หลังจากได้ร่วมงานกันมาแล้วกับบ้านขนำน้อย ที่พักศัยชั่วคราวในระหว่างทำนา ใช้วัสดุท้องถิ่น ก่อสร้างง่าย สร้างขยะใหม่ให้น้อยที่สุดเท่าที่ทำได้ คุณแม่เจ้าของบ้านก็อยากชวนทีมยางนาสตูดิโอมาร่วมงานกันอีกครั้ง กับโปรเจ็กต์รีโนเวทบ้านหลังสุดท้ายของคุณแม่ ให้เป็นบ้านที่สามารถปรับเปลี่ยนการใช้งาน รองรับแผนวิถีชีวิตในอนาคตให้เป็นจริงได้ ใน บ้านอินทร์ หลังนี้
อนาคตที่ต้องยืดหยุ่นได้
ที่อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี บนพื้นที่ต้นไม้ใหญ่ใบเขียวโอบล้อมบ้านครึ่งปูนครึ่งไม้หลังเก่าที่อยู่มาเนิ่นนาน ผ่านการต่อเติมดัดแปลงให้เข้ากับการใช้งานหลายครั้งในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา ชื่อเรียกที่สมาชิกในบ้านรู้จักกันดีคือ “บ้านอินทร์” กำลังจะถูกรีโนเวทซึ่งคุณแม่เจ้าของบ้านให้โจทย์การออกแบบครั้งสุดท้ายเอาไว้ว่า อยากได้ห้องนอนส่วนตัวที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบจบในห้องเดียว
พื้นที่สำคัญของแปลนภายในบ้านใหม่ ห้องนอนที่ต้องปลอดภัยกับการใช้งานกับผู้สูงอายุ ต้องยืดหยุ่นให้คุณแม่ปรับเปลี่ยนการวางเฟอร์นิเจอร์ด้วยตัวเอง เพราะคุณแม่เองก็จบด้านมัณฑนศิลป์ตกแต่งภายใน สะสมเฟอร์นิเจอร์เก่า หนังสือ จานชาม เครื่องมือ ของใช้ในครัวไว้มากมาย ชอบจัดบ้านให้สวยน่าอยู่ เปลี่ยนตำแหน่งเฟอร์นิเจอร์อยู่เสมอ ทำให้บ้านมีชีวิตชีวาไม่น่าเบื่อ
และเมื่ออยากจะให้เป็นการรีโนเวทครั้งสุดท้าย การออกแบบบ้านเพื่อการอยู่อาศัยในระยะยาว ต้องยืดหยุ่นได้สำหรับทุกคนในครอบครัว
แผนในอนาคตที่เจ้าของบ้านแอบฝันเอาไว้คือ อยากให้บ้านหลังนี้เป็นพื้นที่ส่วนกลางสำหรับเพื่อน ๆ ที่มีวิถีชีวิตคล้าย ๆ กัน ไม่มีลูก ต้องการใช้ชีวิตเรียบง่าย พึ่งพาตนเอง ได้มาใช้ชีวิตด้วยกันในช่วงเกษียณอายุ เป็นส่วนกลางที่พร้อมเปิดรับสมาชิกจะได้นำผลผลิตที่ทำมาแบ่งปันกัน ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ครัว มุมนั่งเล่น ห้องนอนห้องน้ำของพยาบาลคนดูแล แม่บ้าน ชั้นบนมีพื้นที่โล่งใช้สอนโยคะนั่งสมาธิร่วมกัน การวางแปลนภายในบ้านจึงให้ความสำคัญกับความต่อเนื่องของพื้นที่ ให้ง่ายต่อการปรับเปลี่ยนการใช้งานได้ในอนาคต
ประยุกต์ใช้ของหาได้ในพื้นที่
บ้านอินทร์ถูกออกแบบโดยประยุกต์การใช้วัสดุที่หาได้ในพื้นที่ ชุดประตูหน้าต่างไม้ที่มีอยู่เดิมทั้งหมดมาจัดวางตำแหน่งใหม่ ผนังโครงเหล็กมีหน้าต่างบานกระทุ้ง เหนือขึ้นไปเป็นกระจกสลับกับไม้ บนสุดของผนังจะเป็นช่องลมกรุด้วยมุ้งลวด เปลือกอาคารภายนอกผนังส่วนนี้จึงมีไม้ระแนงถึง 3 แบบ ตามการใช้งานแต่ละช่วงผนัง
โถงทางเข้าบ้านที่เปิดหลังคาในส่วนที่ต่อเติมจากบ้านหลักให้ทะลุถึงชั้น 2 รื้อผนังชั้น 2 แล้วใส่ราวกันตก ตั้งเสาใหม่ก่อผนังอิฐบล็อคเป็นฐาน ส่วนสลักและเดือยก็ไม่ได้ถูกซ่อนกลืนไปกับโครงสร้างไม้ ได้ถูกโชว์ทักษะการออกแบบรายละเอียดออกมาเต็มที่ ยึดโครงสร้างขนาดใหญ่เอาไว้อย่างมั่นคง และมีเสน่ห์แตกต่างที่เป็นเอกลักษณ์
โซนครัวที่นอกจากใช้ทำอาหาร รับประทานข้าว ก็ยังใช้เป็นที่รับแขกด้วย รีโนเวทปรับเปลี่ยนโต๊ะครัวกลางแบบไอส์แลนด์ ดัดแปลงจากโต๊ะจัดเลี้ยงของคุณตา เปลี่ยนท็อปเป็นกระเบื้อง เพิ่มรัดขาโต๊ะด้านล่างเป็นที่วางของ ออกแบบช่องแสงเป็นฝาไหล มีมุกที่ยื่นออกไปสำหรับคว่ำจาน กันสาดบริเวณแท่นปูนเปลือยตั้งเตาไฟอั้งโล่ ทุกอย่างสอดคล้องกับการใช้งานของครัวภายใน
แก้ปัญหาแสงสว่าง เส้นรอยร้าว สัตว์รอบบ้าน
จุดที่ต้องซ่อมแซมของบ้านอินทร์คือช่องรับแสงธรรมชาติ รอยร้าวจากการต่อเติม ปลวกที่ขึ้นตามผนังโครงไม้ และสิ่งมีชีวิตที่วิ่งเล่นไปมาบนฝ้าเพดานตอนกลางคืน เนื่องจากบริเวณรอบ ๆ บ้านเต็มไปด้วยต้นไม้ การแก้ปัญหาสัตว์มาอาศัยอยู่ในฝ้าเพดานชั้นล่าง ด้วยการโชว์โครงสร้างหลังคาและใช้หลังคาสองชั้นโดยมีหลังคาหญ้าแฝกเป็นฉนวนกันความร้อน
การป้องกันความร้อนจากหลังคาบ้านชั้น 2 ใช้วิธีเปิดโล่งให้ความร้อนลอยขึ้นสูง เพิ่มช่องบานเกล็ดไม้ในการระบายอากาศ ประกอบกับใช้ฝ้าเพดานชนิดที่มีพียูโฟม 2 นิ้ว กรุเป็นฉนวนกันความร้อนเข้าไประหว่างจันทันเอียงตามรูปหลังคา เพื่อปิดพื้นที่ไมให้สัตว์มาอยู่อาศัย และยังมีฉนวนที่เกิดจากช่องอากาศระหว่างแปอีกด้วย จากนั้นประกบด้วยไม้เข้ากับจันทันส่วนที่ยื่นออกมา เป็นการเก็บงานที่ดูมีมิติสวยงาม
บ้านอินทร์ทำให้เรานึกถึงคำพูดนึงจาก เดี่ยว 13 ขึ้นมา “ คนทุกคนมีชุดความสะดวก ชุดความสุข ชุดความสำเร็จต่างกัน เป็นชุดตัดเข้ารูปเฉพาะตัวครับ เราไม่สามารถไปยืมชุดคนอื่นมาใส่ได้… ”
ไม่ใช่เรื่องขนาด ไม่ใช่เรื่องสไตล์ตามกระแส แต่บ้านอินทร์เลือกวิธีการออกแบบที่ตั้งใจขีดเส้นใต้เรื่องรายละเอียด สร้างภาพฝันการรีโนเวทบ้านที่ไม่จำเป็นต้องพลิกโฉมเสียจนจำหน้าตาเดิมไม่ได้ แค่ลองปรับ เลือกเปลี่ยนเฉพาะสิ่งที่จำเป็นให้ตอบรับวิถีชีวิตจริง ด้วยนำเอาวัสดุในท้องถิ่นมาใช้งานให้เกิดประโยฃน์สูงสุด และวางผังการใช้งานพื้นที่ให้ยืดหยุ่นเพื่อรองรับการเแปลี่ยนแปลงในอนาคต ไม่แน่นไป ไม่หลวมไป เป็นขนาดพื้นที่ความสุขที่พอดีกับเจ้าของบ้านที่สุดแล้ว
location : In Buri, Sing Buri, Thailand
Architects : Yangnar studio
Area : 342 sq.m.
ภาพ: Rungkit Charoenwat
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!