ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีชื่อเสียงทางสถาปัตยกรรมอันโดดเด่น ทั้งรูปฟอร์ม แนวความคิดอันเป็นเอกลักษณ์ และการตกแต่งพื้นที่ภายในที่เน้นความเรียบง่ายแต่งดงาม เราขอเรียกว่าความ “บ้าบ้าน”
กระแสของบ้านสไตล์ญี่ปุ่นที่กำลังมาแรงในตอนนี้ ส่วนใหญ่ได้รับการออกแบบโดยสถาปนิกหนุ่มสาวสายเลือดใหม่ไฟแรง เราค้นพบว่าในญี่ปุ่น มีจำนวนของสถาปนิกที่จดทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมายมากที่สุดในอัตราส่วนต่อพลเมือง1คน ดังนั้นเหล่าสถาปนิกทั้งหลายจึงจำเป็นต้องสร้างความแตกต่างในงานดีไซน์ของตัวเอง เพื่อแสดงถึงจุดยืนของตนและก้าวขึ้นสู่การเป็นหัวแถวของเหล่าดีไซเนอร์ที่มีอยู่อย่างมากมายให้จงได้ ทำให้ดูเหมือนว่าการออกแบบบ้านในประเทศญี่ปุ่นนั้นสิ่งใดก็สามารถเป็นไปได้ เช่น การออกแบบบันไดและระเบียงโดยไม่ต้องมีราวจับ ห้องที่เปิดโล่งให้เห็นสภาพแวดล้อมภายใน หรือกลับกันเป็นบ้านที่ไม่มีหน้าต่างหรือช่องเปิดในระดับการมองเห็นทั่วไปเลย แต่ปัจจัยใดคือสิ่งกระตุ้นให้ผู้อยู่อาศัยทั่วไปในญี่ปุ่น เลือกที่จะแสดงออกถึงไลฟ์สไตล์การสร้างที่พักอาศัยที่แปลกประหลาดเหล่านั้นกัน ?
บ้านที่แปลกประหลาดย่อมต้องการผู้อยู่อาศัยที่แปลกประหลาดเช่นเดียวกัน ผู้อยู่อาศัยที่สามารถยอมละทิ้งความเป็นส่วนตัว ความสะดวกสบาย ประโยชน์ใช้สอยหรือความสวยงาม ตามความต้องการของคนทั่วไปออกไปได้ ในประเทศฝั่งตะวันตกนั้น บ้านที่ผิดแปลกจากบรรทัดฐานความต้องการพื้นฐานทางสังคม อาจเป็นอันตรายต่อมูลค่าของบ้านนั้นๆได้ เพราะมันจะส่งผลต่อการตัดสินใจกับผู้ซื้อขายต่อในอนาคต การออกแบบที่สุดโต่งเกินไปจะก่อให้เกิดความเสี่ยงเรื่องการลงทุนแก่ลูกค้าที่จะซื้อขายต่อ พวกเค้าอาจจะต้องควานหาคนที่มีรสนิยมส่วนตัวที่แปลกประหลาดพอกันๆ ซึ่งอาจมีจำนวนน้อยนิด
แต่ถ้าคุณได้เดินทางยังประเทศญี่ปุ่นจะคันพบว่าบ้านสมัยใหม่ที่มีดีไซน์ที่แตกต่างออกไป หลายหลังมีพื้นที่เปิดโล่งเชื่อมต่อกับสภาพแวดล้อมภายนอก และในหลายๆหลังก็ไม่มีรั้วรอบขอบชิด เพราะพวกเค้าเหล่านั้นไม่ได้คาดหวังที่จะขายบ้านของพวกเขาต่อให้ผู้อื่นได้ คนญี่ปุ่นสร้างตามความต้องการส่วนตัวของพวกเค้าเป็นหลัก
ในปัจจุบันนั้นบ้านในประเทศญี่ปุ่นลดลงจำนวนอย่างรวดเร็ว เพราะหลังจากที่ถูกสร้างขึ้นและเริ่มใช้งานจริงเป็นเวลาราว 15 ปี ที่บ้านมักจะเริ่มเสื่อมโทรม และจะพังเสียหายยับเยิน โดยเฉลี่ยในเวลาเพียง 30 ปีหลังนับจากสร้างเสร็จ ดังนั้นแม้จะมีจำนวนประชากรลดลง การสร้างบ้านใหม่ก็ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง โดย 87% ของจำนวนบ้านที่ซื้อขายได้ในประเทศญี่ปุ่นคือบ้านหลังใหม่ ดังนั้นเราอาจจะเกิดคำถามตามมาก็คือ ทำไมคนญี่ปุ่นถึงไมคนญี่ปุ่นจึงไม่ให้ความสำคัญกับบ้านเก่า ?
เราจึงขอนำคุณผู้อ่านทุกท่านมาทำความเข้าใจภูมิหลังทางวัฒนธรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ ของประเทศญี่ปุ่นกันก่อน
ประการแรก ประเทศญี่ปุ่นมักเกิดแผ่นดินไหวบ่อยและสร้างความเสียหายรุนแรง ได้สอนให้ผู้คนไม่ยึดติดกับที่อยู่อาศัย มีความจำเป็นจะต้องซ่อมแซม ปรับปรุงหรือโยกย้ายที่อยู่อาศัยอยู่เสมอ ซ้ำยังเป็นตัวเร่งปัจจัยความเสื่อมของราคาอสังหาริมทรัพย์ในประเทศอีกด้วย ย้อนกลับไปในสภาวะหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศญี่ปุ่นที่จำเป็นต้องเร่งสร้างสิ่งปลูกสร้างอย่างรวดเร็ว ฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจของประเทศ ผันตัวเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม บ้านพักอาศัยกลายเป็นของราคาถูก มีคุณภาพต่ำ ถูกสร้างขึ้นอย่างลวกๆ ไม่มีฉนวนกันความร้อนหรือการเสริมแรงแผ่นดินไหวที่เหมาะสม บ้านเก่าจากช่วงเวลานี้จะถือว่าเป็นบ้านที่ต่ำกว่ามาตรฐานหรืออาจจะเป็นอันตรายต่อผู้อยู่อาศัยได้ การลงทุนบำรุงรักษาหรือการปรับปรุงจึงถือว่าเป็นเรื่องเกินความจำเป็น ไม่คุ้มค่าการลงทุน ดังนั้นแทนที่พวกเค้าจะรักษาหรือปรับปรุงที่พักอาศัย จึงเลือกที่จะย้ายออกหรือทำลายทิ้งแทนเสียมากกว่า
ประการที่สอง สังคมเพื่อนบ้านในญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะไม่มีอำนาจในการคัดค้านสิ่งปลูกสร้างใดๆหากอยู่ในพื้นที่ของเพื่อนบ้านคนอื่น การสร้างสิ่งปลูกสร้างขึ้นมาใหม่จึงมีอิสระค่อนข้างมาก ซึ่งเป็นผลดีต่อสถาปนิกที่จะสร้างสรรค์ผลงานได้อย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกร้องเรียนรื้อถอน พูดง่ายๆคือไม่ค่อยมีการฟ้องร้องเรื่องการปลูกสร้างที่ผิดกฎหมาย (ซึ่งบ้านส่วนใหญ่ในญี่ปุ่นก็ออกแบบมาถูกต้องตามกฏหมายอาคารอยู่แล้ว) นั่นทำให้พวกเค้ากล้าที่จะเสี่ยงดีไซน์อะไรที่แตกต่างและแปลกใหม่ได้ ประชาชนชาวญี่ปุ่นรุ่นใหม่จึงเปิดกว้างมากขึ้นที่จะรับความเสี่ยงเรื่องการออกแบบที่แปลกใหม่จากสถาปนิกของพวกเขา เปิดโอกาสการนำเสนอทดสอบความคิดใหม่ ๆ และนวัตกรรมที่ทันสมัยมากขึ้น แต่ในทางกลับกัน นั่นอาจจะหมายถึงการเป็นตัวชี้วัดการตัดสินใจในการออกแบบที่ไร้เดียงสาของตัวสถาปนิกเอง อันจะเกิดผลกระทบในระยะยาวแก่ผู้พักอาศัยที่จะต้องใช้ชีวิตที่เหลือของพวกเขาอยู่ในบ้านหลังนั้นก็เป็นได้บ้านพักอาศัยของญี่ปุ่นดูเหมือนจะมีองค์ประกอบที่ดูขี้เล่นปรากฏขึ้นในงานสถาปัตยกรรมของพวกเค้าอยู่เสมอ สถาปัตยกรรมที่ถือกำเนิดอยู่ในยุคอาคารสมัยใหม่ มีดีไซน์อันบริสุทธิ์ เรียบง่าย เน้นการใช้งานจริงและการใช้ประโยชน์สูงสุดจากพื้นที่อันทีจำกัด การมีเสรีภาพในการสร้างที่อยู่อาศัยเป็นสิ่งสำคัญที่แสดงออกถึงการดำเนินชีวิตส่วนบุคคลนั้น รสนิยมอันหลากหลายและความทะเยอทะยานเหล่านี้ทำให้ประเทศญี่ปุ่นมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับเหล่าดีไซเนอร์สถาปนิกรุ่นใหม่ และประชาชนทั่วไปที่ต้องการทดสอบขีดจำกัดของการออกแบบที่อยู่อาศัยรูปแบบใหม่ๆอยู่เสมอ
และหากจะมอกลับมาที่ประเทศไทย ก็ดูเหมือนว่าจะมีอาคารพักอาศัยที่หลุดจากกรอบเดิมๆ มากขึ้น แต่ก็ยังคงบางตาอยู่ สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องของความถูกต้องหรือความผิด แต่เราเชื่อว่าทุกสิ่งบนโลกไม่มีหลักการที่ตายตัวเพียงแนวทางเดียว บ้าน อาจมีหลากหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมในตอนนั้นๆ สถาปนิก ชอบออกแบบอะไรที่แปลกใหม่ แต่หากปราศจากเจ้าของบ้านที่เห็นด้วย หรือสนับสนุน บ้านหรือสถาปัตยกรรมที่ดี ที่เป็นนวัตกรรม ก็คงไม่เกิดขึ้นเช่นกัน
ขอบคุณข้อมูลจาก www.archdaily.com
อ่านเพิ่มเติม http://www.archdaily.com/450212/why-japan-is-crazy-about-housing/