OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

10 คำถามกับภูมิสถาปนิก คุณธวัชชัย กอบกัยกิจ แห่ง TK Studio

“แลนด์สเคปไม่ได้จำเป็นแค่งาน Commercial เท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นบ้านหรือที่พักอาศัย แลนด์สเคปก็สามารถช่วยให้สภาพแวดล้อมดีขึ้นได้” คุณธวัชชัย กอบกัยกิจ

แลนด์สเคปดีไซน์เป็นงานที่ต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ในการออกแบบ กล่าวคือต้องใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ใช้ทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ แต่ในขณะเดียวกันก็ใช้ความงามด้านสุนทรียภาพ เพื่อสร้างสรรค์ภูมิทัศน์ที่สวยงาม ภายใต้ข้อกำหนดของสิ่งแวดล้อม เช่น ธรรมชาติ ภูมิอากาศ ที่ดิน และสถาปัตยกรรม โดยนอกเหนือจากการออกแบบแลนด์สเคปให้สวยงามแล้ว ภูมิสถาปนิกก็ควรคำนึงถึงธรรมชาติ บริบทรอบข้าง และผู้ใช้งานในการออกแบบแต่ละโปรเจคอีกด้วย

เราพกข้อสงสัยเรื่องการออกแบบแลนด์สเคปมาพบกับคุณธวัชชัย กอบกัยกิจ ภูมิสถาปนิกจาก TK Studio ผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการแลนด์สเคปมานานนับหลายปี และเป็นผู้ที่จะมาตอบข้อสงสัยที่เรายังไม่รู้เกี่ยวกับแลนด์สเคป ให้เรากระจ่างและเข้าใจมากขึ้นค่ะ

1 การออกแบบแลนด์สเคปที่ดีเป็นอย่างไร ?

คุณธวัชชัย กอบกัยกิจ: จริงๆมันพูดยากนะครับ คือแต่ละคนก็ย่อมจะมองว่าสวยต่างกัน ในการทำโปรเจคแต่ละครั้งจะมีบุคคลอยู่ 2 – 3 กลุ่ม ประกอบด้วยกลุ่มดีไซน์เนอร์ กลุ่มเจ้าของโครงการ และกลุ่มที่ปรึกษาอื่นๆ ผมมองว่าแลนด์สเคปที่ดีควรจะเป็นงานที่สามารถตอบโจทย์กับทุกคนที่เข้ามามีส่วนร่วมได้ และไม่ใช่แค่บุคคลเพียง 2 – 3 กลุ่มนี้เท่านั้น หากแต่ยังมีบุคคลทั่วไปที่เข้ามาใช้งานในพื้นที่เพราะงานแลนด์สเคปส่วนมากจะเป็นงานสาธารณะครับ และส่วนสุดท้ายที่เราให้ความสำคัญไม้แพ้กัน คือผู้ใช้งานที่ไม่มีเสียงอย่างสัตว์และพืช ถึงแม้พวกเขาจะเป็นสิ่งมีชีวิตเล็กๆ แต่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้สภาพแวดล้อมและธรรมชาติเกิดความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น

งานแลนด์สเคปที่ดีคืองานที่สามารถตอบโจทย์ผู้ใช้งานได้ทุกกลุ่ม ถึงแม้พวกเขาจะไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจก็ตาม

ทีมงาน TK Studio

2 วิธีการทำงานและวิสัยทัศน์ของ TK Studio เป็นแบบไหน ?

คุณธวัชชัย กอบกัยกิจ: ผมอยากให้งานที่ผมทำสามารถช่วยแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมได้บ้าง หรือไม่กดดันสิ่งแวดล้อมมากกว่าที่เป็นอยู่ เพราะถ้าเทียบกับในอดีตแล้วต้องถือว่าสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติในปัจจุบันค่อนข้างมีปัญหาเลยก็ว่าได้ ผมก็เลยคิดว่านอกจากที่จะต้องออกแบบแลนด์สเคปให้สวยแล้ว การเข้าใจธรรมชาติของพื้นที่ออกแบบ และการนำเรื่อง Sustainable มาใช้เป็นแนวทางในการออกแบบนั้นก็สำคัญ เพราะอยากพัฒนาสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น ลดการใช้พลังงานที่สิ้นเปลือง เช่น เลือกที่จะปลูกต้นไม้ขนาดเล็กแทนต้นไม้ขนาดใหญ่ ลดค่าใช้จ่าย ลดพลังงานในการขนส่ง หรือนำสิ่งของและทรัพยากรบางส่วนกลับมาใช้ โดยผมอยากให้การประหยัดพลังงานเห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น และวิสัยทัศน์อีกอย่างของบริษัทคืออยากให้งานแต่ละโปรเจค สามารถนำผู้คนมาใช้งานพื้นที่ส่วน Outdoor มากขึ้น ให้ผู้คนเห็นคุณค่าของสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติมากขึ้น

แนวคิดหลักๆของออฟฟิศเราคือการทำงานด้วยแนวทางแบบ Sustainable เราคำนึงถึงสภาพแวดล้อมก่อนสังคม เพราะเราเชื่อว่าถ้าสภาพแวดล้อมดีขึ้น สังคมก็จะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี และพัฒนาสังคมให้เป็นสังคมที่ดีขึ้นตาม

3 เห็นว่าทาง TK Studio เพิ่งสร้างออฟฟิศใหม่ แนวคิดในการออกแบบออฟฟิศแห่งนี้เป็นอย่างไร ?

คุณธวัชชัย กอบกัยกิจ: ผมตั้งใจซื้อบ้านเก่ามารีโนเวทเป็นออฟฟิศครับ โดยตั้งใจว่าอยากให้บ้านคงสภาพเดิมมากที่สุด ไม่อยากทุบหรือเปลี่ยนแปลงอะไรมากมาย เพราะว่าบ้านเก่ามันมีเรื่องของเวลาเข้ามาเกี่ยวข้อง เป็นความต่อเนื่องจากอดีตสู่ปัจจุบัน เมื่อผมได้มาตั้งออฟฟิศใหม่ที่นี่ ก็เหมือนเป็นการใช้งานใหม่บนพื้นที่เก่าด้วย คล้ายกับการเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมเลยครับ

Mood & Tone หลักของออฟฟิศจะเป็นสีขาวสว่าง มีพื้นที่เปิด มีกระจกค่อนข้างเยอะ ช่วยให้บรรยากาศภายในโปร่ง โล่ง มองแล้วสบายตา และยังสามารถควบคุมปริมาณแสงที่จะเข้ามาในออฟฟิศได้อีกด้วย มากไปกว่านั้นการที่มีช่องเปิดเยอะก็ช่วยให้มองเห็นความเขียวจากธรรมชาติภายนอกได้ชัดเจน

โครงการป่าในกรุง

4 โปรเจคไหนที่ภูมิใจที่สุดของชีวิตการเป็นภูมิสถาปนิก ?

คุณธวัชชัย กอบกัยกิจ: โปรเจคที่คิดว่าภาคภูมิใจที่สุดในตอนนี้คือป่าในกรุงครับ โดยเจ้าของให้บริษัทของเราเป็นที่ปรึกษาหลักของโครงการ ซึ่งโดยปกติแล้วการที่ภูมิสถาปนิกจะได้เป็นที่ปรึกษาหลักนี่มีโอกาสค่อนข้างน้อย แต่โปรเจคนี้ผมดูแลเองหมดตั้งแต่ทีมออกแบบ ทีมก่อสร้าง หรือจะเรียกว่าดูแลตั้งแต่ต้นจนจบเลยก็ได้ครับ

ป่าในกรุงก็ถือว่าเป็นโปรเจคที่ใหม่ในไทย และมีผลตอบรับที่ค่อนข้างดีครับ เป็นโปรเจคที่ผู้ใช้งานจะได้รับประสบการณ์ในการชมธรรมชาติที่แตกต่างกันในแต่ละครั้ง พอโปรเจคนี้เริ่มเห็นเป็นรูปเป็นร่าง ผมและทีมงานทุกคนต่างก็ภูมิใจที่สามารถทำให้โปรเจคนี้ประสบความสำเร็จ เพราะพวกเราต่างก็ลงมือ ลงแรง และลงใจไปมากจริงๆ

5 ภูมิสถาปนิกกับนักจัดสวนต่างกันอย่างไร ?

คุณธวัชชัย กอบกัยกิจ: ตอนที่ผมเรียนอยู่ ผมเข้าใจว่าทั้งอาจารย์ ทั้งเพื่อนๆ รุ่นพี่ รุ่นน้อง ไม่มีใครอยากเรียกตัวเองว่าเป็นนักจัดสวน แต่พอผมเติบโตและมีประสบการณ์ทำงานมากขึ้น ก็เข้าใจว่าจริงๆแล้วการเป็นนักจัดสวนนั้นค่อนข้างยาก เพราะเขาจะต้องเข้าใจธรรมชาติของต้นไม้ได้อย่างละเอียดลึกซึ้ง และสามารถนำต้นไม้มาจัดเรียงให้สวยงาม คล้ายกับเป็นงานศิลปะชิ้นหนึ่งครับ

ต้นไม้ถือเป็นส่วนหนึ่งในการทำแลนด์สเคป แต่ถ้าเราจัดสวน ต้นไม้จะกลายเป็นองค์ประกอบหลักทันที 

เพราะต้นไม้เป็นเพียงแค่องค์ประกอบส่วนหนึ่งของการออกแบบแลนด์สเคป จริงๆแล้วเรายังมีการออกแบบทางเดิน ลายพื้น หรือการออกแบบสถาปัตยกรรมเล็กๆ เช่น ศาลา ซุ้มต้นไม้ น้ำพุ และน้ำตก ในตอนนี้ถ้ามีคนเรียกผมว่าเป็นนักจัดสวน ผมก็ไม่ซีเรียสแล้วครับ เพราะจริงๆแล้วอาชีพนี้ก็ต้องเป็นทั้งนักจัดสวน ทั้งนักออกแบบทั้ง 2 อย่างนั่นเอง

6 ต้นไม้ใหญ่ๆซื้อที่ไหน ?

คุณธวัชชัย กอบกัยกิจ: จริงๆมีหลายที่เลยครับ ถ้าใกล้ๆกรุงเทพก็จะเป็นที่ราบ 11 หรือออกไปนอกเมืองเล็กน้อยก็อยู่ถนนถนนรังสิต – นครนายก คลอง6 และคลอง 7 เป็นต้น แต่ถ้าไกลออกไปก็จะเป็นที่ต่างจังหวัด เช่น ดงบัง ที่จังหวัดปราจีนบุรี หรือบ้านนา จังหวัดนครนายก

ศูนย์การค้า  Central Festival EastVille

7 งานแลนด์สเคปแบ่งเป็นกี่ประเภท ?

คุณธวัชชัย กอบกัยกิจ: ผมว่าแล้วแต่คนนะว่าจะแบ่งเป็นแบบไหนบ้าง สำหรับ TK Studio จะแบ่งโดยใช้ขนาดของพื้นที่เป็นหลัก เช่น Landscape Planning เป็นการวางผัง จะทำในสเกลค่อนข้างใหญ่ โดยจะดูว่าแต่ละพื้นที่เหมาะกับการใช้ประโยชน์แบบไหนบ้าง เช่นบริเวณนี้เหมาะกับการทำนา ปลูกพืช ผักหรือผลไม้

ประเภทต่อมาเป็นขนาดที่เล็กลง คือ Landscape Architecture หรือ Landscape Design เช่นหมู่บ้าน คอนโด สวนสาธารณะ หรือห้างสรรพสินค้า และส่วนสุดท้ายคือส่วนสเกลที่เล็กที่สุดนั่นคือบ้านหรือที่พักอาศัยครับ

ที่ออฟฟิศเราจะมีงานหลายประเภทครับ แต่ส่วนมากจะเป็นงาน Landscape Design โดยเริ่มจากการออกแบบภาพรวมแล้วถึงออกแบบรายละเอียดแต่ละส่วน เช่น เริ่มจากวางผังการใช้ที่ดิน โดยเริ่มแพลนว่าจะวางโซนนิ่ง วางทางเข้า วางกลุ่มอาคารตรงไหนบ้าง และจะเชื่อมต่อแต่ละส่วนด้วยวิธีแบบไหน แล้วถึงค่อยลงลึกรายละเอียดแต่ละส่วน เช่น ที่นั่งพัก ม้านั่ง สวน จะออกแบบอย่างไรและจัดวางแบบไหน

8 ใครที่ควรจ้างแลนด์สเคปทำงาน ?

คุณธวัชชัย กอบกัยกิจ: ผมมองว่าโครงการที่มีพื้นที่ว่าง มีที่โล่ง หรือมีพื้นที่ภายนอกเป็นจำนวนมาก ก็ควรจะมีภูมิสถาปนิกเข้าไปช่วยออกแบบ เพราะนอกจากเราจะสามารถจัดสรรพื้นที่ให้เกิดประโยชน์ได้แล้ว เรายังคำนึงถึงธรรมชาติและสัตว์ร่วมโลกครับ เพราะผมเชื่อว่าทั้งพืช ต้นไม้ และสัตว์ชนิดต่างๆ ช่วยเติมเต็มสภาพแวดล้อมให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

แลนด์สเคปไม่ได้จำเป็นแค่งาน Commercial เท่านั้น เพราะจะเป็นบ้านหรือที่พักอาศัย แลนด์สเคปก็สามารถช่วยให้สภาพแวดล้อมดีขึ้นได้ 

9 งานแลนด์สเคปควรเข้าตอนไหน ?

คุณธวัชชัย กอบกัยกิจ: ส่วนมากภูมิสถาปนิกจะเข้าไปช่วงที่สถาปนิกหรือเจ้าของกำหนดแล้วว่าอาคารอยู่ส่วนไหนของที่ดิน มีมาสเตอร์แปลนที่แน่นอน เพราะถ้าเกิดผังอาคารยังไม่แน่นอน ภูมิสถาปนิกก็จะไม่ทราบว่าพื้นที่ภายนอกมีขนาดเท่าไหร่ มีทางเข้า ทางออกอยู่ตรงไหนครับ แต่ก็มีบางโปรเจคที่ลูกค้าอยากให้ผมปรับปรุงพื้นที่ให้สภาพแวดล้อมอุดมสมบูรณ์ก่อน แล้วถึงค่อยวางผังอาคารทีหลังก็มีบ้างครับ

10 เทรนด์การออกแบบแลนด์สเคปของเมืองไทยและของโลกในตอนนี้เป็นอย่างไร ?

คุณธวัชชัย กอบกัยกิจ: ในต่างประเทศตอนนี้ก็คงเป็นเรื่อง Sustainable หรือการออกแบบอย่างยั่งยืน การปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้ดีขึ้น เพราะจัดสวนไม่ใช่แค่เรื่องความสวยงามเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงประสิทธิภาพในการทำให้สภาพแวดล้อมดีขึ้นด้วย เช่นโครงการป่าในกรุง ผมคิดว่าโครงการนี้ประสบความสำเร็จในเรื่องการเปิดมุมมองความคิดการออกแบบแลนด์สเคป ว่างานที่สวยไม่จำเป็นต้องเนียบอยู่ตลอดเวลา การที่เราออกแบบต้นไม้ให้ดูซับซ้อนเหมือนอยู่ในป่า ดูยุ่งเหยิง ไม่มีระเบียบ ก็เป็นงานที่สวยได้ และยังเป็นการสร้างมุมมองความสวยงามที่เปลี่ยนไปให้กับผู้ใช้งานอีกด้วย ซึ่งหากในภายภาคหน้าผู้คนยอมรับมุมมองนี้กันมากขึ้น ก็อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้งานแลนด์สเคปมีความยั่งยืนมากขึ้นครับ

แต่ก่อนพื้นที่ป่าในเมืองไทยมีประมาณ 70% แต่ในเวลาที่ผ่านมาไม่ถึง 100 ปี พื้นที่ป่านี้ได้หายไป เหลือแค่ 20% เท่านั้น ถือว่าหายไปเยอะมากเลยนะครับ และผลลัพธ์ของการไม่มีป่าไม้ก็ค่อนร้ายแรง เช่นการเกิดน้ำท่วม การเกิดโลกร้อน แล้วถ้าต้นไม้มีน้อยลงเรื่อยๆ ก็จะไม่มีตัวดูดซับคาร์บอน ทำให้สภาพแวดล้อมในอากาศไม่ดีเป็นมลพิษ นี่คือสาเหตุว่าทำไมผมถึงสนใจการออกแบบอย่างยั่งยืน เพราะสภาพแวดล้อมและธรรมชาติจำเป็นต่อการอยู่อาศัยของมนุษย์ จำเป็นต่อสิ่งแวดล้อม จำเป็นต่อระบบนิเวศนั่นเองครับ

“ผมคิดว่าการใส่ใจสภาพแวดล้อมเป็นเรื่องที่สำคัญ และนอกจากภูมิสถาปนิกจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยได้แล้ว ก็คงไม่เห็นผลมากเท่ากับการตระหนักรู้ การเกิดความเข้าใจและร่วมมือกันของผู้คนจากหลายๆภาคส่วน” คุณธวัชชัยกล่าวทิ้งท้ายกับเรา ให้เราได้กลับมาคิดทบทวนอีกครั้ง ว่าตอนนี้เราใส่ใจสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติได้ดีพอแล้วหรือยัง​…

ขอขอบคุณ คุณธวัชชัย กอบกัยกิจ

จากบริษัท TK Studio