OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

Bann 33 Apartment ความแตกต่างระหว่างสถาปัตยกรรมที่อยู่ร่วมกันได้อย่างลงตัว

Location: สุขุมวิท27 กรุงเทพฯ
Architect: คุณชนาสิต ชลศึกษ์ และคุณอภิชาติ ศรีโรจนภิญโญ จาก Stu/D/O Architects
Photograps: จิณณวัตร บริหารกิจอนันต์ และ Sky|Ground

อีกหนึ่งคำจำกัดความของ ‘บ้าน’ สำหรับใครหลายๆ คนคงหมายถึงสถานที่ที่เป็นส่วนตัวมากที่สุด เรียกได้ว่าเราสามารถเป็นตัวเองได้อย่างเต็มที่โดยไม่ต้องกังวลถึงการอยู่ร่วมกับคนรอบข้าง ซึ่งแตกต่างจาก Bann 33 Apartment หลังนี้ที่นำฟังก์ชันของบ้าน และอพาร์ทเมนท์ของผู้เช่ามาอยู่รวมกัน  ‘Privacy’ หรือความเป็นส่วนตัวจึงเข้ามาเป็นโจทย์หลักที่ทำให้ คุณดิว-ชนาสิต ชลศึกษ์ สถาปนิกจาก Stu/D/O Architects คำนึงถึงเป็นอย่างแรกๆ ในการออกแบบบ้านหลังนี้


คุณดิว-ชนาสิต ชลศึกษ์ สถาปนิกจาก Stu/D/O Architects

ความต้องการของเจ้าของบ้าน เป็นตัวการกำหนดพื้นที่และฟังก์ชันของสถาปัตยกรรม
แน่นอนว่าการกำหนดฟังก์ชันของบ้านที่ดีย่อมต้องตามใจผู้อยู่อาศัย จึงจะได้พื้นที่ที่ตอบโจทย์ต่อการอยู่อาศัยมากที่สุด เช่นเดียวกับบ้านหลังนี้ ซึ่งคุณดิวเล่าให้เราฟังถึงจุดเริ่มต้นในการออกแบบว่า เริ่มมาจากการที่เจ้าของบ้านต้องการฟังก์ชันที่เป็นทั้งบ้านของตัวเองและมีส่วนอพาร์ทเมนท์เพื่อให้คนอื่นเข้ามาเช่า โดยที่เป้าหมายหลักๆ ในการเช่า ทางเจ้าของเองอยากเน้นเป็นคนญี่ปุ่น ทำให้คุณดิวตีโจทย์ในส่วนของอพาร์ทเมนท์ที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่สำหรับคนที่จะเข้ามาอยู่เป็นครอบครัว



ประกอบกับในส่วนของบ้าน จะมีส่วนพื้นที่ที่มีผู้สูงอายุเข้ามาอาศัยอยู่ด้วย เพราะฉะนั้นคุณดิวจึงตีโจทย์ของงานออกแบบให้มีบางส่วนของบ้านอยู่บริเวณชั้นล่างเพื่อสะดวกต่อการอยู่อาศัยของผู้สูงอายุ และมีส่วนชั้นบนเพื่อแยกสัดส่วนของพื้นที่ในการอยู่อาศัยได้อย่างชัดเจน โดยในขั้นตอนของการออกแบบทางสถาปนิกเองก็มีการทดลองจัดพื้นที่ในหลายๆ รูปแบบและให้ทางเจ้าของบ้านเป็นคนเลือกและร่วมกันคิดว่า การจัดพื้นที่แบบไหนจะเหมาะสมและเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับบ้านหลังนี้



‘Privacy’ โจทย์สำคัญ สู่การเข้าถึงและรูปลักษณ์ของอาคาร
ซึ่งเราจะเห็น Bann 33 Apartment หลังนี้มีทั้งหมด 5 ชั้นด้วยกัน เมื่อเดินผ่านประตูเล็กในส่วนบริเวณหน้าสุดเข้ามา เราจะพบพื้นที่ชั้นล่างส่วนด้านหน้าเปิดโล่งเป็นลานจอดรถ เพื่อให้เพียงพอต่อเจ้าของบ้านและผู้เช่าอพาร์ทเมนท์  ในส่วนการเข้าถึงของอาคารหลังนี้ ก็คำนึงถึงความPrivacy’ เป็นหลัก ซึ่งสถาปนิกออกแบบโดยแยกทางเข้าระหว่างเจ้าของบ้านและผู้ที่เช่า
อพาร์ทเมนท์ไว้อย่างชัดเจน โดยจะมีลิฟท์และบันไดหลักของทางผู้เช่าแยกไปต่างหาก ซึ่งคุณดิวเองบอกว่าถือเป็นความต้องการหลักๆ เลยก็ว่าได้ เพื่อทำให้เจ้าของบ้านรู้สึกถึงการใช้งานที่แบ่งสัดส่วนของพื้นที่อย่างชัดเจนระหว่างบ้านและอพาร์ทเมนท์

ซึ่งหากเราเข้าจากบริเวณทางเข้าของเจ้าของบ้าน เมื่อเข้ามาแล้วสิ่งแรกที่เห็นเลยก็คือความร่มรื่นจากพื้นที่สีเขียวก่อนที่เดินเข้ามายังส่วนของห้องนั่งเล่น ซึ่งส่วนของเจ้าของบริเวณชั้นล่างนั้นจะเอาไว้รับแขกและมีพื้นที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุที่เราบอกไปข้างต้น


เมื่อเราเดินต่อเนื่องมายังบันไดหลักในส่วนเจ้าของ บริเวณชั้นสองก็จะมีฟังก์ชันเป็นห้องนั่งเล่น ซึ่งออกแบบให้เป็นพื้นที่แบบ Double Volume เพื่อให้รู้สึกโปร่งและยังมีกระจกสูงที่สามารถมองเห็นวิวที่ค่อนข้างดีทางทิศตะวันตกได้ ซึ่งนอกจากจะเป็นพื้นที่ห้องนั่งเล่นหลักๆ ของบ้านแล้ว ยังมีฟังก์ชันในส่วนของห้องนอนหลักและห้องออกกำลังกาย  ส่วนบริเวณชั้นสามและชั้นสี่ จะเป็นพื้นที่ยูนิตของลูกชายและลูกสาวเป็นหลัก ซึ่งจะมีสองห้องนอนและมีส่วนที่เป็นห้องทำงานด้วย



ต่อมาจะเป็นส่วนของอพาร์ทเมนท์ ซึ่งมีทางเข้า บันไดหลัก และลิฟท์ที่แยกออกจากส่วนของเจ้าของชัดเจน ซึ่งส่วนของอพาร์ทเมนท์จะมีทั้งหมด 4 ยูนิต โดยที่ชั้น 2 และชั้น 3 จะมีการวาง planning ที่แตกต่างจากส่วนชั้น 4 และชั้น 5  โดยเน้นที่ตัว living space และตัว pantry ที่มีขนาดเหมาะกับการใช้อยู่อาศัยเป็นครอบครัว



ซึ่งไอเดียในการวาง planning ที่ต่างกันนี้ คุณดิวก็เสริมให้เราฟังว่า “เราต้องการสร้างความหลากหลายให้กับตัวยูนิต แล้วก็การที่ยูนิตไม่ได้ซ้ำกันทั้งหมด มีลูกเล่นอยู่ที่ระเบียงหรือ planning ในห้องเนี่ยมันก็ทำให้หน้าตาของตัวอาคารเนี่ยมันออกมาเหมือนบ้าน รวมๆ แล้วลักษณะมันจะเหมือนบ้านหลังนึงมากกว่าเป็นอพาร์ทเมนท์



หลังจากที่ทางสถาปนิกและเจ้าของบ้านได้ลักษณะการวางฟังก์ชันและพื้นที่ที่ลงตัวแล้ว คุณดิวเองก็เล่าให้เราฟังเล่าฟังเพิ่มเติมว่า “นอกจากเรื่องของโปรแกรมที่เป็นตัวทำให้เกิดรูปร่างของพื้นที่แล้ว ก็จะเป็นเรื่องของบริบทโดยรอบ ซึ่งพื้นที่ตรงนี้ก็จะออกแบบได้ยากนิดนึงจากการที่ด้านข้างเป็นสถานบันเทิงทำให้เกิดเสียงที่ค่อนข้างดัง และอีกอย่างหนึ่งที่เป็นตัวทำให้เกิดแนวคิดหลักของอาคารนี้ ก็ยังเป็นเรื่องของ privacy ซึ่งจากความ Privacy ที่ต้องการปิดล้อมตัวเองจากบริบทโดยรอบที่ไม่ค่อยดี ด้านหน้าที่หันหาถนนก็จะเป็นทิศใต้ที่โดนแดดค่อนข้างเยอะ ทำให้เมื่อมองดูอาคารภายนอกค่อนข้างจะดูทึบตันกว่าปกติ คุณดิวจึงเลือกที่จะคว้านหรือดึงพื้นที่ด้านในออกบางส่วนเพื่อไปเป็นพื้นที่สวนและระเบียงให้กับผู้เช่า และช่วยให้เมื่อมองจากภายนอกเข้ามาดูเป็นเหมือนบ้าน มองเห็นพื้นที่สีเขียว ดูโปร่งและช่วยแก้ปัญหาการทึบตันได้มากขึ้น



อีกหนึ่งไอเดียสำคัญที่เราจะเห็นบริเวณภายในห้องคือคอร์หลักของอุโมงค์ลม ซึ่งคุณดิวเองอยากจะทดลองนำเรื่องของ buoyancy effect ซึ่งเป็นการเจาะทะลุให้มีอุโมงค์ลมที่จะดึงลมจากด้านล่างขึ้นไปยังด้านบนในจุดที่อุณหภูมิสูงกว่า ทำให้อาคารที่มีหลายชั้น หลายยูนิต มีการไหลเวียนของลมได้บ้าง และทำให้มีบางช่วงเวลาที่ผู้เช่าอาศัยไม่จำเป็นต้องเปิดแอร์ตลอดเวลาถึงแม้จะอยู่ในอาคารที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่



นอกจากนั้น เนื่องจากพื้นที่สวนหลักๆ ของชั้น 1 ส่วนมากจะเป็นของส่วนเจ้าของเป็นหลัก นอกจากบริเวณระเบียงและพื้นที่เล็กๆ ที่มีให้ในแต่ละห้องแล้ว คุณดิวจึงเลือกที่จะออกแบบบริเวณชั้น 5 ให้เป็นเหมือน roof garden ที่ผู้เช่าสามารถออกมาทำกิจกรรม outdoor ได้ เช่นการออกไปนั่งพักผ่อน นั่งอ่านหนังสือ ซึ่งนอกจากมีต้นไม้ขนาดกลางที่สามารถปลูกบนอาคารได้แล้ว ยังมีพื้นที่สวนผัก ให้ผู้เช่าปลูกพืชผักสวนครัวได้ เพราะในบริเวณชั้น 5 จะมีเคาน์เตอร์ที่สามารถทำอาหารเล็กๆ น้อยๆ ได้ด้วย

ใช้วัสดุที่น้อย เรียบง่ายแต่ทันสมัย
ในส่วนของวัสดุ คุณดิวเองก็เลือกที่จะออกแบบหน้าตาของอาคารให้มีความเรียบง่าย โมเดิร์นตามความต้องการของทางเจ้าของและมองไปถึงกลุ่มลูกค้าที่ทางเจ้าของอยากให้เป็นครอบครัวคนญี่ปุ่นที่เป็นคนรุ่นใหม่ จึงเป็นที่มาของรูปร่างหน้าตา การออกแบบเรียบๆ มินิมอล แบบงานญี่ปุ่นอย่างที่เราเห็นกันนั่นเอง


คุณดิวยังบอกอีกด้วยว่า นอกจากความต้องการให้เป็นสไตล์ที่โมเดิร์นแล้ว ยังเป็นเรื่องของงบประมาณด้วย ซึ่งอย่างที่เราเห็นว่าวัสดุที่ใช้ก็จะค่อนข้างเรียบง่าย ไม่ใช่วัสดุที่มีราคาแพง เป็นการฉาบเรียบ ทาสีแบบปกติ และพื้นที่ในบางส่วนที่มีกระจกค่อนข้างเยอะ จึงมีการดีไซน์ส่วน shading เพิ่ม โดยเลือกใช้เป็นอลูมิเนียมฉีกที่ช่วยสร้างมิติและแพทเทิร์นของเงาที่ทำให้เกิดความน่าสนใจ

‘บ้าน’ ต่อให้จะเป็นสถาปัตยกรรมที่อยู่ในรูปแบบไหน ไม่ว่าจะเป็นอพาร์ทเมนท์ คอนโดมิเนียม หรือทาวน์เอาส์  สิ่งที่สำคัญอาจไม่ใช่รูปร่างหรือลักษณะของมัน แต่อาจเป็นคำถามง่ายๆ ว่า สถาปัตยกรรมนั้นๆ สร้างความสุขในการอยู่อาศัย หรือตอบโจทย์ต่อการใช้ชีวิตของเราได้มากน้อยเพียงใด เช่นเดียวกับที่คุณดิวได้พูดทิ้งท้ายให้เราฟังว่า “สำหรับพี่ สถาปัตยกรรมที่ดีมันไม่ใช่แค่อาคารที่ออกมาดูดี สวยงาม แต่ว่ามันเป็นสถานที่หรือเป็นพื้นที่ที่คนที่เข้ามาอาศัยอยู่เขาต้องใช้มันได้อย่างมีความสุข ตอบโจทย์ต่อไลฟ์สไตล์ของเขา หรือบางครั้งมันอาจจะเป็นสถาปัตยกรรมที่ปรับให้คุณภาพชีวิตของเขามันดีขึ้น ยิ่งถ้าเป็นที่อยู่อาศัยที่เป็นบ้าน แนวทางในการออกแบบมันจะมีความเป็นส่วนตัวมาก เพราะเรากำลังจะสร้างบ้านให้กับคนคนนี้อยู่และก็คงจะอยู่ไปตลอดชีวิต เพราะฉะนั้นเราต้องเข้าใจถึงตัวตนของเขา เข้าใจพฤติกรรม เข้าใจวิธีการใช้ชีวิตของเขา เราถึงจะออกแบบสถาปัตยกรรมที่ทำออกมาเพื่อเขาในการใช้ชีวิตได้

Discover more from Design Makes A Better Life.

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading