ภาพการนั่งเล่น พูดคุยกันที่ศาลาริมน้ำ มีเรือพายขายของบีบแตรร้องเรียก หรือหนุ่มสาวออกพายเรือเสียเองเพื่อไปเล่นเก็บฝักก้านและดอกบัว เป็นภาพวิธีชีวิตแบบไทยๆ ที่เราเคยเห็นกันมาจนชินตา คนไทยเรานิยมปลูกบ้านอยู่ริมแม่น้ำกันมาตั้งแต่ครั้งอดีต เพราะสมัยก่อนแม่น้ำลำคลองคือเส้นทางการคมนาคมที่สำคัญ
คนสมัยก่อนมักจะพายเรือเพื่อการติดต่อสื่อสาร ไปมาหาสู่ระหว่างกันทางน้ำ ใช้แหล่งน้ำเป็นทรัพยากรอุปโภคในครัวเรือน และเป็นพื้นที่พักผ่อนแสนสบาย จุ่มปลายเท้าลงให้น้ำเย็นไหลผ่านช้าๆ รวมทั้งสนามประลองกำลังความสนุกสนานของเด็กๆ กระโดดลงน้ำเล่น งมหาปูปลากันอย่างครื้นเครง อาจพูดได้ว่าใกล้เคียงกับวิถี slow life ที่เรากำลังตามหากันอยู่ก็คงไม่ผิดซะทีเดียวครับ
(ภาพจาก http://freshome.com/2013/10/19/modern-and-bright-house-with-amazing-view-of-the-columbia-river-washington/)
การสร้างบ้านริมน้ำจึงยังเป็นความใฝ่ฝันของใครหลายคน แต่พื้นที่ติดน้ำที่หลงเหลืออยู่ในปัจจุบันก็น้อยลงเรื่อยๆ ซ้ำแล้งยังอาจเป็นพื้นที่นอกตัวเมืองที่ห่างไกล เป็นสิ่งที่ต้องแลกกันระหว่างระยะการเดินทางไปทำงานที่ไกลมากขึ้นเสียหน่อยกับความสงบ บรรยากาศสบายๆริมน้ำในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ที่เราจะได้กลับมาเติมพลังงานให้กับชีวิตที่เหน็ดเหนื่อยของเรา สำหรับใครที่กำลังเริ่มสนใจวางแผนสร้างศาลาพักผ่อนริมน้ำ หรือกำลังมองหาบ้านริมน้ำอย่างจริงจัง และเดินทางมาเจอทำเลที่เหมาะสมใกล้ความฝันเข้าไปทุกที เรามีหลักการสร้างบ้านริมน้ำที่ควรรู้ก่อนจะลงมือทำฝันให้เป็นจริงมาฝากกันครับ
(ภาพจาก http://www.atsiam.com/reviews/review_detail.asp?RV_ID=8976&LANG=th)
1.จะสร้างบ้านริมน้ำ ต้องระวังเรื่องการกัดเซาะดินริมตลิ่ง หรือดินไถล ที่เป็นปัญหาที่หลีกเลี่ยงได้ยาก เพราะดินแถวริมตลิ่งจะมีความอ่อนตัวสูง ไม่ค่อนจับตัวกัน ยิ่งโดนน้ำเซาเข้ามากๆก็จะพังทลายลงได้อย่างง่ายดาย การแก้ปัญหาคือทำแนวป้องกันตลิ่งพังทลายด้วยการสร้างรั้ว มีคำแนะนำดังต่อไปนี้ครับ
(ภาพจาก http://www.disasterthailand.org/frontpage?page=13)
– เริ่มต้นวัดความลึกของแหล่งน้ำ หากเป็นคลองหรือแม่น้ำก็วัดลึกลงไปถึงพื้นล่างสุดก้นคลอง ระยะความลึกอยู่ที่ประมาณไม่เกิน 4 เมตร นำตัวเลขความลึกที่ได้ไปคูณกับเลขปัจจัยตัวประกอบที่ 1.25 – 1.5 ได้ผลลัพธ์เอามาออกมาบวกกับระดับความสูงคลองเดิมที่วัดได้ เพื่อหาความยาวของเสาเข็มที่จะต้องใช้ดังตัวอย่างสมการ เมื่อให้ a เป็น ความลึกที่วัดได้ a + (a x 1.25) = ความยาวเสาเข็มที่จะทำแนวรั้ว(ค่าตัวเลขไม่เกิน 10 เมตร)
– ควรเลือกใช้เสาเข็มรูปตัวไอ (I – Section) เพราะเราจะไม่ต้องก่ออิฐทำกำแพงรั้วซ้ำอีก การใช้เสาเข็มรูปตัวไอทำให้เราสามารถใส่แผ่นพื้นสำเร็จรูปลงในช่องว่างร่องเข็มได้ ปรับเปลี่ยนให้เป็นรั่วกันกำแพงดิน ป้องกันหารพังทลายได้ทันที และเสาเข็มชนิดนี้ยังมีสมบัติการรับแรงเสียดทานที่ผิวสัมผัสได้สูงกว่าแบบอื่นๆครับ
(ภาพจาก https://eakwattana.com/e-catalog)
Warning !
หากคุณเจอผู้รับหมาที่แนะนำให้ใช้เสาเข็มแบบ 6 เหลี่ยม ยาวแค่ประมาณ 6 เมตร มาสร้างตอม่อเพื่อรัดหัวเข็ม และสร้างรั้วปิดทับ รั้วประเภทนี้จะใช้งานได้แค่ช่วงสั้นๆ 2-3ปี ก็อาจจะเกิดปัญหารั้วพังทลายแล้วครับ เพราะเสาเข็มมีขนาดเล็กเกินไป ทนรับน้ำหนักที่ปลายยึดดินไม่ไหว กำลังดินจะผลักออกจนแนวรั้วเสียหาย จึงควรหลีกเลี่ยงนะครับ
2.ทำการสำรวจแนวเขตที่ดินที่จะสร้างอาคารให้รอบคอบก่อนตัดสินใจสร้างจริงนะครับ เพราะถ้าล้ำออกมากเกินแนวเขตพื้นที่ของเราทั้งในคลองหรือแม่น้ำ กรมเจ้าท่ามีสิทธิ์ร้องเรียนหรือสั่งหยุดการก่อสร้างได้ทันทีนะครับ เพราะกรมเจ้าท่าดูแลพื้นที่ที่เป็นแหล่งน้ำทั้งหมด ถือเป็นกรมสิทธิ์พื้นที่ของหลวง และอย่าลืมเรื่องของกฎหมายเรื่อง set-back ระยะถอยร่นอาคาร ประเภทการก่อสร้างอาคารพื้นที่ติดแหล่งน้ำสาธารณะ ที่ระบุไว้ว่า
-การสร้างสิ่งปลูกสร้างที่ติดแหล่งน้ำสาธารณะที่น้อยกว่า 10 เมตร ต้องสร้างห่างจากเขตอย่างน้อย 3 เมตร
-การสร้างสิ่งปลูกสร้างที่ติดแหล่งน้ำสาธารณะที่มากกว่า 10 เมตร ต้องสร้างห่างจากเขตอย่างน้อย 6 เมตร
-การสร้างสิ่งปลูกสร้างที่ติดแหล่งน้ำสาธารณะขนาดใหญ่ พวกทะเลสาบ หรือทะเล ต้องสร้างห่างจากเขตอย่างน้อย 12 เมตร
แต่ก็มีข้อยกเว้นเฉพาะกรณีไป ด้วยการทำเรื่องขออนุญาตกับหน่วยงานราชการ เช่นตัวอย่างกรณีสร้างเป็น ป้าย สะพาน รั้ว ท่าเรือ อู่เรือ เป็นตันครับ
(ภาพจาก https://www.opendream.co.th/blog/2013/11/telemetry-station-mixkey-srilanka)
3.ตรวจวัดระดับน้ำขึ้นสูงสุด สามารถขอข้อมูลได้จากกรมอุทกศาสตร์กองทัพเรือครับ http://www.hydro.navy.mi.th/ หรือสังเกตด้วยตัวเองที่เสาสะพานใกล้ๆ ในแม่น้ำ ลำคลอง ให้ดูรอยเส้นน้ำท่วมเสา จะมีเส้นน้ำขึ้นสูงสุดอยู่ แล้วเอามาเปรียบเทียบกับระดับดินที่จะก่อสร้างอาคารจริง ถ้าเส้นน้ำท่วมเสาสูงกว่าระดับดิน หมายความว่า น้ำท่วมบ้านของคุณแน่นอนครับ ทางออกคืออาจต้องถมดินให้สูงขึ้นหรือทำกำแพงกันน้ำท่วมอีกชั้นหนึ่ง ทางที่ดีควรหลีกเลี่ยงพื้นที่น้ำท่วมถึงแบบนี้ได้ หาพื้นที่ทำเลอื่นได้ก็จะเป็นการดี เพื่อตัดไฟแต่ต้นลมไปเลยครับ
4.ทิศทางของแหล่งน้ำ เป็นปัจจัยแวดล้อมภายนอกที่จะส่งผลต่อผู้อยู่อาศัยแน่นอน ถ้าแหล่งน้ำทางทิศตะวันออกหรือทิศตะวันตกของบ้าน จะเป็นทิศที่รับแสงแดดเข้าโดยตรง บ้านที่จะสร้างควรห่างจากแหล่งน้ำเพื่อหลบเลี่ยงแสงแดดที่สะท้อนผิวน้ำมาโดนบ้านของเรา ถ้าบ้านติดน้ำมากเกินไป จะได้รับผลกระทบจากแสงอาทิตย์ที่สะท้อนพื้นน้ำ กลายเป็นกระจกสะท้อนแดดสาดเข้ามาในบ้าน ทั้งเพิ่มความรู้สึกอบอ้าวให้กับเราแทนที่จะเป็นบรรยากาศน่าสบาย คนในบ้านยังต้องคอยหยีตาเพราะแดดที่ส่องเข้ามาอีกด้วย แต่ถ้าคุณมีที่ดินเหลือไม่พอที่จะหลบหลีกแสงสะท้อน หรือลงมือสร้างไปแล้วเกินจะถอยหลังกลับ ยังสามารถใช้วิธีธรรมชาติด้วยการปลูกไม้ใหญ่ริมน้ำ เป็นฉากบังแสงให้กับเราแทนได้ แถมได้ภาพมุมต้นไม้ร่มรื่นริมน้ำติดมาด้วยครับ
สำหรับทิศทางที่เหมาะสมที่สุดเราแนะนำคือเป็นทิศใต้ครับ เพราะทิศใต้เป็นทิศทางที่ลมจะพัดพาละอองน้ำเข้าสู่ตัวบ้าน ทำให้มีลมเย็นสบายๆ เข้ามาสัมผัสกับตัวเรา แต่ก็ต้องหลีกเลี่ยงสร้างห้องครัว ห้องน้ำ ทางทิศรับลมแบบนี้ เพราะลมก็จะพัดกลิ่นควันจากการทำอาหาร หรือจากห้องน้ำย้อนกลับเข้ามาที่บ้านของเราแทนได้
(ภาพจาก https://www.google.co.th/search?espv=2&biw=1366&bih=633&site=webhp&tbm=isch&sa=1&btnG=Search&q=tree+lake+house#tbm=isch&q=lake+house&imgrc=ebCV88s_CSovVM%3A)
แม้การสร้างบ้านริมน้ำอาจจะใช้ค่าใช้จ่ายสูง ต้องคำนึงข้อกำหนดมากขึ้นกว่าการสร้างบนพื้นดินปกติ แต่ผลลัพธ์ที่ได้กลับมาย่อมต้องตอบแทนผู้อยู่อาศัยในบ้านได้ดีมากด้วยเช่นกัน ภาพความเย็นสบายที่เรามองเห็นจากระเบียงบ้าน สายลมพัดพาละอองน้ำ และความชุ่มชื้นที่จะย้ายมาอยู่ใกล้ตัวบ้านของเรามากขึ้น