OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

สถาปัตยกรรมใส่ใจ สื่อรอยยิ้ม แด่นักเรียนตำบลแม่ต้าน จังหวัดตาก

มีนักศึกษากลุ่มหนึ่งที่ได้ใช้เวลาช่วงปิดเทอม เพื่อทุ่มเทให้กับงานค่ายอาสา โดยการสร้างห้องสมุดแห่งใหม่ ให้กับเด็กๆ ณ ศูนย์การเรียนชุมชนบนพื้นที่สูง บ้านแม่ต้อคี หมู่ที่ 3 ตำบล แม่ต้าน อำเภอ ท่าสองยาง จังหวัดตาก

– ที่มาของโครงการ –

โครงการนี้เกิดขึ้นโดย “ค่ายอาสากลุ่มตะวันยิ้มแฉ่ง” ซึ่งมีนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ  มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี (School of Architecture and Design, SOA+D) จุดมุ่งหมายของโครงการคือ ให้นักศึกษาได้นำความรู้ด้านการออกแบบที่เรียนมา นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยการพัฒนาชุมชนที่ขาดแคลน ในปีนี้มีการจัดทำโครงการที่ศูนย์การเรียนชุมชนบนพื้นที่สูง ตำบลแม่ต้าน จังหวัดตาก โดยทำการออกแบบและก่อสร้างอาคารในพื้นที่ สร้างห้องสมุดห้องใหม่ มีอาสาสมัครช่วยสอนหนังสือ และรวบรวมนำสิ่งของไปบริจาคอีกด้วย

– ห้องสมุดเชื่อมสายสัมพันธ์ –

ในปีนี้ค่ายอาสากลุ่มตะวันยิ้มแฉ่งได้เลือกพื้นที่ซึ่งจะเข้าไปช่วยเหลือ ณ “ศูนย์การเรียนชุมชนบนพื้นที่สูง(อยู่บนเชิงเขา) บ้านแม่ต้อคี หมู่ที่ 3 ต.แม่ต้าน อ.ท่าสองยาง จ.ตาก” ก่อนที่จะทำการเลือกโรงเรียนและสถานที่ ทีมงานค่ายอาสาได้ทำการสำรวจในหลายๆจังหวัด แล้วถึงตัดสินใจเลือกโรงเรียนแห่งนี้ เพราะเป็นโรงเรียนที่อยู่ลึกจากในเมือง มีการเดินทางที่ค่อนข้างลำบาก และยังขาดแคลนอาคารเรียนอีกเป็นจำนวนมาก อีกทั้งโรงเรียนนี้เปรียบเสมือนพื้นที่ส่วนกลางการเรียนรู้จากหลายชุมชนด้วยกัน เด็กนักเรียนจากชุมชนละแวกใกล้เคียงจะมาเรียนรวมกันที่นี่ และเป็นสถานที่สำหรับการรวมตัวของชุมชนบ่อยครั้ง ดังนั้นอาคารห้องสมุดที่เลือกสร้างให้นี้ จึงจะถูกใช้งานจากผู้คนในหลากหลายชุมชน ไม่ใช่เพียงแค่ชุมชนใดชุมชนหนึ่งเท่านั้น

ในขั้นตอนแรกสุดของการทำค่าย จะเริ่มต้นจากการพูดคุยกับชุมชนและทางโรงเรียน เพื่อสอบถามว่าทางโรงเรียนขาดแคลนอะไรอยู่หรือไม่ หลังจากนั้นจึงพบว่าโรงเรียนต้องการห้องสมุดสำหรับเด็กในโรงเรียนและผู้คนในชุมชน ให้มีที่นั่งอ่านหนังสือ พักผ่อน ผ่อนคลายจากการเรียน และเป็นที่สำหรับการจัดกิจกรรมในบางครั้ง

– แนวคิดในการออกแบบ –

แรงบันดาลใจในการออกแบบคือ ต้องการสร้างอาคารที่จะตอบโจทย์การใช้งานของเด็กและผู้คนในพื้นที่ได้ เพื่อให้โรงเรียนมีพื้นที่ส่วนกลางในการเรียนรู้เพิ่มมากขึ้น และอาคารต้องสื่อถึงความเป็นห้องสมุดได้ โดยที่ไม่ต้องมีการจัดวางเฟอร์นิเจอร์มากนัก กล่าวคือ “ด้วยการออกแบบและการใช้งานภายในห้อง อาคารจะเป็นห้องสมุดภายในตัวเอง ไม่ต้องมีการตกแต่งอะไรมากนัก” จากแรงบันดาลใจนี้จึงเกิดแนวคิด ที่จะนำตัวโครงสร้าง มาใช้เป็นฟังก์ชั่นภายในอาคารไปควบคู่กัน เช่น ตัวโครงเคร่า จะมีขนาดยื่นยาวออกมามากกว่าปกติ เพื่อทำหน้าที่เป็นชั้นวางหนังสือ และที่นั่งอ่านหนังสือไปในตัว

ด้วยข้อจำกัดของพื้นที่มีความลาดชันสูง จึงได้ออกแบบอาคารให้มีชานยื่นออกไปจากทางลาด และด้วยความที่ศูนย์การเรียนรู้มีเด็กและผู้คนในชุมชนมาใช้พื้นที่ร่วมกันเป็นจำนวนมาก ห้องสมุดจึงต้องมีขนาดที่ใหญ่พอเพื่อรองรับการใช้งานได้อย่างเต็มที่ ผู้ใช้งานจึงสามารถใช้พื้นที่บนชานและใต้ชานไปพร้อมๆกันได้

– ขั้นตอนการก่อสร้าง –

เนื่องจากในการก่อสร้างค่อนข้างมีข้อจำกัดหลายอย่าง ทั้งการขนส่งที่เข้าถึงได้ยาก ระยะเวลาที่จำกัด จึงใช้วิธีการก่อสร้างแบบ Prefabrication คือมีการทำชิ้นส่วนบางอย่างเตรียมไว้ แล้วจึงยกมาประกอบในสถานที่หน้างาน เช่น โครงสร้างทรัสหลังคา โครงเคร่า (ที่ใช้เป็นที่วางหนังสือ) เป็นต้น

 – ห้องสมุดอเนกประสงค์ –

ภายในอาคารมีการจัดพื้นที่แบบ Open Plan เพื่อการใช้งานที่หลากหลายและรองรับในการทำกิจกรรมต่างๆ ซึ่งเข้ากันได้ดีกับกิจกรรมของเด็กๆ ที่ต้องมีความยืดหยุ่นในการใช้งาน มีพื้นที่ในการอ่านหนังสือและทำกิจกรรมได้ ส่วนบริเวณชานจะเป็นพื้นที่โล่งอยู่ภายนอกอาคาร เด็กนักเรียนสามารถนั่งอ่านหนังสือ พักผ่อน หรือแม้แต่นั่งเล่น ชมวิว สูดอากาศบริสุทธิ์ท่ามกลางธรรมชาติได้อย่างเต็มที่

นอกจากการออกแบบตัวอาคารแล้ว ทางค่ายอาสากลุ่มตะวันยิ้มแฉ่งยังมีการออกแบบเฟอร์นิเจอร์บางส่วน เช่น เก้าอี้ ชั้นวางรองเท้า สำหรับเด็กๆที่นี่โดยเฉพาะอีกด้วย

โครงเคร่าไม้ มีความหนาเป็นพิเศษ ใช้เป็นชั้นวางหนังสือและที่นั่งอ่านหนังสือได้ เพื่อประหยัดพื้นที่ภายในห้องสมุด

การที่นำตัวโครงเคร่ามาใช้เป็นที่วางหนังสือนั้น นอกจากในเรื่องของความสวยงามแล้ว ยังทำให้ภายในอาคารมีสเปซเพิ่มขึ้นอีกด้วย เงาของหนังสือที่สะท้อนผ่านกำแพง สร้างความสวยงามให้กับผู้คนที่เดินผ่านไปมาได้เป็นอย่างดี

ผนังกรุด้วยแผ่น Poly Carbonate ซึ่งมีลักษณะขุ่น ให้ความรู้สึกโปร่งและเบา (Light) แสงธรรมชาติจะส่องผ่านเข้ามาภายในห้องสมุด และสามารถนั่งอ่านหนังสือภายในอาคารโดยไม่ต้องเปิดไฟ แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีความเป็นส่วนตัว ไม่เปิดโล่งจนเกินไปอีกด้วย

ศูนย์การเรียนรู้บ้านแม่ต้อคีนั้นมีความจำกัดด้านไฟฟ้า การใช้แสงธรรมชาติให้ได้มากที่สุดจึงเป็นอีกเรื่องที่ต้องคำนึงถึงในการเลือกใช้วัสดุและการออกแบบ

โครงสร้างของอาคารเป็นไม้ ตอม่อใช้คอนกรีต เพื่อเป็นการประหยัดเวลาและงบประมาณในการก่อสร้าง อีกทั้งเป็นวัสดุที่หาได้ง่าย คุณครูสามารถซ่อมบำรุงรักษาได้เอง

ความสูงของระแนง หน้าต่าง ชั้นวางหนังสือ ออกแบบโดยอิงจากสัดส่วนของเด็กนักเรียน

เมื่อเดินผ่านเข้าไปภายในอาคาร จะสามารถมองทะลุเห็นถึงภูเขาที่อยู่ตรงข้ามกัน

ในส่วนของหลังคามีการใช้กระเบื้องสลับกับการติดกระเบื้องลอนใส เพื่อให้แสงส่องลงมาผ่านกลางห้องสมุดได้

เนื่องจากสถานที่ตั้งของอาคารอยู่ในพื้นที่ ที่อยู่บนเขา ซึ่งมีอากาศเย็นตลอดทั้งปี จึงมีการตั้งอาคารให้หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ซึ่งเป็นทิศที่ไม่ขวางลมและลมสามารถพัดผ่านได้ดีตลอดทั้งวัน

ค่ายอาสาปีนี้มีการทำงานที่แตกต่างจากเดิม มีความท้าทายในการออกแบบ ทั้งสถานที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ ที่มีความลาดชันสูง มีการขนส่งที่ค่อนข้างลำบาก แต่นักศึกษาก็ไม่ได้ย่อท้อแต่อย่างใด กลับเป็นความฮึดด้วยซ้ำ ด้วยการตั้งใจออกแบบอาคารเพื่อเติมเต็มความต้องการในสิ่งที่คนพื้นที่ต้องการ และนำทักษะการออกแบบที่เรียนมาตลอด นำมาประยุกต์ใช้เพื่อสร้างสรรค์อาคารที่เหมาะสมและสวยงาม ในระยะเวลาเพียงสิบกว่าวันบนค่ายที่ไม่มีแม้แต่สันญาณโทรศัพท์ ซึ่งเป็น “ประสบการณ์ที่อินเทอร์เน็ตไม่สามารถมอบให้ได้”

งบประมาณ ในการก่อสร้างประมาณ 350000 บาท ใช้เวลาในการก่อสร้างและประกอบทั้งสิ้น 16 วัน

 

ขอขอบคุณ

กลุ่มตะวันยิ้มแฉ่ง คณะ สถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี 

ศูนย์การเรียนชุมชนบนพื้นที่สูง บ้านแม่ต้อคี และอบต.แม่ต้าน

ผู้ออกแบบ : นักศึกษาสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี รุ่นที่ 21

ผู้ก่อสร้าง : กลุ่มตะวันยิ้มแฉ่ง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี

ผู้สนับสนุนหลัก : บริษัท ดีโก้ เอ็นเตอร์ไพรส์ จํากัด Success Plast Co.,LTD. , บริษัท บาริโอ จำกัด, บริษัท แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์, REDEX, มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี

ภาพถ่าย; ปณนท์ สุขสมปอง, สิทธิชัย เหล่าทวีทรัพย์, วรภพ อติรัตน์, ณัฐพล เอื้อกาญจนานันท์, ภูวดล บุญส่ง, สุทธหทัย นิยมวาส, Chakkaphan Kangkorn, Otto.Comded, Teedanai Boonpan

Discover more from Design Makes A Better Life.

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading