427 House
รื้อความทรงจำเก่ามาจัดแสดงเรื่องราวในบ้านหลังใหม่

เมื่อถึงวันที่บ้านหลังหนึ่งต้องถูกรื้อทิ้ง จึงเลือกหยิบเอาเศษซากเรื่องราวที่ผ่านมาเป็นวัสดุก่อร่างสร้างตัวในงานรีโนเวทใหม่ งานออกแบบที่ได้แรงบันดาลใจจาก เฟอร์นิเจอร์โบราณ งานศิลปะ แสงธรรมชาติ ต้นไม้ ให้ทุกพื้นที่ของบ้านยังคงมองเห็นความทรงจำเก่าที่มีฉากหลังเป็นผนังขาวและต้นไม้เขียว

บ้าน 427 HOUSE ตั้งอยู่ในเขตคลองตัน จ.กรุงเทพฯ ที่บริเวณบ้านริมคลองตันตรงนี้ มีบ้าน 2 หลังที่อยู่ร่วมกันมานาน นานเสียจนความเสื่อมโทรมแวะมาเคาะประตูทักทาย จนถึงวันที่บ้านอิฐผสมไม้หลังหนึ่งต้องถูกรื้อทิ้งไปแทนที่ด้วยบ้านหลังใหม่ เจ้าของบ้านจึงตัดสินใจติดต่อทีมออกแบบ Maincourse ให้เข้ามารับหน้าที่รีโนเวทบ้านหลังเดิม เริ่มที่โจทย์ของการวางผังอาคารใหม่ให้เป็นหนึ่งเดียวกับพื้นที่สวนตรงกลางระหว่างบ้าน 2 หลังเอาไว้ เก็บรักษาต้นไม้ใหญ่ให้ได้มากที่สุด เพื่อให้ไม้ยืนต้นช่วยอำพรางช่องเปิดต่าง ๆ และสร้างความเป็นส่วนตัวให้กับบ้านทั้ง 2 หลัง

รื้อความทรงจำเก่า

ในบ้านอิฐผสมไม้หลังเก่า ภายในห้องต่างๆ เต็มไปด้วยเฟอร์นิเจอร์โบราณ ผนังบ้านเต็มไปด้วยงานศิลปะ เป็นพื้นที่บันทึกความทรงจำของเจ้าของบ้านและครอบครัวมาโดยตลอด ก่อนจะถูกรื้อทิ้งเพื่อสร้างบ้านหลังใหม่ที่ตอบโจทย์ด้านการใช้สอยได้มากกว่าเดิม จะทำอย่างไรให้เรื่องราวและความทรงจำของบ้านหลังเดิมไม่ถูกลบทิ้งไปด้วย ดังนั้นโจทย์ของการออกแบบสำคัญคือ การออกแบบบ้านหลังใหม่ที่ถ่ายทอดเรื่องราวความทรงจำโดยมีฉากหลังเป็นพื้นที่ว่างของงานสถาปัตยกรรม

ภาพจำของพื้นที่ว่างในบ้านเดิมคือ แกลอรี่ที่มีขนาดเล็ก และเต็มไปด้วยเรื่องราวความทรงจำ ทีมออกแบบ Maincourse จึงต้องการที่จะถ่ายทอดเรื่องราวเหล่านั้น ผ่านรูปแบบการจัดแสดงงานศิลปะในรูปแบบใหม่ เพื่อให้ทุก ๆ พื้นที่ของบ้านยังคงมองเห็นความทรงจำเหล่านั้นไปพร้อม ๆกันด้วย โดยการสร้างคอร์ทตรงกลางบ้าน เป็นพื้นที่ผนังสำหรับจัดแสดงงานศิลปะ หรือ ‘Floating Gallery’ ที่เป็นเหมือนเป็นหัวใจของบ้าน 427 HOUSE หลังนี้ โดยจัดวางโถงจัดแสดงงานศิลปะให้ลอยอยู่เหนือพื้นที่สวน สีเขียวของต้นไม้ช่วยเน้นให้ผนังสีขาวดูโดดเด่น ขับเน้นให้งานศิลปะที่ถูกจัดแสดงสวยงามมากยิ่งขึ้นอีกด้วย

พื้นที่คอร์ทตรงกลางบ้านถูกเจาะช่องโล่งจากหลังคาปล่อยให้แสงธรรมชาติเข้ามาภายใน เป็นไฟส่องสว่างให้กับงานศิลปะกลางบ้าน ช่วยทำให้ภายในบ้านดูอบอุ่นมากยิ่งขึ้น

ถ่ายทอดเรื่องราวใหม่

‘Sense of home’ ความคุ้นเคยในบรรยากาศบ้าน เป็นอีกสิ่งที่ทีมนักออกแบบให้ความสำคัญ พวกเขาสังเกตเห็นว่า ที่พื้นและผนังในบ้านเดิมมีการใช้ Terracotta วัสดุจากดินที่มีความงามตามกาลเวลา มีร่องรอยการใช้งานกำลังบอกเล่าเรื่องราวภาพเก่า ๆ ได้เป็นอย่างดี จึงไม่พลาดที่จะใช้ Terracotta เป็นวัสดุหลักของตัวอาคาร ตัดกับผนังสีขาวเป็นฉากหลังให้กับก้อนอิฐที่ทำมาจากมือในทุก ๆ ชิ้น ผ่านการเผาไฟที่อุณหภูมิ 1,220 องศาเซลเซียส สร้างคุณสมบัติในการดูดซึมน้ำต่ำ มีความคงทนสวยงามโดยไม่จำเป็นต้องเคลือบผิววัสดุเลย ทำให้ได้ผิวสัมผัสที่มีความเป็นธรรมชาติ ซึ่งต้องยกเครดิตให้กับคุณโม จิรชัยสกุล (ศิลปินผู้พัฒนาวัสดุ)

กระเบื้องดินเผาทำมือ เผาออกมาจากเตาได้สัปดาห์ละ 400 แผ่น หลังจากเผาเสร็จต้องรอกระเบื้องเย็นประมาณ 1 สัปดาห์ ขั้นตอนการผลิตด้วยมือที่มีข้อจำกัดในเรื่องของกำลังการผลิต ทำให้จะต้องใช้เวลาผลิตถึง 6 เดือนเศษ เพื่อให้ได้กระเบื้องจำนวน 10,000 แผ่น ระหว่างทางก็มีอุปสรรคมากมาย ดินหมดบ่อ เตาขนาดใหญ่เผาไฟให้ความร้อนไม่ทั่วเตา กระเบื้องดินที่ได้ก็ไม่สมบูรณ์ ตลอดกระบวนการสร้างบ้านใหม่จึงต้องรออย่างใจเย็น เพราะความพิถีพิถันนี้จะทำให้วัสดุมีความคงทนสวยงามได้ดั่งใจหวัง ทีมออกแบบอยากขอบคุณเจ้าของบ้านมาก ๆ ที่เข้าใจ

การออกแบบพื้นที่ว่างภายในบ้าน พยายามเก็บรักษาเรื่องราวความทรงจำผ่านเฟอร์นิเจอร์โบราณ ผสมผสานกับความทันสมัย แฟชั่น และสีสัน ที่สะท้อนถึงคาแรกเตอร์ของเจ้าของบ้าน สร้างการอยู่ร่วมกันของหลาย ๆ สิ่งที่แตกต่างกัน แต่สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างน่าสนใจ

ในบ้านที่ทั้งคิดถึงและคุ้นเคย

ถ้าเราลองมองไปยังผนังของพื้นที่จัดแสดงงานศิลปะ ที่ตัดกับท้องฟ้าด้านบน ต้นไม้ด้านล่าง เปิดมุมมองให้งานศิลปะเชื่อมต่อกับชีวิตในรั้วบ้าน ไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์เลี้ยง และต้นไม้ สร้างพื้นที่ว่างภายในให้มีชีวิตชีวา รู้สึกอบอุ่นอย่างเป็นกันเอง เจ้าของบ้านได้ทำลิสต์ของที่จะให้นำมาใช้ในบ้านหลังใหม่ โดยให้ช่วยเลือกว่าจะเอาของเข้ามาใช้อย่างไรในบ้านหลังใหม่ดี ทีมออกแบบเห็นว่า มีกระจกเงาอยู่ใน List เยอะมาก จึงตัดสินใจใส่กระจกเงาที่เหลืออยู่ทุกบานในห้องน้ำห้องนี้ไปเลย พอดีกับตำแหน่งช่องแสงจาก Skylight ด้านบนที่ช่วยส่องสว่าง เพื่อสร้างความสวยงามให้กับกระจกเงาไปด้วย

ความตั้งใจในการออกแบบบ้าน 427 House คือการพยายามเก็บรักษา และถ่ายทอดเรื่องราวความทรงจำให้เคลื่อนไหวต่อไปได้ การเลือกเก็บบานไม้ฝังหยกตู้เสื้อผ้าเดิมในห้องนอนเก่า นำมาตัดต่อใหม่ สร้างเป็นบานประตูเลื่อนขนาดใหญ่ และเป็นองค์ประกอบสำคัญในพื้นที่ห้องรับแขก ซึ่งนอกจากจะสร้างความสวยงามให้กับพื้นที่ว่างแล้ว ยังคงเป็นเรื่องเรื่องราวที่ทำให้นึกถึงครั้งเมื่อเคยอยู่ในบ้านอิฐผสมไม้หลังเดิม

427 HOUSE
Location: Bangkok, Thailand
Completed: 2022
Project area: 670 Sq.m.
Architectural & Interior Design by Maincourse
Photography by Beersingnoi ArchPhoto

Writer
No.028

No.028

นักออกแบบจากรั้วศิลปากรที่ทดลองผันตัวเองมาเป็นนักเขียน หมั่นเสาะหาข่าวสารที่น่าสนใจจากทั้งไทยและต่างประเทศ มาขบคิด เรียบเรียง บอกเล่าผ่านตัวอักษรให้กับคนที่สนใจ เพราะเชื่อว่าแท้จริงแล้ว ดีไซน์ คือเรื่องรอบตัวระยะใกล้ที่กำลังรอใครซักคนมาเปิดอ่าน // Dsign is everything.