OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

White box ปฎิสัมพันธ์ของกล่องสีขาวและการอยู่อาศัย

ทลายขีดจำกัดของคำว่าบ้าน สู่การใช้งานที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตได้อย่างน่าสนใจ โดยมีสถาปัตยกรรมเป็นตัวเลือกหนึ่งในการแก้ไขปัญหาการพักอาศัย

Owner: Orawan Akkachayan

Architect: Ayutt and Associates design (AAd)

Location: Taweewattana road, Bangkok, Thailand

Photograph: Soopakorn Srisakul and Ayutt Mahasom

White Box บ้านในรูปแบบกล่องสี่เหลี่ยมซ้อนกันหลังนี้ ตั้งอยู่ในหมู่บ้านจัดสรรแห่งหนึ่งบนถนนทวีวัฒนา โดยบ้านหลังนี้เกิดจากการพยายามทำลายขีดจำกัดของบ้านทั่วไป โดย คุณอาร์ท อยุทธ์ มหาโสม จาก Ayutt and Associates design (AAd) สถาปนิกที่ต้องการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของบ้านทั่วไปที่มักจะมีรูปร่างลักษณะคล้ายกัน มีการระบายอากาศที่ไม่ทั่วถึง ให้กลายเป็นบ้านที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของเจ้าของบ้าน โดยใช้งบประมาณ พื้นที่ และฟังก์ชันได้อย่างเต็มที่ อีกทั้งยังมีสภาพแวดล้อมที่ตอบโจทย์การพักอาศัยได้เป็นอย่างดี

คุณอาร์ท อยุทธ์ มหาโสม แห่ง Ayutt and Associates design (AAd) สถาปนิกผู้ออกแบบ

– จุดเริ่มต้นของบ้าน White Box –

จุดเริ่มต้นของบ้านหลังนี้เกิดจากการที่คุณพ่อและคุณแม่ของคุณอรวรรณผู้เป็นเจ้าของบ้าน มีที่ดินเปล่าใกล้ๆกับบ้านของพวกเขา ด้วยความที่คุณอรวรรณต้องการอยู่ใกล้ชิดกับครอบครัวมากขึ้น จึงได้ซื้อที่ดินเปล่านั้น และได้ติดต่อพูดคุยกับคุณอาร์ท เพื่อเริ่มต้นการออกแบบบ้านในฝันที่คุณอรวรรณชื่นชอบ

โดยคุณอรวรรณอยากได้บ้านที่มีฟังก์ชันคล้ายกับบ้านโดยทั่วไป แต่เป็นบ้านที่มีการถ่ายเทอากาศ มีพื้นที่ ที่เหมาะสมสำหรับการอยู่อาศัยเป็นครอบครัวและสามารถต่อเติมในอนาคตได้ โดยต้องมีพื้นที่ส่วนตัวสำหรับเจ้าของบ้านและคุณพ่อ คุณแม่ แต่ในขณะเดียวกันก็มีพื้นที่ส่วนกลางเพื่อเพิ่มเติมความผูกพันธ์ใกล้ชิดกับครอบครัว

– สถาปัตยกรรมสีขาวที่เรียบง่ายและมีลูกเล่น –

Mood & Tone ของบ้านใช้สีโทนสว่างอย่างสีขาวเป็นหลัก เพราะนอกจากจะทำให้พื้นที่ภายในบ้านโล่ง โปร่ง และช่วยให้บ้านดูกว้างขึ้นแล้ว ยังเป็นสีที่ทำให้บ้านโดดเด่นออกมาจากบ้านหลังอื่น เนื่องจากบริบทรอบข้างเป็นบ้านสีโมโนโทนเป็นส่วนใหญ่ อีกทั้งคุณอรวรรณค่อนข้างที่จะกลัวจิ้งจก การทาบ้านสีขาวจะช่วยให้เห็นจิ้งจกได้ชัดขึ้น ด้วยการหลีกเลี่ยงไม่ให้เห็นจิ้งจกระยะประชิด

“เรากำลังทำงานสถาปัตยกรรมให้สามารถบำบัดผู้ที่ใช้สอยอาคารได้ อาจจะไม่ต้องสวย ไม่ต้องเป็นงานแบบ Practical แต่เรากำลังบำบัดและสร้างในสิ่งที่เขามองไม่เห็น โอนเนอร์บางท่านต้องการสเปซบางอย่าง บางท่านอาจจะไม่รู้ตัวว่าตัวเองต้องการอะไร ซึ่งสถาปัตยกรรมจะเป็นตัวตอบโจทย์ได้ บางครั้งสเปซบางสเปซที่เราสร้างขึ้นมา เราสร้างเพื่อเปลี่ยนวิถีชีวิตของเจ้าของบ้านโดยที่เขาไม่รู้ตัว และก็อาจจะทำให้เขามีความสุขเกินกว่าที่เขาคาดหวังก็เป็นได้ครับ” คุณอาร์ทกล่าวถึงแนวคิดในการออกแบบบ้านของทางบริษัท AAd

มีการวางผังอาคารเพื่อสร้างพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยพื้นที่ ที่ควรปิด ก็ใช้ผนังทึบทั้งด้าน โดย ผนังในส่วนนี้จะอยู่ในทิศที่โดนแสงแดดจัดตลอดวัน และส่วนที่ควรเปิด ก็เปิดสู่คอร์ยาร์ดและธรรมชาติกลางบ้าน ใช้บานกระจกขนาดใหญ่ เพื่อเปิดรับสภาพแวดล้อมธรรมชาติจากพื้นที่ภายนอก การออกแบบที่มีช่องเปิดขนาดใหญ่เช่นนี้จะทำให้ผู้ใช้งานรู้สึกว่าพื้นที่ใหญ่ขึ้น โดยคุณอาร์ทเรียกวิธีนี้ว่า “การขโมยสเปซ”

Dtips: ระยะ Set Back ที่กฎหมายกำหนดมีดังนี้ ถ้าผนังด้านใดด้านหนึ่งมีช่องเปิดต้องเว้นระยะจากขอบเขตที่ดิน 2 เมตร และในกรณีที่เป็นผนังทึบต้องเว้นระยะจากขอบเขตที่ดินอย่างน้อย 50 เซนติเมตร

ดังนั้นการออกแบบบ้านที่มีพื้นที่จำกัด การมีผนังทึบในด้านที่ไม่จำเป็นต้องเปิดรับแดด ก็สามารถวางแผนผังอาคารชิดขอบเขตที่ดินได้ เพื่อให้เกิดพื้นที่ภายในมากขึ้นนั่นเอง

แผนผังอาคารชั้น 1

ทางเข้าสู่ภายในบ้าน

– พื้นที่ แปรผันกับการใช้งานอย่างลงตัว –

บ้านหลังนี้มีพื้นที่ 2  ชั้น โดยมีคอร์ทยาร์ดตรงกลางบ้าน เมื่อเดินเข้ามาภายในบ้านจะพบกับบริเวณสวนก่อนเป็นอันดับแรก และเมื่อเข้าสู่พื้นที่บ้านก็จะเป็นโถง Double Volume ขนาดใหญ่ ซึ่งรวมพื้นที่นั่งเล่น รับประทานอาหาร และแพนทรีไว้ด้วยกัน ช่วยให้สเปซเหล่านี้เกิดความโปร่ง และโล่งมากขึ้น โดยส่วนของห้องนั่งเล่นจะมีกระจกบานใหญ่เต็มพื้นที่ซึ่งสามารถมองออกมาเห็นคอร์ทยาร์ดภายนอกบ้าน สร้างความผ่อนคลายและบรรยากาศของการพักผ่อนในขณะที่ใช้งานภายในบ้านได้เป็นอย่างดี

นอกจากนั้นในพื้นที่ชั้น 1 ยังมีพื้นที่ส่วนตัวของคุณพ่อและคุณแม่ซึ่งประกอบด้วยห้องนอน ห้องนั่งเล่น และแพนทรีอยู่ในห้องเดียวกันทั้งหมด แต่ก็ยังมีสเปซที่เชื่อมต่อระหว่างเจ้าของ และคุณพ่อ คุณแม่เข้าไว้ด้วยกัน นั่นคือส่วนคอร์ทยาร์ดและห้องนั่งเล่นกลางบ้าน ซึ่งการออกแบบเช่นนี้จะคล้ายกับการมีบ้านขนาดเล็กๆซ่อนอยู่ในพื้นที่บ้านใหญ่อีกชั้นหนึ่ง

แผนผังอาคารชั้น 2

ส่วนพื้นที่ชั้น 2 จะประกอบด้วยห้องนอนทั้งหมด 3 ห้อง และมีระเบียงซึ่งยื่นออกไปสู่บริเวณคอร์ยาร์ดใจกลางบ้าน โดย ผู้ใช้งานสามารถสัมผัสถึงบรรยากาศต้นไม้และธรรมชาติทั้งจากในส่วนพื้นที่นั่งเล่น ระเบียงและจากห้องนอน

– ต้นไม้และธรรมชาติ –

พื้นที่คอร์ยาร์ดกลางบ้านจะมีต้นจิกน้ำตั้งอยู่ โดยสถาปนิกตั้งใจให้ต้นไม้ต้นนี้ช่วยเพิ่มความร่มรื่น สร้างมิติแสงและเงาที่ตกกระทบลงบนอาคาร และยังช่วยให้ผู้พักอาศัยเกิดความผ่อนคลาย และสงบ เพราะธรรมชาติคือส่วนสำคัญในการเติมเต็มบรรยากาศภายในบ้านให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

“ผมออกแบบให้คอร์ทยาร์ดตรงกลางพื้นที่ สามารถมองเห็นได้จากหลายๆมุมมองภายในบ้านไม่ว่าจะเป็นในส่วนของห้องนั่งเล่น ทางเข้าอาคาร ห้องนอน หรือแม้แต่บันไดขึ้นชั้น 2 เพราะผมเชื่อว่าต้นไม้และธรรมชาติคือสิ่งที่เราควรเห็นทุกวันครับ เพราะธรรมชาติจะช่วยให้เรารู้สึกสงบและรู้สึกผ่อนคลายได้อย่างแท้จริง” คุณอาร์ท สถาปนิกผู้ออกแบบกล่าว

– แสงก่อเกิดมิติ –

วิธีในการออกแบบของคุณอาร์ท ที่จะไม่ทำให้สถาปัตยกรรมสีขาวนี้ดูน่าเบื่อ คือการสร้างมิติ แสงและเงาซึ่งจะสะท้อนลงบนพื้นผิวอาคารที่แตกต่างกัน เช่น ต้นไม้ที่อยู่กลางคอร์ทยาร์ด หรือฟาซาดแผ่นอลูมิเนียม ที่สามารถสะท้อนแสงแดดและเกิดเงาตามช่วงเวลาในแต่ละวัน และการเล่นกับรูปแบบของอาคารที่มีการยื่นเข้าและยื่นออก จนเกิดเป็นมิติความลึกและแสงเงาที่แตกต่างกัน ช่วยเพิ่มความมีชีวิตชีวาให้กับบ้านหลังนี้เปรียบดั่งสีสันสดใสของอาคารอื่นๆนั่นเอง

“บ้านหลังนี้แม้จะเป็นสีขาว แต่อารมณ์และฟีลลิ่งก็จะเปลี่ยนไปตามช่วงเวลาและองศาของแสงที่ตกกระทบบนอาคาร สำหรับผมบ้านนี้เปรียบได้กับงานกึ่งประติมากรรมเลยครับ” คุณอาร์ทกล่าว

มีการออกแบบฟาซาดอาคารโดยใช้แผ่นอลูมิเนียมเคลือบพาวเดอร์โค้ทสีเงินประกาย ช่วยป้องกันความร้อน และช่วยระบายอากาศให้ภายในบ้านในบริเวณทิศใต้ที่โดนแสงแดดจัดตลอดทั้งวัน ซึ่งการใช้แผงอลูมิเนียมนี้ถือเป็นจุดเด่นของการออกแบบบ้านสไตล์ Ayutt and Associates design (AAd) อีกด้วย

บ้าน White Box คือข้อพิสูจน์ว่าด้วยขนาดของพื้นที่บ้าน ซึ่งมีอยู่อย่างจำกัด และจากฟังก์ชันบ้านที่คล้ายคลึงกับบ้านทั่วไป ก็สามารถมีบ้านในฝัน โดยคำนึงถึงความต้องการของผู้พักอาศัยเพื่อให้เขาเหล่านั้นสามารถอยู่ในบ้านอย่างมีความสุข ภายใต้พื้นที่ ที่มีอย่างจำกัดได้