OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

PM House บ้านไทยร่วมสมัย กับความหมายของคำว่า อยู่เย็นเป็นสุข

‘อยู่เย็นเป็นสุข’ ประโยคส่งต่อคำอวยพรแสนคุ้นเคยที่เรามักได้ยินกับความเป็นบ้านของคนไทยอยู่เสมอๆ หากลองหยิบมาคิดดูอีกที ประโยคที่ว่านี้ยังชวนให้เห็นภาพวิถีชีวิตแบบไทยสมัยก่อนได้เป็นอย่างดี ความธรรมดาสามัญสุดเรียบง่าย มีความสุขร่วมกันผ่านวิถีชีวิตที่อยู่กับความเป็นธรรมชาติ บ้านไทยร่วมสมัยสีขาวในชื่อ PM House จึงเป็นตัวแทนที่นำวลีคุ้นหู อยู่เย็นเป็นสุข มาตีความเป็นสถาปัตยกรรมไทยสมัยใหม่ที่ใส่ใจความเป็นอยู่และบริบทเดิม ด้วยฝืมือการออกแบบของคุณตั้ม เฉลิมพล สมบัติยานุชิต แห่ง ARCHITECT9KAMPANAD CO., LTD.


คุณตั้ม เฉลิมพล สมบัติยานุชิต สถาปนิกผู้ออกแบบ ARCHITECT9KAMPANAD CO., LTD.

 ส่วนผสมของคนสองวัย และ การอยู่อาศัยแบบไทยสมัยใหม่

อยู่อย่างไทยสมัยใหม่ ถูกหยิบมาคลี่คลายให้กลายเป็นสถาปัตยกรรม โดยคุณตั้มได้แรงบันดาลใจจากวิถีชีวิตอันเรียบง่ายของเจ้าของบ้านซึ่งเคยชินกับความเป็นอยู่แบบบ้านไทยสมัยก่อน “เราตีความคำว่าไทย คือความสบาย ความง่าย และความยืดหยุ่น เพราะฉะนั้นงานออกแบบ ร่างทรงของความเป็นไทยเราไม่ได้โฟกัสที่จะทำบ้านทรงไทยอะไรแบบนั้น แต่เราพยายามสร้างความรู้สึกในสเปซและฟังก์ชันแทน ให้เขารู้สึกว่า อยู่อย่างไทยสมัยใหม่ มันคืออยู่แบบนี้แหละ” สถาปนิกเล่า
ถึงแม้จะมีความเหมือนกันในวิถีชีวิต ความชื่นชอบอะไรแบบไทยดั้งเดิม แต่บ้านหลังนี้กลับซุกซ่อนส่วนผสมของคนสองวัยที่มีรูปแบบชีวิตที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงเอาไว้ คุณลูกยังคงเป็นวัยรุ่นที่ทำงานประจำในเมือง ส่วนคุณแม่และคุณพ่อเป็นผู้สูงอายุที่ใช้เวลาส่วนมากอยู่กับบ้าน โจทย์ที่เหลือจึงเป็นความต้องการจากผู้อยู่อาศัย ซึ่งผสมผสานกันอย่างละนิดละหน่อย

คุณแม่มีความชื่นชอบในวัสดุไม้จริง และชอบบ้านที่อยู่สบายโดยไม่จำเป็นต้องเปิดเครื่องปรับอากาศ  คุณพ่อซึ่งมีปัญหาด้านสุขภาพทำให้มีข้อจำกัดในเรื่องการใช้งานฟังก์ชัน ส่วนลูกทำงานประจำ ซึ่งไม่ค่อยมีเวลาอยู่กับบ้านจึงต้องการการดูแลรักษาที่ง่าย มีฟังก์ชันไม่ซับซ้อน โจทย์หลักของบ้านจึงเป็นการหันไปพึ่งพาพลังงานธรรมชาติเป็นหลัก การให้ความสำคัญกับแสงธรรมชาติและลม ผ่านแนวคิด อยู่เย็นเป็นสุข แบบบ้านไทยสมัยก่อน
นอกจากเรื่องฟังก์ชันส่วนตัวและความต้องการจากเจ้าของ ข้อจำกัดในเรื่องของที่ดินยังกลายเป็นโจทย์หนึ่งที่สำคัญ ด้วยหน้ากว้างเพียง 8 เมตร ในลักษณะสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่ลึก ยาว และแคบ อีกทั้งกฏหมายยังบังคับให้มีระยะร่นถึง 3 เมตรจากถนนและลำรางเล็กๆ ที่อยู่ติดกับตัวบ้าน รวมถึงทิศทางเดียวที่สามารถเปิดมุมมองให้บ้านได้ ยังกลายเป็นทิศตะวันตกที่ได้รับความร้อนจากแสงแดดโดยตรง

“จริงๆ บ้านหลังนี้ไม่ได้มีคอนเซ็ปต์อะไรซับซ้อน พอๆ กับความต้องการของเจ้าของบ้าน เพียงแต่ว่าเป็นการออกแบบเชิงแก้ปัญหามากกว่า แก้ปัญหาเรื่องสภาพแวดล้อม แก้ปัญหาเรื่องข้อจำกัดทางกฏหมายให้มันได้พื้นที่ใช้งานที่ดีที่สุด อันนี้คือโจทย์ที่เราต้องนำมายำรวมกัน”

ฟังก์ชันภายในที่ ง่าย สบาย และยืดหยุ่น

ในส่วนของพื้นที่ภายใน สถาปนิกออกแบบให้เป็นสเปซที่เน้นความเรียบง่าย อยู่ง่าย ด้วยการดีไซน์แปลนทั้งสามชั้นในลักษณะ Open Plan ทั้งหมด และมีความเป็นกึ่งพื้นที่ใช้งานอเนกประสงค์ที่มีความยืดหยุ่นได้แบบกว้างๆ ตรงไปตรงมาและไม่ซับซ้อน ตอบโจทย์การใช้งานในเรื่องความปลอดภัยของผู้สูงอายุ รวมถึงเรื่องของการอยู่สบาย โดยเน้นการระบายอากาศ และลดการกั้นห้องให้มากที่สุด
ภาพแปลนบ้าน PM House ทั้ง 3 ชั้น

บริเวณชั้นล่างเป็น Common Area ส่วนรับแขก ส่วนรับประทานอาหาร และครัว ซึ่งต่อเนื่องกันทั้งหมด แทรกด้วยฟังก์ชันห้องนอนของคุณพ่อซึ่งมีข้อจำกัดที่ต้องสะดวกในการเข้าถึง ส่วนชั้นสองถูกออกแบบให้เป็นพื้นที่ทำกิจกรรมร่วมกันของทุกคน โต๊ะไม้ตัวใหญ่ถูกวางไว้กลางพื้นที่ตลอดแนวของสเปซ ทำหน้าที่เป็นโซนยืดหยุ่น ที่ชักชนสมาชิกมานั่งทำงาน พูดคุย หรือเป็นที่นั่งทำเอกสารของคุณแม่ได้ในบางครั้งบางคราว มุมหนึ่งของชั้นออกแบบเป็นห้องฟิตเนสที่เชื่อมเข้ากับระเบียงภายนอก ทำให้ผู้อยู่อาศัยสามารถออกไปยืนชมสวน ชมต้นไม้ หรือมีปฏิสัมพันธ์กับชุมชนโดยรอบได้ตามวิถีชีวิตดั้งเดิม
ชั้นสามเป็นส่วนของห้องนอนและห้องพระ ซึ่งทั้งสามชั้นเชื่อมโยงถึงกันด้วยบันไดที่ออกแบบให้มีระยะลูกตั้ง 15 ซม. ซึ่งเป็นระยะที่สั้นกว่าปกติรวมถึงมีระยะลูกนอน 35 ซม. เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถใช้งานได้อย่างสะดวกสบายและทุ่นแรงให้ผู้อยู่อาศัยรู้สึกไม่เหนื่อย หากต้องเดินขึ้นลงทั้งสามชั้น อีกทั้งบันไดยังออกแบบให้มีความโปร่ง เพื่อให้เกิดการไหลเวียนของอากาศได้มากที่สุด
สถาปนิกออกแบบบ้านหลังนี้ด้วยการใช้พื้นไม้จริงทำเป็นฝ้าเพดาน ซึ่งมีข้อดีในเรื่องการถ่ายเทความร้อนได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงสร้างบรรยากาศและความรู้สึกแบบบ้านไทยสมัยก่อน เสียงตึงตัง ที่เกิดจากการเดินบนพื้นไม้ จึงกลายเป็นสเน่ห์ที่ทำให้ครอบครัวหวนนึกถึงวิถีชีวิตแบบบ้านสมัยเก่าที่เคยชิน ในอีกแง่หนึ่ง เสียงที่เกิดจากการกระทบตัววัสดุยังเป็นเสมือนเครื่องเตือน เมื่อเกิดอุบัติเหตุลื่นล้ม หรือตกบันได ช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับบ้านที่มีผู้สูงอายุได้อีกทางหนึ่ง
ภายในบ้านยังอบอวลไปด้วยความทรงจำตามแบบฉบับบ้านเก่าด้วยเฟอร์นิเจอร์ไม้อายุกว่าสิบปี ที่คุณแม่หวงแหน เก็บรักษาเอาไว้และตั้งใจนำมาใช้กับบ้านหลังนี้โดยเฉพาะ โดยสถาปนิกหยิบมาทำสีใหม่ ผ่านกระบวนการลอกสี เพื่อให้เฟอร์นิเจอร์กลายเป็นโทนสีที่นุ่มนวล และเข้ากับตัวบ้านมากขึ้น 

รูปลักษณ์ร่วมสมัยที่เกิดจากการผสมของโครงสร้างคอนกรีต เหล็ก และไม้

ถึงแม้ภายในจะเรียบง่ายด้วยการออกแบบวิถีชีวิตและฟังก์ชันแบบบ้านไทยดั้งเดิม แต่ภายนอกกลับแตกต่างด้วยการนำรูปลักษณ์สมัยใหม่เข้ามาผสมผสาน เกิดเป็นอาคารร่วมสมัยอันโดดเด่น ซึ่งรวมโครงสร้างหลักทั้ง 3 อย่าง เหล็ก คอนกรีต และไม้ เข้าไว้ด้วยกัน

โครงสร้างทั้งสามยังเป็นตัวสร้างบทสนทนา สร้างความผูกพันให้เกิดขึ้นในระหว่างทางก่อสร้าง ซึ่งคุณตั้มเล่าว่า “ผู้รับเหมาเอง เขาบอกว่ามันเป็นโครงสร้างที่ค่อนข้างแปลก เพราะมีเรื่องไม้ เหล็ก และคอนกรีตอยู่ด้วยกัน ทำให้กระบวนการการทำงานต้องใจเย็นมาก เราไม่สามารถหล่อโครงสร้างชิ้นเดียวได้ และไม่สามารถเทคอนกรีตทีเดียวได้ บ้านหลังนี้ ตอนสร้างเราทำเฟรมขึ้นมาก่อนทั้งสามชั้น เพื่อนบ้านก็ให้ความสนใจ เดินมาดู เดินมาพูดคุยกันทุกวัน ซึ่งมันก็เป็นเรื่องที่สร้างความสนุกสนานให้กับพื้นที่โดยรอบไปด้วย”
อยู่เย็นเป็นสุข ยังถอดเป็นองค์ประกอบต่างๆ ของบ้าน อย่างฟาซาดโครงเหล็ก ซึ่งไม่เพียงแต่เติมเต็มให้บ้านดูสวยงาม สมบูรณ์มากขึ้น แต่ยังทำหน้าที่ป้องกันแสงแดดที่จะสร้างความร้อนโดยตรง ยอมเปิดให้ลมธรรมชาติไหลผ่าน และยังสร้างความเป็นส่วนตัวให้กับผู้อยู่อาศัย เช่นเดียวกับบริเวณแนวรั้ว ซึ่งสถาปนิกเลือกใช้ซีเมนต์บล็อกที่มีแพทเทิร์นด้านในและด้านนอกแตกต่างกัน ทำให้ลมสามารถไหลผ่านบริเวณรั้วเข้าสู่พื้นที่อยู่อาศัยบริเวณชั้น 1 ได้ ในขณะที่ยังเปิดมุมมองให้ผู้อยู่อาศัยมองเห็นบริบทรอบด้านได้บ้าง
ด้วยความโปร่งของตัวอาคารที่ยอมเปิดเผยตัวตนให้ผู้อยู่อาศัยได้ชื่นชมบริบทรอบด้าน สเน่ห์ที่เกิดขึ้นภายในบ้านหลังนี้จึงไม่ใช่เพียงสถาปัตยกรรมที่โดดเด่น แต่เป็นการสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้คนโดยรอบ และการรักษาวิถีชีวิตอันคุ้นเคยของผู้อยู่อาศัยเอาไว้ พืชผักสวนครัวตลอดแนวรั้ว สนามหญ้าหน้าบ้านที่ร่มรื่นด้วยต้นไม้ใหญ่ จึงเปิดโอกาสให้เพื่อนบ้านได้แวะเวียนเข้ามาทักทายบ้างเป็นบางครั้งบางครา หากนี่คือความสามัญธรรมดาของการอยู่อาศัย ก็คงเพียงพอสำหรับความสุขของผู้อยู่อาศัยที่จะเกิดขึ้นภายในบ้าน PM House หลังนี้

“มันกลายเป็นว่า บ้าน มีทั้งความปลอดภัย ในขณะที่มันไม่ตัดขาดกับเพื่อนบ้านและบริบท เราคิดเรื่องพวกนี้เยอะเหมือนกัน คิดเรื่องวิถีชีวิตมากกว่าสถาปัตยกรรม ในบริบทแบบไทยๆ ภูมิอากาศแบบไทยๆ เราไม่ฝืนที่จะทันสมัยโดยลืมที่จะใช้ประโยชน์จากมัน พอเราทำให้มันธรรมดามากๆ เจ้าของบ้านก็ไม่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนวิถี หรือพฤติกรรมที่เป็นอยู่ เพราะฉะนั้น คำว่าอยู่เย็นเป็นสุข มันจึงสามารถเอามาใช้ในงานออกแบบได้จริงๆ” สถาปนิกกล่าว
Location : ซอยกรุงเทพนนทบุรี 43 แขวงวงศ์สว่าง เขตบางซื่อ กรุงเทพฯ
Area : 50 ตารางวา
Owner :  นพมาศ ฮวบเจริญ
Architect : เฉลิมพล สมบัติยานุชิต ARCHITECT9KAMPANAD CO., LTD.

Discover more from Design Makes A Better Life.

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading