ท่ามกลางพื้นที่ 28 ไร่ ที่รายล้อมไปด้วยตึกสูงและย่านแห่งความเจริญ ใครจะคิดว่าพื้นที่แห่งนี้คือ “อุทยานจุฬา 100ปี” พื้นที่สีเขียวแห่งใหม่ที่เป็นดั่ง “ของขวัญอันยิ่งใหญ่ให้สังคม”
อุทยานจุฬาฯ 100ปี ของขวัญอันยิ่งใหญ่ให้สังคม ในวาระครบรอบศตวรรษแห่งการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ไม่เป็นเพียงแต่สวนสาธารณะที่สร้างกิจกรรมและความสุขให้แก่ชุมชน หากยังเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนเมือง ในอีกก้าวของศตวรรษใหม่นับจากนี้
จุดเริ่มต้นของเรื่องราวการออกแบบสวนแห่งนี้ หากย้อนไปเมื่อปี พ.ศ. 2555 ที่จุฬาฯ ได้จัดให้มีการจัดประกวดออกแบบพื้นที่สวนสาธารณะบริเวณสวนหลวง-สามย่าน ซึ่งผู้ที่ชนะนั้นเป็นการผนึกกำลังกันระหว่างบริษัท LAND PROCESS (ออกแบบภูมิทัศน์) และ N7A ARCHITECTS (ออกแบบอาคารสาธารณะ) เบื้องหลังแนวคิดการออกแบบที่ต้องการให้ “อุทยานจุฬาฯ 100 ปี เป็นดั่งรากจามจุรี” (ต้นไม้สัญลักษณ์ของจุฬาฯ) แผ่ความร่มเงาและความเขียวชะอุ่มของพืชพรรณจากจุฬาไปยังชุมชนเมือง แนวแกนสีเขียวที่ทำให้เมืองที่เต็มไปด้วยอาคารและตึกสูงกลับมามีชีวิตชีวาขึ้นอีกครั้ง
______________________________________________________________________
สวนที่เก็บกักน้ำทุกหยดเพื่อเมือง
______________________________________________________________________
ไอเดียที่ทำให้ “อุทยานจุฬาฯ 100 ปี” เป็นมากกว่าสวนสาธารณะที่มอบความสุขให้แก่คนเมือง คือทำให้อุทยานจุฬาฯ 100 ปีมีหน้าที่กักเก็บน้ำทุกหยดไว้ใช้ในอนาคต โดยพื้นที่สวนจะถูกยกขึ้นจนลาดเอียงเพื่อให้น้ำฝนไหลมารวมกันที่สระน้ำด้านหน้า (Retention pond) และพื้นที่ชุ่มน้ำด้านข้าง(Wetland) ซึ่งมีต้นไม้และสนามหญ้าในส่วนอื่นๆช่วยดูดซับน้ำ
มีการใช้วัสดุคอนกรีตรูพรุน(porous concrete) แทนการใช้คอนกรีตปกติที่น้ำไม่สามารถซึมผ่านไปได้ ซึ่งนอกจากนี้คนในชุมชนยังสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยดูแลน้ำได้ ด้วยการปั่นจักรยานเพิ่มออกซิเจนให้แหล่งน้ำ ที่ออกแบบเป็น “กังหันน้ำชัยพัฒนา” หนึ่งในโครงการพระราชดำริของรัชกาลที่ 9 ที่ช่วยบำบัดน้ำเสียอีกด้วย
______________________________________________________________________
สวนที่เป็นห้องเรียน ที่อยู่นอกห้องเรียน
______________________________________________________________________
ห้องเรียนกลางแจ้งที่ถูกออกแบบมาเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้นอกห้องเรียน ของเหล่านิสิตจุฬาฯ และคนในชุมชนโดยมีทั้งหมด 8 ห้องเรียนกระจายอยู่รอบนอกสวน ซึ่งแนวคิดการออกแบบในแต่ละห้องจะแตกต่างกันไป เช่น Herb Room ที่ปลูกสมุนไพรโดยให้ทุกคนเข้ามาช่วยกันดูแลได้อย่างอิสระ และ Earth Room ที่นั่งก่อจากดินหลายสีจากพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศ
บรรยากาศและแสงแดดยามเย็น ในวันที่อุทยานจุฬาฯ 100 ปี เปิดต้อนรับทุกคนเข้ามาทำให้สวนสาธารณะนี้สมบูรณ์แบบ หลายคนมาเพื่อพักผ่อนหย่อนใจ หลายคนเพลิดเพลินไปกับกิจกรรมนันทนาการ หลายคนใช้พื้นที่แห่งนี้ในการเสริมสร้างกิจกรรมในครอบครัว
“ป่าในเมือง” ทำหน้าที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนเมืองได้อย่างสมบูรณ์ แต่ทว่าป่าแห่งนี้ไม่ได้มีเพียงพื้นที่สีเขียวเท่านั้น แต่ยังมีสถาปัตยกรรมขนาดใหญ่ที่แฝงตัวอยู่กับสภาพแวดล้อมได้อย่างแนบเนียน ดูกลมกลืน ชวนให้น่าค้นหาอีกด้วย
______________________________________________________________________
CHULALONGKORN UNIVERSITY MUSEUM
______________________________________________________________________
อาคารอเนกประสงค์ขนาดใหญ่ในอุทยานจุฬาฯ 100 ปี ที่ตั้งอยู่ฝั่งถนนบรรทัดทอง เมื่อมองระยะไกลดูเหมือนจะซ่อนตัวอยู่ใต้เนินดินหรือหลังคา green roof ที่ถูกปกคลุมด้วยภูมิทัศน์สีเขียวขจี ทำให้รู้สึกถึงความถ่อมตัวและนอบน้อม แต่เมื่อได้ย่างเข้าสู่พื้นที่ของตัวอาคารแล้วล่ะก็ จะสัมผัสได้ถึงพลังของช่องเปิดอาคารขนาดใหญ่โครงสร้างไร้เสาที่ยาวถึง 40 เมตรเลยทีเดียว
______________________________________________________________________
N7A ผู้สร้างสรรค์อาคาร
______________________________________________________________________
N7A Architects บริษัทมากฝีมือที่เชี่ยวชาญการออกแบบงานประกวดแบบในประเทศไทย ซึ่งอาคารหลังนี้ก็เป็นอีกหนึ่งความภาคภูมใจที่สามารถการันตีคุณภาพของ N7A ได้ดี ในวันนี้เราได้มีโอกาสนั่งคุยกับ ‘คุณจักรดาว นาวาเจริญ’ และทีมสถาปนิกผู้ออกแบบ เกี่ยวกับเรื่องราวความเป็นมาทั้งหมดของอาคารหลังนี้
______________________________________________________________________
5 ปี กับแนวความคิดสู่การพัฒนาเมืองที่ยั่งยืน
______________________________________________________________________
อาคารที่ออกแบบเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของประตูสู่จุฬาลงกรณ์ มีพื้นที่จัดกิจกรรมและนิทรรศการที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวของจุฬาลงกรณ์และรัชกาลที่ 9 ด้วยรูปลักษณ์อาคารที่เสมือนค่อยๆถูกเปิดขึ้นมาจากพื้นดิน โดยมี ‘Green roof’ หรือ สวนหลังคาขนาดใหญ่ ไหลต่อเนื่องเป็นผืนเดียวกับพื้นที่ทั้งหมดของอุทยานแสดงถึง ‘ความถ่อมตัวและสะท้อนอัตลักษณ์ร่วมสมัยที่ทรงพลัง’
มุมมองของประตูที่เปรียบดั่งกรอบภาพของอุทยานอันร่มรื่น
ใครจะรู้ว่าภายใต้อาคารแห่งนี้ จะมีที่จอดรถอยู่ถึง 200 คัน อีกทั้งด้านข้างของสวนที่มีเลนจักรยานและทางเท้าที่กว้าง ซึ่งการจัดการพื้นที่นี้ช่วยตอบโจทย์ผู้ที่เข้ามาใช้งานอย่างพอเพียงและทำให้พื้นที่โดยรอบเป็นระบบระเบียบมากขึ้นด้วย
______________________________________________________________________
Façade ที่สะท้อนอัตลักษณ์ สถาปัตย์ร่วมสมัย
______________________________________________________________________
From Basic to New Normal การออกแบบสถาปัตยกรรมร่วมสมัย แต่ยังแฝงไปด้วยความเป็นไทย โดยนำ ‘ลายประจำยาม’ ที่นิยมใช้ในวัด โบสถ์ และวิหาร มาใช้ในการออกแบบ Facade สื่อความหมายถึงการปกป้องรักษาและช่องว่างที่ออกแบบมาเพื่อแฝงความพิเศษอย่างมีคุณค่า สะท้อนร่องรอยและอัตลักษณ์แห่งยุคสมัยของอาคาร
เงาของ Façade ที่เกิดขึ้นโดยแสงธรรมชาติ สะท้อนเอกลักษณ์สถาปัตยกรรมไทย
การนำอิฐมาเป็นวัสดุพื้นฐานของอาคารนั้น สะท้อนถึง “จิตวิญญาณของดิน” และประวัติศาสตร์ของพื้นที่ ซึ่งวัสดุมีการผสม “เหล็ก” ซึ่งนอกจากทำให้แข็งแรงและรวดเร็วในการก่อสร้างแล้ว ยังง่ายในการบำรุงรักษา โดยสามารถถอดเปลี่ยนอิฐได้ทุกก้อนทุกตำแหน่งโดยไม่ต้องรื้อทั้งผนัง
ด้านในอาคาร ฝ้าเพดานที่ออกแบบให้เป็นเส้นนำสายตาไปสู่ผนังอาคาร ที่เอียงขนาดกับหลังคา
______________________________________________________________________
Green Roof ที่ผสมผสานสถาปัตยกรรมและธรรมชาติเข้าด้วยกัน
______________________________________________________________________
แนวความคิด “สวน + หลังคา” คือ สวนเป็นส่วนหนึ่งของหลังคา สู่แนวความคิด “หลังคา + ธรรมชาติ” คือ หลังคาเป็นส่วนหนึ่งของโลก ซึ่งการออกแบบGreen roof นอกจากมีดีเทลพิเศษอย่าง “cell block” กระเปาะใต้ดินที่ทำหน้าที่หน่วงน้ำ ทำให้สวนหลังคาที่มีพืชพรรณขนาดเล็กเขียวชะอุ่มโดยแทบไม่ต้องดูแลรักษาแล้ว Green roofยังช่วยปกป้องตัวอาคารด้วยการดูดซับและกระจายความร้อน ทำให้อาคารเย็นสบายน่าใช้งานอีกด้วย
______________________________________________________________________
ตอบโจทย์คุณภาพชีวิตคนเมือง ในอีก 100 ปีข้างหน้า
______________________________________________________________________
สิ่งที่ทำให้อุทยานจุฬาฯ 100 ปี เป็นมากกว่าสวนสาธารณะ คือ การออกแบบที่มองถึงอนาคตไม่ใช่เพียงปัจจุบัน โดยต้องการดึงธรรมชาติกลับมาสู่เมือง ทำให้ชีวิตใจกลางกรุงเทพกลับมามีชีวตอีกครั้ง และเป็นสวนสาธารณะที่ให้คุณค่าบางอย่างกับสังคมอย่างประเมินค่าไม่ได้ เป็นดั่งบ้านของทุกคนที่ต้องช่วยกันดูแลรักษา และมองดูการเจริญเติบโตและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนเมืองในอีก 100 ปีข้างหน้าได้อย่างยั่งยืน
ขอบคุณรูปภาพและข้อมูลเพิ่มเติม