OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

BAMBOO MAN ธนพัฒน์ บุญสนาน กับ สัญชาตญาณแห่งสถาปัตยกรรมไม้ไผ่

1 ปกสถาปัตยกรรมไม้ไผ่ และไก่ชน ของ 2 อย่างที่ดูไม่น่าจะมาอยู่รวมกันได้เลย เจ้าไก่ชน เกี่ยวอะไรกับสถาปัตยกรรมไม้ไผ่ หากแท้จริงแล้วมันคือชื่อและสัญลักษณ์โลโก้ตัวสำคัญของบริษัทสถาปนิกอย่าง  บริษัท ธ.ไก่ชน จำกัด ที่รับออกแบบและก่อสร้างสถาปัตยกรรมต่างๆจากไม้ไผ่เป็นหลัก เจ้าไก่ชนตัวนี้กำลังเติบโตจากการเป็นลูกเจี๊ยบฝึกหัดจากวงการออกแบบออกเดินทางมาเปิดบริษัทออกแบบเป็นของตัวเอง และผู้ที่อยู่เบื้องหลังเจ้าไก่ชนที่กำลังเติบโตอย่างองอาจนี้ สถาปนิกหัวใจสีเขียวที่เราอยากแนะนำให้ทุกท่านได้รู้จักกันก็คือ  คุณตั๊บ ธนพัฒน์ บุญสนาน4

ตามสโลแกน “เกิดเป็นไก่ต้องชน เกิดเป็นคนต้องสู้”

มาพูดถึงจุดเริ่มต้นของบริษัทสถาปนิก อย่าง บริษัท ธ.ไก่ชน จำกัด ที่รับหน้าที่ออกแบบ ผลิตวัสดุเองได้ มีโรงเก็บรักษาไม้ไผ่ และมีทีมช่างฝีมือคอยเป็นผู้รับเหมางานให้อย่างเสร็จสรรพ เรียกได้ว่าเป็น one stop service อย่างแท้จริงครับ เริ่มต้นเส้นทางของไม้ไผ่นี้มาจากความชื่นชอบส่วนตัวของคุณธนพัฒน์เอง  เริ่มแรกชอบเพราะความสวยงามเฉพาะตัวของไม้ไผ่ เอามาหยิบจับทำสิ่งของต่างๆก็ยิ่งดูน่าสนใจ จากความชอบทำให้เกิดแรงผลักดันให้ศึกษาหาความรู้ลงไปเพิ่มเติม ก็ยิ่งรู้ว่าไม้ไผ่นอกจากสวยแล้วยังมีประโยชน์หลายๆอย่าง  ยิ่งมาทำเป็นอาคารก็ยิ่งสวยงามมากขึ้น แปรเปลี่ยนเป็นความรู้สึกคล้ายการหลงรัก เหมือนกับการศึกษาดูใจผู้หญิงซักคนที่เราชอบเมื่อแรกเจอ เริ่มจากประทับใจในความงาม และเมื่อได้ลองศึกษาดูใจกันก็ยังถูกคอที่อัธยาศัย เป็นความรู้สึกชอบอย่างจริงใจโดยที่ไม่ได้ต้องการเหตุผล

CoolDown-119_11(ภาพจาก http://www.cooldowns-resort.com/)

หลังจากเรียนจบจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ก็ทำงานเป็นสถาปนิกเหมือนเด็กจบใหม่ทั่วไป สั่งสมประสบการณ์และความรู้ จนเริ่มสังเกตตัวเองว่าชอบเอาไผ่ไปใส่ในงานออกแบบของตัวเอง พอใช้บ่อยๆมากขึ้นก็จำเป็นจะต้องออกไปหาความรู้เพิ่มเติม จากการลองเสิร์ชหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต ซึ่งก็มีอยู่น้อยนิดด้วยและซ้ำเดิมไม่แปลกใหม่ จึงออกขวนขวายขอไปทำงานเวิร์คช็อป ฝึกงานตามที่ต่างๆเพื่อขอเรียนรู้การสร้างสถาปัตยกรรมด้วยไม้ไผ่ จนวันนึงได้มีโอกาสมาจับโปรเจคสำคัญทำอาคารที่ใช้ไม้ไผ่ในโรงแรมชื่อ คูลดาวน์ รีสอร์ท อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เป็นโปรเจกต์แรกสุด ยากที่สุด ใช้ความพยายามมากที่สุด ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญและเป็นงานแจ้งเกิดให้กับสถาปนิกคนนี้ในวงการไม้ไผ่เลยก็ว่าได้Cool-Down-113_1

(ภาพจาก http://www.cooldowns-resort.com/)

จากการตัดสินในรับผิดชอบทำโปรเจค คูลดาวน์ รีสอร์ท ที่ต้องใช้ช่างที่มีฝีมือและการควบคุมงานจากวัสดุไม้ไผ่เป็นจำนวนมาก  ประกอบกับในตอนนั้นเองสถาบันอาศรมศิลป์เข้าชวนศึกษาและวิจัยการทำโรงงานไม้ไผ่ เพื่อการทรีตเมนต์  บำรุงรักษาไม้ไผ่เพื่อการใช้งานก่อสร้างเข้ามาพอดี ปัจจัยเหล่านี้จึงผลักดันให้ตัดสินใจก่อตั้งบริษัท ธ.ไก่ชน จำกัด ขึ้นมานั่นเอง เพื่อให้เป็นบริษัทที่พร้อมรับงานและครบวงจรสำหรับการก่อสร้างสถาปัตยกรรมด้วยไม้ไผ่

ถ้าอย่างนั้นแล้วเจ้าไก่ชนละ มาเกี่ยวข้องด้วยตอนไหนกัน ? คำตอบเรียบง่ายที่มาพร้อมกับรอยยิ้มที่เราได้คือ “ก็เพราะว่าชอบไก่ชนอีกเช่นกัน เหมือนกับความชอบที่มีให้ไม้ไผ่” คุณธนพัฒน์ชื่นชอบไก่ชนมาตั้งแต่เด็ก เคยเลี้ยงดูแลไว้ที่บ้านและหอบเอาไก่ชนตัวโปรดของตัวเองไปอวดโฉมที่โรงเรียนตามคำสั่งของคุณครูชมนุมอนุรักษ์ไก่ชนมาแล้ว และเค้าคิดว่าโลโก้ประจำแบรนด์บริษัทต่างๆน่าจะใช้รูปสัตว์เพื่อการจดจำ ช้าง ม้า เสือ สิงห์ก็เคยมีคนใช้มาแล้ว จึงตัดสินใจเลือกไก่ชนที่ตัวเองชอบมาเป็นชื่อบริษัทของตัวเอง16

ไม้ไผ่มีคุณสมบัติในการก่อสร้างอย่างไร ช่วยแนะนำไม้ไผ่ให้เรารู้จักกันหน่อยครับ

“ไม้ไผ่เป็นวัสดุที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย เพราะสามารถปลุกทดแทนได้เร็วครับ เป็นพืชโตเร็ว  ไม้ไผ่สำหรับมาทำโครงสร้างหลักใช้เวลาปลูก 4 ปี และส่วนตกแต่งอื่นๆ ก็ใช้ไม้ไผ่อายุ 2 ปีก็ได้ เมื่อเทียบกับไม้เนื้อแข็งชนิดอื่นๆที่ต้องใช้เวลาปลุกนับ 10 ปีกว่าจะนับมาใช้งาน ไผ่จึงเป็นวัสดุทางเลือกที่ทดแทนได้ง่ายกว่า จุดนี้เองที่ทำให้มันช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมได้ เป็นการสร้างวัสดุ zero carbon ลดมลภาวะคาร์บอนที่อาจเกิดขึ้นในการผลิต เรื่องราคาถูกกว่าไม้จริงแน่นอน มีคุณสมบัติทางโครงสร้างที่ดีคือรับแรงดึงทางวิศวกรรมได้ดีกว่าเหล็กเสียด้วยซ้ำครับ  แรงอัดและแรงดัดอาจจะน้อยกว่าแค่เล็กน้อย เป็นโครงสร้างทางธรรมชาติที่มีคุณสมบัติความแข็งแรงเกือบเทียบเท่าธาตุโลหะ นี่คือจุดน่ามหัศจรรย์ของไม้ไผ่ที่คนทั่วไปอาจจะยังไม่รู้ “5“จุดที่ต้องระวังเลยคือการป้องกันมอดกินครับ คนส่วนใหญ่มองว่าไม้ไผ่เป็นวัสดุที่ดูราคาถูก ใช้สร้างบ้านกระท่อมเล็กๆตามต่างจังหวัด มอด แมลง ปลวก กัดกินได้ง่าย ไม่แข็งแรง เลยไม่ชอบใช้งานกัน เลยขาดการพัฒนาสถาปัตยกรรมไม้ไผ่  แต่ในปัจจุบันมีความรู้ทางวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วย ไม่ใช่การใช้สารเคมีเข้าไปเคลือบไม้ไผ่เอาไว้หรือใช้สารเคมีไปฆ่ามอด แต่เป็นกระบวนการธรรมชาติในการทรีทเม้นท์บำรุงรักษาไม้ไผ่ ด้วยการเปลี่ยนแป้งและน้ำตาลในไม้ไผ่มีลักษณะทางเคมีที่เปลี่ยนไป ทำให้มอดที่เคยกัดกินแหล่งอาหารแป้งและน้ำตาลในกระบอกไม้ไผ่ไม่หันกินไม้ไผ่อีกเลย กระบวนการนี้แม้จะเพิ่มค่าใช้จ่ายในการผลิตไม้ไผ่ แต่เมื่อคิดราคาเปรียบเทียบกับเหล็กหรือว่าไม้จริงแล้ว ไม้ไผ่ก็ยังราคาถูกกว่าอยู่ดีครับ”6

ไม้ไผ่ทำงานโครงสร้างหลักๆทีบริษัท ธ.ไก่ชน เลือกใช้คือไม้ไผ่ตง สั่งตรงจากเกษตรกรที่จังหวัดนครนายกเป็นส่วนใหญ่ เพราะสะดวกและลดค่าใช้จ่ายในการขนส่งเข้ามาที่โรงงาน และมีคุณสมบัติที่แข็งแรงทนทานดีจากการทดสอบใช้งานจริงมาตลอด 3 ปีนับจากก่อตั้งบริษัทมา ตลอดเวลาคุณธนพัฒน์ยังคงสนุกกับการเรียนรู้ด้วยตนเองผ่านการทำงานจริงสถาปัตยกรรมไม้ไผ่ ด้วยการทดลองทำงานรูปแบบสไตล์ต่างๆอยู่เสมอ ทั้งแบบโมเดิร์น แบบทรอปิคอลอากาศเขตร้อนชื้น หรืองานรูปแบบที่แม้แต่ไม่ชื่นชอบแต่ก็อยากทดลองทำเพื่อเรียนรู้และพัฒนาการใช้งานเรื่องไม้ไผ่ต่อไป7

ไม้ไผ่พาโกอินเตอร์ การทำงานและเที่ยวดูงานต่างประเทศ

สถาปัตยกรรมไม้ไผ่สวยๆที่มักพบเห็นในประเทศไทยมักบอยู่ที่รีสอร์ทตามชายทะเลทางภาคใต้ ที่มักได้รับความนิยมจากชาวต่างชาติ ชาวต่างชาติโดยเฉพาะทางฝั่งยุโรปจะคลั่งไคล้อาคารที่สร้างด้วยไม้ไผ่เป็นอย่างมาก เพราะที่บ้านเค้าไม่มีให้เห็นกันบ่อยๆ เป็นของหาดูยาก ในประเทศเยอรมันถึงกับมีการค้นคว้าคุณสมบัติทางวิศวกรรมเรื่องไม้ไผ่มานานหลายสิบปี เพราะพวกเค้าทึ่งในคุณสมบัติการรับแรงของมัน เค้าถือกันว่า ไม้ไผ่คือท่อเหล็กที่มีชีวิต และสามารถปลูกเจ้าท่อเหล็กนั้นได้ ผิดกับบ้านเราที่ไม่สนใจไม้ไผ่ ยังรู้สึกแปลกๆถ้าต้องจ่ายเงินหลายหมื่นบาทเข้าไปนอนในห้องพักรีสอร์ทที่สร้างด้วยไม้ไผ่ ยังติดภาพว่าเป็นของราคาถูก แต่ถ้าฝรั่งมาเห็นจะชื่นชอบมาก คลั่งไคล้สุดๆ  ชอบของที่มีอยู่ทั่วไปในบ้านเรา เหมือนที่เราคนไทยคลั่งไคล้โทรศัพท์ไอโฟน สิ่งประดิษฐ์ของต่างประเทศที่พวกเราไม่มีนั่นเอง8

เพราะการทำงานด้วยไม้ไผ่เป็นที่นิยมในต่างประเทศ  เลยทำให้คุณธนพัฒน์ได้มีโอกาสไปคุมงานที่ฟิลิปปินส์ในโปรเจค zero carbon resort  เข้าไปคุมงานก่อสร้างอาคารต้นแบบ zero carbon ให้กับสหภาพยุโรป(European Union หรือ EU)  เป็นโครงการเผยแพร่ความรู้เรื่องการประหยัดพลังงานให้กับรีสอร์ทต่างๆ เรื่องการลดการใช้พลังงานไฟฟ้า ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน เป็นกระท่อมที่ตั้งอยู่ได้ด้วยตัวเอง ไม่มีการต่อระบบสาธารณูปโภค ระบบน้ำหรือไฟฟ้าจากรัฐบาล จึงเลือกใช้โครงสร้างอาตารด้วยไม้ไผ่เพื่อตอบรับโจทย์การเป็นอาคาร ECO  รวมทั้งกระบวนการทรีทเม้นท์บำรุงรักษาไม้ไผ่ด้วยน้ำทะเลอีกด้วย9

ถัดจากการคุมงานนั้นไม่นาน ก็ได้มีโอกาสไปเที่ยวดูงานสถาปัตยกรรมที่บาหลี เกาะสวรรค์แห่งอินโดนีเซีย นั่นก็คือ green school green village ทำให้รู้ว่าคนที่นั่นเค้าเชื่อและศรัทธาในไม้ไผ่มาก เพราะพวกเค้าประกอบอาชีพเป็นช่างไม้ไผ่กันอย่างจริงจัง ชาวบ้านที่นั่นมีรถ มีบ้าน ประกอบอาชีพสร้างครอบครัวกันได้จากการใช้ไม้ไผ่สร้างสถาปัตยกรรม พวกเค้ามีนายทุนต่างชาติที่เข้ามารับซื้อไม้ไผ่ในราคาที่ยุติธรรม ชาวบ้านรู้ว่าปลุกไม้ไผ่แล้วมีคนรับซื้อแน่นอน ราคาเหมาะสม พวกเค้าก็ตั้งใจปลูกไผ่กัน เค้ารู้ว่ามีงานสร้างอาคารไม้ไผ่เข้ามาเรื่อยๆ ก็เลยตั้งใจทำมันจนสั่งสมประการณ์จากการทำงานจริง เกิดมาก็เจอไม่ไผ่ โตมาพร้อมกับไม้ไผ่ ทำให้ชาวบ้านที่นั่นเข้าใจคุณสมบัติของไม้ไผ่เป็นอย่างดีเหมือนเป็นคนในครอบครัว เป็นความรู้เชิงภูมิปัญญาที่สั่งสมมานาน ไม่สามารถหาในหนังสือค้นคว้าทางวิทยาการทั่วไปได้ ฝีมือช่างๆที่นั่นดีมาก ดีจนเรารู้สึกกระจอกไปเลย ถามอะไรจุดไหนเค้าก็สามารถตอบได้ตรงคำถามจนทำให้เราร้อง “อ๋ออออ”  ได้ตลอด เรารู้สึกสนุกกับทริปนี้มาก เหมือนผู้หญิงที่ไปเที่ยวตามรอยซีรี่ย์เกาหลีที่ตัวเองชอบ มันเป็นการไปเติมความรู้ เติมพลังไฟ จากที่ผ่านมามักจะมีคนมาถามเราเรื่องไม้ไผ่ตลอด เราก็จะคนให้ความรู้อธิบายออกไป แต่ไม่ได้รับความรู้ใหม่ๆเข้ามานานแล้ว

DCIM100GOPROGOPR0452.

สิ่งที่เราได้กลับมาจากบาหลีไม่ใช่แค่ความรู้ที่จะนำเผยแพร่ให้ผู้ที่สนใจหรือนำมาพัฒนางานออกแบบของเราต่อไป แต่อยากถ่ายทอดสังคมของชาวบ้านที่นั่น ความรู้สึกผูกพันกับไม้ไผ่ของพวกเค้า อยากให้คนที่บ้านเราภูมิใจในวัสดุอย่างไม้ไผ่หรือภูมิปัญญาไทยอื่นๆอย่างที่ชาวบาหลีภูมิใจบ้าง มันจะช่วยทำให้เราพัฒนาของที่เรามีให้ยิ่งมีประสิทธิภาพมากขึ้น สร้างความภูมิใจและเอกลักษณ์ให้กับตัวเราเอง

DCIM100GOPROGOPR0434.

อนาคตต่อไปของเจ้าไก่ชนสถาปนิกไม้ไผ่

เริ่มจากเปิดบริษัท ธ.ไก่ชน จำกัด เมื่อปี 2555 นี่ก็เข้าปีที่ 3 แล้ว เรามาจากทำธุรกิจไม่เป็น ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะต้องเอางานไปขายให้ใคร แต่เราก็พยายามทำอย่างต่อเนื่องเรื่อยมา ใช้ช่องทาง social network อย่าง facebook ติดต่อสื่อสารกับคนอื่น ทำให้งานของเราก็มีคนรู้จักมากขึ้น เป็นที่ยอมรับมากขึ้น ได้มีโอกาสเข้าไปร่วมทำงานไม้ไผ่ในงานนิทรรศการต่างๆ งานสถาปนิก 58 ,งาน japan expo 2015 ,งานมหกรรมความรู้ (Knowledge Festival) ครั้งที่ 3 ก็ทำให้คนทั่วไปรู้จักงานไม้ไผ่มากขึ้น  มีงานเข้ามามากขึ้นแต่เพราะเรายังเป็นบริษัทเล็กๆที่ทำทุกอย่างเองหมด เลยทำให้เราทำงานได้น้อย ทำได้ทีละงาน อนาคตเลยอยากจะหา supplier เข้ามาช่วยทำงาน เราจะได้ทำงานออกแบบได้มากขึ้น หมั่นพัฒนาตัวเองและโรงงานให้มีประสิทธิภาพรองรับงานมากขึ้น ให้ความซื่อสัตว์ต่อลุกค้าทุกคน ต้องใจทำงานทุกชิ้นให้ดี ซึ่งเป็นสิ่งที่ยึดถือมาโดยตลอด แล้วก็พยายามรักษาคุณภาพการทำงานของเราอยู่เสมอ12

อุโมงค์ดอกฟูจิ / งาน japan expo 201513

art4d booth/ งานสถาปนิก 58

เริ่มต้นจากความชื่นชอบในทั้งไม้ไผ่และไก่ชน ทำให้สถาปนิกหนุ่มคนหนึ่งมุ่งมั่นออกมาสร้างหนทางของตัวเอง เป็นบริษัท ธ.ไก่ชน ที่สร้างสรรค์งานเกี่ยวกับไม้ไผ่โดยเฉพาะ เพื่อสร้างอาคารไม้ไผ่ให้เป็นที่รู้จัก ให้คนทั่วไปเห็นถึงความงามของเจ้าไม้ท่อนเขียวเรียวยาวนี้อย่างที่เค้าเห็น และยังคงหมั่นหาไอเดียความรู้และพัฒนารูปแบบการใช้ไม้ไผ่เพื่อสร้างสถาปัตยกรรมสีเขียวที่เป็นมิตรต่อโลกนี้ต่อไป

14 15ตัวอย่างงานศาลาไม้ไผ่ มีจำหน่ายที่ บริษัท ธ.ไก่ชน จำกัด

ติดตามความเคลื่อนไหวและผลงานการออกแบบเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/thorkaichon

 

Discover more from Design Makes A Better Life.

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading