OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

โต๊ะทำงานควรจัดแสงแบบไหน

Q.

สวัสดีค่ะ

คือตอนนี้ที่บ้านค่อนข้างมีปัญหาในเรื่องของการใช้แสงกับโต๊ะทำงานค่ะ เวลาทำงานรู้สึกได้เลยว่าต้องเพ่งหน้าจอ ในบางครั้งก็จะเกิดอาการตาล้าอีกด้วยค่ะ เลยอยากถามว่าเราสามารถจัดแสงยังไงให้รู้สึกสบายตาและผ่อนคลายได้บ้างคะ

ขอบคุณค่ะ

Sitapa K.

 

A.

สวัสดีค่ะ คุณ Sitapa สาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการตาล้าในการทำงาน อาจเกิดได้จากการจัดแสงไฟให้กับโต๊ะทำงานที่ไม่ส่องสว่างมากพอ หรือในบางครั้งถ้าแสงจ้ามากเกินไปก็สามารถทำให้ต้องเพ่งสายตาเวลาทำงานได้เช่นกันค่ะ ทาง Dsign Something เลยนำวิธีแก้ปัญหาในเบื้องต้นมาฝากคุณ Sitapa ดังนี้ค่ะ

แสงจากธรรมชาติ แสงที่สบายตาที่สุดในการทำงาน

ถ้าทำงานในช่วงเวลากลางวัน ควรนำโต๊ะทำงานมาตั้งติดชิดกับหน้าต่างหรือริมระเบียงให้มากที่สุด โต๊ะทำงานควรอยู่ในบริเวณที่ได้รับแสงธรรมชาติอย่างเพียงพอ เพราะแสงธรรมชาติคือแสงที่สบายตาที่สุดสำหรับมนุษย์ และในบางครั้ง ถ้าแสงแดดแรงเกิน ก็สามารถนำผ้าม่านที่ปรับระดับความเข้มของแสงมาติดบริเวณโต๊ะทำงานและหน้าต่างได้ ควรจัดทิศทางให้แสงธรรมชาติเข้ามาทางด้านหน้าของโต๊ะทำงาน แต่อยู่เหนือระดับสายตา เพื่อป้องกันการเพ่งสายตาในระหว่างทำงาน หรือถ้ามีพื้นที่ไม่เพียงพอ ก็สามารถจัดทิศทางให้แสงธรรมชาติเข้ามาด้านข้างได้เช่นกัน ถ้าเราถนัดซ้ายควรจัดให้แสงเข้ามาทางด้านขวา และถ้าถนัดขวา ควรจัดให้แสงเข้ามาทางด้านซ้าย เพื่อป้องกันเงาที่จะมารบกวนในตอนทำงาน

หลอดไฟและสีของหลอดไฟที่ควรใช้

ในบางครั้ง บริเวณห้องทำงานหรือโต๊ะทำงานมีแสงสว่างจากธรรมชาติไม่เพียงพอ ก็สามารถใช้หลอดไฟฮาโลเจนและหลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ นำมาใช้แทนแสงธรรมชาติได้ เพราะแสงจากหลอดไฟทั้งสองแบบนี้ มีความคล้ายคลึงกับแสงแดดและแสงในช่วงเวลากลางวันมากที่สุด แสงจะไม่สว่างจ้าหรือมืดจนเกินไป ส่วนสีของหลอดไฟควรใช้โทน Cool White เพื่อทำให้เกิดความสบายตาในขณะการทำงาน และทำให้สีจากงานไม่ผิดเพี้ยน

ความสว่างที่ควรใช้ในห้องทำงาน ควรใช้ความสว่างประมาณ 400 – 600 ลักซ์ เพื่อการมองเห็นที่ชัดเจนในการทำงาน ถ้าใช้ความสว่างน้อยหรือมากไปกว่านี้ จะทำให้ไม่สบายตาและยังไม่ดีต่อสายตาในการทำงานอีกด้วย

หลอดไฟสี Cool White คือสีที่ควรใช้ในห้องทำงาน ผู้ใช้งานจะรู้สึกสบายตา และไม่ต้องเพ่งตา เหมือนสี Warm White

ทำงานตอนกลางคืน ควรมีโคมไฟเพิ่มความสว่างให้กับโต๊ะทำงาน

ทำงานในช่วงเวลากลางคืน ควรหาโคมไฟตั้งโต๊ะที่สามารถปรับระดับ หรือขยับไปมา เพื่อเพิ่มความสว่างให้กับโต๊ะทำงานเพิ่มเติม เพราะโคมไฟทำให้สามารถมองเห็นงานได้ชัดเจนมากขึ้น จะไม่ต้องเพ่งตาในขณะทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเป็นคนที่ใช้คอมพิวเตอร์ทำงาน หรือทำงานที่มีความละเอียดสูง เช่นวาดรูป ทำงานประดิษฐ์ เย็บปักถักร้อย เป็นต้น แสงสว่างที่ชัดเจนจึงเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญในตอนทำงาน และควรใช้หลอดไฟสี Cool White เพื่อสร้างความสบายตาอีกด้วย ทิศทางที่ตั้งของโคมไฟก็เป็นอีกเรื่องที่สำคัญ ถ้าเป็นคนถนัดข้างขวา ควรตั้งโคมไฟไว้ด้านซ้าย และถนัดซ้าย ควรตั้งโคมไฟไว้ด้านขวา เพื่อไม่ให้เงาจากโคมไฟมาบังในขณะที่กำลังทำงานอยู่นั่นเอง

แสงไฟสะท้อน ตัวการทำให้ปวดตา

อีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้รู้สึกไม่สบายตาในขณะทำงาน คือแสงที่สะท้อนจากโคมไฟเหนือศีรษะ การเห็นแสงสะท้อนทำให้ต้องใช้สายตาเพ่งในการทำงานมากกว่าปกติ เมื่อนานไปอาจเกิดอาการปวดตาได้ สามารถแก้ปัญหาได้โดยการขยับโต๊ะทำงานไปในบริเวณที่ไม่เจอแสงสะท้อน หรือเปลี่ยนทิศทางของโคมไฟ และสามารถติดตั้งแสงแบบ Indirect Light แทนแสงที่ส่องสว่างโดยตรง เพื่อป้องกันการสะท้อนของแสงที่ทำให้เกิดเงาทึบข้างหลังจอภาพหรือจอคอมพิวเตอร์อีกด้วย

จากทั้ง 4 ข้อ จะเห็นได้ว่า “แสง” คือปัจจัยที่สำคัญในการเลือกทิศทางตั้งโต๊ะทำงาน ถ้าได้รับแสงสว่างที่เพียงพอ ก็สามารถช่วยให้ผู้ใช้งานสงบ และเกิดความผ่อนคลาย ส่วนแสงที่มืดหรือสว่างไป ก็จะส่งผลเสียต่อสายของผู้ใช้งานโดยตรง ทั้งการเพ่งตาในการจ้องจอคอมพิวเตอร์ จนสายตาเมื่อยล้า และปวดตาในท้ายที่สุด และแสงยังส่งผลโดยตรงต่ออารมณ์และความรู้สึกในการทำงานของผู้ใช้ได้ เช่น แสงธรรมชาติทำให้รู้สึกมีสมาธิ และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้นอีกด้วย เพราะฉะนั้นเราจึงควรใส่ใจทิศทางในการติดตั้งแสงรวมทั้ง การวางโต๊ะทำงาน เพื่อเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เพียงเท่านี้ผู้ใช้งานก็สามารถทำงานได้อย่างมีความสุขค่ะ

 

ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก Loungelovers, Pixabay, Decorreport, Unsplash

 


 

ใครมีคำถามคาใจเรื่องการออกแบบตกแต่งหรือสร้างบ้าน สามารถส่งคำถามมาได้ที่ dsignsomething@gmail.com หรือทางเพจของเรา DsignSomething  เรายินดีหาคำตอบมาให้ค่ะ

Discover more from Design Makes A Better Life.

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading