OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

ว่าด้วยเรื่องความสัมพันธ์ รั้ว และบริบทที่มีชีวิตของ ฉัตรพงษ์ ชื่นฤดีมล

อีกมุมหนึ่งของการออกแบบ การได้มาซึ่งคำตอบหนึ่ง จำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องเกิดจากการสังเกตุ ทดลอง และที่สำคัญ ต้องมีเรื่องของ “ความรู้สึก” เข้ามาเกี่ยวข้อง บางครั้งอาจต้องยกระดับให้มากกว่าความถูกต้องเหมาะสมด้วยซ้ำ เพื่อให้ได้คำตอบที่สะท้อนความคิด และอารมณ์ในช่วงระยะเวลานั้นจริงๆ 

งานนี้ต้องขอขอบคุณ SYS หรือ Siam Yamato Steel ที่จัดเวทีแห่งความรู้นี้ขึ้น ซึ่งงาน Dinner Talk นี้ เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยยกระดับวงการการออกแบบของไทย ได้เป็นอย่างดี เพราะในงานขนาดย่อมนี้ ได้เชิญสถาปนิกและวิศวกร รวมถึงผู้รับเหมาแนวหน้าของไทย มาพูดถึงงานออกแบบของตนที่ผ่านมา บอกเล่าแนวคิด ตัวตน และมุมมองที่น่าสนใจมากๆ …ครั้งนี้มีคุณอั๋น – ฉัตรพงษ์ ชื่นฤดีมล แห่ง CHAT Architects มาเป็นผู้เล่าประสบการณ์และผลงานให้เพื่อนพี่น้องสถาปนิกได้รับชมกัน

คุณอั๋นนำหลายโปรเจคมาเล่าให้ฟัง แต่ที่เราประทับใจที่สุด จะนำมาเล่าให้ฟังนั่นก็คือ โครงการบ้านพักอาศัยของคุณอั๋นเอง ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางเมืองอย่างย่านเอกมัย

(Photo : ฉัตรพงษ์ ชื่นฤดีมล)

คุณอั๋นตั้งต้นด้วยการศึกษาความเป็นจริงของสภาพปัจจุบัน ของการอยู่อาศัยของคนไทย แบบไทยๆ ก่อน จึงพบว่า “รั้ว” ของบ้านแต่ละหลัง เป็นสิ่งกำหนดการใช้งาน พร้อมบังคับให้ซอยหรือถนนหนทาง เป็นพื้นคอนกรีตที่ไร้ชีวิตชีวา เพราะถูกขนาบข้างด้วยกำแพงคอนกรีตสูงเลยศีรษะทั้งนั้น เหตุผลก็เป็นเรื่องความปลอดภัยในการอยู่อาศัย บ้านรั้วเตี้ยแบบที่ก้าวข้ามได้ จึงไม่มีให้เห็นในกรุงเทพฯ

(Photo : ฉัตรพงษ์ ชื่นฤดีมล)

แต่เราอยู่แต่ในบ้านเพียงลำพังได้จริงหรือ?…

คุณอั๋นเริ่มศึกษาสิ่งอื่น ที่มากไปกว่าสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ที่ทำให้ซอย หรือ พื้นที่บริเวณนี้มีความน่าอยู่และน่ารัก นั่นก็คือ “ผู้คน” ที่อาศัยอยู่รอบๆบ้านของคุณอั๋น คุณอั๋นทำความรู้จัก และศึกษาการใช้งานของเพื่อนบ้านในซอยอย่างสนุกสนาน มันมือไปจนถึงการเขียนแบบประตูรั้วของทุกบ้านในบริเวณนั้น ซึงแต่ละบ้านก็มีรั้วที่เป็นเอกลักษณ์ มีความเป็นตัวตนของเจ้าของอยู่มาก และ Drawing นี้น่าจะแสดงรูปแบบการใช้งานภายในซอยได้เป็นอย่างดี

“ก่อนผมจะทำงานออกแบบสักชิ้น ผมจะต้องทำให้ตัวเองอินไปกับเรื่องนั้นๆก่อน อย่างบ้านหลังนี้ การได้ศึกษาเพื่อนบ้าน รั้วของเขา กิจกรรมของเขา และนำมาทำเป็น Drawing นี้ ทำให้ผมอินไปกับการออกแบบบ้านหลังนี้มากขึ้น”

(Photo : ฉัตรพงษ์ ชื่นฤดีมล)

บ้านคอนกรีตเสริมเหล็กที่ดูเรียบง่ายนี้ จึงถูกออกแบบให้มีรั้ว เป็นรูปด้านหนึ่งของอาคาร เป็นผนังที่มีความสำคัญกับการใช้งายภายในบ้าน เพราะไม่ใช่เพียงรั้วทึบตัน คุณอั๋นกลับออกแบบรั้วที่แสดงความเป็นตัวเอง อีกทั้งยังสามารถเปิด – ปิด ได้ด้วย

(Photo : ฉัตรพงษ์ ชื่นฤดีมล)

“รั้ว” นี้ที่ทำหน้าที่เสมือนการยื่นแขนออก เพื่อเปิดรับหรือเลือกปิดได้ ในเวลาที่ต้องการ บานหน้าต่างไม้สูง ถูกนำมาใช้ในส่วนของรั้ว ดูแปลกตาแต่อบอุ่น เมื่อเห็นภาพของการใช้งานและลองจินตนาการดู ก็น่าจะได้บรรยากาศที่น่าสนุก และมีความสุขไม่น้อย

(Photo : Masano-san)

ภาพของกิจกรรมที่เชื่อมโยงคนในบริเวณนั้นจึงกลับมาชัดเจนขึ้น เพราะแม้เราจะอยู่ในบ้าน เราก็ยังเห็นคุณป้าบ้านตรงข้ามเดินไปจ่ายตลาด เห็นเด็กๆข้างบ้านกลับจากโรงเรียน เห็นรถเข็นขายไอสกรีมเจ้าประจำที่จะมาเวลาเดียวกันทุกวัน หรือยิ่งช่วงเทศกาลอย่างสงกรานต์ พื้นที่ที่เชื่อมโยงกันนี้ ทำให้บรรยากาศการเล่นน้ำเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง

(Photo : ฉัตรพงษ์ ชื่นฤดีมล)

“รั้ว” คือสิ่งที่ผู้คนเห็นชัดมากที่สุด สำหรับงานบ้านหลังหนึ่ง เป็นรูปด้านที่คนเห็นมากกว่าตัวอาคารที่อยู่ด้านในด้วยซ้ำ และอาจไม่ใช่แค่เรื่องการออกแบบ “รั้ว” ให้สวยงาม แต่เป็นการพิจารณาลึกลงไปยังสิ่งที่อยู่ทั้งสองฝั่งของรั้ว ว่าจริงๆแล้ว ความสัมพันธ์นั้นควรเป็นแบบไหนมากกว่า

(Photo : ฉัตรพงษ์ ชื่นฤดีมล)

ถ้าถามว่าสถาปัตยกรรมที่ดีคืออะไร คำตอบน่าจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ไม่หยุดนิ่ง มันจะโตตามอายุและสิ่งที่ศึกษาช่วงนั้นๆ สถาปัตยกรรมที่ดีสำหรับผมตอนนี้ คือมันถึงขั้นที่ต้องการพัฒนาสถาปัตยกรรมในเมืองไทยให้ดีขึ้น หาตัวตนให้เจอ ไม่ต้องไปตั้งต้นจากคนอื่น และโดยภาพรวม งานสถาปัตยกรรมที่ดีนั้น นอกจากต้องแก้ปัญหาให้ลูกค้าได้แล้ว ยังต้องมีประโยชน์ต่อบ้านเมือง ต่อสังคมหรือชุมชนด้วย

…………..

ขอขอบคุณ คุณอั๋น – ฉัตรพงษ์ ชื่นฤดีมล แห่ง  CHAT Architects

Discover more from Design Makes A Better Life.

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading