คำว่า ‘Concept’ ถือเป็นกุญแจสำคัญในการออกแบบที่เราถูกปลูกฝังมาตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย และปรากฎให้เห็นอยู่ในงานออกแบบหลากหลายแขนง ซึ่งเมื่อเราได้เห็นผลงานของ ผศ. บุญเสริม เปรมธาดา จาก Bangkok Project Studio ที่มีผลงานทางสถาปัตยกรรมอันมีเอกลักษณ์โดดเด่นน่าจดจำ เราจึงถือโอกาสติดต่อเพื่อขอสัมภาษณ์อาจารย์เกี่ยวกับคอนเซปต์ของการออกแบบ แต่คำตอบแรกที่ได้รับคือ “งานของผมไม่มีคอนเซปต์นะครับ” ทำให้เราย้อนกลับไปตั้งคำถามถึงจุดเริ่มต้นในงานออกแบบ ผ่านการสนทนาถึงวิธีคิดและชีวิตการทำงาน รวมถึงการถ่ายทอดในฐานะของการเป็นอาจารย์ ที่อาจเปลี่ยนความคิดในการสร้างสรรค์ผลงานของใครหลายๆ คน
ผศ.บุญเสริม เปรมธาดา สถาปนิกจาก Bangkok Studio Project และอาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Dsignsomething : อาจารย์บอกกับเราว่างานของตัวเองไม่มีคอนเซปต์ อาจารย์ตัดคำว่า ‘concept’ ออกไปจากงานออกแบบของตัวเองตั้งแต่เมื่อไหร่?
อ.บุญเสริม : หลังจากที่ผมตั้งสตูดิโอขึ้นมาในปี 2003 เมื่อก่อนผมก็เชื่อในวิธีการแบบนั้น เพราะเราถูกสอนมาแบบนั้นแหละ ด้วยความที่คอนเซปต์มันใช้กันมานาน ซึ่งไม่ได้แปลว่ามันไม่ดี แต่ผมรู้สึกว่าผลลัพธ์ที่ได้มันเหมือนกันไปหมด ผมต้องการเปลี่ยนโดยกลับมาเริ่มกันที่กระบวนการและวิธีการคิดบนพื้นฐานของความเป็นจริง ทำได้จริง พิสูจน์ได้ ไม่เลื่อนลอย ไม่แถ
Dsignsomething : คำว่า ‘ไม่มีบริบท’ ของอาจารย์ในที่นี้หมายถึงอะไร?
อ.บุญเสริม: จริงๆ มีอยู่แล้ว แต่วิธีการสอนของผม ผมต้องการให้เขาเดินออกมาจากวิธีเดิมๆ คำว่าบริบทไม่ได้แค่ว่าอยู่รอบๆที่จะสร้าง แต่มันอาจหมายถึง existing หรืออาคารที่มีอยู่เดิมมันก็คือบริบทที่มันเกิดขึ้นแล้วเราเข้าไปทำอะไรกับมัน เรื่องหลักๆ ที่ผมมักพูดเสมอคือเรื่องของการสังเคราะห์ เพราะผมเห็นตลอดเวลาว่าเรามักพูดกันถึงเรื่อง ‘concept’ จาก concept ที่คุณได้ ไหนคือข้อมูล ไหนคือการวิเคราะห์ วิเคราะห์เสร็จแล้วไปไหนต่อ วิเคราะห์เสร็จเด็กหมดแรง เพราะกระบวนการมันยาวนาน พอสะบักสะบอมแล้วก็คิดไม่ออก ก็เอารูป concept ไปยำ ย่อบ้างขยายบ้าง ตัด ปะ บ้าง เพื่อ “หาทางลง” เพราะฉะนั้นเราต้องเข้าใจเรื่องการสังเคราะห์ พอเข้าใจเสร็จแล้วเราไปต่อที่ Transformation หรือการเปลี่ยนรูป พอทำจนเสร็จกระบวนการ เราอาจจะลืม concept ไปเลย
Dsignsomething : วิธีการที่แตกต่างกันส่งผลให้ผลงานที่ออกมาต่างไปจากเดิมมากไหม อย่างไร?
อ.บุญเสริม : ที่มาต่าง ที่ไปก็ต่าง ผมเชื่ออย่างนั้น แต่ไม่ใช่กับทุกคน ซึ่งอย่างน้อยที่สุดผมได้เรียนรู้ ผมไม่ได้พูดแบบโลกสวยว่า เป็นกระบวนการเรียนรู้หรือการทดลอง ผมเชื่อว่า ถ้าเราคิดมาดีแล้ว ถ้ามันจะมีปัญหาหรือข้อผิดพลาดระหว่างทาง ผมจะไม่ตอบว่า ผมเรียนรู้ แต่จะใช้คำว่า ผมรับผิดชอบเอง
Dsignsomething : อย่างสมัยที่อาจารย์ยังเรียนอยู่ มีวิธีการคิดแบบนี้ตั้งแต่สมัยเรียนเลยไหม?
อ.บุญเสริม : นักเรียนก็คือนักเรียน อย่าเถียงอาจารย์เดี๋ยวโดนตะเพิด สมัยเรียนผมก็คือเด็กดีคนนึงเลยแหละ แต่จุดเปลี่ยนความคิด ผมว่ามันค่อยๆ สะสมมาเรื่อยๆ มันอยู่ในใจมาตลอด ผมว่าเวลาเป็นเรื่องสำคัญ ถ้า 30 ปีที่แล้ว เราเรียนและเป็นแบบนี้ 30 ปีต่อมาเราก็ยังสอนและถ่ายทอดแบบนี้อยู่ ซึ่งทำให้ผมเกิดคำถามต่อว่า เราจะเคลื่อนที่ไปข้างหน้าอย่างไร นั่นแปลว่าผมไม่ได้หาความรู้ใหม่เลย ผมแค่นำความรู้จากที่โรงเรียนสอนมาถ่ายทอดต่อ แต่ตอนเรียนจบออกมาทำงานผมก็ทำแบบนี้เพราะผมยังหาทางอื่นไม่ได้ แต่พอผมเห็นผลงานเป็นชิ้นตั้งอยู่ตรงหน้า ถึงรู้ว่ามันดีหรือไม่ดี ถึงรู้ว่าเพราะเริ่มแบบนี้เลยกลายเป็นแบบนี้ ถ้าเริ่มแบบหนึ่งอาจจะกลายเป็นอีกแบบหนึ่งก็ได้ จุดเริ่มต้นจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสิ่งหนึ่ง
BRICK TOWER / Eleplant World : Surin ,Thailand
Dsignsomething : งานออกแบบชิ้นแรกของอาจารย์ที่ได้สร้างจริงกับงานออกแบบที่ทำอยู่วันนี้ต่างกันไหม?
อ.บุญเสริม : มันคนละเรื่องกัน งานแรกๆ เราทำตามสิ่งที่เราเรียนมา แต่ถ้าต้องการพัฒนางานให้ก้าวหน้าขึ้น เราต้องลืมในสื่งที่ตัวเองเรียนมา ไม่ใช่ว่าสิ่งที่เรียนมาไม่ดี แต่ถ้เรายังยึดกับวิธีแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ ผลที่ได้มันก็จะเป็นแบบเดิม แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่เราพักตรงนี้ไว้ ลืมตรงนี้ก่อนแล้วเริ่มหาวิธีการของตัวเอง ผมเน้นเรื่องวิธีการใหม่ ถ้าเราเริ่มต้นเดินวิธีการใหม่ เราก็จะเห็นปลายทางใหม่
Dsignsomething : แต่ละขั้นตอนในการทำงานที่มีวิธีการคิดที่แตกต่างกันมักขึ้นอยู่กับปัจจัยอะไร?
อ.บุญเสริม : แล้วแต่มุมมอง ผมคิดว่า มันควรจะเริ่มคิดจากตรงนี้ หลายๆ งานที่คุณเห็นจะมีความเชื่อมโยงกัน หรือบางงานอาจจะเริ่มจากงานโครงสร้าง บางงานอาจจะเริ่มจากวัสดุ ซึ่งคุณจะเห็นได้ว่างานของผมทุกงานมีวัสดุมาเกี่ยวข้อง และเป็นเรื่องหลัก เพราะสถาปัตยกรรมมันสัมผัสได้ด้วยวัสดุ และสามารถสร้างบรรยากาศได้ด้วยวัสดุ วัสดุจะเป็นตัวที่ตอบว่าสถาปัตยกรรมจะสร้างยังไงและมีรูปทรงยังไง วิธีการของผมเริ่มต้นจากความเป็นอิสระ เพราะผมเป็นคน Borderless (ไร้ขอบเขต)
Dsignsomething : ลองเล่าให้เราฟังได้ไหม ว่าหนึ่งวันของอาจารย์ทำอะไรบ้าง?
อ.บุญเสริม : ผมสเก็ตตั้งแต่ตื่นนอนยันเข้านอน ตื่นมาผมก็สเก็ต สเก็ตบนสมุด บนโทรศัพท์มือถือ บนไอแพด อะไรที่อยู่ใกล้มือผมหยิบหมด เพื่อดูว่าในหัวของตัวเองคิดอะไรอยู่และผมรู้สึกยังไง ผมอาบน้ำในห้องน้ำ นึกได้ผมก็ออกมาสเก็ตเลย สมองของผมทำงานตลอดเวลา ใช้มันให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม สมุดสเก็ตคือแหล่งรวบรวมความคิดที่จะเปลี่ยนรูปเป็นสิ่งก่อสร้างจริงในอนาคต
Dsignsomething : ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องงานหรือเปล่า?
อ.บุญเสริม : ไม่ทั้งหมด ผมสเก็ตอะไรก็ได้ ผมคิดแว่นตาออก ผมคิดเก้าอี้ออก ผมก็ออกมาสเก็ต ผมคิดหัวข้อของงานวิจัยออกผมก็ออกมาเขียน ก็เลยทำให้ผมมีข้อมูลที่เป็นสมุดสเก็ตเต็มไปหมด และนั่นคือที่มา นั่นคือวิธีคิดของผมว่ามาจากไหน มันก็มาจากที่ผมสะสมมาทั้งหมดในสมุดสเก็ตเหล่านี้แหละ และพอถึงเวลาผมก็บอกว่าอันนี้น่าจะเหมาะกับคนๆนี้ คนที่เป็นเจ้าของผลงานของผม ผมมักจะเรียกพวกเขาว่า “ผู้ครอบครองผลงาน” ไม่ใช่ “ลูกค้า” ทุกสิ่งทุกอย่างคือพรหมลิขิตที่เราได้มาเจอกัน
Dsignsomething : แต่เด็กสมัยนี้ไม่ค่อยสเก็ต อาจารย์คิดว่ามันมีผลกับงานออกแบบไหม?
อ.บุญเสริม : คงเป็นเพราะเครื่องมือที่พวกเขาถนัดและถูกจำกัดขอบเขตโดยไม่รู้ตัว โดยส่วนตัวแล้วผมคิดว่าเครื่องมือไม่ได้เป็นอุปสรรค เพราะว่าผมก็ใช้ไอแพด ใช้โทรศัพท์ เพียงแต่เครื่องมือผมมีหลากหลาย ด้วยความที่ผมมีพื้นฐานของการใช้มือจนมาถึงการใช้เทคโนโลยี ฉะนั้นเราต้องปรับตัว จะไปยึดวิธีการใดวิธีการหนึ่งไม่ได้ ซึ่งสำหรับผมการสเก็ตมีประโยชน์ การสเก็ตหมายถึงการใช้เครื่องมือ มันเหมือนเป็นการบันทึก ว่าในแต่ละวันเราคิดอะไร อย่างโปรเจกต์ The Wine ก็เป็นสเก็ตที่เขียนไว้นานมาก เจ้าของก็ตกใจว่าทำไมเราทำงานเร็ว ไม่ได้บอกว่าตัวเอง advance แต่นั่นคือวิธีการที่เราเริ่มทำงาน เพราะฉะนั้นผมเลยคิดว่า concept เป็นคำที่เอาไว้อธิบายให้คนฟังแล้วเข้าใจง่ายๆ มากกว่า
The Wine : Ayutthaya
Dsignsomething : อย่างโปรเจกต์พิพิธภัณฑ์ช้างที่จังหวัดสุรินทร์ อยากให้อาจารย์เล่าให้ฟังว่ามีวีธีคิดหรือเริ่มต้นการออกแบบยังไงบ้าง?
อ.บุญเสริม : ผมมองว่า พิพิธภัณฑ์ช้างมีองค์ประกอบหลายอย่าง ส่วนหนึ่งมาจากงานวิจัยของผมเรื่องช้าง หรือเป็นเรื่องเสียงที่เป็นความสนใจส่วนตัวของผม ผมอยากให้มนุษย์รับรู้มิติของสัตว์ในอีกแบบ อย่างผนังที่สูงๆ ต่ำๆ เราเอาสเกลของผนังมาสร้างเสียงขึ้นมา ช้างร้องเสียงดังมาก ยิ่งถ้าอยู่ในที่แบบนี้เสียงของพวกเขาจะดังมาก มีครั้งหนึ่งผมเคยไปที่วัดภูมินทร์ จ.น่าน ก็มีเด็กเดินเข้ามาอธิบาย คนพี่ก็อธิบาย สักพักน้องแย้งขึ้นมาว่า เห้ย ผิด นั่นเป็นจุดที่ผมรู้สึกว่ามันเป็นวิธีการเล่าเรื่องในพิพิธภัณฑ์ที่สดใสมากๆ มีวิธีการตอบโต้ที่เป็นธรรมชาติ ผมรู้สึกว่าผมได้ฟังจากของจริง ไม่ใช่มานั่งดูหนังซ้ำไปซ้ำมา ซึ่งทำให้ผมชอบและประทับใจ ผมก็เลยเอาสิ่งเหล่านั้นมาถ่ายทอดในพิพิธภัณฑ์เหล่านี้ เพราะเรื่องที่เราอยากจะเล่า มันควรจะเล่าผ่านปากของคนในพื้นที่ ไม่ใช่เล่าผ่านการเอามากลั่นกรอง แต่งจนมันบิดเบี้ยวไปทั้งหมด
Elephant Stadium : Surin ,Thailand
BRICK TOWER / Eleplant World : Surin ,Thailand
อย่างโปรเจกต์ศูนย์การเรียนรู้การอนุรักษ์ป่าชายเลนตรงสมุทรปราการใกล้ๆ บางปู ผมใช้ชื่อว่า sense of mangrove และนำมาเล่าอีกแบบ ผมต้องการให้คนเข้าไปแล้วรู้สึกถึงความงดงามของป่าชายเลน เมื่อคนได้เห็นว่ามันสวย คนก็อยากจะอนุรักษ์ เหมือนเราไปเห็นโบราณวัตถุสวยๆ เราก็อยากจะอนุรักษ์ อยากทำให้ดีเช่นเดียวกัน เมื่อเข้าไปแล้วผมเห็นอะไร ผมก็ถ่ายทอดจากสิ่งที่โสตประสาทผมรับรู้มาสู่พิพิธภัณฑ์แต่ละหลัง นั่นคือผมเอาเนื้อหาทางวิทยาศาสตร์มาอธิบายด้วยศิลปะ
Mangrove Learning Center : Samut Prakan , Thailand
Dsignsomething : ความสุขของการทำงานทุกวันนี้ของอาจารย์คืออะไร
อ.บุญเสริม : งานได้สร้างจริงเท่านั้นก็เป็นสุขแล้ว ชีวิตของสถาปนิกมันไม่ได้อยู่บนกระดาษ ไม่ใช่ว่าเราเอากระดาษไปโชว์ แล้วเรียกมันว่าสถาปัตยกรรม อันนั้นมันคือรูปวาด มันเป็นโมเดลที่ยังไม่ถูกสร้างจริง ของจริงมันต้องมีคนเข้ามาใช้ สัมผัสบรรยากาศ และที่สำคัญคือมันต้องยืนหยัดเพื่อพิสูจน์คุณค่าของตัวมันเองและกาลเวลา
Eleplant Museum : Surin ,Thailand
Dsignsomething : อยากฝากอะไรถึงคนอ่านไหม?
อ.บุญเสริม : มีคำถามนึงที่ผมโดนกรรมการถามในระหว่างนำเสนอผลงานที่ Royal Academy of Arts ว่าคุณคิดว่าสิ่งที่คุณทำมา คุณจะส่งต่อให้กับคนรุ่นต่อไปยังไง เป็นคำถามที่ตอบยากมากสำหรับผม แต่ผมตอบโดยไม่คิดเลยว่า วิธีสอนของผมคือทำจริง ทำให้ดูเหมือนสิ่งที่พ่อผมสอนผมแค่นั้นเอง ผมก็ตอบไปตรงๆ ซื่อๆ การสร้างผลงานจริงมันเปิดโอกาสให้คนทั่วไปได้เข้ามาเรียนรู้ ที่ไม่ได้ถูกจำกัดแค่ในห้องเรียนหรือโรงเรียนเท่านั้น ผมทำงานด้วยความจริงใจ เหมือนที่คุณเห็นงานผม นั่นก็คือความจริง ผมไม่ได้แต่งเรื่องขึ้นมาใหม่ ถ้าจะมีความดราม่าหรืออารมณ์อะไร มันคือความจริง และสื่อมีหน้าที่ค้นหาและถ่ายทอดเรื่องราวอย่างเป็นกลางโดยที่ไม่สนใจว่าจะอยู่ในกระแสหรือไม่
ในบรรยากาศของการสนทนากับอาจารย์บุญเสริม ถือเป็นช่วงเวลาที่ทำให้เราเกิดคำถามขึ้นกับตัวเองมากมาย ทั้งวิธีการของงานออกแบบที่ผ่านๆ มา งานจะส่งผลต่อผู้เข้ามาใช้งานอย่างไร นอกจากนั้นยังมีเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวันอย่างการ
สเก็ตที่ทำให้ได้ประสบการณ์ใหม่และได้แรงบันดาลใจที่สามารถนำไปต่อยอดในการออกแบบและการใช้ชีวิตได้เป็นอย่างดี
ขอบคุณภาพจาก : Bangkok Project Studio และ Spaceshift Studio