OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

ณ จุดสมดุลของความแตกต่าง THE BARISTRO AT PING RIVER

‘สถาปัตยกรรม ที่สร้างขึ้นบนจุดร่วมที่พอดีของความเนี้ยบและความหยาบแห่งสัจจะวัสดุ’

Location : เมือง , เชียงใหม่

Owner : คุณ ธนิต  สุวณีชย์

Architect : Mitr Architects / วรรัตน์  รัตนตรัย – พีระพงษ์  พรมชาติ –เกรียงไกร  กันนิกา

Interior Designer : คุณ พิชชานี  ค้อมคำพันธุ์

Engeneering & Construction : คุณ พิลาวรรณ  พิริยะโภคัย

หากใครเคยมา Cafe Hopping ที่เชียงใหม่ แน่นอนว่าต้องคุ้นหูกับชื่อ The Baristro คาเฟ่ที่โดดเด่นเรื่องความขาว แสงดี ถ่ายรูปสวย ซึ่งคุณต่อ เจ้าของร้านออกแบบร้านจากความชอบถ่ายรูป และนิสัยส่วนตัวที่รักความสะอาดเป็นที่สุด แต่กับ The Baristro  สาขาใหม่นี้กลับแตกต่างออกไปด้วยการเลือกใช้สัจจะวัสดุเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของความขาวคลีนตามแบบฉบับเดิม ซึ่งกลายมาเป็นเรื่องที่ท้าทาย ในการหาจุดที่ลงตัวระหว่างความดิบและความเนียบให้กับตัวสถาปัตยกรรมนี้ ที่ยังต้องคำนึงถึงบริบทโดยรอบอีกด้วย

– รอยต่อของยุคสมัย –

ตัวคาเฟ่เป็นอาคารที่สร้างขึ้นใหม่ บริเวณลานด้านหน้าตัวบ้านเดิม ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมในยุค mid-century สถาปนิกผู้ออกแบบจึงเลือกใช้องค์ประกอบและดีเทลบางอย่างจากอาคารเดิม มาประยุกต์ใช้กับตัวอาคารใหม่ที่ออกแบบให้มีความโมเดิร์น เพื่อให้เข้ากับยุคสมัยปัจจุบัน ด้วยฟอร์มสี่เหลี่ยมที่เรียบง่าย แฝงไว้ด้วยความน่าสนใจของเส้นสายและวัสดุ แสดงออกถึงความใหม่กว่าแต่ยังยึดโยงอยู่กับของเดิม และนอบน้อมตนเองเข้ากับบริบทโดยรอบซึ่งเป็นย่านชุมชนบ้านพักอาศัยได้เป็นอย่างดี

บ้านเก่าก็มีการรีโรเวทใหม่เช่นกัน ซึ่งคุณต่อวางแผนให้เป็นพื้นที่ ร้านอาหาร หรือ Co-working space ในอนาคต

เนื่องจากด้านหน้าของที่ดินติดถนน และด้านข้างที่ใกล้ชิดกับบ้านข้างเคียงและตัวบ้านเดิม ทำให้สถาปนิกเลือกใช้ผนังทึบทั้งสามด้าน เพื่อลดการรบกวนจากภายนอกและเพิ่มความเป็นส่วนตัวให้กับผู้ใช้อาคารภายใน ซึ่งมีส่วนช่วยป้องกันความร้อนจากทิศตะวันตกไปในตัว โดยออกแบบให้มีช่อเปิดเต็มๆในส่วนของทางเข้าอาคารรับแสงแดดโดยตรงในช่วงเช้า และรับแสงทางอ้อมด้วยช่องเปิดด้านบน ทำให้ภายในสว่างด้วยแสงธรรมชาติได้ตลอดวัน

– ความงามที่มาจากโครงสร้าง –

พื้นที่ภายในแม้ตกแต่งด้วยของน้อยชิ้นแต่ก็ดูลงตัว ด้วยสเปซและตัวโครงสร้างที่สวยงามอยู่แล้วซึ่งเอื้อให้การตกแต่งภายในเข้ามาเป็นส่วนเติมเต็มที่ทำให้สถาปัตยกรรมนั้นสมบูรณ์ ข้อดีอีกอย่างก็คือทำให้อาคารพื้นที่ 100 ตารางเมตรหลังนี้เสร็จภายในเวลา 2 เดือนเท่านั้น โดยเน้นโชว์พื้นผิวที่สร้างขึ้นจากวัสดุที่ใช้ในการก่อโครงสร้างโดยแทบไม่ผ่านการปรุงแต่งเช่นผนังเทขนาดใหญ่ด้านในสุด ที่ยกให้เป็นพระเอกของร้านที่อาจจะดูเป็นผนังคอนกรีตง่ายๆ แต่กลับมีความยุ่งยากในการทำมากที่สุด โดยที่สถาปนิกต้องทำ Mock-up ขึ้นมาหลายๆแบบเพื่อทดลองหาวิธีที่ลงตัวที่สุด และใช้เป็นตัวสื่อสารให้เห็นภาพตรงกันทั้งกับช่างและเจ้าของ

ผนังเทที่ประกอบไม้แบบสองชั้น โดยนำไม้แบบที่ใช้ไปแล้วรอบแรกมาใช้อีกครั้งเพื่อทำให้เกิดรอยเสี้ยนไม้แบบเก่าบนคอนกรีต และใช้กรวดเบอร์ละเอียดกว่าทั่วไปเทผสมลดเนื้อที่ของปูนและสร้าง texture ไปในตัว 

ใช้สกิมโค้ทสีขาวทาฉาบเป็นtextureของผนังภายนอก แยกเลเยอร์สองวัสดุด้วยการแนวเส้นเซาะร่อง ก่อผนังบนคานที่ยื่นออกมาจากโครงสร้างหลัก ทำให้ตัวอาคารดูลอยอยู่เนื้อระดับพื้นดิน ส่วนภายในเรียบด้วยสกิมโค้ทสีขาวเช่นกัน

เคาน์เตอร์ชงกาแฟสีขาวขนาดใหญ่ที่เนียนเรียบแบบไร้รอยต่อด้วยการใช้แผ่นหินขนาดใหญ่ ตัดกับความดิบเท่ๆของคนกรีตได้เป็นอย่างดี ส่วนเฟอร์นิเจอร์เป็นแบบสั่งทำทุกชิ้น เลือกใช้เป็นไม้สักที่ไม่ทำสีและไม่เคลือบเงา ทำให้มีความเป็นธรรมชาติสูง และมีความเป็นเอกลักษณ์ในแบบของร้าน ซึ่งเข้ามาช่วยเบรคโมโนโทน เทา-ขาว ที่เกิดจากสีวัสดุ ทำให้บรรยากาศมีความอบอุ่นนุ่มนวลขึ้นได้เป็นอย่างดี

อาคารชั้นเดียว เปิดโล่งโชว์คานและท้องพื้นดาดฟ้า จัดกลุ่มเฟอร์นิเจอร์แบบหลวมๆ ไม่แน่นขนัดจนเกินไป ปล่อยให้ที่ว่างได้ทำหน้าที่ของตัวเอง ในการสร้างบรรยากาศที่โปร่งโล่งผ่อนคลาย

เคาน์เตอร์สีขาวเด่นลอยออกมาจากระนาบด้านหลัง เพราะความเนียบเรียบที่ตัดกันได้ดีกับผนังคอนกรีตเทผิวหยาบ 

ไฮไลท์อีกอย่างที่ซ่อนอยู่ใน The Baristro สาขานี้ก็คือพื้นที่สวนขนาดใหญ่ริมแม่น้ำปิงด้านหลัง ซึ่งเหมาะกับการมานั่งเล่นในช่วงเย็นเป็นอย่างมาก

แม้จะกินระยะเวลาการก่อสร้างแค่สองเดือน แต่ก็เป็นสองเดือนที่หนักหน่วงสำหรับคุณต่อและทีมสถาปนิกที่เข้ามาติดตามและกำกับการทำงานของช่างตลอดระยะเวลาการก่อสร้าง ทั้งลงมือทำ ลองผิดลองถูก เพื่อลดความผิดพลาดจากการสื่อสารที่อาจคลาดเคลื่อนไประหว่างแบบกับช่าง เพราะทั้งทีมเชื่อว่าหัวใจสำคัญที่จะทำให้งานออกมาตรงตามแบบที่คิดไว้นั้นเริ่มตั้งแต่ดีเทลเล็กๆในขั้นตอนก่อสร้าง

Mitr Architects ทีมสถาปนิกผู้ออกแบบ

วรรัตน์  รัตนตรัย – พีระพงษ์  พรมชาติ –เกรียงไกร  กันนิกา