ก่อนหน้านี้เราเคยพูดถึงลักษณะของไม้ประเภทต่างๆไปแล้ว ทั้งไม้ในประเทศ และต่างประเทศ (คลิกอ่านบทความเรื่องไม้ได้ที่ ไม้ในประเทศ และ ไม้ต่างประเทศ ) และในรายละเอียดของงานไม้ที่ดี ยังมีเรื่องของรอยต่อไม้ ซึ่งครั้งนี้เราจะมาคุยกันครับ
(ภาพจาก http://www.startwoodworking.com/post/practice-your-dovetail-joints)
การต่อไม้แบบต่างๆ
งานไม้ไม่ว่าจะเป็นงานประเภทไหน การติดตั้งหรือการต่อไม้นั้น เป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้การเลือกประเภทไม้ที่นำมาใช้ให้เหมาะกับงาน เนื่องจากไม้แต่ละประเภทความสามารถในการรับน้ำหนักก็แตกต่างกันไป ข้อต่อไม้เป็นนั้นเป็นตัวช่วยยึดชิ้นส่วนไม้แต่ละชิ้นเข้าด้วยกัน ดังนั้นการเลือกใช้ข้อต่อไม้แบบไหน นั้นก็เหมาะกับการใช้งานและประเภทไม้ที่แตกต่างกันเช่นเดียวกัน เราจึงควรมีความรู้เรื่องหลักการต่างๆในการต่อไม้และความเหมาะสมกับการนำไปใช้ควบคู่กันไป
การเข้าไม้ หรือการต่อไม้ นั้นก็มีวิธีการทำได้หลายวิธีขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของประเภทงานเพื่อให้เกิดความ แข็งแรงของงาน ซึ่งวิธีการเข้าไม้มีหลายแบบที่ใช้กันมาก ดังนี้
- การเข้าไม้แบบตรง (Straight Joint) เป็นรูปแบบการต่อไม้ที่ใช้กันมาก เพราะต่อง่ายและรวดเร็ว โดยที่การต่อแบบนี้จะไม่ค่อยแข็งแรงมากนักเพราะเป็นการแค่ต่อชนไม้เฉยๆแล้วยึดด้วยตะปูหรือกาวเท่านั้น ปละจะเห็นรอยต่อของไม้ชัดเจน ซึ่งวิธีการนี้จะใช้กับการต่อไม้โดยทั่วไปที่ไม่ต้องการการยึดต่อที่แข็งแรงมากนัก
- การเข้าไม้แบบบังใบ (Rabbet Joint) วิธีการบังใบคือการบากไม้ให้เป็นรูปตัวแอล L หรือทำให้เกิดรอยต่อช่องเป็นมุม 90องศา โดยบากไม้ให้ลึกประมาณ 1 ใน 4 ของ ความหนาไม้ แล้วยึดติดไม้เข้ากันด้วยกาวหรือตะปู ซึ่งวิธีการนี้ส่วนใหญ่จะใช้กับ งานทำลิ้นชัก หรือตู้เก็บหนังสือ
- การเข้าไม้แบบเดือยกลม (Dowel Joint) ข้อต่อแบบเดือยกลมนี้เป็นข้อต่อที่นิยมทำกันทั่วไป โดยจะมีลักษณะไม้ท่อนหนึ่งเป็นแกนที่เรียกว่า ตัวเดือย ยื่นออกมา และไม้อีกท่อนที่จะนำมาประกอบเข้าด้วยกันนั้น จะถูกเจาะเป็นรู้ที่มีขนาดพอดีกันกับตัวเดือย เรียกว่า รูเดือย ซึ่งการจ่อแบบนี้จะมีความแข็งแรงมาก จึงนิยมใช้กับงานประเภทเฟอนิเจอร์ เพราะเป็นข้อต่อที่ทำได้ง่าย รวดเร็ว และประกอบกันได้ง่าย ตำแหน่งสามารถวัดและเข้าไม้ได้เที่ยงตรง แต่ก็ไม่จำเป็นว่างานเฟอนิเจอร์ไม้จำเป็นที่จะต้องใช้การเข้าไม้แบบเดือยกลมเพียงอย่างเดียว สามารถใช้การเข้าไม้แบบอื่นได้เช่นเดียวกัน แต่ก็ต้องคำนึงความเหมาะสมของรูปแบบและวิธีการผลิตต่างๆอีกด้วย
- การเข้าไม้แบบบากร่อง(Dado joint) เป็นวิธีการเข้าไม้ที่มีความแข็งแรงวิธีหนึ่ง ซึ่งการบากไม้วิธีนี้นิยมใช้กับงานทำลิ้นชัก ชั้นวางของ ตู้เก็บหนังสือ บันได เป็นต้น โดยการใช้ไม้สองท่อน นำมาทำให้ปลายที่จะเข้าไม้ได้ฉาก แล้วจึงวางตำแหน่งที่จะเข้าไม้กับไม้อีกท่อน แล้วจึงบากไม้ให้เป็นร่องพอดีกัน แล้วจะยึดกันด้วยกาวลาเท็กก่อนแล้วจึงยึดด้วยตะปูอีกทีก็เป็นอันเรียบร้อย เป็นการเข้าไม้ที่มีความแข็งแรง ง่ายอีกวิธีหนึ่ง
- การเข้าไม้แบบบากร่องหางเหยื่ยว (Dovetail Wood Joint) การเข้าไม้แบบหางเหยี่ยวนั้นเป็นวิธีเข้าไม้ที่ดีที่สุดวิธีหนึ่ง ถึงแม้จะทำได้ยากแต่ก็เป็นวิธีที่มีความแข็งแรงมาก ซึ่งจะยึดไม้เข้าด้วยกันจากรูปร่างของข้อต่อของชิ้นไม้ที่มีความทนทานต่อแรงดึงได้เป็นอย่างดี แล้วอาศัยแรงยึดเกาะของกาวหรือวัสดุประสาน ช่วยให้เกิดความเหนียวแน่นของชิ้นไม้ที่ทำการต่อเข้าด้วยกันซึ่งลักษณะการเข้าไม้ จะเซาะร่องปลายไม้ด้านหนึ่งให้เป็นเดือยรูปสี่เหลี่ยมคางหมูเป็นแถวเรียงกันไปเรียกว่า เดือย และปลายไม้อีกท่อนหนึ่งก็จะถูกตัดในรูปแบบเช่นเดียวกันแต่จะเป็นส่วน หาง เพื่อให้ไม้ทั้งสองท่อนนั้นนำมาล็อคให้พอดีกัน และยึดด้วยกาว จึงมักใช้ในการเข้ามุมไม้สำหรับการทำลิ้นชักเฟอร์นิเจอร์ ที่ต้องการความแข็งแรงและมีงานที่เรียบร้อยสวยงาม
- การเข้าไม้แบบฟิงเกอร์ จอยซ์ลามิเนต (FHJ : Finger Joint Laminate) วิธีการต่อไม้แบบ FHJ นั้นเพื่อการป้องกันปัญหาการเสียรูปทรง การบิดตัวของไม้ธรรมชาติเมื่อเป็นแผ่นยาว โดยการนำไม้ที่ผ่านการคัดแล้วนำมาซอยให้ชิ้นเล็กลงแล้วต่อให้ยาวขึ้น โดยหัวและท้ายของชิ้นไม้ ทำการบากรอยต่อด้วยเครื่องจักรในลักษณะคล้ายนิ้วมือประสาน และทาด้วยกาวชนิดพิเศษ ต่อประสานกันให้เป็นไม้ขนาดยาวในปัจจุบันไม้ที่ใช้ในระบบอุตสหกรรมไม่เพียงพอ จึงต้องทำการพัฒนาไม้ทางเลือกต่างๆมาทดแทน ซึ่งในประเทศเรา “ไม้ยางพารา” ที่มีมากในประเทศก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการทดแทนไม้ที่นับวันยิ่งเหลือน้อยและหายากขึ้นทุกที เนื่องจากไม้ยางพาราเอง ไม่สามารถทำเป็นแผ่นไม้แปรรูปที่มีความยาวต่อเนื่องได้ เพราะต้นยางที่ผ่านการกรีดน้ำยางแล้วจะมีรอยกรีด ทำให้การนำต้นยางมาแปรรูปเป็นแผ่นไม้จำเป็นต้องเลือกคัดเฉพาะส่วนที่ไม่มีรอย แผ่นไม้ที่ได้จึงเป็นแผ่นช่วงสั้นๆ จึงต้องใช้การต่อไม้แบบ FHJ มาช่วยต่อไม้ให้ได้ไม้แผ่นยาวที่สามารถนำไปใช้งานได้
หลักการของการต่อไม้แบบ FHJ นั้นคือเป็นการเพิ่มพื้นที่ผิวสัมผัสของไม้กับกาว เพิ่มความแข็งแรงของการยึดเกาะเข้าด้วยกัน ทำให้รอยประสานมีความแข็งแรงมาก และที่สำคัญไม้ที่นำมาใช้จะต้องผ่านการอบแห้งมาแล้วทั้งสิ้นก่อนที่จะนำมาต่อกันเข้าด้วยกาวพิเศษ ซึ่งกาวที่ใช้นั้น มีทั้งแบบกาวร้อนที่ต้องใช้การอบแห้งเพื่อทำให้กาวแห้งเร็ว หรือ กาวเย็นที่ปล่อยให้แห้งเองแต่ก็ต้องใช้เวลาในการแห้งเช่นเดียวกัน
คราวหน้าจะมีความรู้เรื่องไม้เกี่ยวกับอะไรนั้น ติดตามกันต่อไปนะครับ… 🙂