ร้านอาหารไทยตำรับภาคตะวันออก ที่ผสมผสานความต่างทั้งสีสันและสไตล์ไว้อย่างลงตัว
ศรีตราด
จากโกงกาง…สู่กลางกรุง
Location : 90 ซอยสุขุมวิท 33 กรุงเทพมหานคร 10110
Owner : คุณแอค – วงศ์วิชญ์ ศรีภิญโญ
Interior Designer : คุณเจิน – ไอริณ ประสงค์ชัยกุล จาก Sojourn Design and Execute
หากพูดถึงร้านอาหารไทยสูตรต้นตำรับ สิ่งแรกที่เรานึกถึงเลยก็คือทำเลที่ตั้ง เราวาดภาพไว้ว่าร้านต้องอยู่ในเขตเมืองเก่า ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยว ง่ายต่อการเผยแพร่ความเป็นไทยให้คนต่างชาติได้รับรู้ แต่สำหรับ ร้านศรีตราด นั้น กลับเลือกที่จะตั้งในทำเลที่แตกต่างออกไป โดยเลือกจุดยุทธศาสตร์เป็นย่านกลางเมืองในซอยสุขุมวิท 33 และเลือกใช้สไตล์การตกแต่งแบบ urban rustic ที่นำเอาของตกแต่งพื้นบ้านไทยๆ อย่างจานชามลายดอก มาผสมกับเฟอร์นิเจอร์สไตล์ตะวันตก และเลือกใช้คู่สีที่มีความคอนทราสต์กันอย่างสีแดงและน้ำเงิน เพื่อสร้างจุดเด่นให้แก่ร้าน
บ้านนอกเข้ากรุง
ก่อนที่จะมาทำร้านอาหารนี้ คุณแอค – วงศ์วิชญ์ ศรีภิญโญ ได้ทำธุรกิจโรงแรมและทำบริษัท online agency ที่สามารถออกแบบ branding ได้ด้วย เมื่อทำงานให้ลูกค้าไปสักพัก ก็รู้สึกว่าเราน่าจะทำแบรนด์ของเราบ้าง บวกกับความโชคดีที่ได้ร้านขายเฟอร์นิเจอร์ทำเลกลางเมืองมาจากเพื่อนภรรยา จึงนำมารีโนเวตใหม่ กลายเป็นจุดเริ่มต้นของร้านศรีตราด ที่ใช้ตัวละครเด็กชาย ถ่ายทอดเรื่องราวความเป็นมา ความรักของเด็กชายที่มีต่อแม่ สะท้อนผ่านเมนูอาหาร และการตกแต่งอันแสนอบอุ่น และได้คุณเจิน – ไอริณ ประสงค์ชัยกุล อินทีเรียดีไซเนอร์จาก Sojourn Design and Execute ซึ่งเป็นเพื่อนสมัยเรียนของภรรยาคุณแอค มาเป็นผู้ร่ายมนตร์เปลี่ยนสตอรี่ 2d ของคุณแอค ให้กลายเป็นเรื่องราว 3d ที่จับต้องได้
ของดีเมืองตราด
ชื่อ ศรีตราด มาจากการผสมคำระหว่าง “ศรี” ซึ่งเป็นชื่อคุณแม่ของคุณแอคที่มีดีกรีเป็นถึงนางงามจังหวัดตราดมาก่อน กับคำว่า “ตราด” ที่มาจากชื่อจังหวัดตราด และยิ่งไปกว่านั้น คำว่า ศรี ยังแปลว่า ความดี เมื่อนำทั้ง 2 คำมารวมกัน จึงได้ความหมายว่า ตราดมีของดี ส่วนโลโก้รูปคุณแม่สวมมงกุฎนางงามนั้น ได้แรงบันดาลใจมาจากผลงานของ Andy Warhol ศิลปิน pop art ที่คุณแอคชื่นชอบ จึงนำรูปแม่มาปรับลายเส้นให้ดูเป็นศิลปะแบบ pop culture มากขึ้น
แดงชาด vs เมฆคราม
แบรนด์ทุกแบรนด์ย่อมมีสีประจำตัว เพื่อสร้างเอกลักษณ์ให้คนจดจำ ร้านศรีตราดนี้ก็เช่นกัน คุณแอคได้เลือกสีไทยโทนในเฉดที่คอนทราสต์กันสุดๆ อย่าง สีแดงชาด และเมฆคราม มาเป็นสีประจำร้าน เพราะให้ความรู้สึกถึงความเป็นบ้านนอกได้เป็นอย่างดี ซึ่งจะเห็นสีเหล่านี้ได้จากทุกๆ ส่วนในร้าน ทั้งผนังและเฟอร์นิเจอร์
Dtip : สีไทยโทน คือ สีที่เกิดจากภูมิปัญญาของคนไทยในสมัยโบราณ โดยนำวัตถุดิบจากธรรมชาติ ทั้งแร่ธ่าตุ สมุนไพร พืชผักต่างๆ ที่หาได้ในท้องถิ่น มาเข้ากรรมวิธีสกัดเป็นสี ทำให้ได้เฉดสีที่มีเอกลักษณ์ความเป็นไทย แต่ก่อนสีไทยโทน มีลักษณะเป็นสีฝุ่น แต่ปัจจุบันได้ถูกพัฒนาให้เป็นสีอะคริลิค เพื่อความคงทนถาวรและนำมาใช้งานได้สะดวกขึ้น
บ้านในร้าน
เนื่องจากคุณแอคต้องการดูแลลูกค้าทุกคนเป็นดั่งแขกที่มาเยือนบ้าน คุณเจิน ดีไซเนอร์ จึงตีโจทย์ออกมาเป็น ”บ้านในร้านอาหาร” และแทนที่โซนต่างๆในร้านด้วยแปลนห้องต่างๆภายในบ้าน
โดยทั่วไปเวลาเรามาเยือนบ้านใคร ห้องแรกที่เราพบก็คือห้องนั่งเล่นหรือห้องรับแขก ร้านนี้ก็เช่นกัน คุณเจินเลือกแทนที่ห้องนั่งเล่นประจำบ้านด้วยวิสกี้บาร์ โดยเลือกใช้เป็นบาร์ไม้ตัวยาวที่ได้แรงบันดาลใจมากจากตู้ยาเก่า รองรับแขกได้ 4 ที่นั่ง ในบรรยากาศที่ดูเป็นกันเองด้วยการต้อนรับแบบเฟรนลี่จากบาร์เทนเดอร์อารมณ์ดี ที่มักจะยืนประจำตำแหน่งอยู่หน้าชั้นวางขวดเหล้าแบบ build-in ที่คุณแอคเรียกว่า water library ซึ่งถอดแบบมาจากชั้นหนังสือในบ้าน
Dtip : บาร์ไม้ตัวยาวที่ภายนอกดูเหมือนทำมาจากไม้เก่า แต่จริงๆแล้วทำจากไม้ใหม่ โดยนำไม้ไปทาสีขาว และขัดสีออก เพียงแค่นี้ก็จะได้ไม้ที่ดูเก่าแล้วล่ะ
…เพราะแม่ฉันชอบดอกกุหลาบ ฉันจึงวาดให้…
ภาพวาดจากสีอะคลิลิค รูปดอกกุหลาบสีแดงขนาดใหญ่บนพื้น ซึ่งคุณแอคได้เล่าว่า นี่คือดอกไม้ที่คุณแม่ชอบ ส่วนสาเหตุที่วาดบนพื้น ก็เพื่อต้องการให้เห็นความสวยงามที่ผ่านไปตามกาลเวลา เมื่อคนเดินผ่านบ่อยๆ สีก็จะเริ่มจืดจาง แต่ก็ยังเห็นภาพดอกไม้นี้อยู่ ก็เหมือนกับเรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้นในบ้าน แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็กลายเป็นความทรงจำดีๆของคนในบ้าน
Dtip : คุณแอคได้เล่าถึงขั้นตอนเตรียมพื้นก่อนวาดภาพลงไปว่า ต้องทำความสะอาดพื้นผิวให้สะอาดโดยการขัด จากนั้นก็ร่างภาพตามแบบ และใช้สีอะคลิลิคระบายสีตามแบบ และเคลือบพื้นผิวด้วย Polyurethane ประมาณ 3 ครั้ง จึงจะได้เป็นรูปวาดที่มีความเงาเล็กน้อยอย่างที่เราเห็นนี้
และด้วยเฉดสีประจำร้านเป็นโทนสีค่อนข้างเข้ม คุณเจิน ดีไซเนอร์ผู้ออกแบบร้าน จึงเลือกเพิ่มความสว่างให้ร้าน โดยเจาะช่องแสงกรุกระจกใสบริเวณหน้าบันของหลังคาจั่วด้านหน้าร้าน ส่วนตัวอาคารด้านข้างก็ติดกระจกใสบานใหญ่เต็มพื้นที่ผนัง เพื่อรับแสงธรรมชาติ เป็นการประหยัดไฟในเวลากลางวัน
ถัดจากห้องนั่งเล่นก็เป็นส่วนของแคชเชียร์ และโถงบันได ซึ่งถูกเปรียบให้เป็นเหมือนพื้นที่หน้าห้องครัว ถูกตกแต่งด้วยชั้นวางอุปกรณ์ทำอาหารและเครื่องปรุงรสต่างๆ ซึ่งนอกจากจะเพิ่มความสวยงามในกับพื้นที่ตรงนั้นแล้ว อุปกรณ์ทุกอย่างตรงนั้น ก็ถูกนำไปใช้ในการปรุงอาหารจริง
ถัดมาทางด้านหลังมุมแคชเชียร์ ถือว่าเป็นอีกหนึ่ง hilight ของร้านเลยก็ว่าได้ คือ “มุมรับประทานอาหาร” ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีแสงสว่างส่องถึงมากที่สุดของร้าน เพราะมีการเจาะ void พื้นชั้นบน ทำให้สเปซมีความโปร่งโล่งมากยิ่งขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น ภายในอาคารยังให้ความรู้สึกราวกับนั่งอยู่ที่ชานหลังบ้าน โดดเด่นด้วยภาพวาดสีอะคลิลิกรูปคุณแม่สวมมงกุฎขนาดใหญ่บนกำแพงอิฐสีส้ม และเสริมด้วยของตกแต่งเล็กๆน้อยๆ อย่างรางน้ำและโอ่งดินเผา ที่ช่วยเติมเต็มความรู้สึกอบอุ่นเหมือนอยู่บ้านให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
ส่วนโซนรับประทานอาหารอื่นๆ ทางคุณเจิน เลือกใช้โต๊ะสี่เหลี่ยม เพราะสามารถนำโต๊ะมาต่อกัน เพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าที่มากันเป็นจำนวนมาก และตกแต่งให้มีบรรยากาศสลัวๆ ซึ่งเกิดจากการเลือกใช้ฝ้าเพดานสีเข้ม และเลือกใช้ไฟสี warm white (สีเหลืองอมส้ม) ดวงเล็กๆ ส่องสว่างเฉพาะบริเวณเหนือโต๊ะ เพื่อจำลองบรรยากาศบ้านนอกที่ไม่มีไฟฟ้าใช้มากมายนัก เมื่อพระอาทิตย์ตกดินทุกอย่างก็เลยตกอยู่ในสภาวะมืดมัว มีเพียงแสงสว่างของไฟจากตะเกียงเจ้าพายุ
ความคอนทราสของสไตล์ไทย ผสมกลิ่นอายฝรั่งเศส
คุณแอคเล่าถึงที่มาของเฟอร์นิเจอร์สไตล์ฝรั่ง ที่ดูขัดกับภาพลักษณ์ของร้านอาหารไทยว่า เพราะในอดีตจังหวัดตราดเกือบตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส จึงทำให้ได้รับอิทธิพลของวัฒนธรรมฝรั่งเข้ามา ซึ่งเห็นได้จากเฟอร์นิเจอร์เก้าอี้หนังดึงดุม หรือเก้าอี้ไม้เช็คโก ที่หลายคนคิดว่าเป็นเก้าอี้ของจีน แต่จริงๆแล้วมีที่จากจากฝรั่ง ไปจนถึงลายลูกกรงเหล็กดัด ที่ถูกดัดแปลงมาจากลายของฝรั่ง
อาหารไทยภาคตะวันออกสูตรคุณแม่
เมนูอาหารทุกอย่างในร้านล้วนถูกคิดค้นโดยคุณแม่ของคุณแอค และส่งตรงวัตถุดิบหลักบางชนิดมาจากจงหวัดตราด เช่น ปลาทราย ชะมวง ระกำ เป็นต้น ส่วนในขั้นตอนการปรุงอาหาร ทางร้านไม่ใช้ผงชูรส แต่ใช้มะนาวและน้ำปลา เพื่อคงรสชาติแบบดั้งเดิมไว้ และเสิร์ฟทุกเมนูมาในจานกระเบื้องลายดอก จานลายพื้นบ้านที่ทุกๆบ้านต่างก็มีเหมือนๆกัน เพราะคนต่างจังหวัดส่วนใหญ่มักจะมีชุดจานสวยๆ ไม่มากนัก จึงนิยมใช้เป็นจานต้อนรับแขก ซึ่งรายละเอียดเล็กๆน้อยๆนี้ สามารถช่วยสื่อถึงความเป็นบ้านนอกได้เป็นอย่างดี
ออร์เดิร์ฟรวม
เมนูอาหารทานเล่นที่ใช้รับรองแขกที่มาเยือนบ้าน ประกอบไปด้วย ปอเปี้ยะทอด เต้าหู้ทอด เผือกทอด ทอดมัน และไก่ทอดตะไคร้
หมูสับปลาเค็มตราด
หมูสับผสมปลาเค็มทอดแบบเกรียมนอก นุ่มใน ทานคู่กับกระหล่ำซอย แต่อย่าลืมบีบมะนาวก่อนทานนะ จะได้รสเปรี้ยวตัดเค็ม กลมกล่อมกำลังดี
ปลาเห็ดโคนทอดขมิ้น
ปลาเนื้ออ่อนเลาะกระดูก ทอดกับขมิ้นและกระเทียมทั้งเปลือก จนได้สีเหลืองทองน่าทาน
ขอบคุณข้อมูลจาก Sritrat Bar & Restaurant