เรื่องราวของสิ่งของในชีวิตประจำวัน ที่จะพาเราไปสู่ต้นกำเนิดของผลิตภัณฑ์นั้นๆ
21_21 Design Sight
Architect : Tadao Ando
Location : Tokyo Midtown, 9 Chome-9-7-6 Akasaka, Minato-ku, Tokyo-to 107-6290, Japan
เคยสังเกตไหมคะว่า เวลาเราไปเที่ยวญี่ปุ่นหรืออย่างน้อย ได้ของฝากจากญี่ปุ่น เราจะรู้สึกฮือฮาทุกครั้ง “โอ้โห กล่องเขาสวยจัง” “ว้าว ตุ๊กตาคิตตี้น่ารัก ญี่ปุ่นนี่อะไรๆ ก็น่ารักไปหมดเนอะ” เรื่องความสวยงามหรือความน่ารักของสินค้าญี่ปุ่นเป็นเรื่องที่คุณผู้อ่านสามารถมองเห็นและรับทราบกันดีอยู่แล้ว แต่คุณเคยสงสัยกันบ้างไหม? กว่าจะมาเป็นผลิตภัณฑ์ ของกินของใช้สักชิ้นนั้น ต้องผ่านกระบวนการอะไรมาบ้าง ซึ่งแน่นอนกระบวนการต่างๆ นั้นมักถูกเก็บไว้เป็นความลับ แต่วันนี้มันจะไม่เป็นความลับอีกต่อไป เพราะเราจะพาไปหาคำตอบถึงแก่นแท้ของงานดีไซน์กันที่นิทรรศการ “Design Anatomy: A method for seeing the world through familiar objects” ซึ่งจัดขึ้นโดยกราฟฟิกดีไซน์เนอร์ชื่อดัง Taku Satoh ที่ 21_21 Design Sight
ก่อนอื่นก็ต้องขอเกริ่นถึงที่มาของ 21_21 Design Sight สักเล็กน้อย เริ่มด้วยชื่อของพิพิธภัณฑ์นี้อ่านว่า two-one two-one เป็นชื่อที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก “20/20 version” โดยใช้เลข 21 แทน 20 ก็เพื่อสื่อถึงอนาคตของงานดีไซน์ ดังนั้นสถานที่แห่งนี้ จึงถือกำเนิดขึ้นเพื่อทำหน้าที่เป็นตัวนำให้ทุกคนมองเห็นถึงดีไซน์ต่างๆของสิ่งของในชีวิตประจำวัน ความเรียบง่ายที่เกิดขึ้นทุกวันจะสรรสร้างสิ่งใหม่ๆ ที่สามารถใช้ไปด้วยกันและอยู่ด้วยกันไปตลอดได้
Taku Satoh เจ้าของจัดนิทรรศงานในหัวข้อ Design Anatomy
(รูปภาพจาก https://www.mydesy.com/topys-taku-satoh)
ก่อตั้งขึ้นโดยสุดยอดปรมาจารย์ด้านดีไซน์ทั้ง 3 คน ผู้เชี่ยวชาญงานศิลปะในแขนงที่ต่างกัน ซึ่งประกอบไปด้วย Issey Miake แฟชั่นดีไซเนอร์ , Taku Satoh กราฟฟิกดีไซน์เนอร์ และ Naoto Fukazawa นักออกแบบผลิตภัณฑ์ และได้สถาปนิกชื่อดัง Tadao Ando เป็นผู้ออกแบบตัวอาคารให้
โดยตั้งอยู่ในย่าน Roppngi บริเวณด้านหลัง Tokyo Midtown ซึ่งอยู่ใกล้ๆกับสวน Hinokicho Park ออกแบบโดย Tadao Ando ร่วมกับ Issey Miyake ได้ออกมาเป็นอาคารที่มีโครงสร้างแบบ low-rise ภายใต้แนวคิด “A Piece of Cloth” ที่โดดเด่นด้วยหลังคาเหล็กทรงสามเหลี่ยมขนาดใหญ่ดีไซน์โฉบเฉี่ยวแปลกตา วางทอดตัวชี้ปลายแหลมลงสู่พื้น คล้ายรูปสามเหลี่ยมคว่ำ ซึ่งสามเหลี่ยมที่ว่านี้ก็เปรียบเสมือนเสื้อผ้าที่นักออกแบบดีไซน์ให้กับตึก สะท้อนให้เห็นถึงเอกลักษณ์งานดีไซน์สไตล์ญี่ปุ่น ที่ดูเรียบง่าย แต่ซ่อนความลับและเทคนิคในการก่อสร้างไว้มากมาย โดยอาคารจะถูกแบ่งออกเป็น 2 ฝั่ง ฝั่งซ้ายเป็นร้านอาหาร ส่วนฝั่งขวาเป็นแกเลอรี่ มี 2 ชั้น ได้แก่ ชั้น ground และชั้นใต้ดิน ทั้งนี้ก็เพื่อไม่ต้องการให้ความสูงของตัวอาคารไปรบกวนความสวยงามของทัศนียภาพโดยรอบ
บริเวณส่วนร้านอาหาร
บริเวณด้านหน้าทางเข้าฝั่งแกลเลอรี่จะมีโปสเตอร์นิทรรศการขนาดใหญ่ ที่กำลังจัดแสดงในช่วงนั้นแปะไว้ เพื่อเชิญชวนให้ผู้คนที่ผ่านไปมาให้เข้ามาชมงาน
หากเดินเข้ามาภายในอาคารฝั่งขวาจะพบกับเคานเตอร์ขายบัตรเข้าชมงาน และร้านขายของที่ระลึก และเมื่อเดินลงบันไดมาถึงชั้นใต้ดิน จะพบกับคอร์ทสามเหลี่ยมที่ทำหน้าแบ่งส่วนจัดแสดงออกเป็น 2 ห้อง และในช่วงที่เราไปนั้น ก็กำลังจัดแสดงงานในหัวข้อ “Design Anatomy” ซึ่งนำเสนอเรื่องราวการดีไซน์ของผลิตภัณฑ์ที่เราใช้ในชีวิตประวัน ผ่านมุมมองของ Taku Satoh กราฟิกดีไซน์เนอร์ที่มีประสบการณ์การทำงานในบริษัทเมจิ (Meiji) มากว่า 15 ปี โดยเขาได้ยกตัวอย่างเป็นผลิตภัณฑ์ตัวดังๆ ของบริษัทเมจิอย่าง ขนมรูปเห็ดเคลือบช็อคโกแล็ต Kinoko no Yama , Meiji Bulgaria Yogurt , Meiji Essel Super Cup และ Meiji Milk Chocolate มาใช้ในการอธิบาย
พื้นที่พักผ่อนหน้าโถงบันได ทำหน้าที่เป็นตัวกั้นระหว่างห้องจัดแสดงทั้ง 2 ส่วน
คอร์ทเปิดโล่งทรงสามเหลี่ยม อยู่ระหว่างโถงบันไดและห้องจัดแสดงห้องใหญ่
เรื่องราวความเป็นมาของขนม Kinoko no Yama จัดแสดงโดยเรียงขั้นตอนทีละสเตป ตั้งแต่กระบวนการคิดค้นขั้นแรกเริ่มไปจนถึงขั้นตอนสุดท้าย ก่อนที่จะมาเป็นขนมเห็ดยอดฮิตที่เราทานกันทุกวัน ซึ่งในแต่ละขั้นตอนก็ใช้วิธีการจัดแสดงที่ไม่เหมือนกัน บางขั้นตอนก็ให้ชมเฉยๆ บางขั้นตอนก็ใช้เทคนิค interactive ให้เรามีส่วนร่วมสนุกไปกับงาน
ส่วนประกอบต่างๆบนฉลากโยเกิร์ตเมจิบัลแกเลีย
Meiji Essel Super Cup ผ่าครึ่งถ้วย ทำให้เห็นว่าภายในอัดแน่นไปด้วยไอศกรีม ทำให้เราลิ้มรสไอศกรีมได้อย่างจุใจ
(รูปภาพจาก http://2ndopinion.ph/2016/11/20/design-anatomy-exhibition-tokyo/)
ช้อนไอศกรีมหลากหลายแบบและขนาด เหมาะสำหรับใช้กับถ้วยไอศกรีมที่มีขนาดถ้วยและความลึกที่แตกต่างกัน ถึงแม้จะดูเป็นเรื่องเล็กน้อยที่หลายๆคนอาจมองข้าม แต่ด้วย”ความเข้าใจคิด” ของคนญี่ปุ่นนี่ล่ะ จึงทำให้สินค้าญี่ปุ่นแทบทุกชิ้นเต็มไปด้วยความใส่ใจในทุกขึ้นตอน แค่ช้อนตักไอศกรีมธรรมดาก็ได้ใจลูกค้าไปเต็มๆแล้ว
กิจกรรมออกแบบคุณค่าทางสารอาหารบนฉลากกล่องนมเมจิ โดยให้เรานำตัวอักษรต่างๆมาเรียงต่อกันเป็นชื่อนมรสใหม่ๆ
diagram โมเดลจิ๋ว แสดงให้เห็นถึงการทำงานร่วมกันเป็นทีม ขาดส่วนใดส่วนหนึ่งไป การผลิตก็ต้องหยุดชะงัก
“ด้วยพลังของความใส่ใจบวกกับความเข้าใจคิดของคนญี่ปุ่น ที่ไม่ได้เน้นแค่การออกแบบ รสชาติหรือตัวผลิตภัณฑ์ก่อน แต่เริ่มจากประสบการณ์ของลูกค้า และมองละเอียดตั้งแต่ก่อนลูกค้าซื้อ จนกระทั่งหลังซื้อแล้วยังเลยไปถึงตอนโยนทิ้งลงถังขยะ ความละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้อาจดูเหมือนเป็นต้นทุนที่สิ้นเปลือง แต่สิ่งเล็กน้อยเหล่านี่ล่ะ ที่ทำให้ลูกค้าตื่นเต้น และประทับใจในสินค้า จนกลายมาเป็นเรื่องราวอันทรงคุณค่าสะท้อนเอกลักษณ์งานออกแบบสไตล์ญี่ปุ่น อย่างที่เราเห็นในนิทรรศการนี้”
หากคุณมีความชื่นชอบศิลปะและงานสถาปัตยกรรม และมีโอกาสได้ไปเที่ยวโตเกียวในช่วงนี้ เราขอแนะนำให้ลองมาเดินชมตึกดีไซน์เก๋นี้กันค่ะ แต่ถ้าคุณมีเวลาเหลือก็อยากให้ลองเข้า ไปชมนิทรรศการภายในด้วยนะคะ เพราะงานเขาน่าสนใจจริงๆ ถ้าได้มาแล้วรับรองว่าคุณจะติดใจและหลงรักงานดีไซน์สัญชาติญี่ปุ่นมากขึ้นอย่างแน่นอน
นิทรรศการเปิดตั้งแต่เวลา 10.00 – 19.30 น. และจัดแสดงตั้งแต่วันที่ 10 ต.ค. 16 ไปจนถึงวันที่ 22 ม.ค. 17
**หยุดในวันที่ 27 ธันวาคม 16 ไปจนถึง 3 มกราคม 17
สามารถสอบถามราคาบัตรเข้าชมและนิทรรศการต่อไปได้ที่ http://www.2121designsight.jp/en/