OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

สถาปัตยกรรมแห่งความโศกเศร้า …. Jewish Museum

“Architecture is a Language” สถาปัตยกรรม…คือภาษาอย่างหนึ่งที่สามารถสื่อสารให้ผู้คนเข้าใจได้ Danial Libeskind

Architect: Danial Libeskind

Location: Berlin, Germany

Area: 15,000 M2

Project year: 1999

Jewish Museum เป็นกรณีศึกษาในการออกแบบสถาปัตยกรรมหลายต่อหลายครั้งในการเรียนชีวิตมหาวิทยาลัย เมื่อครั้งที่เราได้ไปเยือนเมืองเบอร์ลิน ได้สัมผัสอาคารนี้ที่ส่งผลต่อความรู้สึก และการออกแบบสถาปัตยกรรมของเราได้เปลี่ยนไป กลุ่มก้อนความรู้สึกที่ได้จากการเดินภายในอาคารนั้น ยังชัดเจนจนถึงทุกวันนี้ ครั้งนี้เป็นโอกาสดีที่เราจะขอพาทุกคนไปชม ไปรู้สึก ให้มากเท่าที่จะทำได้….ไปค่ะ

เมื่อมาถึงมิวเซียมและได้ยืนอยู่หน้าอาคารจริงๆ เรารู้สึกได้ว่าอาคารนี้มีอะไรบางอย่างที่แตกต่างจากอาคารอื่นทั่วไป เป็นความแตกต่างในเรื่องการวางแปลน ต่างในรูปร่างอาคารการใช้วัสดุ และต่างแม้กระทั่งขั้นตอนการเข้าชมนิทรรศการ ทั้งหมดนี้เป็นความต่างที่มีแรงดึงดูดแสนรุนแรง ซึ่งกระซิบบอกเราว่า ให้ลองเข้าไปสัมผัสถึงแก่นที่ Danial Libeskind ได้สร้างสรรค์ไว้ แล้วเราจะรู้ว่าภายในความแตกต่างนั้น มีความสวยงามที่แสนหดหู่แอบซ่อนไว้อยู่

Jewish Museum ตั้งอยู่ที่เมืองเบอร์ลิน ประเทศเยอรมัน ออกแบบโดย Danial Libeskind สถาปนิกผู้โด่งดังจากการออกแบบอาคารรูปทรงโฉบเฉี่ยวหลากองศา พิพิธภัณฑ์นี้สร้างเพื่อเป็นอนุสรณ์สถานให้แก่ชาวยิวผู้ที่ล่วงลับไปในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 และต้องการให้ผู้คนเข้ามารับรู้ความรู้สึก ตระหนักถึงเรื่องราวที่ได้เกิดขึ้น ที่สำคัญที่สุดคือสร้างเพื่อให้คนรุ่นหลังจดจำและต่อต้านไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่น่าสลดใจเกิดขึ้นบนโลกใบนี้อีกครั้ง

จากการประกวดออกแบบ Jewish Museum ที่มีสถาปนิกส่งผลงานเข้ารวมกว่า 200 ผลงาน Danial Libeskind คือบุคคลที่ได้รับการคัดเลือก ด้วยแนวคิดและฟังก์ชันในอาคารที่ผสมผสานกันได้อย่างลงตัวระหว่างเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ และสเปซในนิทรรศการที่สามารถกระชากความรู้สึกของผู้ชม ให้จมดิ่งลึกลงไปในเรื่องราวชีวิตแสนหดหู่ที่ชาวยิวได้เผชิญ ผ่านการออกแบบ แสง เสียง รูปทรง ช่องเปิด และสเปซภายใน จากองค์ประกอบของอาคารเท่านั้น

– รูปทรงของอาคารและวัสดุ –

Jewish Museum แบ่งออกเป็น 2 อาคาร อาคารแรกคืออาคารเก่าสไตล์บาโรค ส่วนอีกอาคารคือส่วนจัดแสดงนิทรรศการ รูปทรงของอาคารเมื่อมองจากแปลนจะคล้ายๆสายฟ้า เป็นเส้นซิกแซก ส่งผลให้สเปซและทางเดินภายในอาคารมีการหักเลี้ยวไปมาตามฟอร์ม ภายในมีการจัดแสดงนิทรรศการหลายส่วน โดยมีทั้งนิทรรศการเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของกรุงเบอร์ลิน และนิทรรศการหมุนเวียนจากภายนอก โดยรูปร่างของอาคารส่วนจัดแสดงนิทรรศการมีความสะดุดตา สะดุดใจตั้งแต่แรกเห็น ด้วยฟอร์มของอาคารที่สูง ทึบ และแข็งแรง แต่ขณะเดียวกันกลับมีความลึกลับแฝงไว้อยู่

จากการใช้วัสดุจากอะลูมิเนียมซิงค์ รูปลักษณ์ของอาคารจึงดูทึบและตัน และด้วยลักษณะของวัสดุก่อให้เกิดความรู้สึกที่เย็นยะเยือก ไร้ชีวิตจิตใจ ส่วนภายในอาคารใช้คอนกรีตในการตกแต่งผนัง ก็ช่วยเพิ่มความรู้สึกให้สเปซดูทึบ ตัน และอึดอัดได้เช่นเดียวกันกับการใช้จากอะลูมิเนียมซิงค์

รูปแบบของช่องเปิด เกิดจากการลากเส้นของสถานที่สำคัญในอดีตของเมืองเบอร์ลิน ประเทศเยอรมัน

– ช่องเปิด….ร่องรอยของความแตกร้าว –

เมื่อมองอย่างถี่ถ้วนจะพบว่าอาคารนี้ไม่มีการใช้หน้าต่างแบบบานปกติ แต่มีการเจาะช่องแสงที่คล้ายกับรอยกรีดและรอยแตกของอะไรบางอย่างแทน โดยสถาปนิกตั้งใจสื่อถึงรอยแผลที่ชาวยิวได้รับจากการถูกตี ถูกทรมาน และคล้ายกับเป็นรอยแตกร้าวของความรู้สึกของผู้คนในยุโรปที่ไม่สามารถจางหายไปได้เลย จากเส้นสายของช่องเปิดทำให้เรารู้สึกราวกับว่านี่คือจิตใจที่บอบช้ำของชาวยิว มีแผล รอยกรีด รอยถลอก ที่นำมาซึ่งความปวดร้าวทั้งกายและใจ

เนื่องจากภายนอกอาคารไม่มีหน้าต่างเป็นบานๆ และผนังยังมีลักษณะที่ค่อนข้างทึบ  เราจึงไม่สามารถรู้ได้เลยว่าภายในอาคารนั้นมีอะไร มีการจัดนิทรรศการอย่างไร สเปซข้างในเป็นอย่างไร เพราะเราจะมองเห็นได้แต่เพียงภายนอกเท่านั้น ซึ่งก็เหมือนกับชาวยิวที่เราไม่สามารถรู้ได้ว่าภายในใจของพวกเขานั้น ต้องกล้ำกลืนฝืนทนกับความทรมานมากแค่ไหน

 

ภายในตึกเก่าสไตล์บาโรค มีร้านคาเฟ่ไว้บริการสำหรับผู้เข้าชม ซึ่งอยู่บริเวณด้านหน้าทางเข้า

– ทางเดินใต้ดิน เชื่อมต่ออดีตถึงปัจจุบัน –

ความรู้สึกแรกหลังจากที่ได้เข้าไปสัมผัสภายในอาคาร ทำให้เราเข้าใจว่าทำไมอาคารนี้ถึงเป็นที่พูดถึงและเป็นกรณีศึกษา ให้กับนักเรียนที่เรียนสถาปัตยกรรมเกือบทุกคน นั่นก็เพราะว่าอาคารนี้ได้ส่งต่อเจตนารมย์ ส่งต่อวัตถุประสงค์ของการสร้างพิพิธภัณฑ์นี้ ให้ผู้คนทั่วไปรับรู้ได้อย่างดีเยี่ยมนั่นเอง

อาคารเป็นรูปร่างซิกแซกไม่มีทางเข้าจากภายนอก มีขั้นตอนการเดินเข้าไปภายในอาคารที่เป็นเฉพาะตัว เสมือนเป็นทางเดินที่ผู้ชมต้องเดินผ่านเข้าไปในช่องว่างใต้ดิน ถึงจะสามารถเข้าชมนิทรรศการได้ การที่เราต้องเดินทะลุอาคารจากทางใต้ดิน ก็คล้ายกับการสมมุติเหตุการณ์ในอดีต ที่ชาวยิวหลบหนีไปตามอุโมงค์ ซ่อนตนเองท่ามกลางความมืด เพื่อให้รอดพ้นจากการไล่ล่าของนาซี เมื่อเราเดินลงไปชั้นใต้ดิน อย่างแรกที่เรารู้สึกคือความมืดและทึบของสถานที่แห่งนี้ ซึ่งต่างจากนิทรรศการทั่วไปที่จะมีการจัดแสงเพื่อสร้างความน่าสนใจของผลงานที่จัดแสดงโชว์ แต่อาคารนี้สถาปนิก มีการเล่นระดับความเข้มความสว่าง ระหว่างแสงและเงา สีเข้มเพราะฉะนั้นในทุกๆที่ภายในอาคาร ไม่ว่าส่วนนั้นจะมีการจัดแสดงงานหรือไม่ก็ตาม ก็จะมีการจัดแสงไฟและความมืด เปรียบดั่งตัวช่วยในการเล่าเรื่องราวมากกว่าที่จะโฟกัสความสนใจของผู้เข้าชมไปแค่จุดใดจุดหนึ่งเท่านั้น

ผู้ชมจะไม่สามารถคาดเดาสเปซภายในตึกได้ว่าจะเจอกับอะไรต่อไป ซึ่งในส่วนนี้สถาปนิกต้องการให้เห็นภาพสะท้อนของชาวยิวในช่วงที่โดนจับตัว พวกเขาไม่สามารถรู้ได้เลยว่าหนทางข้างหน้าจะต้องเผชิญกับอะไร มีความลึกลับ ซับซ้อน และความไม่มั่นใจผสมผสานเข้าด้วยกัน สเปซภายในอาคารเลยเป็นเส้นทางที่หักไปมา นอกจากนั้นแล้วยังมีการออกแบบพื้นและเพดานให้มีระดับที่แตกต่างกันอีกด้วย เช่นในบางพื้นที่ มีการยกระดับพื้นให้สูงขึ้น แต่ความสูงเพดานจะต่ำลง ทำให้ผู้เข้าชมเกิดความรู้สึกอึดอัด รู้สึกถึงความบิดเบี้ยวของสเปซ และรู้สึกได้ว่าการเดินแต่ละก้าวนั้นไม่ปลอดภัยเท่าไหร่นัก 

เมื่อเดินเข้ามาตามทางเรื่อยๆ จะพบกับทางแยก 3 เส้นทาง ซึ่งนำไปสู่ส่วนจัดนิทรรศการต่างๆ ได้แก่ Holocaust Tower The Garden of Exile และเส้นทางสุดท้ายคือทางเดินยาวที่บอกเล่าเรื่องราวของเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวในอดีต ทางแยก3ทางนั้นจะตัดกันอยู่ ถ้าผู้เข้าชมงานไม่ได้ดูแผนผังมาก่อนจะเกิดความลังเล ว่าเราควรเดินไปในทางเส้นไหนก่อน เพราะเราไม่สามารถมองเห็นทางข้างหน้าได้เลยว่าจะเป็นเช่นไร นั่นแสดงถึงความกลัวในความไม่หยั่งรู้ของมนุษย์ ซึ่งเกิดขึ้นกับเราทุกคน รวมถึงเป็นความกลัวที่ชาวยิวต้องเผชิญหน้า เป็นระยะเวลาหลายปีด้วยกัน

– Holocaust Tower –

Holocaust Tower เป็นส่วนที่ตราตรึงอยู่ในความรู้สึกของเรามากที่สุด ห้องนี้ถูกออกแบบมาเพื่อจำลองสถานที่ที่ใช้ในการปลิดชีพหมู่ชาวยิวเป็นจำนวนมากภายในคราวเดียว เป็นความไร้ปราณีที่เกิดขึ้นแค่ชั่วพริบตา ภายในห้องมีผนังสีดำทึบ ไม่มีต้นกำเนิดแสงอื่นใดนอกจากแสงธรรมชาติเพียงเล็กน้อยจากด้านบนสุด บวกกับความสูงชะลูดของห้องนี้ ทำให้เกิดความรู้สึกสิ้นหวัง หดหู่ เนื่องจากไม่มีทางออกอื่นใดนอกจากประตูเหล็กขนาดใหญ่ที่เราเปิดเข้ามา สิ่งที่เกิดขึ้นภายในห้องจะมีก็แต่ความเงียบและเสียงในจิตใจเรา ทำให้ความรู้สึกและอารมณ์ของผู้เข้าชมรู้สึกตามไปกับความหดหู่ของเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้น  และเมื่อตาของเราเริ่มปรับตัวเข้ากับความมืดได้แล้ว เราเริ่มมองเห็นภายในห้องได้ชัดเจนมากขึ้น สภาพแวดล้อมของห้องนี้ ยิ่งทำให้เรารู้สึกสิ้นหวัง และจมดิ่งลึกลงไปในอารมณ์ของความเศร้ามากยิ่งขึ้น

– Garden of Exile –

Garden of Exile เป็นนิทรรศการเพียงหนึ่งเดียวที่จัดภายนอกตึก มีเสาคอนกรีตขนาดใหญ่ เรียงรายกันถึง 9 ต้น และพื้นก็มีความลาดเอียงถึง 10 องศา ทำให้เรารู้สึกถึงความไม่มั่นคง มึนงง ไม่มั่นใจ และรู้สึกได้ถึงความไม่ปลอดภัยในการเดิน เหมือนอยู่ในเขาวงกตที่มีทางวกวนไปมา ซึ่งแม้แต่จะเดินดูเสาคอนกรีตให้ครบทุกต้นยังเป็นไปอย่างยากลำบาก ทำให้เราต้องระมัดระวังไม่ให้ชนกับผู้เข้าชมคนอื่น  เนื่องจากเราสามารถมองเห็นทางได้ทีละเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งเปรียบเสมือนเหตุการณ์หลังจากที่ชาวยิวหนีจากระบอบนาซีมาได้ และไม่รู้ว่าชีวิตหลังจากนี้จะเป็นเช่นไร

ภายในนิทรรศการ

– เรื่องราวของเบอร์ลิน –

ทางสุดท้ายคือทางที่ตรงไปสู่ส่วนบอกเล่าเรื่องราวของกรุงเบอร์ลินในอดีต โดยผู้เข้าชมต้องเดินไปสุดทาง และขึ้นบันได้ตรงยาว เพื่อเข้าชมนิทรรศการข้างบน ระหว่างที่ขึ้นบันไดนั้นจะพบกับแท่งคอนกรีตที่พุ่งทะลุมาจากกำแพง เปรียบเหมือนความรู้สึกของชาวยิว ที่รู้สึกเจ็บปวดและสิ้นหวังในการใช้ชีวิตอยู่

ภายในนิทรรศการ

– Fallen leaves –

หน้ากากเหล็กรูปหน้าคนกำลังร้องกว่า 10000 ชิ้น วางเต็มพื้นที่จนไม่เห็นพื้นผิวของพื้น สื่อถึงชีวิตที่ล้มตายไปในช่วงเหตุการณ์นั้น ตอนที่เราก้าวเดินไปในแต่ละก้าว เหล็กจะสะท้อนเสียงเวลาที่เราเดินออกมา ซึ่งคล้ายกับเสียงร้องของผู้คนชาวยิวที่ส่งสัญญานขอความช่วยเหลือ ทำให้เรารู้สึกวังเวงและหวาดหวั่นในการที่จะก้าวเดินผ่านไป ผนังคอนกรีตที่สูงทึบแต่มีหน้ากว้างค่อนข้างคับแคบ ทำให้เกิดเสียงสะท้อนแสนเศร้าดังไปมาตลอดการเดินผ่านจุดนี้ Fallen leaves ออกแบบโดย Menashe Kadishman ศิลปินชาวอิสราเอล

ภายในนิทรรศการ Fallen leaves

 

สถาปัตยกรรมที่คิดมาดีพอ จะสามารถสื่อสารกับผู้ใช้งานอาคารได้อย่างชัดเจน ด้วยขนาด ระยะ ปริมาตร แสงเงา และมีเรื่องของระยะเวลามาเกี่ยวข้อง เช่นเดียวกับ Jewish museum ที่บอกเล่าเรื่องราวความสูญเสียของชาวยิวครั้งใหญ่ โดยสถาปนิกได้ออกแบบสเปซ องค์ประกอบ ไปจนถึงรูปแบบของอาคาร เพื่อเล่าเรื่องราวอันโหดร้ายในอดีต ให้ผู้คนจารึกไว้ในความทรงจำไปอีกแสนนาน

 

ขอบคุณรูปภาพบางส่วนจาก Laurian Ghinitoiu