คุณผู้อ่านหลายคนคงเคยได้อ่านรีวิวการท่องเที่ยวในดินแแดนโอปป้าซารางเฮโยแห่งนี้กับเรื่องอาหารของกิน ร้านค้า แหล่งชอปปิ้ง สถานที่ท่องเที่ยว กันมามากเกินนิ้วมือนับกันไปแล้ว แต่นั่นจะดูธรรมดาเกินไปสำหรับ DsignSomething เมื่อเราได้มีโอกาสเดินทางไปเยี่ยมชมกรุงโซล เลยอยากจะนำกลับเอาเรื่องราวน่าสนใจที่เมืองนี้มีให้มากกว่ากว่าในหนังสือเที่ยวทั่วไปมาเล่าสู่กันฟัง
โซล (Seoul) เป็นเมืองหลวงเขตปกครองพิเศษและเมืองที่ใหญ่ที่สุดของเกาหลีใต้ คำว่า ” โซล” ในภาษาเกาหลีมีความหมายว่า “เมืองหลวง” มีพื้นที่รวม 605 ตร.กม. ประชากรราว 25 ล้านคน (อ้างอิงจาก http://worldpopulationreview.com ) ถือว่ามีการพัฒนาตัวเองขึ้นมาอยู่ในระดับสากลอย่างรวดเร็ว กรุงโซลนับเป็นเมืองที่มีระบบการคมนาคมดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เป็นเมืองที่มีโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งมวลชนในขั้นสูงและมีการขยายระบบอยู่ตลอดเวลา สำหรับรองรับการใช้งานจากผู้คนจำนวนมากในเมืองและนักท่องเที่ยวให้ได้เต็มอย่างประสิทธิภาพ
(ภาพจาก http://goo.gl/5cM3Lr)
เราเริ่มต้นการเดินทางที่สนามบินหลัก ท่าอากาศยานนานาชาติอินชอน สนามบินยอดเยี่ยมตั้งแต่ปี 2548 โดยสภาการท่าอากาศยานนานาชาติ มีระยะห่างจากตัวเมืองประมาณ 50 กิโลเมตร การเดินทางหลักๆของเมืองเป็นรถไฟทั้งบนดินและใต้ดิน รวมถึงรถไฟความเร็วสูงที่เรียกว่า KTX (Korea Train eXpress) สำหรับวิ่งเชื่อมระหว่างหัวเมืองต่างๆของเกาหลีด้วย
(ภาพจาก http://goo.gl/5cM3Lr)
Incheon airport
และก่อนการเดินทางในกรุงโซลครั้งนี้จะเริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการ เราก็ขอไปทำความรู้จักกับผู้ช่วยคนสำคัญที่กำลังจะมาทำให้การผจญภัยตลอดทั้งทริปนี้ราบรื่นขึ้นมาก นั่นก็คือ บัตร T – money (smart card) บัตรสารพัดประโยชน์ใบเล็กๆใบนี้กันก่อน
ชำระผ่านบัตรใบเดียว
เหตุผลหลักที่กรุงโซลนับเป็นเมืองที่มีระบบการคมนาคมดีอย่างหนึ่งคือการรวมระบบขนส่งมวลชนหลายประเภทเข้าด้วยกัน ทั้งการชำระการบริการและความต่อเนื่องกันของระบบแต่ละประเภท อย่างการเดินทางจากสนามบินเข้าเมืองก็มีให้เลือกทั้งรถไฟด่วนพิเศษยิงตรงป้ายเดียวถึง Seoul Station ใจกลางเมือง, รถไฟใต้ดินเข้าตัวเมืองแบบจอดสถานีทั่วไป รถบัสสนามบิน และแท๊กซี่ (ใช้ระบบมิเตอร์และราคายุติธรรม)
และระบบการชำระเงินแบบ T – money (smart card) ครบวงจรทำให้ผู้โดยสารสารสามารถใช้บริการระบบขนส่งได้อย่างอิสระ เติมเงินสดเผื่อเอาไว้ในบัตรเดียว ก็ใช้ชำระค่าบริการขนส่งสาธารณะได้เกือบทั้งหมด ตั้งแต่ค่ารถไฟฟ้า รถเมล์สาธารณะ รถแท็กซี่ หรือค่าใช้จ่ายแทนเงินสดซื้อของในมินิมาร์ทได้อีกด้วย ซึ่งหากใช้บัตรทีมันนี่แตะจ่ายแทนเงินสด ยังมีส่วนลดค่าบริการทั้งรถเมล์และรถไฟใต้ดินลงอีกนิดหน่อยเที่ยวละ 100 วอน บัตรใบเดียวก็ใช้งานได้หลากหลายประเภท ไม่ต้องพกเศษเหรียญให้วุ่นวาย พอย้อนกลับมาดูในประเทศของเราที่ต้องพกบัตรนู่นนี่หลายใบ แยกจ่ายตามประเภทและยังคงต้องต่อคิวแลกเหรียญเพื่อไปซื้อบัตรต่ออีกทอดหนึ่ง ก็ดูจะเป็นกระบวนซ้ำซ้อนกินเวลาในช่วงโมงเร่งรีบในเมืองอยู่พอสมควร
(ภาพจาก http://goo.gl/o9A04l)
Dtip : บัตร T – money ไม่มีหมดอายุ ใช้งานได้ตลอด สามารถซื้อได้ที่ร้านมินิมาร์ททั่วไป กับเจ้าหน้าที่ที่อยู่ในห้องในสถานีรถไฟใต้ดิน หรือซื้อด้วยตนเองกับตู้ขายตั๋วอัตโนมัติก็ได้ มีวิธีใช้ที่ตู้เป็นภาษาอังกฤษกำกับให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ และถ้ายืนยอดเงินคงเหลือก็มีตู้ให้บริการคืนเงินคงเหลือในบัตรอยู่ด้วยครับ
ทางเดินเท้าของคนเมือง
การเดินเท้าของคนคือการเคลื่อนที่ขั้นพื้นฐานที่สุด รถยนต์ต้องการถนนผิวเรียบเพื่อการขับขี่ที่ราบลื่น ทางเท้าสำหรับคนเดินก็ควรได้รับความใส่ใจด้วยเช่นกัน ทางเท้าในกรุงโซลมีขนาดกว้างขวาง ตามถนนเส้นหลักไม่เห็นร้านค้าแผงลอยตั้งบนพื้นที่ทางเท้าจนคนกรุงเทพฯ อย่างเราที่ต้องหลบร้านค้าลงไปเดินบนถนนอาจจะแอบอิจฉาเล็กๆ บล๊อกถนนปูเรียบสนิท มีทางลาดจากฟุตบาทลงพื้นถนนเพื่อการเชื่อมต่อที่ดีของคนปั่นจักรยาน คนนั่งเก้าอี้วีลแชร์ และผลพลอยได้เล็กๆ สำหรับนักท่องเที่ยวกระเป๋าลากอย่างเรา
มีบล๊อกทางเดินสำหรับผู้พิการทางสายตาจากทางเดินสาธารณะนำไปสู่รถไฟใต้ดินหรือตามสถานีขนส่งมวลชนทั่วไปไร้วัตถุกีดขวางบนเส้นทาง สายไฟทางเดินส่วนมากลงเดินระบบใต้ดินเกือบหมดแล้ว เปิดเผยให้เห็นทัศนียภาพในเมืองเต็มสายตา และก็ยังไม่ลืมเพิ่มเติมสีเขียวเล็กๆ ให้กับชีวิตคนเมองด้วยต้นไม้ตลอดทางสัญจร
เป็นมิตรกับจักรยาน
โซลอาจจะไม่ใช่เมืองขึ้นชื่อเรื่องการปั่นจักรยาน แต่เราก็สังเกตเห็นคนหนุ่มสาวทั่วไปใช้งานจักรยานอยู่เหมือนกันครับ มีถนนที่ดูเป็นมิตรกับผู้ใช้งาน เลนถนนที่ทำเพื่อการขี่จักรยานโดยเฉพาะ ดูปลอดภัยเพราะไม่มีฝาท่อหรือถนนชำรุดให้เกิดอันตราย ไม่สะดุดกับจุดต่างระดับที่มีทางลาดเชื่อมต่อถึงกัน อีกทั้งรัฐบาลยังมีนโยบายลดการใช้พลังงานในภาวะโลกร้อน
ด้วยนโยบายจุดให้บริการยืมจักรยานแก่ประชาชนเกาหลีใต้ bicycle sharing system หักค่าใช้จ่ายผ่านบัตรสมาชิกหรือโทรศัพท์สมาร์ทโฟนในลงทะเบียนก็ยืมและคืนได้ อำนวยความสะดวกสบายมีแผนที่แนะนำเส้นทางปั่นคู่กับจุดรับคืนจักรยานตามจุดรถไฟฟ้าโดยไม่จำเป็นต้องกลับมาคืนที่เดิม จักรยานก็สภาพดีและน่าใช้งาน และส่วนสำคัญคือการเคารพข้อปฏิบัติส่วนรวมและเข้าใจซึ่งกันและกันของคนทั้ง 3 ฝ่าย คนเดินทางเท้า คนจักรยาน คนขับรถยนต์ กล่าวคือ รถยนต์ก็เคารพสัญญาณไฟข้ามถนน ให้จักรยานและคนเดินทางเท้าข้ามให้หมด ส่วนคนที่ต้องเดินหรือใช้จักรยานก็รู้จักรอสัญญาณไฟข้ามถนน ไม่ผลีผลามข้ามไปในจังหวะรถโล่ง และในเลนสำหรับจักรยานก็จะไม่มีรถยนต์เข้าไปกีดขวางการใช้งานด้วยกันครับ
ระบบหลักรถไฟใต้ดิน
ปั่นจักรยานแล้วก็มาต่อกันที่รถไฟใต้ดิน กรุงโซลมีโครงข่ายสถานีรถไฟใต้ดินที่ครอบคลุมในทุกเขตของเมืองและพื้นที่รอบโซล มีผู้ใช้บริการมากกว่า 8 ล้านคนต่อวัน นับเป็นหนึ่งในโลกที่มีผู้คนใช้บริการรถไฟใต้ดินมากที่สุดในแต่ละวัน สถานีรถไฟโซลมีมีด้วยกันถึง 14 สาย แบ่งเป็นสายในเมืองหลักๆ 8 สาย และสายสั้นๆ 6 สาย แต่ละสายจะมีเส้นทางการเดินรถที่แน่นอน และครอบคลุมทุกส่วนของเมืองตามสีและหมายเลขต่างๆ การคมนาคมด้วยรถไฟใต้ดินจึงเป็นระบบการเดินทางหลักของชาวโซล สะดวก ควบคุมเวลาได้ ง่าย ปลอดภัย เริ่มขบวนแรกประมาณ ตี 5 ครึ่ง จนถึง เที่ยงคืน
(ภาพจาก http://www.morethangreen.es/)
อีกทั้งตลอดเส้นทางจะมีระบุทั้งภาษาเกาหลีและภาษาอังกฤษ ทุกครั้งที่รถหยุด ก็จะได้ยินเสียงประกาศบอกสถานีเป็นภาษาเกาหลี และภาษาอังกฤษ ยังมีตัวช่วยทางเทคโนโลยีกับแอพพลิเคชั่นแนะนำอย่าง “subway korea” ที่จะช่วยมาร์คสถานีปลายทางให้เรา ตัวเลือกบอกการเปลี่ยนสายเส้นทางว่าเปลี่ยนในตำแหน่งไหนได้บ้าง ป้องกันการผิดพลาดขณะเดินทางในสถานีรถไฟใต้ดินที่มีจำนวนสายมากมาย เข้าใจได้ง่ายและสามารถโหลดมาใช้ได้ฟรี
จากการใช้งานรถไฟใต้ดินเป็นหลักตลอดทริป เรารู้สึกได้เลยว่านี่คือระบบคมนาคมหลักของคนกรุงโซลอย่างแท้จริง เข้าถึงคนทุกเพศทุกวัย ทุกสถานะ มีลิฟท์ให้บริการผู้สูงอายุ คนนั่งวีลแชร์ นักท่องเที่ยวกระเป๋าลาก และอิฐบล๊อกผู้พิการทางสายตาที่ต่อเนื่องมาจากทางเท้าฟุตบาท ราคาค่าบริการไม่แพงเมื่อเทียบกับค่าครองชีพในเมืองของเค้า มีการออกแบบให้เอื้อประโยชน์แก่ผู้ใช้งานที่ควรได้รับการช่วยเหลือ โซนที่นั่งสำหรับผู้สูงอายุ คนท้อง เด็กชัดเจน ได้รับความร่วมมือจากคนทั่วไปไม่เข้าไปใช้งานในตำแหน่งนั้น ลงไปถึงการออกแบบตามจุดเล็กๆน้อยๆอย่างตำแหน่งยืนรอคิวขึ้นขบวนรถ ก็ยังมีป้ายสัญลักษณ์แถวสำหรับผู้สูงอายุโดยเฉพาะ ไม่ต้องไปแก่งแย่งหรือแซงคิวกันหนุ่มสาว ผู้คนเข้าคิวกันเป็นธรรมเนียมปฎิบัติ ไม่ไปยืนกีดขวางทางสัญจรของผู้อื่น
เพราะเป็นระบบเดินทางหลักของเมืองนั่นเอง จึงมีห้องน้ำสาธารณะ ร้านค้า ร้านอาหารมากมายไว้ให้บริการอยู่ด้านล่าง ไปจนถึงแกลลอรี่ศิลปะและการออกแบบที่สวยงามที่บ่งบอกเอกลักษณ์ของสถานที่สำคัญในระแวกนั้นเอาไว้ด้วย
Dtip : การเชื่อมต่อระบบการเดินทางเป็นเรื่องสำคัญ จากจักรยานสู่รถไฟใต้ดินมีการออกแบบลู่รางสำหรับวางล้อจักรยานเล็กๆที่บันไดลงสถานี กันการเข็นจักรยานลงไปกระแทกตามขั้นบันได และเดิมทีรถไฟใต้ดินอนุญาตให้ใช้รถจักรยานแบบพับเข้าไปในขบวนเท่านั้น แต่ข่าวอัพเดตล่าสุดมีการผ่อนผันให้เอาจักรยานแบบปกติเต็มคันขึ้นรถไฟได้แล้ว ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์และไม่ใช่ช่วงโมงเร่งด่วนในวันทำงาน
รถบัสแถวเรียงหนึ่ง
ระบบรถโดยสารประจำทางของโซลดำเนินการโดยรัฐบาลนครพิเศษโซล มีรถบัสให้บริการอยู่ 4 สี 4 ประเภทใหญ่ ๆ โดยบริการทั่วทั้งเมือง โซลมีสถานีรถโดยสารระหว่างเมืองและรถด่วนขนาดใหญ่ โดยจะเชื่อมต่อระหว่างเมืองทั่วทั้งประเทศเกาหลีใต้ ถนนในกรุงโซลจะมีเลนพิเศษสำหรับรถบัสโดยเฉพาะ ไม่ยุ่งเกี่ยวจะถนนของรถยนต์ส่วนตัวทั่วไป ซึ่งทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีตามมามากมายเช่น
– ลดปัญหาขับแซงหน้ากัน ภาคจราจรโดยรวมติดขัด การขับขี่รถบัสอยู่แต่ในเลนเฉพาะของตัวเองก็จะหมดปัญหาวิ่งแซงแข่งกัน ทุกคันวิ่งไปตามลู่วนไปเป็นรอบๆ ไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับการจราจรของรถยนต์ส่วนตัว ลดเวลาในการจราจรรวมที่อาจจะติดขัด ลดอันตรายจากอุบัติเหตุระหว่างรถใหญ่กับรถเล็กลงได้อีกเยอะ
– ควบคุมเวลาเดินทางได้ เพราะการขับขี่วนตามเส้นทางของตัวเอง ไม่มีการแซงหน้าใคร ไม่มีรถอื่นเข้ามาแซงหน้าเรา แค่วิ่งไปจอดตามที่หมาย ไม่จอดแช่ให้เสียเวลาเพราะรถคันหลังตามต่ออยู่ตลอด ทำให้เราสามารถควมคุมเวลาการเดินทางได้แม่นยำมากขึ้น เพราะใช้เวลาค่อนข้างจะสเถียร กะเวลาเดินทางได้ จุดนี้เองทำให้มีป้ายบอกเวลานับถอยหลังหมายเลขรถบัสเข้าจอดที่ป้ายรถเมล์ล่วงหน้า ว่าสายไหนกำลังจะมาจอดที่ป้ายในอีกกี่นาที เพิ่มความสะดวกในการกะเวลารอแก่ผู้ใช้งานมากขึ้นไปอีก
– แถวเรียงเป็นระเบียบ คนในกรุงโซลค่อนข้างมีระเบียบวินัยของตัวเองยามต้องใช้บริการสาธารณะ พวกเค้าจะเข้าแถวเรียงหนึ่งตามระเบียบก่อนหลังกันเองโโยไม่ต้องมีใครบอก เช่นเดียวกับรถบัสแถวเรียงหนึ่งในเลนเฉพาะของตัวเอง ป้ายรถบัสมีให้บริการทั้งฝั่งรัมฟุตบอลหลักและฝั่งเกาะกลางถนน ผู้คนจะยืนรอหลังเส้นเหลืองด้านในหากรถบัสที่ตัวเองรอยังไม่มา เมื่อเห็นหมายเลขรถที่ต้องการกำลังจะเข้าจอด ก็จะออกไปยืนรอหลังเส้นสีเหลืองด้านนอก ตอนเรียงหนึ่งขึ้นรถบัสจ่ายค่าโดยสารทีละคน รสบัสในเมืองจะไม่รับส่งนอกป้าย และไม่จอดรอผู้โดยสาร เราต้องสังเกตและขึ้นรถบัสให้ไวเพราะเผลอสายตาไปเพียงอึดใจ อาจจะพลาดเห็นรถที่กำลังรออยู่ขับเลยเราไปไกลแล้วก็ได้
– ลดทรัพยากร และขึ้นตอนที่ใช้เวลา รถบัสในกรุงโซลจะมีพนักงานขับรถเพียงคนเดียว ทำหน้าที่บริการรับส่งและดูแลการชำระค่าบริการไปด้วย ไม่ต้องมีพนักงานเก็บค่าโดยสารเดินเบียดเข้ามาในฝูงชนที่แออัดบนรถ เราชำระค่าโดยสารด้วยบัตร T – money เพียงขึ้นรถทางประตูด้านหน้า วางบัตรโดยสารลงบนตัวเซ็นเซอร์ เมื่อต้องการลงป้ายสถานีให้กดปุ่มซึ่งอยู่ภายในรถโดยสารตามปกติ
และนี่คือส่วนหนึ่งของความ Smooth ที่เราพบเจอที่กรุงโซล การเดินทางที่เลื่อนไหลต่อเนื่อง มีผลอย่างมากต่อการใช้ชีวิตในเมือง แม้เราจะได้สัมผัสไม่กี่ว่า ก็รู้สึกได้ถึงทางเลือกที่มีให้คนเมืองที่มากกว่า เดินทางด้วยตนเอง กำหนดเวลาได้ เท่านี้ก็เป็นสุดยอดของหลายคนในเมืองหลวงอย่างเราๆแล้วล่ะ… 🙂
ในพาร์ทต่อไป เราจะพาไปชมอะไรนั้นต้องติดตามกันต่อไปนะครับ