Search
Close this search box.

ภาพอนาคตของอะลูมิเนียมแสดงผ่านหน้าตาอาคาร MoMA

ขณะที่กำลังขับรถอยู่บนถนนราชพฤกษ์ที่มีเลนถนนมากมาย และกว้างใหญ่ ริมสองฝั่งถนนเต็มไปด้วยบ้านเรือน ตึกแถว สลับไปกับศูนย์การค้ามากหน้าหลายตา แต่มีอาคารหลังหนึ่งที่สะดุดตาเป็นอย่างมาก จนนำไปสู่การตั้งคำถามในทันทีว่า อาคารหวือหวาที่มีลักษณะพุ่งออกมาหลังนี้คืออาคารอะไรกันแน่?

MoMA ศูนย์อะลูมิเนียมครบวงจรขนาดใหญ่ ที่มีอะลูมิเนียมให้เลือกมากมายหลากหลายรูปแบบ จนไปถึงเทคโนโลยีอะลูมิเนียมแบบใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และบอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของอะลูมิเนียมหลังนี้ ออกแบบโดย HAS design and research ซึ่งความน่าสนใจอยู่ตรงที่เรายังไม่ทันจะเดินเข้าไปยังภายในอาคารก็เห็นอะลูมิเนียมแสดงตัวออกมาให้สะดุดตาตั้งแต่ภายนอกอาคารแล้ว

สร้างสรรค์รูปแบบใหม่ๆ ในการใช้อะลูมิเนียม

หลังจากที่ HAS design and research ได้ร่วมกับ AB&W Innovation พัฒนาผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียมที่นำมาใช้ในผลงาน Phetkasem Artist Studio ไปก่อนหน้านี้นั้น พอทาง AB&W มีโครงการออกแบบอาคารที่แสดงถึงนวัตกรรมของอะลูมิเนียมจึงได้ชวนให้สถาปนิกจาก HAS มาออกแบบอาคารนี้ ที่ใช้ชื่อว่า  MoMA ซึ่งย่อมาจาก Museum of Modern Aluminum

“ต้องเล่าให้ฟังก่อนว่า AB&W Innovation ถือว่าเป็นบริษัทอะลูมิเนียมที่เป็นทั้งต้นน้ำ และปลายน้ำ ตั้งแต่อดีต จนไปถึงการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ในอนาคต ทางเจ้าของโครงการจึงต้องการสร้างอาคารที่เป็นได้ทั้งโชว์รูมสินค้า นิทรรศการให้ข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับอะลูมิเนียม และนวัตกรรมใหม่ๆ ให้ผู้คนทั่วไปได้เข้ามาสัมผัสประสบการณ์ใหม่ อาคารหลังนี้จึงต้องดูเตะตาตั้งแต่ภายนอกเพราะเป็นเสมือนตัวแทนอนาคตของวงการอะลูมิเนียม”

“หลังจากนั้นเราได้เริ่มเข้าไปศึกษาอะลูมิเนียมที่โรงงาน ศึกษาตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตจนออกมาเป็นเส้นอะลูมิเนียม และการพ่นสีต่างๆ ซึ่งเราได้เห็นกระบวนการทั้งหมด แต่โรงงานมีความน่าสนใจตรงที่เขาจะมีสต็อกเส้นอะลูมิเนียมเป็นพันๆ เส้น และมีโปรไฟล์อะลูมิเนียมที่มีหน้าตาแตกต่างกัน ให้ความรู้สึกที่กลวงโปร่งแต่วัสดุก็ยังมีการประสานกัน เราจึงนำแนวคิดมานิยามเป็นฟังก์ชัน ตั้งแต่การเคลื่อนย้ายอะลูมิเนียม สู่ที่เก็บของ ซึ่งเราตีความฟังก์ชันเหล่านี้ว่าเป็นที่วางอะลูมิเนียมที่สามารถยืดหยุ่นได้ อาคารนี้จึงเป็นพื้นที่จัดแสดงอะลูมิเนียมหลากหลายรูปแบบบอกเล่านวัตกรรมใหม่ๆ และความเป็นมาของอะลูมิเนียมให้ความรู้ ผ่านการจัดแสดงสินค้าในเชิงนิทรรศการ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา”

“ด้วยตัวอาคารตั้งอยู่บนพื้นที่ถนนราชพฤกษ์ ที่มีอาคารในสเกลหลากหลาย รายล้อมไปด้วยบ้านเรือน และศูนย์การค้าเสื้อผ้าและวัสดุ เช่น ยูนิโคล่ โฮมโปร และบุญถาวร โดยที่ตัวอาคารเดิมของ MoMA นั้นถูกดัดแปลงมาจากอาคารบ้าน ซึ่งเดิมเจ้าของโครงการต้องการให้พื้นที่ภายในมีฟังก์ชันในการจัดแสดงสินค้า ขณะที่ทาง HAS ได้นำเสนอแนวทางใหม่ในการจัดแสดง ที่มีรูปแบบในเชิงพิพิธภัณฑ์ซึ่งเป็นที่มาในการออกแบบฟาซาดอาคารที่สร้างความเป็นไปได้ใหม่ให้กับอาคาร”

เลือกใช้สัดส่วนโปรไฟล์อะลูมิเนียมที่เหมาะสม

สถาปนิกตั้วใจโชว์ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอะลูมิเนียมในศตวรรษใหม่ผ่านฟาซาด จึงต้องค้นหาโปรไฟล์อะลูมิเนียมที่มีอยู่หลากหลาย มีสัดส่วนที่เหมาะสม เพื่อนำมาเป็นนิทรรศการฟาซาดภายนอกอาคารได้ สถาปนิกจึงต้องใช้เวลาในการศึกษาในการเลือกโปรไฟล์อะลูมิเนียมในช่วงเวลาหนึ่ง  

“โปรไฟล์อะลูมิเนียมในโรงงานค่อนข้างเยอะมาก เราจึงต้องใช้วิธีการค้นหา และศึกษาไปพร้อมๆ กัน จนเรามาเจอโปรไฟล์ที่มีสัดส่วนที่สวยงาม มีขนาดไม่เล็ก และไม่ใหญ่จนเกินไป และเป็นโปรไฟล์ที่สามารถติดตั้งไฟเข้าไปได้ด้วย เราก็มาพบกับอะลูมิเนียมที่ใช้สำหรับประตูทำบานเลื่อน หรืออีกชื่อหนึ่งเรียกว่า ตัวขวางบนสำหรับประคองบานอะลูมิเนียม ซึ่งเป็นโปรไฟล์ที่เรียบง่าย และหาง่ายในท้องตลาด”

“ในส่วนแนวคิดของการติดตั้งฟาซาด ตามที่โครงการตั้งอยู่บนถนนที่มีการสัญจรพลุกพล่าน เรามักจะเห็นป้ายขนาดใหญ่เยอะมาก ที่ยื่นตัวออกมาให้ดูโดดเด่น เพื่อให้คนเห็นได้ขณะขับรถ ซึ่งกลางวัน และกลางคืนก็จะให้ความรู้สึกที่แตกต่างกัน ในขณะเดียวกันพื้นที่ตรงนี้ก็ห่างจากเกาะเกร็ดเพียงแค่ 2 กิโลเมตร ที่เต็มไปด้วยธรรมชาติ และหิ่งห้อย แต่เราแทบจะหาความเป็นธรรมชาติบนถนนเส้นนี้ไม่ได้เลย เราจึงนำทั้งการยื่น และใช้การดึงธรรมชาติเข้ามาเป็นส่วนประกอบ โดยใช้อะลูมิเนียมยื่นออกมาออกแบบให้เป็นยูนิต พร้อมใช้แสงไฟทั้ง LED STRIP LIGHT ติดตั้งในอะลูมิเนียมขนาด 350 มม. และ 450 มม. และ LED DOT LIGHT ติดตั้งในอะลูมิเนียม 650 มม. ที่เป็นเส้นยาวที่สุด ซึ่งไฟเหล่านี้จะตั้งเวลาให้มีการเปิดปิดที่ต่างกัน และในช่วง 22:00-24.00 เมื่อท้องฟ้ามืดสนิทและอาคารศูนย์การค้าโดยรอบปิดไฟไปแล้วนั้น แสงไฟบนฟาซาดจะเปิดเฉพาะไฟ LED DOT เพื่อจำลองให้ความรู้สึกเหมือนกับหิ่งห้อยติดอยู่บนฟาซาดโดย  ในตอนกลางวันเมื่อลมพัดมาตัวฟาซาดนี้ก็จะขยับไหวเหมือนกับดอกหญ้าที่ปรากฏแทนตัวอาคาร นอกจากนี้ตัวไฟ LED STRIP LIGHT ยังถูกติดตั้งไปกับฟาซาดให้แสงออกมาเป็นโลโก้กับอาคารอีกด้วย โดยได้ทีมนักออกแบบแสงจาก Light Is มาร่วมในการออกแบบ”

“ในส่วนฟาซาดด้านข้างของอาคารได้ติดตั้งให้อะลูมิเนียมหมุนออกมาด้านนอกเพื่อให้เกิดการกระทบกันกับไฟที่ส่องขึ้นมา และมีส่วนขาที่ยึดเข้าไปติดกับโครงของอาคาร นอกจากนี้ยังมีไฟติดตั้งอยู่บนพื้น ที่สาดขึ้นไปบนฟาดซาดที่หุบเข้าหุบออกทำให้แสงไฟเกิดการกระจายตัวซึ่งให้บรรยากาศที่น่าสนใจได้อีกแบบหนึ่ง”

สีเทาเข้มและสีขาวของอะลูมิเนียม

สถาปนิกเลือกใช้สีเทาเข้มสำหรับอาคาร เนื่องจากต้องให้สีเกิดความใกล้เคียงกับตัวโครงอะลูมิเนียมแนวตั้งให้ได้มากที่สุด เพื่อให้ตัวโครงมีลักษณะคล้ายเป็นเงา และกลืนไปกับตัวอาคาร และตัวอะลูมิเนียมที่ยื่นออกมาเลือกพ่นเป็นสีขาวที่ใช้เฉดต่างกันออกไป เพื่อให้ขับเน้นให้เด่นออกมาจากตัวอาคาร

ฟาดซาดภายนอกเข้าไปสู่ภายใน

ในส่วนของด้านในสถาปนิกออกแบบให้ฟาดซาดดูทะลุเข้าไปภายใน ที่ต้อนรับด้วยไฮไลท์อย่างแรกก็คือ เฟรมประตูอะลูมิเนียมกระจกขนาดใหญ่ที่มีความบางที่สูงถึง 4 เมตร ก่อนที่จะพบกับอุโมงค์อะลูมิเนียมขนาดใหญ่ที่เป็นผลิตภัณฑ์ในศตวรรษนี้ ซึ่งทั้งหมดจะใช้การติดตั้งแบบฟาซาดเหมือนด้านข้างพร้อมติดตั้งไฟแบบเดียวกัน ซึ่งทำให้สเปซภายในเกิดไดนามิค และซ่อนงานระบบต่างๆ เพื่อให้เกิดความเนี้ยบ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเป็นจุดเด่นสำคัญในการออกแบบของ HAS design and research

“เมื่อเดินไปสุดทางจะเป็นผนัง Backdrop อะลูมิเนียม ที่มีการติดตั้งไฟเป็นชื่อบริษัท ซึ่งเป็นงานคราฟอันใหม่ของทีมอะลูมิเนียมที่ไม่เคยมีที่ไหนทำมาก่อน มีการยื่นเข้ายื่นออกไม่เท่ากัน โดยที่ตัวโปรไฟล์นั้นเป็นตัวเดียวกันกับโปรไฟล์ที่ติดตั้งอยู่ภายนอกอาคารซึ่งมีขนาด กว้าง 2.2 ซม. ยาวประมาณ 3.5 ซม. ทำเป็นยูนิตแล้วก็นำมาต่อกัน ซึ่งสร้างความหลากหลายของแพทเทริ์นที่พอมาวางรวมกันก็จะไม่รู้ว่าเป็นยูนิต เรียกได้ว่าเป็นงานที่ค่อนข้างประณีตมาก”

ภูมิสถาปัตยกรรมจากอะลูมิเนียม

งานออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมดำเนินการออกแบบโดยภูมิสถาปนิกจาก TROP ที่ใช้สวนหย่อมขนาดเล็กหน้าโครงการในการเน้นเข้าไปสู่ภายในอาคาร นอกจากนี้ยังมีในส่วนของสวนบนหลังคา ที่นำอะลูมิเนียมโปร์ไฟล์เดียวกันซ่อนโครงสร้างมาทำเป็นเฟอร์นิเจอร์โต๊ะ และเก้าอี้ พร้อมติดวัสดุสะท้อนที่โครงสร้างเพื่อสะท้อนสภาพแวดล้อม และเสมือนอะลูมิเนียมลอยตัวอยู่ ในส่วนของพื้นใช้อลูมิเนียมรับน้ำหนักสอดแทรกไปกับสวนและไฟ ในรูปแบบยืดออกยืดเข้าเช่นเดียวกับฟาซาดอาคาร

ความหวือหวาที่ไม่ใช่เรื่องง่าย

“งานนี้เราเริ่มทำมาตั้งแต่ 2 ปีที่แล้ว เราทำแบบไปเกือบครึ่งปี ก็เกิดความไม่มั่นใจจากลูกค้า ว่าอาคารหลังนี้จะได้เอฟเฟคตามที่นำเสนอได้จริงๆ หรือสามารถสร้างรูปแบบนี้ได้จริงๆ เลยต้องเริ่มจากการทำ ม็อคอัพ ขนาด 2 เมตร ขึ้น และเพิ่มความยาวของอะลูมิเนียมอีก 5 เซนติเมตร เพื่อศึกษาเรื่องความหนาแน่นของเส้นอะลูมิเนียม และระยะต่างๆ นอกจากนี้ยังมีการติดตั้งไฟจากไลท์ติ้งดีไซน์เนอร์ซึ่งทำเหมือนของจริงเลย หลังจากนั้นลูกค้าก็เริ่มมั่นใจมากขึ้น แต่ก็ยังนึกภาพไม่ออกว่าอาคารจะมีเอฟเฟคเป็นอย่างไร เราเลยนำเสนอโมเดลขนาดใหญ่ 1 : 30 ซึ่งเราก็ทำทุกวิธีการเพื่อให้ลูกค้ามั่นใจกับงานออกแบบนี้ ให้มากที่สุด”

“และความสนุกก็เกิดขึ้นอีกในช่วงก่อสร้าง (หัวเราะ) ที่ใช้เวลามากกว่าครึ่งปี ทั้งเรื่องแบบไม่ตรง เพราะเป็นตึกแถวที่รีโนเวทมาจากบ้าน หรือในตอนก่อสร้างช่วงแรกทีมผู้รับเหมาทำไม่ตรงแบบ เพราะในช่วงก่อสร้างช่างได้นำสแลนมาปิดไว้ เพื่อกันฝุ่นและป้องกันอันตรายระหว่างก่อสร้าง เราก็เลยมองไม่เห็นฟาซาดอาคารทั้งหมด ซึ่งเราก็ไปตรวจสอบหน้างานปกติ ก็คิดว่ามันไม่น่าจะมีปัญหาอะไร จนถึงตอนเสร็จสิ้นกำลังจะทดลองเปิดไฟก็เอาตัวสแลนที่ปิดไว้ออก เราก็ตกใจเพราะมันไม่ใช่ฟาซาดที่เราออกแบบไว้ เราก็ต้องยืนกรานเรื่องแบบของเรา เราก็บอกลูกค้าว่าถ้าฟาซาดตาไม่ตรงตามแบบจะไม่ได้เอฟเฟคตามที่เสนอไว้ ก็ต้องแก้ฟาดซาดใหม่ที่มาจากช่างทีมใหม่ (หัวเราะ)”

“ในการออกแบบอาคาร MoMA สิ่งแรกที่ต้องคำนึงถึงเลยคือเรื่องแบรนด์เราต้องศึกษาข้อมูลเรื่องนี้ เพื่อที่จะทำให้อาคารแห่งนี้เป็นพื้นที่เรียนรู้เรื่องอะลูมิเนียม ตั้งแต่การผลิต การทำสี และรูปแบบอะลูมิเนียมที่ไม่เคยเห็น มีเรื่องราวอะลูมิเนียมของ AB&W Innovation ตั้งแต่อดีตจนไปถึงอนาคต เหมือนเป็นนิทรรศการ ซึ่งงานนี้เราก็โชคดีที่ลูกค้ามีแนวคิดในเรื่องของ Innovative อยู่แล้ว เพื่อสร้างความเป็นไปได้แบบใหม่ๆ แต่ก็มีช่วงที่เขาไม่มั่นใจอยู่บ้างซึ่งก็เป็นเรื่องปกติในการทำสิ่งใหม่ๆ ก็ต้องใช้วิธีการโน้มน้าว หาวิธีการทำให้มั่นใจ ซึ่งมันก็เป็นความท้าทาย และความยากลำบากเกิดขึ้น แต่เรื่องราวเหล่านี้ก็เป็นความสนุกสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ จน MoMA เป็นที่ฮือฮาในระดับโลกทั้งในเรื่องอะลูมิเนียม และการออกแบบ”

Project Name: MoMA
Project Location: Nonthaburi, Thailand
Design Firm: HAS design and research 
Design Team: Jenchieh Hung、Kulthida Songkittipakdee、Jiaqi Han、Qin Ye Chen
Aluminum Façade Technology: AB&W Innovation Co., Ltd.
Aluminum Production Consultant: Goldstar Metal Co., Ltd.
Landscape Design: TROP : terrains + open space
Lighting Design: Light Is
Lighting Product: Neowave Technology
Constructor: SL Window Co., Ltd.
Completion Year: 2022
Photo Credit: W Workspace

Writer
Watsapon Vijitsarn

Watsapon Vijitsarn

Discover more from Design Makes A Better Life.

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading