“สิ่งที่ดีที่สุดของอาชีพนี้ ที่มันดีมากๆเลยก็คือ การที่ได้ทำงานเกี่ยวข้องกับชีวิตของคน สังคม ของสิ่งรอบๆข้าง เรามีส่วนร่วมในการพัฒนาอะไรสักอย่างให้มันดีขึ้น แม้กระทั่งสิ่งเล็กๆก็ตาม”
ในขณะที่คลื่นลูกใหม่ของวงการสถาปนิก เริ่มเผชิญสู่โลกแห่งความเป็นจริงมากขึ้นในทุกๆปี ความเปลี่ยนแปลงจากการเป็น “นักศึกษาสถาปัตย์”กลายมาเป็น “สถาปนิก” อย่างเต็มภาคภูมิ ทำให้เราเดินทางมาพูดคุยกับ “คุณหนึ่ง เอกภาพ ดวงแก้ว” แห่ง EKAR Architects ผู้ที่โลดแล่นอยู่ในวงการการออกแบบสถาปัตยกรรมมาตั้งแต่สมัยเรียนที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่มีรางวัลประกวดแบบมากมายเป็นเครื่องพิสูจน์ มาช่วยชี้แนะแนวทางและบอกเล่าเรื่องราวถึงนักศึกษาสถาปัตย์ป้ายแดง ที่พร้อมจะก้าวเดินไปเป็นสถาปนิกที่ดีต่อไปในอนาคต
1. อะไรเป็นจุดเริ่มต้นของการอยากเป็นสถาปนิก?
คุณเอกภาพ: คือตั้งแต่เด็ก พ่อเป็นศิลปิน เป็นประติมากรและอาจารย์อยู่ที่คณะวิจิตรศิลป์อยู่ที่เชียงใหม่ พ่อปั้นลูกทั้ง 3 คนด้วยการปลูกฝังศิลปะตั้งแต่เด็ก คือตอนประถม ผมชอบส่งประกวดวาดรูปได้รางวัล อยู่บ้านว่างก็วาดรูป พี่น้องสามคน ทุกคนได้รางวัลศิลปะหมดเลย จนโรงเรียนเบื่อเพราะนามสกุลเดียวกัน (หัวเราะ) คือพอโตมาเรารู้สึกแน่ๆว่าเราอยากทำอะไรที่สร้างสรรค์ อาจจะเป็นเพราะตอนเด็กๆเราถูกฝึกให้คิดอะไรที่มันสร้างสรรค์ ซึ่งคือการทำอะไรให้ดีขึ้นให้มันแตกต่าง ก็เริ่มค้นหาว่ามีอะไรบ้าง ตอนนั้นที่เลือกไปก็มีสถาปัตย์ ดุริยางคศิลป์ เพราะเราเล่นเปียโนตั้งแต่เด็กด้วย แล้วก็มีนิเทศน์เพราะคิดว่าน่าจะได้ใช้ความสร้างสรรค์ สุดท้ายก็มาลงเอยที่คณะสถาปัตยกรรม ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
บ้าน Soul ผลงานการออกแบบบ้านล่าสุดของ EKAR
2. ช่วงชีวิตในการเป็นนักศึกษาสถาปัตย์ ชอบขั้นตอนใดของการเรียนมากที่สุด?
คุณเอกภาพ: ผมชอบตอนกำลังคิดงาน ผมชอบที่ต้องไปนั่งจมอยู่กับความคิดอะไรสักอย่าง ซึ่งจริงๆม.เชียงใหม่สอนให้คนคิด ตั้งคำถามแล้วไปหาคำตอบ อ่านหนังสือไปนั่งครุ่นคิดจนตกผลึกมากลายเป็นแก่นความคิดอะไรบางอย่าง แล้วก็ได้ลองทำมันนั่นแหละคือความสนุก
Re-Gen House บ้านโมเดิร์นของครอบครัวขยาย อบอุ่นแบบไทย เท่แบบเรียบง่าย…
http://bit.ly/Re-GenHouse_fb
3. เล่าทีสิสที่ทำตอนปี 5 ให้ฟังหน่อย โปรเจคนั้นให้อะไรกับเราบ้าง?
คุณเอกภาพ: ตอนนั้นเราสนใจเรื่องของวินเทจ ความเก่าและใหม่ สนใจทั้งอะนาล็อกกับดิจิตอล เราเลยตั้งคำถามว่า สองอย่างนี้มันให้อะไร มันสร้างอะไร และมันทำลายอะไรบ้าง เลยสร้างสเปซที่ทำให้คนรู้สึกถึงทั้งสองอย่าง นั่นก็คือมิวเซียม ได้ทดลองการใช้สเปซที่สนุกที่สุดแล้ว เหมือนทดลองแหย่ขาเข้าไปในความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องสเปซ เป็นก้าวหนึ่งที่ทำให้ตกผลึกมาเป็นวันนี้ได้
“เรื่องบางอย่างของความสัมพันธ์ของคนกับที่ว่างรอบๆ ซึ่งตอนนั้นไม่ได้เข้าใจจิตวิญญาณและความหมายขนาดนั้น แต่วันนี้เข้าใจดีแล้ว…”
4. (เห็นประกวดแบบบ่อยๆ) คิดยังไงกับการประกวดแบบ แล้วสิ่งนี้ให้อะไรกับเราบ้าง?
คุณเอกภาพ: เวลาเราออกแบบงานเสร็จ พอมันเป็นความคิดสร้างสรรค์ เราไม่ได้รู้จริงๆนะว่ามันดีหรือไม่ดี มันไม่เคยมีใครพิสูจน์ เพราะมันใหม่และไม่เคยเกิด ซึ่งทางเดียวที่ทำให้เราหายขัดข้องใจนั่นก็คือการประกวดแบบ ที่ให้คนที่ไม่ได้รู้จักเราเป็นคนบอก เราจะได้รู้ว่าผลลัพธ์สุดท้ายเป็นยังไงในมุมมองที่กว้างขึ้น โดยที่ตัดแฟกเตอร์อื่นๆออก เหลือแค่งานเท่านั้น
Multi-Place 1 of 5 Finalist of Architizer A+ Awards
วันหนึ่งมีอาจารย์ชงประกวดแบบต่างประเทศ ทำงานคู่กับพาสเนอร์อีกคนหนึ่งที่ทำด้วยกันจนถึงทุกวันนี้ เราประกวดแบบชนะที่นิวยอร์กตอนปี 3 ได้รางวัลที่สอง จริงๆตอนรู้ว่าได้รางวัลไม่ได้รู้สึกอะไรมากมาย ด้วยความที่ถูกบิ้วท์เลยไปรับรางวัลด้วยตัวเอง พอเราไปถึงจริงๆ เราไปเห็นบรรยากาศ เห็นงานคนอื่นที่แปะบอร์ดอยู่ ก็เปลี่ยนmind set ไปเลยว่าที่ทำงานไม่ได้ทำแค่ส่งอาจารย์แล้วล่ะ ทุกคนทำได้ เราก็ทำได้ ไม่ได้ยากอะไร จากนั้นก็ขยันประกวดแบบต่อมาเรื่อยๆ
งานประกวดแบบที่ได้รับรางวัล ซึ่งไปรับในสภา UN ของนิวยอร์ค
EKAR TEAM
5. กว่าจะเปิดบริษัทเป็นของตัวเอง ต้องพร้อมแค่ไหน การพร้อมเรื่องอะไรสำคัญที่สุด?
คุณเอกภาพ: ของผมคือไปตามลำดับธรรมชาติของมันเอง เหมือนเข็มนาฬิกาที่มันค่อยๆหมุนไปข้างหน้า พอถึงเวลามันก็พาไปตรงนั้นเอง จริงๆก่อนหน้านั้นรวมทีมกับเพื่อนๆตั้งแต่ปี 3 ใช้ชื่อว่า NOTDS มาจาก North of Thailand Design Studio ส่งประกวดแบบ พอมาทำงานที่ A49 แล้วพบว่าการเรียนรู้ที่นี่คือพาร์ทหนึ่งของทั้งหมด ส่วนอีกพาร์ทหนึ่งในชีวิตจริงเรารู้ว่าภาระมันยิ่งใหญ่มาก เรารอทีละขั้นไม่น่าจะได้ เลยต้องทำอะไรสักอย่างไปด้วย เราก็เลยทำงานจากลูกค้า ซึ่งงานบ้านหลังแรกที่ทำก็คือ T-House บ้านสีขาวที่ทุกวันนี้ยังรู้สึกเลยว่าเป็นบ้านที่ดีที่สุด ซึ่ง4 ปีก่อน ได้เปลี่ยนชื่อจาก NOTDS เป็น EKAR แค่นั้นเอง จะว่าไปก็เป็นบริษัทเดียวกัน
บ้าน T-House อ่านเพิ่มเติมได้ที่… https://www.archdaily.com/office/notds
ซึ่งถามว่า ต้องพร้อมแค่ไหน? คือถ้าเรามีเป้าหมาย เราก็แค่ทำมันไปตามเป้าหมาย แต่เราไม่ได้ถึงกับคิดว่า ต้องไปแบบนั้นแบบนี้ อีกกี่ปีต้องไปไงต่อ คิดแค่ว่าถ้าจะไปถึงจุดนั้น ก็ต้องเริ่มทำตั้งแต่ตอนนี้เลย เหมือนถ้าจะไปถึงยอดเขาที่สูงได้ ก็ต้องรีบๆเดินตั้งแต่ตอนนี้แหละ ลงมือทำตั้งแต่ตอนนี้
6. คิดว่าอาชีพ ‘สถาปนิก’ ได้ให้อะไรกับเราบ้าง?
คุณเอกภาพ: สิ่งที่ดีที่สุดของอาชีพนี้ ที่ดีมากๆเลยคือ การที่ได้ทำงานเกี่ยวข้องกับชีวิตของคน สังคม ของสิ่งรอบๆข้าง เรามีส่วนร่วมในการพัฒนาอะไรสักอย่างให้มันดีขึ้น แม้กระทั่งสิ่งเล็กๆก็ตาม ถ้าใหญ่กว่านี้ก็คือ เราสามารถพัฒนาเมืองได้ มันอยู่ที่ว่าเราเป็นสถาปนิกแบบไหนด้วยนะ ถ้าสมมติรับงานมาแล้วทำๆไปให้ตามฟังก์ชั่นจบ คือมันก็ไม่ใช่ มันต้องพัฒนาความคิด ชีวิต คน สิ่งรอบข้าง ให้มันไปข้างหน้าได้ โดยที่เราไม่ต้องไปเป็นผู้ยิ่งใหญ่อะไรเลย ไม่ต้องไปสมัครเลือกตั้ง แค่ทำงานของเราให้ดีและคุยกับคนที่เค้ามาหาเรา เราก็มีโอกาสทำสิ่งยิ่งใหญ่นั้นแล้วทุกๆงานที่เราออกแบบ
Baan Rim Kao ผลงานการออกแบบบ้านของ EKAR
7. ถ้ามีเด็กคนหนึ่งเดินมาถามว่า… ‘เป็นสถาปนิกมีความสุขที่สุดตอนไหน?’ จะตอบว่าอย่างไร
คุณเอกภาพ: เรามีความสุขที่จะเห็นความเปลี่ยนแปลง การเจริญเติบโตงอกงามของเมล็ดพันธุ์ความคิดนั้นๆ ที่ไปพร้อมๆกับชีวิต และสิ่งรอบข้างของผู้คน แต่ในมิติที่ว่าไม่จำเปนว่าผลลัพธ์มันต้องดีเสมอไป ถ้าเป็นญี่ปุ่นก็คือการเห็นซากุระที่มันสวยงาม และวันหนึ่งแห้งเหี่ยวไป มันก็คือกระบวนหนึ่งของความคิดที่ต้องมีดีและเสียเป็นธรรมดา
สุดท้ายมีอะไรฝากถึงนักศึกษาสถาปัตย์ที่พึ่งจบใหม่บ้าง?
คุณเอกภาพ: ยุคนี้เป็นยุคของมีเดีย มันก็ไม่แปลกหรอก เพราะมันเข้าถึงง่าย แล้วก็คอนเทนท์ทุกอย่าง ความรู้ต่างๆมันมาได้ง่ายที่สุดเลย ประเด็นคือต้องการบอกว่า “ทำมันซะ” คือสิ่งที่พิสูจน์ได้มากที่สุดเลย ทำแล้วรอดูผลซะ คืออาชีพสถาปนิกมันใช้เวลาในการทำหนึ่งโปรเจคนาน อย่าไปเชื่อในสิ่งที่ตัวเองรับรู้ข้อมูลมาถ้าเราไม่ได้ไปลงมือทำเอง
“ทุกวันนี้ตั้งคำถามว่างานที่ดีคืออะไร ทำแล้วมีอะไรดีขึ้นบ้าง แล้วสิ่งที่ดีขึ้นมีคุณค่าแค่ไหน คำว่าคุณค่ามันมีมิติ งานที่มันจะมีความพิเศษออกมา มันต้องมีความเชื่อในจิตวิญญาณกับความรู้สึกนั้น งานสถาปัตยกรรมมันเลยเป็นเรื่องคุณค่า ซึ่งบางสิ่งนี้มันอธิบายไม่ได้” คุณเอกภาพกล่าวทิ้งท้ายกับเรา ให้ตระหนักคิดต่อไปว่างานออกแบบสถาปัตยกรรมทุกวันนี้ให้คุณค่าอย่างไรและกับใครบ้าง…