Search
Close this search box.

เอ็นกาวะ ที่ว่างริมขอบในสถาปัตยกรรมญี่ปุ่น

เอ็นกาวะ (Engawa, 縁側, 掾側) หรือ เอ็น (縁) แปลว่าพื้นที่ที่ยื่นออกมาจากห้องในอาคารแนวดั้งเดิมของญี่ปุ่น เอ็นกาวะจะอยู่ใต้ชายคา ถูกสร้างด้วยไม้หรือไม้ไผ่ และอาจจะล้อมรอบตัวอาคารทุกทิศ หรือด้านใดด้านหนึ่งก็ได้ จุดประสงค์หลักของเอ็นกาวะคือ ใช้ในการสัญจรและนั่งชมสวน นอกจากนี้เอ็นกาวะยังมีความสำคัญอื่นๆอีกมากมาย ทั้งช่วยเรื่องความน่าสบายในห้องโดยใช้ปัจจัยธรรมชาติ (Passive Design) เพิ่มความยืดหยุ่นในการใช้พื้นที่ และเป็นพื้นที่สำหรับอยู่ร่วมกันของคนในครอบครัวอีกด้วย เหนือสิ่งอื่นใด เอ็นกาวะถือเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของทัศนศิลป์ที่สอดรับกับวัฒนธรรมชาวญี่ปุ่นอย่างลึกซึ้ง

ถ่ายโดย k_botchan, https://www.instagram.com/k_botchan
วัดเก็งโคอัน จังหวัดเกียวโต (ถ่ายโดย Nahajima, http://nakajimamitsuyuki.jp/genkoan/)

ลักษณะของเอ็นกาวะ

เอ็นกาวะเป็นทั้งที่ว่างสัญจร (Circulation Space) และที่ว่างเชื่อมต่อ (Transitional Space) ในเวลาเดียวกัน ลักษณะบ้านดั้งเดิมของญี่ปุ่นนั้นจะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เช่นการจัดเรียงห้องเป็นกลุ่มก้อน โดยมีเอ็นกาวะล้อมรอบเป็นทางสัญจรหลัก มีประตูบานเลื่อนกรุกระดาษที่เรียกว่า ฟุสุมะ (Fusuma, 襖) และ โชจิ (Shōji, 障) เพื่อใช้กั้นห้อง โดยบานเลื่อนเหล่านี้สามารถยกถอดออกได้ เพื่อรองรับการใช้งานพื้นที่ที่ยืดหยุ่น นอกจากนี้พื้นภายในห้องจะปูด้วยเสื่อตะตะมิ (หรือ ทาทามิ, Tatami, 畳)  ซึ่งมีการจัดวางที่หลากหลาย แสดงถึงความหมายเชิงสัญลักษณ์ในการใช้งานประเภทต่างๆ ถัดออกไปจากเฉลียงเอ็นกาวะ มักจะมีบานเลื่อนอีกชั้นหนึ่งเรียกว่า อะมะโดะ (Amado, Storm Shutter, 雨戸) เป็นประตูไม้ทึบสำหรับปิดกันฝน และเพื่อความปลอดภัยในตอนกลางคืน ในบางอาคารอาจจะมีบานเลื่อนกระจกหนึ่งชั้นก่อนอะมะโดะ ซึ่งจะปิดไว้ สำหรับนั่งชมทิวทัศน์ยามหิมะตก เนื่องจากรอยต่อการแบ่งสเปซในแนวตั้งมีความยืดหยุ่นมาก ดังนั้นการบ่งบอกสเปซในสถาปัตยกรรมญี่ปุ่นนั้น อาจกล่าวได้ว่าเส้นแนวนอน (ระดับ) มีความสำคัญไม่แพ้เส้นแนวตั้ง (ผนัง) เลยทีเดียว

องค์ประกอบในบ้านญี่ปุ่นแบบดั้งเดิม (รูปจาก https://hiddenarchitecture.net/interior-architecture-of-vernacular-japanese-home/)
บานเลื่อนกระดาษโชจิสามารถยกถอดออกได้ แล้วสามารถให้แสงนวลส่องเข้ามาในห้องแม้เลื่อนปิด (รูปจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Shoji)

เอ็นกาวะ มีลักษณะที่คล้ายกับเฉลียงหรือชานของบ้านของไทย ในแง่ของการเป็นพื้นที่ที่ยืดต่อออกมาจากห้อง และช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นในการใช้งาน บานประตูกระดาษโชจิยังสามารถเลื่อนไปจนสุดหรือถอดออกได้ เพื่อเชื่อมพื้นที่ภายในห้องกับเอ็นกาวะ นอกจากนี้เอ็นกาวะยังทำหน้าที่เป็น พื้นที่คั่นกลาง (Buffer Zone) ระหว่างภายในและภายนอกอาคาร ช่วยในเรื่องของภาวะน่าสบายให้กับผู้อยู่อาศัย เมื่อแดดร้อนสามารถเลื่อนโชจิปิด โดยที่ยังได้แสงนวลธรรมชาติจากภายนอก ส่องผ่านบานกระดาษเข้ามาในห้อง เอ็นกาวะเปรียบเสมือนพื้นที่กึ่งสาธารณะให้กับคนในบ้านและแขกที่มาเยือน บ่อยครั้งที่เราจะเห็นคนสองคนนั่งเล่นหมากรุกญี่ปุ่นโชงิ (Shogi, 将棋) ที่เอ็นกาวะในวันที่อากาศสดใส หรือกลุ่มเด็กน้อยนอนทอดหุ่ยดูเมฆพร้อมกินแตงโมไปด้วยในหน้าร้อน วัสดุหลักที่เป็นไม้ทำให้เอ็นกาวะเก่าลงไปตามเวลา ทิ้งร่องรอยแห่งความหลังของสมาชิกในครอบครัวเอาไว้รุ่นต่อรุ่น

ถ่ายโดย k_botchan, http://instagram.com/k_botchan/
มุรินอัน บ้านพักตากอากาศของอดีตนายกญี่ปุ่น จังหวัดโตเกียว (รูปจาก https://randomwire.com/murin-an/)

ชมสวนด้วยใจ…ผ่านเอ็นกาวะ

ชาวญี่ปุ่นนิยมนำทิวทัศน์ภายนอกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในสเปซภายในอาคาร ผ่านองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมต่างๆ เช่น ช่องเปิด หรือม่าน เอ็นกาวะนั้นนอกจากจะเป็นที่นั่งชมสวนแล้ว ยังทำหน้าที่เป็นพื้นที่กึ่งกลาง ที่เชื่อมระหว่างทิวทัศน์ภายนอกและภายในเข้าด้วยกัน อีกทั้งสวนญี่ปุ่นยังสะท้อนการใช้ชีวิต ปรัญชาในการดำเนินชีวิตของชาวญี่ปุ่นได้รับอิทธิพลมาจากความเชื่อที่หลากหลาย เทพธรรมชาติของศาสนาชินโต ความสมดุลกลมกลืนระหว่างชีวิตกับธรรมชาติของศาสนาเต๋า ภูมิพยากรณ์จากจีน (Geomancy หรือฮวงจุ้ย) หรือความสงบในจิตใจของศาสนาพุทธ ประกอบกับสภาพภูมิประเทศที่โหดร้ายรุนแรง ทำให้สุนทรียะในความเชื่อชาวญี่ปุ่นออกไปทางแนวนามธรรมและปรัชญา มากกว่าความงามเพียงที่ตาเห็น มุมมองต่อชีวิตเหล่านี้ถูกสะท้อนออกมาในรูปแบบของศิลปะและการออกแบบสวน เราจะขอนำเสนอเพียงเสี้ยวหนึ่งในปรัชญาอันละเอียดอ่อนของชาวญี่ปุ่นเท่านั้น

ถ่ายโดย mehayata, https://www.flickr.com/photos/mrhayata/

ความเศร้าสร้อยของสรรพสิ่ง หรือ โมะโนะโนะอะวะเระ (Mono no Aware, 物の哀れ) เป็นหนึ่งในสุนทรียภาพของญี่ปุ่น เมื่อตระหนักถึงความไม่เที่ยงของชีวิต ธรรมชาติไม่ว่าจะเป็น ก้อนหิน สายน้ำ ต้นไม้ ต่างมีจิตวิญญาณหรือ คามิ สถิตย์อยู่ เมื่อฤดูกาลเปลี่ยนผ่านและกาลเวลาล่วงเลยไปย่อมทำให้เกิดความรู้สึกหวั่นไหวพึงเศร้าอยู่ภายในลึกๆ ที่มนุษย์ไม่สามารถหยุดรั้งการเปลี่ยนแปลงใดๆไว้ได้ เมื่อตระหนักได้ถึงความไม่แน่นอนนี้เอง จึงสามารถซาบซึ้งกับความงามอันไม่แน่นอนในช่วงเวลาสั้นๆ ได้ เช่น เมฆหมอก หยาดน้ำค้างบนกิ่งไม้ ใบไม้เปลี่ยนสี หรือการชมดอกซากุระ

ถ่ายโดย mrhayata, https://www.flickr.com/photos/mrhayata/

ทุกสิ่งล้วนอนิจจัง หรือ มุโจ (Mujō, 無常) อิทธิพลจากศาสนาพุทธที่มีต่อศาสนาและการใช้ชีวิต สำหรับคนญี่ปุ่นแล้วยังรวมไปถึงความงามด้วย สรรพสิ่งย่อมเสื่อมสลายไปตามกาลเวลา และมุโจกล่าวถึงความงามต่อการเปลี่ยนแปลงนั้น โดยมุโจและโมะโนะโนะอะวะเระนั้นสัมพันธ์กัน ฤดูทั้งสี่ของญี่ปุ่นที่ทำให้ใบไม้เปลี่ยนสี หรือดอกไม้บานสะพรั่งล้วนไม่จีรัง เช่นเดียวกับก้อนหินที่ถึงแม้จะดูหนักแน่นแต่กำลังเสื่อมสลายอยู่ทีละน้อย ผู้คนสามารถรับรู้ถึงสิ่งต่างๆภายในระยะเวลาที่ตนเองมีชีวิตอยู่ หากแต่อยู่ภายใต้กรอบเวลาของโลกและจักรวาลที่ยาวนานกว่ามาก ในขณะเดียวกันกรอบเวลาของใบไม้ในแต่ละฤดูนั้นสั้นจนสามารถชื่นชมได้หลายครั้งในหนึ่งช่วงชีวิตของตน

วัดเก็งโคอัน จังหวัดเกียวโต (ถ่ายโดย Nahajima, http://nakajimamitsuyuki.jp/genkoan/)

การชื่นชมสวนญี่ปุ่นนั้น อาจกล่าวได้ว่าต้องชื่นชมทั้งสี่มิติ สเปซและเวลา คำว่า มะ (Ma, 間) ในภาษาญี่ปุ่นแปลตรงตัวว่า พื้นที่ โดยประกอบด้วยตัวคันจิแปลว่า ประตู (門) และพระอาทิตย์ (日) รวมแล้วมีความหมายว่าแสงที่ส่องผ่านประตู ดังนั้นในมุมมองชาวญี่ปุ่นนั้น พื้นที่จะมีตัวตนก็ต่อเมื่อมีเวลามาเกี่ยวข้อง ความรู้สึกที่มีต่อพื้นที่และเวลา ณ ขณะหนึ่ง เกิดเป็นแนวคิด หนึ่งเวลา หนึ่งการประสบ หรือ อิจิโกะ อิจิเอะ (Ichigo-Ichie, 一期一会) เป็นการดื่มด่ำกับความสุข ณ ปัจจุบันซึ่งจะไม่หวนคืนมาอีก

ถ่ายโดย mrhayata, https://www.flickr.com/photos/mrhayata/
วัดเคนนินจิ จังหวัดเกียวโต (รูปจาก https://randomwire.com/kennin-ji-temple/)

จัดสวนด้วยการยืมทิวทัศน์

เมื่อชมสวนผ่านเอ็นกาวะ องค์ประกอบของสถาปัตยกรรมจะเปรียบเสมือนเป็น ฉากหน้า (Foreground) สร้างกรอบทิวทัศน์คล้ายกับในภาพวาด (Framing View) และขับเน้นสวนในระยะกลางให้เด่นขึ้น สายตาที่ทอดยาวไกลออกไปจะนำทิวทัศน์นอกเขตสวนมาเป็นฉากหลัง (Background) เพื่อให้ครบองค์สมบูรณ์ เทคนิคการยืมทิวทัศน์ หรือ ชัคเคอิ (Shakkei, 借景) เป็นวิธีการออกแบบสวนที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยเฮอิอัน (หรือ เฮอัง, Heian, 平安時代) ช่วง คศ.794-1185 เนื่องจากเมืองหลวงเฮอิอันเกียว หรือเกียวโตในปัจจุบันนั้น ถูกล้อมรอบไปด้วยทิวเขามากมาย โดยเฉพาะเทือกเขาฮิเอะอิ ชาวญี่ปุ่นล้วนอยากนำทิวทัศน์เทือกเขาฮิเอะอิอันศักดิ์สิทธ์มาเป็นส่วนหนึ่งในสวนของตน ในบางสวนที่มองไม่เห็นเทือกเขาหรือทิวทัศน์สวยงาม จะใช้วิธีสร้างมิติตื้นลึกด้วยองค์ประกอบที่มีในสวน เช่น ตัดแต่งพุ่มไม้ให้ดูเสมือนเป็นป่าเมื่อมองจากที่ไกลๆ ทิวทัศน์ที่ถูกยืมมานั้นไม่ว่าจะเป็นต้นไม้นอกกำแพง หลังคาอาคาร ยอดเจดีย์ หรือภูเขาก็สามารถนำมาเป็นองค์ประกอบของสวนญี่ปุ่นได้ทั้งสิ้น

วัดเอ็นทสึจิ จังหวัดเกียวโต ถูกยกย่องว่าเป็นวิวสวนที่มีการยืมทิวทัศน์ที่สวยที่สุดแห่งหนึ่ง (รูปจาก https://commons.wikimedia.org/wiki/Category:Entsu-ji_%28Kyoto%29)
วัดเอ็นสึจิ จังหวัดเกียวโต ถูกยกย่องว่าเป็นวิวสวนที่มีการยืมทิวทัศน์ที่สวยที่สุดแห่งหนึ่ง (รูปจาก https://kazzcon-kyoto.com/2021/05/27/borrowed-scenery-of-entsuji-temple/)
พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ของฟอร์ตเวิร์ธ (ค.ศ.2002) ณ รัฐเทกซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา (รูปจาก https://www.archdaily.com/213084/flashback-modern-art-museum-of-fort-worth-tadao-ando

เอ็นกาวะในงานสถาปัตยกรรมร่วมสมัย

อัตลักษณ์ของเอ็นกาวะเปลี่ยนแปลงใหม่ไปตามกาลเวลา พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ของฟอร์ตเวิร์ธ (Modern Art Museum of Fort Worth ค.ศ.2002) ณ รัฐเทกซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา ผลงานของ ทาดาโอะ อันโดะ หนึ่งในสถาปนิกที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในปัจจุบัน มีการนำเอ็นกาวะมาใช้ในบริบทอาคารสมันใหม่ พิพิธภัณฑ์ฟอร์ตเวิร์ธมีเอกลักษณ์อันโดดเด่น ด้วยอาคารกระจกล้อมรอบคอนกรีต ลอยอยู่บนผิวน้ำ โดยอันโดะตีความสเปซเอ็นกาวะใหม่ ด้วยการสร้างพื้นที่โดยรอบระหว่างผนังคอนกรีตและกระจก สถาปนิกได้กล่าวถึงแนวคิดในการออกแบบของเขา การใช้ผนังกระจกทำให้เกิดเส้นแบ่งทางกายภาพระหว่างภายในและภายนอกอาคาร แต่สายตาสามารถทอดมองออกไปข้างนอกได้โดยไร้ขอบเขตใดๆ นอกจากนี้แสงที่สะท้อนน้ำผ่านกระจกเข้ามายังก่อเป็นตัวตนบนผนังคอนกรีตด้วย ถึงแม้ว่าทางกายภาพแล้วเอ็นกาวะในผลงานของอันโดะจะแตกต่างจากเอ็นกาวะในอาคารดั้งเดิม แต่อันโดะสามารถนำเสนออัตลักษณ์ที่ว่างริมขอบได้อย่างร่วมสมัยและสวยงาม

พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ของฟอร์ตเวิร์ธ (ค.ศ.2002) ณ รัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา (รูปจาก https://shomei-tanteidan.org/en/wlj/modern-art-museum-fort-
พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ของฟอร์ตเวิร์ธ (ค.ศ.2002) ณ รัฐเทกซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา (รูปจาก (https://www.archdaily.com/213084/flashback-modern-art-museum-of-fort-worth-tadao-ando)

เอ็นกาวะ เป็นชื่อเรียกพื้นที่ที่ยื่นออกมาจากห้องในอาคารแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่น พื้นที่แคบๆนี้เป็นมากกว่าแค่พื้นที่สัญจร โดยยังเป็นพื้นที่คั่นกลาง และพื้นที่แห่งการอยู่ร่วมกันของคนในครอบครัวด้วย เอ็นกาวะยังเป็นพื้นที่ที่ผู้อาศัยจะได้สัมผัสกับธรรมชาติ และสะท้อนความเชื่ออันลึกซึ้ง ประตูบานเลื่อนของห้องที่ต่อออกไปสู่เอ็นกาวะทำหน้าที่เป็นทั้งประตูและผนัง หดขยายพื้นที่อาคารให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น สำหรับคนญี่ปุ่นแล้ว เอ็นกาวะเป็นพื้นที่ริมขอบที่สำคัญซึ่งฝังรากลึกในวัฒนธรรม และวิถีชีวิตคนญี่ปุ่นมาตั้งแต่สมัยโบราณ

References
Lazarin, M. (2014). Phenomenology of Japanese Architecture: En (edge, connection, destiny). Ryukoku University Kyoto. Retrieved from https://www.academia.edu/31829664/Phenomenology_of_Japanese_Architecture_En_edge_connection_destiny_
Mansfield, S. (2011). Japan’s Master Gardens: lessons in space and environment. Tuttle Publishing.
Siujui, 小. (2020). A study on Engawa: The Japanese Tradition and its Contemporary Revival. The Chinese University of Hong Kong. Retrieved from https://siujui.medium.com/a-study-on-engawa-evaluation-on-the-contemporary-learning-from-tradition-e2d1dc4727c0
อิษฎ์วรพันธุ์, ช. (2014). หิมะ พระจันทร์ ดอกไม้ สวนญี่ปุ่น. สำนักพิมพ์สารคดีภาพ.

Writer
Picture of Panon Sooksompong

Panon Sooksompong

สถาปนิกที่หลงใหลในการค้นคว้าสู่นักเขียนผู้ถ่ายทอดเรื่องราว จากกองหนังสือที่เอามารองนอน ตอนนี้ได้ฤกษ์จะถูกหยิบมาเปิดอ่านไปพร้อมกัน

Discover more from Design Makes A Better Life.

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading