่าง SPACEOLOGY มารับหน้าที่ในการออกแบบภายในบ้านหลังนี้

ที่มาของความมินิมอล

ทางโครงการ Areeya Property ได้มีแนวคิดให้ภายในบ้านตัวอย่างเป็นสไตล์มินิมอล และผู้อยู่อาศัยคือศิลปิน มัณฑนากรจึงออกแบบตกแต่งภายในให้มีบรรยากาศแบบแกลเลอรี่ศิลปะ และการจัดวางที่เรียบง่าย ให้ความรู้สึกสบายอลังการไปด้วยสีขาวที่มัณฑนากรเลือกใช้เป็นสีหลัก

“เดิมตัวบ้านได้ถูกออกแบบจากสถาปนิก ซึ่งเราไม่สามารถปรับเปลี่ยนตำแหน่งของโครงสร้างได้ เราทำได้แค่ในส่วนของการวางเลย์เอาท์ ภายในบ้านหลังนี้เราจึงวิเคราะห์การอยู่อาศัยของศิลปินเป็นหลัก และออกแบบภายในให้ดูเป็นแกลเลอรี่ด้วยการใช้สีขาวในโทนต่างๆ เพราะเป็นสีที่ดูเรียบง่ายในเชิงการออกแบบ และเมื่อใช้สีเหล่านี้ในปริมาณที่เยอะก็ทำให้เกิดความรู้สึกที่อิมแพ็คให้กับผู้อยู่อาศัยได้อีกด้วย”

ฟังก์ชันและรายละเอียด

ฟังก์ชันภายในบ้านสีขาวหลังนี้ บริเวณชั้น 1จะเป็นพื้นที่นั่งเล่น พื้นที่รับประทานอาหาร และแพนทรี่ ก่อนจะขึ้นไปชั้น 2 ที่มีโถงสำหรับบาร์กาแฟ ก่อนเข้าสู่ห้องนอนใหญ่พร้อมส่วนแต่งตัว และห้องอเนกประสงค์ นอกจากนี้ยังเสริมบรรยากาศภายนอกอาคารด้วยการตกแต่งกำแพงสีขาว และใช้ต้นไม้ฟอร์มสวยมาสร้างจุดนำสายตา และจุดเด่นให้กับพื้นที่ของบ้านหลังนี้  

“เราออกแบบให้เน้นไปที่พื้นที่คอร์ทยาร์ดซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของบ้านหลังนี้ให้ได้มากที่สุด ด้วยการให้พื้นที่รับแขก และพื้นที่รับประทานอาหารเชื่อมต่อกันผ่านคอร์ทยาร์ดที่ออกแบบให้เป็นที่นั่งล้อมรอบ และเสริมให้ดูเป็นส่วนเดียวกันมากขึ้นด้วยโต๊ะสีขาวขนาดเล็กให้ติดกับพื้นที่รับประทานอาหาร ในขณะเดียวกันพื้นที่ corridor ภายในที่ติดกันเลือกใช้กระจกใส และใช้กระจกสะท้อนที่ติดอยู่กับผนังของห้องน้ำ เพื่อขับเน้นให้ corridor และคอร์ทยาร์ด ดูมีขนาดใหญ่มากยิ่งขึ้น”

“เมื่อเดินไปสุด corridor จะเป็นส่วนของแพนทรี่ที่เราออกแบบให้มีบานพับที่สามารถซ่อนเก็บเมื่อเกิดความไม่เรียบร้อยจากการใช้งานจริง ในขณะเดียวกันเมื่อพับแล้วจะทำให้แพนทรี่ดูเรียบเป็นระนาบเดียวไปกับกระจกสะท้อนของห้องน้ำ ในบริเวณเดียวกันนี้มีการจัดวางโต๊ะไอส์แลนด์ และโต๊ะกินที่ข้าวที่ตั้งใจให้ฟอร์มคล้ายประติมากรรม ที่เลือกใช้วัสดุสแตนเลสเข้ามาเป็นองค์ประกอบเสริม เพื่อช่วยให้ภายในบ้านไม่ดูขาวโพลนจนเกินไป”

พื้นที่ชั้น 2 เป็นพื้นที่ที่ค่อนข้างมีความเป็นส่วนตัว ชั้นนี้จึงมีโถงบาร์กาแฟไว้สำหรับดื่มกาแฟที่ให้บรรยากาศผ่อนคลายแบบส่วนตัว และ ห้องนอนที่บ่งบอกถึงตัวผู้อยู่อาศัยผ่านพื้นที่แต่งตัว นอกจากนี้ยังมีห้องอเนกประสงค์ที่จัดบรรยากาศผ่อนคลายแบบสบายให้สามารถทำกิจกรรมได้หลายรูปแบบ

“ในส่วนของพื้นที่ชั้น 2 จะพบกับโถงบาร์กาแฟสีขาวรูปทรงตัวแอล ที่สามารถมองเห็นวิวคอร์ทยาร์ดได้ เราอยากให้พื้นที่นี้เป็นมุมงานอดิเรกของผู้อยู่อาศัยในยามเช้า และถัดมาในส่วนของห้องนอนออกแบบให้ฝ้า และผนังด้วยการใช้เส้นโค้ง และการลบมุมที่ให้ความรู้สึกว่าห้องนี้มีความอบอุ่นดูสบายมากขึ้น นอกจากนี้เส้นโค้งตรงหัวเตียงยังเป็นจุดนำสายตาลงไปที่คอร์ทยาร์ด และอีกส่วนหนึ่งของห้องนอนเราตีความให้ศิลปินเป็นคนชอบแต่งตัว เลยออกแบบให้ล้อมไปด้วยพื้นที่ของการแต่งตัว จัดวางโต๊ะไอส์แลนด์สีขาวนั่งได้ไว้ตรงกลาง มาพร้อมกับราวแขวนเสื้อเพื่อให้เกิดความสะดวกขณะลองสวมใส่เสื้อผ้า”

“ห้องสุดท้ายนี้เราอยากให้เป็นมากกว่าห้องทั่วไป จึงออกแบบให้เป็นห้องอเนกประสงค์ที่ไว้สำหรับนั่งฟังเพลงผ่านไวนิล พร้อมกับนั่งทำงานและมองวิวลงไปยังคอร์ทยาร์ดชั้นล่าง นอกจากนี้เรายังได้จัดวางโซฟาเบด สำหรับรองรับแขกในการจัดปาร์ตี้เล็กๆ ได้อีกด้วย”

“เราเสนอแบบของหลังคาให้ดูสูงชันซึ่งระบายอากาศได้ดี และดูน่าสนใจ ตัวหลังคานี้ใช้วัสดุเหล็กที่ดูทนทาน ติดตั้งง่าย เสริมด้วยชายคาแบบลอนใสติดตั้งบนไม้จันทันสำหรับกันฝนเหมือนบ้านไทย และให้แสงผ่านเข้ามาช่วยให้บ้านดูเบาลงเพิ่มเติมให้บ้านดูมีรายละเอียดมากขึ้น เราเพิ่มแสงให้มากยิ่งขึ้นด้วยการเจาะช่องไปบนหลังคา เพราะทั้งต้นไม้ แมว รวมไปถึงคนก็ต้องการแสงในตอนกลางวันอยู่แล้ว แต่มีข้อจำกัดปริมาณของแสงตรงที่ไอซ์ซึชื่นชอบเก็บสะสมผลงานศิลปะที่มีมูลค่าเราเลยต้อง ทดลอง เช็คการตกลงของแสงระหว่าง 7 โมงเช้า ถึง 1 ทุ่ม เพื่อไม่ให้กระทบลงไปสู่ผลงานที่อาจจะเกิดความเสียหายได้ และเพื่อให้เป็นแกลเลอรี่ส่วนตัวมากที่สุดจึงใช้สีขาวขับเน้นให้ผลงานเด่นออกมา ซึ่งไอซ์ซึสามารถเดินดูผลงานเหล่านี้ได้ตลอดเวลา”

ความมินิมอลยังถูกส่งตรงลงมายังบริเวณสวน ที่เน้นรูปแบบเหมือนกับตัวบ้านในเรื่องของความเรียบ เนี้ยบ และคม แต่แตกต่างกันตรงที่พื้นที่ภายนอกจะใช้พันธุ์พืชเข้ามาเพิ่มเติม เพื่อให้เกิดความร่มรื่น และลดทอนความแข็งให้กับพื้นที่ได้อีกด้วย 

“สำหรับภูมิทัศน์ที่นอกจากจะมีตัวคอร์ทยาร์ดแล้ว ยังมีบ่อน้ำสี่เหลี่ยมยาวสีขาวพร้อมประดับด้วยต้นกระบองเพชร และต้นไม้ที่มีรูปฟอร์มเหมือนประติมากรรมทรงแปลกตา ให้เป็นจุดเด่นกับพื้นที่ของสวน เมื่อต้นไม้อยู่บนฉากหลังกำแพงพื้นสีขาว ทำให้ต้นไม้เกิดความโดดเด่น แต่ก็ยังคงความมินิมอลอยู่”

เทคนิคการก่อสร้างช่วยให้เกิดความมินิมอล

ในการพ่นสีวัสดุมัณฑนากรเลือกพ้นสีเท็กเจอร์ให้เกิดเป็นลาดลายของปูน ซึ่งเป็นเทคนิคที่ต้องใช้ความประณีต และความเนี้ยบ มัณฑนากรจึงต้องเข้าไปควบคุมเพื่อไม่ให้เกิดลวดลายที่เยอะเกินไป รวมไปถึงในส่วนของพื้น ที่ใช้วัสดุคล้ายคลึงกับ Stucco ฉาบทับลงไปบนพื้นผิวเพื่อให้พื้นออกมาดูเป็นชิ้นเดียวกันทั้งหมด และในส่วนของแสงสว่างมัณฑนากรเลือกใช้วิธีการการซ่อนรางไฟไปไว้บนฝ้า หรือใช้ดาวน์ไลท์ที่ไม่เห็นขอบเพื่อให้ทุกส่วนเกิดความเรียบมากที่สุด

ความท้าทาย และความสนุก

“การออกแบบบ้านหลังก็เป็นอีกหนึ่งโจทย์ที่ค่อนข้างท้าทายและสนุกไปพร้อมกัน ตั้งแต่การสมมุติเจ้าของบ้านที่เป็นเป้าหมายของโครงการ รวมไปถึงการออกแบบมินิมอลให้กับหมู่บ้าน ที่มีอยู่น้อยและค่อนข้างใหม่สำหรับโครงการในปัจจุบัน ซึ่งตอนแรกเราตีโจทย์ค่อนข้างนานพอสมควรเพราะไม่แน่ใจว่าคนทั่วไปจะเข้าใจที่เราสื่อสารหรือไม่ ในช่วงแรกเรากับทางโอนเนอร์ก็ต้องมาหาจุดร่วมตรงกลางในความเป็นมินิมอลนี้เพราะบ้านหลังนี้ทำไว้เพื่อโชว์ และขาย เราเลยต้องคิดถึงเรื่องมาร์เก็ตติ้งด้วย ซึ่งงานนี้เราค่อนข้างสนุกในช่วงดีไซน์มากเนื่องจากพื้นฐานออฟฟิศเราชอบ และหลงใหลในงานสไตล์มินิมอลเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว”

Completed : 2021
Interior Design : SPACEOLOGY
Prop Styling : SPACEOLOGY
Landscape Design : Mekhla Kraisittisirikul
Photography : THANAWATCHU

Writer
Picture of Watsapon Vijitsarn

Watsapon Vijitsarn

Discover more from Design Makes A Better Life.

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading