“ลดทอนเส้นแบ่งพื้นที่ความรู้สึก ระหว่างภายในและภายนอก”
Location: หมู่บ้าน SOUL, รามคำแหง
Owner: ชยุตม์ หลีหเจริญกุล
Architects: เอกภาพ ดวงแก้ว และติรายน ขุนภัคดี แห่ง EKAR
Photographs: จิณณวัตร บริหารกิจอนันต์
ท่ามกลางทำเลแห่งการอยู่อาศัยที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตในปัจจุบันของครอบครัว“หลีหเจริญกุล” และอยู่ใกล้เคียงโรงเรียนในอนาคตของ “น้องจีน” สมาชิกตัวน้อยของครอบครัว ทำให้คุณต้าร์ “ชยุตม์ หลีหเจริญกุล” หัวหน้าครอบครัวตัดสินใจซื้อบ้านภายใน “หมู่บ้าน SOUL” ย่านรามคำแหงแห่งนี้ เพื่อสร้างพื้นที่ความอบอุ่นให้ครอบครัว และตอบโจทย์ด้านความสะดวกสบายในการเดินทาง
แต่ด้วยข้อจำกัดทางรูปแบบสถาปัตยกรรมต่างๆ ทำให้ความใกล้ชิดธรรมชาติน้อยลง บวกกับต้องการใช้พื้นที่มากขึ้น จึงต้องทำการปรับปรุงต่อเติม โดยมี “คุณหนึ่ง เอกภาพ ดวงแก้ว” สถาปนิกแห่ง EKAR ผู้ออกแบบพื้นที่นั่งเล่น เพื่อสร้างสมดุลในการอยู่อาศัย เป็นส่วนปรับปรุงที่จะเติมเต็มชีวิตในบ้านอย่างมีความสุข
“คุณหนึ่ง เอกภาพ ดวงแก้ว” สถาปนิกผู้ออกแบบพื้นที่นั่งเล่น และน้องจีน เจ้าของบ้านตัวเล็ก หนึ่งในสมาชิกของบ้าน “หลีหเจริญกุล”
เดิมทีบ้านหลังนี้มีพื้นที่และรูปลักษณ์ภายนอกเหมือนกับบ้านอื่นๆภายในหมู่บ้าน และด้วยความเคร่งครัดของโครงการ จึงมีข้อจำกัดที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง หรือรูปลักษณ์ภายนอกใดๆได้เลย สถาปนิกจึงสามารถปรับปรุงเปลี่ยนแปลงได้เฉพาะในส่วนของห้องนั่งเล่น พื้นที่ซึ่งสมาชิกทุกคนใช้เวลาส่วนใหญ่ในการอยู่อาศัย
– เปิดสู่ภายนอก เข้าสู่ภายใน ผสานพื้นที่เป็นหนึ่งเดียว –
“จากข้อจำกัดของพื้นที่ขนาดเล็กรอบบ้านจัดสรร เราจะทำอย่างไรให้พื้นที่ 2 เมตรรอบบ้านนี้ เข้ามาอยู่ในห้องนั่งเล่นเล็กๆได้ดีที่สุด” คุณหนึ่งเล่าให้เราฟังถึงจุดเริ่มต้นแนวคิดการออกแบบ หล่อรวมพื้นที่ภายในห้องนั่งเล่น และพื้นที่Setback หรือระยะขอบเขตบ้านกับตัวบ้านให้เป็นหนึ่งเดียวกัน โดยการแทนที่กำแพงทึบเดิม ด้วยความโปร่งใสของกระจกตั้งแต่ฝ้าจรดพื้น เพื่อลดทอนเส้นแบ่งความรู้สึกผู้อยู่อาศัยระหว่างภายในกับภายนอก
ในส่วนด้านหลังของบ้าน พื้นที่ภายในห้องนั่งเล่นที่สามารถเปิดกระจกกว้างเพื่อเชื่อมต่อพื้นที่ไปยังระเบียงหลังบ้านได้ มีต้นไม้ขนาดเล็กที่กำลังเติบโตไปพร้อมๆกับน้องจีน และเส้นสายของระแนงไม้สีขาววางสลับตั้งและนอน เพื่อให้เกิดจังหวะรูปแบบใหม่ในขณะที่ทอดสายตาผ่าน
– พื้นที่เชื่อมต่อระหว่างชีวิตและธรรมชาติ –
การสร้างความหมายของการเชื่อมต่อพื้นที่ภายในและภายนอก ด้วยการออกแบบองค์ประกอบของงานสถาปัตยกรรมภายใน 3 ชิ้นขึ้นมา ได้หลอมรวมพื้นที่ทั้งหมดเข้ากับ ธรรมชาติ และการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขในบ้านหลังนี้ ซึ่งเส้นสายขององค์ประกอบทั้งหมด เมื่อมองอย่างผิวเผินจะเห็นความเชื่อมต่อระหว่างกันและกันแม้ว่าจะมีกระจกใสขวางกั้นอยู่ก็ตาม
โดยชิ้นแรกนั้นเป็นก้อนคอนกรีตสำหรับนั่ง ที่สามารถมองเห็นการเคลื่อนไหวของปลาคราฟภายในบ่อได้อย่างชัดเจน รวมถึงการนั่งสัมผัสกับพื้นที่ธรรมชาติเล็กๆได้อย่างใกล้ชิดด้วย
ชิ้นที่ 2 เคาน์เตอร์ในส่วนของอ่างล้างมือภายในที่เชื่อมต่อไปยังด้านนอกพื้นที่ปลูกต้นไม้เล็กๆ ซึ่งความพิเศษอยู่ตรงน้ำที่ใช้ล้างมือหรือล้างของต่างๆ จะไหลผ่านออกไปยังพื้นที่ภายนอกเสมือนเป็นการรดน้ำต้นไม้ไปด้วยนั่นเอง
ชิ้นสุดท้ายเป็นก้อนคอนกรีตลอยที่ทำหน้าที่ด้านในเป็นชั้นวางทีวี ส่วนด้านนอกเป็นที่นั่งเล่น
นอกจากนี้ยังมีการใช้วัสดุไม้ต่อเนื่องจากภายนอก เข้าสู่พื้นที่ด้านในเป็นแนวยาวบริเวณชั้นวางทีวี ในมูทแอนด์โทนเดียวกันได้อย่างกลมกลืน
– รับรู้การมีอยู่ของ “บ่อปลาคราฟ” –
“บ่อปลาคราฟ” หนึ่งในความต้องการที่เป็นโจทย์สำหรับการออกแบบ ซึ่งตามหลักแล้วบ่อปลาคราฟที่ดีควรอยู่ในทิศที่มีแดดส่องผ่านมากที่สุด ซึ่งสำหรับบ้านนี้ไม่ใช่ทิศหลังบ้านตามภาพที่สถาปนิกตั้งใจไว้ แต่กลับเป็นทิศหน้าบ้านที่มีข้อจำกัดโครงสร้างกำแพงเก่าของบ้านจัดสรรที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้
การแก้ปัญหาให้เบื้องต้นคือ การสร้างบรรยากาศให้ผู้อยู่อาศัยสัมผัสกับธรรมชาติที่สร้างขึ้นบริเวณนี้ได้ โดยใช้ความนึกคิด หรือความรู้สึกให้มากกว่าการมองเห็น โดยออกแบบบ่อให้เป็นแนวยาวเรียบไปกับแนวกำแพง ซึ่งเป็นบ่อน้ำล้นที่โรยกรวดสีขาวและสีเทาด้านข้าง ทำให้บ่อดูลอยอยู่ท่ามกลางสวนเล็กๆนี้ รวมถึงมีน้ำที่ไหลผ่านลงมาในบ่อจากก้อนคอนกรีตไร้เสาที่ยื่นออกออกมาจากกระจก หรือเรียกว่าการรับน้ำหนักแบบ cantilever นั่นเอง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เชื่อมต่อไปยังที่นั่งภายในบ้านอีกด้วย
แผ่นหินทางเดินสีดำ เสมือนถูกวางลอยอยู่บนบ่อปลา ทำหน้าที่ต้อนรับผู้อยู่อาศัยและผู้มาเยือนก่อนเข้าถึงประตูด้านในบ้าน ซึ่งในทุกๆครั้งที่เดินผ่านเข้าออกบ้านน้น จะทำให้เกิดประการณ์ รับรู้ถึงการมีอยู่ของบ่อปลานี้มากขึ้น
– โค้งละมุนตา ความรู้สึกที่มากกว่า –
เส้นสายความโค้งละมุนที่เกิดขึ้นบนฝ้าเพดาน เป็นสิ่งที่สถาปนิกถ่ายทอดออกมาผ่านไม้สักหน้ากว้าง 3 นิ้วที่ถูกนำมาร้อยเรียงในความยาวที่แตกต่างเป็นฝ้าไม้จริง เพื่อเปิดมุมมองและทำให้พื้นที่ภายในมีมิติมากขึ้น เสมือนเชื่อมต่อไปยังพื้นที่ด้านนอกได้ผ่านความรู้สึก
องศาความโค้งเชื่อมต่อไปยังพื้นที่ภายนอก ซึ่งในส่วนนี้ถูกออกแบบให้มีบัวหยดน้ำ เพื่อป้องกันน้ำฝนไหลซึมเข้าพื้นที่ภายใน
“ผมว่าบ้านที่เกี่ยวข้องกับการอยู่อาศัย มันไม่ใช่เรื่องของประโยชน์ใช้สอย เพราะมันเป็นเรื่องที่ต้องมีอยู่แล้ว แต่ประเด็นคือต้องทำยังไงให้ผู้อยู่เกิดความรู้สึกนึกคิด จิตวิญญาณ เพราะบ้านคือชีวิต และชีวิตก็ไม่ใช่ฟังก์ชัน ฉะนั้นการออกแบบสถาปัตยกรรม หรือการออกแบบภายในที่ดี มันน่าจะมีบางอย่างที่คิดถึงความรู้สึกตรงนั้นจริงๆ” คุณหนึ่งกล่าวทิ้งท้ายเกี่ยวกับการออกแบบที่อยู่อาศัยให้เราได้ฉุกคิด ว่าแท้จริงแล้วผลลัพธ์ทางสถาปัตยกรรม และภูมิทัศน์ ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตการอยู่อาศัยมากน้อยแค่ไหน
DTIP
- กระจกใสภายในบ้านส่วนใหญ่เป็นแบบฟิกซ์ เพราะสามารถทำการซ่อนเข้าไปใต้ฝ้า เพื่อลดทอนให้เห็นเส้นกรอบเฟรมของบานกระจกน้อยที่สุด เมื่อไม่มีเส้นมารบกวนสายตา จะทำให้เราเห็นธรรมชาติได้ชัดเจนขึ้นนั่นเอง
- ในการเลือกไม้สักที่จะนำมาใช้กับฝ้าเพดานทั้งภายในและภายนอกนั้น ควรเลือกเป็นไม้เก่า ที่ค่อนข้างแห้งแล้ว เพราะจะเกิดการบิดตัวของไม้ที่น้อยกว่าไม้อ่อนอายุน้อย