สถาปัตยกรรมจีนโบราณย่านคลองสานที่หลับใหลมาร่วมร้อยปี ในวันนี้..ล้ง 1919 ได้ถูกพลิกฟื้นเป็นสถานที่แห่งประวัติศาสตร์
ที่ควรค่าแก่การรักษาในปัจจุบัน และให้ความสำคัญต่อไปในอนาคต
หากใครได้เคยสัมผัสกับสถาปัตยกรรมริมแม่น้ำเจ้าพระยา ในย่านแห่งการค้าขายทางน้ำอย่างย่านคลองสาน คงวาดภาพความทรงจำถึงโกดังเก็บสินค้าเก่าๆ และสถาปัตยกรรมรูปแบบจีนโบราณอย่างแน่นอน ซึ่ง “ล้ง 1919” เป็นหนึ่งในไม่กี่ที่ ที่มีสถาปัตยกรรมทั้งสองอย่างนี้อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา
ก่อนเดินทางไปยังหมุดหมายใหม่ในการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ซึ่งได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 3 พ.ย.ที่ผ่านมา เราเลยอยากเสิร์ฟความรู้เป็นเมนูออเดิร์ฟคร่าวๆเกี่ยวกับ 8 เรื่องราวการออกแบบปรับปรุง ที่คุณอาจยังไม่รู้เกี่ยวกับ “ล้ง 1919” เพื่อการสัมผัสและเข้าถึงแหล่งศิลปวัฒนธรรมใหม่แห่งนี้อย่างมีอรรถรสยิ่งขึ้น
1.จาก ‘คลังสินค้า’ สู่ ‘คลังศิลป์’ ริมเจ้าพระยา
หากย้อนเวลากลับไปค.ศ. 1919 ปีที่ตระกูล ‘หวั่งหลี’ ได้รับช่วงเป็นเจ้าของ ‘ฮวย จุ่ง ล้ง’ ต่อจากตระกูลพิศาลบุตร และเริ่มปรับพื้นที่จากท่าเรือกลไฟเป็นอาคารสำนักงานและโกดังคลังสินค้าด้านการเกษตรของตระกูล ซึ่งคนย่านนั้นมักจะเรียกกันติดปากว่า “โกดังบ้านหวั่งหลี”
หลังจากการหลับใหลมานานแรมปี “ล้ง 1919” ถูกปลุกให้ฟื้นคืนชีวิตจากความตั้งใจของคนในตระกูลที่ต้องการให้พื้นที่แห่งนี้เป็นเหมือน ‘คลังศิลป์’ บอกเล่าเรื่องราวในประวัติศาสตร์ และเป็น Community Space ที่ผสมผสานวิถีชีวิตริมน้ำสมัยใหม่ ซึ่งไม่ใช่เพียงการชุบชีวิตมรดกของตระกูลให้กลับมามีลมหายใจอีกครั้ง แต่เป็นการพลิกฟื้นมรดกของชาติที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้อีกด้วย
2.‘จีนโบราณ’ กับ ‘ไทยสมัยใหม่’
ในพื้นที่โครงการ นอกจากจะมีสถาปัตกรรมเก่าแก่ที่เป็นเอกลักษณ์ย่านคลองสานอย่างโกดังเก็บสินค้าแล้ว ยังมีสถาปัตยกรรมจีนโบราณ รูปแบบ ‘ชาน เหอ หยวน’ ที่มีการออกแบบวางผังอาคารเป็นรูปตัวยูโอบกอดพื้นที่ตรงกลางซึ่งเป็นลานอเนกประสงค์ไว้ วัสดุอาคารก่ออิฐถือปูน พื้นและบันไดสร้างจากไม้ ส่วนหลังคาสร้างจากกระเบื้อง ซึ่งอาคารที่วางผังแบบนี้เป็นเพียงไม่กี่หลังที่ยังหลงเหลืออยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา
อาคารหลักเป็นที่ประดิษฐานของเจ้าแม่หม่าโจ้ว ซึ่งถือว่าเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนจีนในแผ่นดินไทย อาคารเชื่อมด้านข้างจากโชว์รูมสินค้าถูกพัฒนาให้เป็นพื้นที่อเนกประสงค์ สำหรับการจัดกิจกรรมเวิร์กชอป แสดงนิทรรศการศิลปะ ร้านจำหน่ายสินค้าศิลปะและงานฝีมือของเหล่าศิลปินรุ่นใหม่ ส่วนโกดังปรับปรุงเป็นร้านอาหารและมีพื้นที่พักผ่อนริมน้ำ
การใช้ศิลปะเป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างอดีตและปัจจุบันนี้ ทำให้คนยุคใหม่ได้มีโอกาสเข้ามาสัมผัสเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ริมแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างใกล้ชิดมากขึ้น และยังตอบโจทย์กับไลฟ์สไตล์ของคนยุคใหม่ที่มีความสนใจในงานศิลปะอีกด้วย
3.‘ส่วนบุคคล’ กลายเป็น ‘ส่วนรวม’
หากใครได้เป็นเจ้าของพื้นที่ส่วนบุคคลกว่า 6 ไร่ติดแม่น้ำเจ้าพระยา คงสร้างคอนโดมิเนียมหรือห้างสรรพสินค้าหรูเป็นแน่ แต่ตระกูลหวั่งหลีกลับไม่คิดเช่นนั้น…
“คงไม่มีประโยชน์หากเสียเงินซ่อมแซมเพื่อบูรณะแล้วปิดไว้เฉยๆ” การเปลี่ยน ‘พื้นที่ส่วนบุคคล’ ให้เป็น ‘พื้นที่สาธารณะ’ นั้น ก็เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้ามาเยี่ยมชมและมีส่วนร่วมในการทำล้งให้กลับมามีชีวิตอีกครั้งได้ ดังนั้นการบูรณะจึงต้องทำให้อาคารเหล่านี้มีประโยชน์ใช้สอยแก่สาธารณชนให้มากที่สุด และสร้างความรู้สึกเหมือนได้นั่งไทม์แมชชีนย้อนเวลากลับไปเรียนรู้ประวัติศาสตร์ในค.ศ. 1919 จริงๆ
4.‘ล้ง’ ไม่ ‘รื้อ’
หลังจากเจตนารมณ์ของตระกูลหวั่งหลีเป็นรูปเป็นร่างขึ้น ผู้ที่รับหน้าที่ควบคุมโครงการบูรณะ ล้ง 1919 จึงไม่ใช่ใครอื่น แต่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบภายในอย่าง ‘คุณเปี๊ยะ รุจิราภรณ์ หวั่งหลี’ สะใภ้ทายาทตระกูลหวั่งหลีรุ่นที่ 4 และเป็นผู้ก่อตั้ง บริษัท PIA Interior Company Limited โดยมีอีกหนึ่งบริษัทผู้ร่วมออกแบบคือ Hypothesis
การอนุรักษ์ให้ทุกอย่างคงสภาพของเดิมไว้ให้มากที่สุด ไม่ได้เสริมเติมแต่งจนแปลกหูแปลกตา เน้นการปรับโครงสร้างให้แข็งแรงซะมากกว่าเป็นจุดประสงค์ของการบูรณะครั้งนี้ ตัวอย่างเช่น ส่วนที่แตกร่อนของผนังอิฐ จะใช้ปูนน้ำอ้อยจากธรรมชาติเป็นตัวผสานรอยแตกร้าวเพื่อไม่ให้ปูนหลุดร่อนไปมากกว่าเก่า ส่วนโครงสร้างไม้สักที่พังนั้นถูกแทนที่ด้วยไม้จากส่วนอื่นๆของอาคารมาต่อเติมโดย ‘ไม่ได้ทิ้งไม้เก่า และไม่ได้ใช้ไม้ใหม่มาเสริม’
5.บังเอิญ ‘พบภาพเก่าในภพใหม่’
นอกจากสถาปัตยกรรมอันงดงามที่เป็นตัวบอกเล่าประวัติศาสตร์พื้นที่ได้เป็นอย่างดีแล้ว ยังมีความงดงามของภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ซ่อนตัวอยู่ภายใต้สีที่ฉาบทับไว้บนวงกบหน้าต่างและประตูทุกๆบาน ซึ่งเป็น ‘ความบังเอิญในขั้นตอนล้างสีอาคาร’ ที่เผยภาพวิถีชีวิตและเรื่องราวจากนวนิยายจีนโบราณอายุเก่าแก่มากกว่า 167 ปี
6.ตั้งใจ ‘วาดภาพใหม่จากภาพเก่า’
ภาพจิตรกรรมรูป ‘หญิงสาวชาวจีนขี่ม้า’ บนฝาผนังทางเข้าโครงการล้ง 1919 เป็นหนึ่งในภาพที่ถูกค้นพบโดยบังเอิญบริเวณวงกบในอาคาร นำมาขยายสเกลและวาดให้เหมือนต้นฉบับ โดยคนภายในว่ากันว่า หญิงสาวในภาพคนนี้หน้าละม้ายคล้ายคลึงกับคุณเปี๊ยะ ทายาทตระกูลหวั่งหลีผู้ควบคุมการบูรณะทั้งหมดของล้ง 1919 อีกด้วย
ภาพวาด ‘อีกา’ ภายในอาคารล้ง 1919 ที่วาดขึ้นใหม่เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่อีกาที่ตายในบริเวณนี้ และภาพวาดสามมิติ ‘เด็กๆกำลังแอบมอง’ บริเวณด้านหลังของอาคารนั้น วาดขึ้นจากต้นแบบเด็กในพื้นที่นั้นจริงๆ
7.‘สีเบญจรงค์’ ต้องมนต์เสน่ห์
ภาพจิตรกรรมฝาผนังอันงดงามถูกเขียนด้วยสีฝุ่นลงบนผนังปูนแห้ง ทำให้ภาพจิตรกรรมเหล่านั้นยังคงผนึกไว้เกือบครบถ้วน ซึ่งนอกจากลวดลายอันอ่อนช้อยอย่างปราณีตแล้ว ยังมีสิ่งที่ทำให้ภาพสวยงามยิ่งขึ้น นั่นคือ การเลือกใช้ ‘สีเบญจรงค์’ ทั้งหมด 5 สี ได้แก่ สีดำ สีแดง สีฟ้าคราม สีเขียว และสีเหลือง แม่สีที่สะท้อนให้เห็นถึงมนต์เสน่ห์ของช่างฝีมือจีนชั้นเลิศในอดีตได้เป็นอย่างดี
8.รักษ์ ‘ล้ง’
หลังจากการค้นพบภาพจิตรกรรมจีนโบราณอันน่าหลงใหล ยิ่งชวนให้เราอยากเห็นภาพนั้นแบบสมบูรณ์มากขึ้น ซึ่งการบูรณะและรักษาซ่อมแซมภาพส่วนที่ขาดหายนั้นเป็นเรื่องที่ค่อนข้างละเอียดอ่อน โดยมีขั้นตอนคร่าวๆที่ต้องระวัง คือ
- ค่อยๆแซะสีที่ทาทับออกจนหมดโดยใช้เคมีภัณฑ์และเกรียง แล้วใช้แปรงขนอ่อนปัดฝุ่น
- ใช้สำลีชุบทินเนอร์เช็ดเบาๆ เนื่องจากภาพวาดถูกเขียนลงบนปูนแห้ง ไม่สามารถเช็ดออกได้ด้วยน้ำเปล่า
- ใช้มีดผ่าตัดขูดฝ้าขาวที่เคลือบภาพออกจนเผยสีที่แท้จริง
- เสริมความมั่นคงให้กับชั้นปูน โดยปูนน้ำอ้อยจากธรรมชาติ เพื่อให้ง่ายต่อการเขียนซ่อม
และเพื่อรักษาความงดงามตามสภาพของจิตรกรรมให้ใกล้เคียงของเดิมมากที่สุด สีน้ำจึงเป็นคำตอบที่ตอบโจทย์ในการบูรณะเพราะง่าย สะดวก รวดเร็ว สีไม่ค่อยเปลี่ยนแปลง และเช็ดออกง่ายเมื่อต้องการ ที่สำคัญเวลาลงเส้นในงานจะลงเป็น ‘เส้นดิ่ง’ เพื่อให้คนทราบว่าอันไหนคืองานอนุรักษ์ อันไหนคืองานเก่า ทั้งนี้ทั้งนั้น ภาพที่ถูกแต่งเติมจะต้องมีหลักฐานเดิมปรากฏเท่านั้น ส่วนภาพใดไม่มีหลักฐาน จะคงสภาพไว้อย่างเดิมไร้การเติมแต่ง
เคยมีคนกล่าวไว้ว่า “เราไม่สามารถนั่งไทม์แมชชีนย้อนเวลากลับไปแก้ไขเรื่องราวในอดีตได้” แต่ใครจะคิดว่าวันหนึ่งเรื่องราวในอดีตจะหวนกลับมาหาเราในปัจจุบันได้โดยที่เราไม่เคยรู้มาก่อน เหมือนกับ “ล้ง 1919” ไทม์แมชชีนในรูปแบบสถาปัตยกรรมและจิตรกรรมที่พาเรื่องราวในประวัติศาสตร์ร่วมร้อยปีมาให้เราสัมผัสในปัจจุบัน
ขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติมจาก LHONG 1919