OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

แก้โจทย์ความเป็นส่วนตัวรอบบ้าน ด้วยการสร้างธรรมชาติภายใน “บ้านรอบ”

“เมื่อบริบทรอบบ้านไม่เป็นใจ การสร้างบริบทใหม่ที่มีธรรมชาติเป็นสิ่งสำคัญจึงเกิดขึ้น”

” บ้านรอบ “

Location: สาธุประดิษฐ์ กรุงเทพฯ

Architects: IF (Integrated Field Co.,Ltd.)

Photographs: Wworkspace | Wison Tungthunya

การออกแบบบ้านพักอาศัย ภายใต้ข้อจำกัดที่ไม่สามารถควบคุมได้อย่าง “บริบทรอบข้าง” ตึกรามบ้านช่องในเขตกรุงเทพมหานคร ที่ล้วนแล้วแต่อยู่ในรูปแบบอาคารสูง อย่างคอนโด หรืออพาร์ทเมนท์ นับเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง ที่จะสร้างสมดุลระหว่างความเป็นส่วนตัวกับความสวยงาม ซึ่ง “บ้านรอบ” เป็นหนึ่งตัวอย่างที่ถูกล้อมรอบไปด้วยอาคารสูง จำเป็นต้องตัดขาดความสัมพันธ์จากภายนอกเพื่อความเป็นส่วนตัว ในขณะที่ได้สร้างบริบทภายในขึ้นมาทดแทน เพื่อเติมเต็มความสวยงามให้บ้านดูน่าอยู่มากยิ่งขึ้น

โจทย์-รอบ-บ้าน

ความต้องการของครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีน ที่คุณพ่อและคุณแม่ตั้งใจให้พื้นที่แห่งนี้เป็นที่อยู่อาศัยในวัยเกษียณ ที่มีความเรียบง่าย เปิดโล่ง ท่ามกลางบรรยากาศเงียบสงบ แต่ทว่าบริบทของพื้นที่ถูกรายล้อมไปด้วยอาคารสูง 6 ชั้น ซึ่งทำให้ในทิศเหนือและทิศตะวันตกของบ้าน ถูกลดทอนความเป็นส่วนตัวจากมุมมองของผู้พักอาศัยในอาคารกว่าร้อยห้อง งานนี้จึงได้สถาปนิกมากประสบการณ์อย่าง IF (Integrated Field Co.,Ltd.) มาช่วยแก้โจทย์เหล่านี้ ทำให้บ้านมีความเป็นส่วนตัวได้มากที่สุด รวมถึงการสร้างพื้นที่ภายในให้สามารถตอบโจทย์การอยู่อาศัย และพื้นที่สานสัมพันธ์ของทุกสมาชิกในครอบครัว

ความอบอุ่น “ล้อมรอบสีเขียว”

สถาปนิกได้เริ่มต้นออกแบบด้วยการวางบ้านไว้ด้านในสุดของพื้นที่ทั้งหมด โดยวางส่วน service หรือส่วนบริการของบ้าน ที่ส่วนใหญ่จะเป็นกำแพงทึบและเป็นพื้นที่ที่ไม่ต้องการช่องเปิดมาก รวมถึงห้องครัว และห้องน้ำ ล้อมรอบพื้นที่หลักของตัวบ้านไว้ เพื่อบดบังมุมมองจากอาคารสูง ตลอดจนสร้างความเป็นส่วนตัวให้สมาชิกในครอบครัว และออกแบบให้รูปทรงของบ้านโอบล้อมคอร์ทยาร์ด พื้นที่สีเขียวที่เป็นเหมือนหัวใจสำคัญของบ้านไว้

แปลนชั้น 1 ของบ้านรอบ

ซึ่งไม่เพียงแต่จะสร้างบรรยากาศโปร่งโล่งให้บ้านเท่านั้น แต่ยังเป็นการอนุญาตให้สายลมและแสงธรรมชาติเข้าสู่ตัวบ้านได้ตลอดทั้งวัน รวมทั้งเป็นพื้นที่ใจกลางบ้านที่คนในครอบครัวสามารถมาใช้เวลาอยู่ร่วมกัน สามารถมองเห็นกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในบ้านได้ ก่อเกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัวมากขึ้น

เข้า…“รอบ“

เมื่อก้าวเข้าสู่โถงชั้น 1 เราจะพบกับที่ตั้งของศาลตี่จู้เอี๊ยะตามความเชื่อของชาวจีนโบราณ ซึ่งสถาปนิกได้ออกแบบให้มีความโมเดิร์น เรียบๆ เข้ากับบ้านยุคสมัยปัจจุบัน มีห้องบรรพบุรุษชาวจีน ห้องนั่งเล่น ห้องทานอาหาร โดยเรียงฟังก์ชันให้ล้อมรอบคอร์ทยาด เชื่อมต่อไปยังบันไดทางขึ้น ชั้น 2 ของบ้าน ที่ถูกออกแบบให้หลังคามีลักษณะลาดเอียงขนานไปกับองศาของบันได

บันไดทางขึ้นชั้น 2 ของบ้าน เปิดมุมมองด้านซ้ายสู่ความเขียวขจีของคอร์ทยาด

ภายในห้องนั่งเล่นชั้นล่างที่สามารถเลือกเปิด เพื่อสัมผัสธรรมชาติภายในคอร์ทยาดได้ใกล้ชิดมากขึ้น และลมสามารถพัดผ่านหมุนเวียนเข้ามายังพื้นที่ภายในได้อย่างเต็มที่

พื้นที่ชั้นสองเราจะพบกับ Family Room ก่อนเจอสะพานทางเชื่อมที่ต่อเนื่องไปยังห้องพระ ซึ่งทางเชื่อมนี้สามารถสัมผัสกับคอร์ทยาดและด้านหน้าบ้านได้อย่างเต็มที่ ฝ้าเพดานและพื้นกรุด้วยไม้ต่อเนื่องไปยังพื้นที่ทั้งหมดให้ความรู้สึกอบอุ่นมากยิ่งขึ้น

แปลนชั้น 2 ของบ้านรอบ

สะพานเชื่อมต่อระหว่างห้องนั่งเล่นชั้น 2 ไปยังห้องพระ

ส่วนห้องนอนของสมาชิกแต่ละคน ในแต่ละห้องจะมีพื้นที่ทำงาน ส่วนพักผ่อน และห้องน้ำ ซึ่งห้องน้ำนั้น สถาปนิกออกแบบให้มีสกายไลท์ เพื่อระบายอากาศและให้แสงธรรมชาติสามารถลอดผ่านเข้ามาภายในได้ เกิดมิติของแสงที่แตกต่างกันไปในแต่ละช่วงของวัน และยังรักษาความเป็นส่วนตัวได้ดีกว่าการใช้หน้าต่างในระนาบผนัง รวมถึงการใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ อย่างการตากเสื้อผ้าภายในห้องน้ำได้โดยไม่ชื้นอีกด้วย

ปกป้อง “ครบรอบด้าน”

นอกจากการปกป้องบ้านจากข้อจำกัดของอาคารสูงที่อยู่รอบบ้านในทางทิศเหนือและทิศตะวันตกด้วยกำแพงทึบแล้ว ยังมีการปกป้องบ้านจากความร้อนของแสงแดดที่ส่องผ่านมายังช่องเปิดต่างๆที่อยู่ทางทิศใต้ส่วนใหญ่ ด้วยการใช้วัสดุและองค์ประกอบภายในบ้าน อย่างกระจก Insulated Glass หรือกระจกฉนวนกันความร้อน

รวมถึงการปลูกต้นไม้แบบ Double skin ที่ทำหน้าที่ดั่งม่านกรองแสงชั้นแรกกับบ้าน ทำให้เราสามารถเปิดรับธรรมชาติเข้ามาได้ตลอดทั้งวัน ลมสามารถหมุนเวียนภายในบ้านได้อย่างเต็มที่ โดยที่อากาศไม่ร้อนจนเกินไป

รอบรู้เรื่อง “วัสดุ”

โครงสร้างเหล็กถูกนำมาใช้กำหนดขอบเขตของพื้นที่ส่วนกลาง ซึ่งแตกต่างจากพื้นที่ส่วนตัวที่พื้นผิวที่มีสีขาว และมีการติดตั้งช่องหน้าต่างแบบบานเฟี้ยม วัสดุโปร่งอย่างมุ้งลวดตามแนวโครงเหล็กบริเวณห้องนั่งเล่น ทั้งชั้น 1 และชั้น 2 เพื่อเปิดรับอากาศและแสงแดดจากภายนอกเข้าสู่ตัวอาคารได้อย่างเต็มที่ ตลอดจนวัสดุที่เรียบง่าย อย่างกระเบื้องหิน ผนังสีขาว พื้นและฝ้าที่เป็นไม้ สร้างความรู้สึกเบาและโปร่งโล่ง

หน้าต่างบานเฟี้ยมบริเวณชั้น 2 ของบ้าน

‘บ้านรอบ’ เป็นอีกหนึ่งผลลัพธ์ที่แก้โจทย์จากรอบบ้านได้อย่างลงตัว วิธีคิดที่ต้องการสร้างความเป็นส่วนตัวจากพื้นที่ ‘รอบบ้าน’ โดยเชื่อมโยงพื้นส่วนกลาง และทางสัญจรภายในบ้านที่ ‘ล้อมรอบ’ พื้นที่สีเขียวที่สร้างเป็นเหมือนหัวใจของบ้าน ทำให้เกิดบรรยากาศแห่งความสงบ เปิดรับธรรมชาติเข้ามาอย่างใกล้ชิด สงบ ผ่อนคลาย และไม่วุ่นวายจนเกินไป ตอบโจทย์ความต้องการของผู้อยู่อาศัยอย่างแท้จริง