การพลิกฟื้นโรงงานเก่าให้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะขนาดใหญ่ เพื่อคนเมืองได้ปลดปล่อยจิตวิญญาณแห่งศิลปะและความคิดสร้างสรรค์ออกมาโลดแล่นอย่างเป็นอิสระเสรี
สำหรับบ้านเราที่มีพื้นที่กว้างขวาง หลายคนมีพื้นที่สวนในรั้วบ้านเป็นของตัวเองไม่มากก็น้อย อาจนึกภาพไม่ออกนักว่า
พื้นที่สาธารณะ มีความจำเป็นแค่ไหนกับการใช้ชีวิต แต่กับประเทศที่มีลักษณะเป็นเกาะอย่างไต้หวัน ที่ซึ่งพื้นที่อาศัยต้องเติบโตในแนวดิ่ง ในรูปแบบของอาคารสูงและตึกแถวที่สร้างติดๆกันอย่างหนาแน่น พื้นที่สาธารณะ จึงเปรียบเสมือนพื้นที่ที่มีไว้ให้เมืองได้หายใจ ในขณะเดียวกันผู้คนเองก็ได้ผ่อนคลายจากความรู้สึกที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ปิดล้อมซึ่งกินเวลาส่วนใหญ่ของชีวิตประจำวัน
– เปลี่ยนโรงงานเก่าให้เป็นแหล่งบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความสร้างสรรค์ –
Huashan 1914 Creative Park คือร่างใหม่ของโรงงานผลิตไวน์และยาสูบเก่าขนาดใหญ่ที่ถือกำเนิดขึ้นตั้งแต่ปี 1914 ก่อนจะตายไปด้วยปัญหามลพิษในกระบวนการผลิตและการเติบโตขึ้นของเมือง ทำให้ต้องย้ายคนงานและฐานการผลิตออกไปนอกเมืองแทน แล้วจึงถูกพัฒนาให้เป็นพื้นที่สาธารณะที่ควบรวมความเป็นปอดของเมือง สวนเพื่อการพักผ่อนและหย่อนใจจากความแออัดของเมืองหลวง เข้ากับการเป็นพื้นที่จัดแสดงงานศิลปะที่ส่งเสริมกิจกรรมให้กับศิลปินท้องถิ่นได้มีโอกาสแสดงผลงานได้อย่างเต็มที่ พูดง่ายๆว่าที่นี่เหมือนกับการจับฟังก์ชั่นการใช้งานของTCDCและThe Jam Factory มามัดรวมกัน แต่ที่แตกต่างออกไป คือพื้นที่แห่งนี้ถูกพัฒนาขึ้นโดยรัฐบาลไต้หวันที่ตอกย้ำความต้องการให้ไทเปเป็นเมืองแห่งการออกแบบและต่อยอดนโยบายนั้นอย่างจริงจัง ส่งผลให้เกิดพื้นที่สาธารณะทางศิลปะกระจายตัวอยู่ทั่วทั้งเมืองซึ่งพื้นที่เหล่านี้ถูกใช้งานจริงและประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ทั้งยังได้รับการดูแลเป็นอย่างดีจากทุกภาคส่วน เพราะทุกคนต่างมีความรู้สึกว่าได้เป็นเจ้าของพื้นที่สาธารณะนี้ร่วมกัน
เสน่ห์ของฮว่าซาน ครีเอทีฟปาร์คแห่งนี้อยู่ที่กลุ่มอาคารโรงงานเก่าที่แม้ถูกทิ้งร้างไว้นาน ก็ยังอยู่ในสภาพดี โดยที่ความเป็นอินดัสเทรียลของโรงงานในสมัยก่อนยังสมบูรณ์ บวกกับต้นไม้น้อยใหญ่ที่เติบโตขึ้นก็ถูกเก็บรักษาไว้อย่างครบถ้วน ส่วนดีไซน์ใหม่ที่ถูกเพิ่มเติมเข้ามาก็ถูกปรับให้เข้ากันได้เป็นอย่างดี
พื้นที่ Outdoor จะเป็นสนามหญ้า และลานโล่งสำหรับจัดกิจกรรมกลางแจ้ง บางส่วนภายในจะเป็นร้านค้าที่วางขายสินค้าดีไซน์ของศิลปินท้องถิ่น และส่วนของนิทรรศการที่จัดแสดงงานหลากหลายสาขาหมุนเวียนกันไป รวมไปถึงคาเฟ่และร้านอาหารที่อัดแน่นไปด้วยดีไซน์สุดฮิปแทรกตัวอยู่ตามอาคารต่างๆ
ช่วงเวลาที่เราไปตรงกับวันหยุดสุดสัปดาห์ จะเห็นได้ว่าชาวไทเปมารวมตัวกันที่นี่เยอะมาก เพราะมีอีเว้นท์ที่จัดอยู่พอดี ซึ่งเราได้มีโอกาสเยี่ยมชมงาน Creema เป็นเทศกาลงานคราฟท์ที่จัดภายในอาคารโกดังหลังหนึ่งซึ่งคนก็หนาแน่นไม่แพ้กัน แต่ความน่ารักของคนที่นี่คือการเข้าชมอย่างเป็นระบบ มีการจัดคิวและทุกคนก็รอเข้าด้านในอย่างใจเย็น
– The Capital of Design –
จะเห็นได้ว่าผลพวงจากนโยบายของรัฐบาลไต้หวัน ที่พยายามผลักดันให้เมืองหลวงบนเกาะเล็กๆแห่งนี้มีฐานะเป็น เมืองสร้างสรรค์ ซึ่งเริ่มตั้งแต่การเป็นเจ้าภาพงานออกแบบนานาชาติ IDA (International Design Capital)
ในปี 2011 และยังกำหนดให้ปีเดียวกันนี้เป็นปีแห่งการออกแบบ ของประเทศ ก่อนจะต่อด้วยการจัดงาน WDC 2016(World Design Capital) และ Huashan 1914 Creative park ที่เรากล่าวถึงไปนั้น เป็นข้อพิสูจน์ที่ดีว่า ศิลปะและงานดีไซน์ได้ถูกบูรณาการเข้ากับความชำนาญดั้งเดิมของชาวไต้หวันด้านอิเล็กทรอนิกส์และการค้นคว้าวิจัยได้อย่างกลมกลืน ทำให้เกิดโมเดลธุรกิจใหม่ๆที่สร้างสรรค์มากมาย ซึ่งนอกจากจะทำให้เมืองพัฒนาไปอีกขั้น ยังมีส่วนช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนเมืองให้มีสีสันมากขึ้นไปอีกด้วย