“ส่วนของ ลำต้น กิ่ง ก้าน ใบ ภายใต้สถาปัตยกรรมญี่ปุ่น”
Tree-ness House
Location | โตชิมา, ญี่ปุ่น
Architects | Akihisa Hirata
Area | 331.38 ตารางเมตร
Photographs | Vincent Hecht
เพราะธรรมชาติเป็นส่วนสำคัญสำหรับการอยู่อาศัย จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะทำให้ผู้คนส่วนใหญ่ รวมถึงสถาปนิกญี่ปุ่นเองจะแสดงออกถึงความเคารพรักใน “ความเป็นธรรมชาติ” และถ่ายทอดจิตวิญญาณของธรรมชาติ ผ่านงานศิลปะและการออกแบบสถาปัตยกรรม ซึ่งหากได้ลองสัมผัสตึกรามบ้านช่องของญี่ปุ่น ก็จะพบว่าส่วนใหญ่ถูกออกแบบมีแนวคิดให้ความสำคัญกับธรรมชาติเป็นหลัก ซึ่ง “Tree-ness House” ก็เป็นหนึ่งในบ้านที่ถอดแบบกายภาพของธรรมชาติอย่าง “ต้นไม้” มาใส่ในงานออกแบบบ้านได้อย่างลงตัว และชัดเจน
ภาพของสถาปัตยกรรมคอนกรีตดูซับซ้อนนี้ ตั้งอยู่ในย่านโตชิมา กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ออกแบบโดย “Akihisa Hirata” สถาปนิกญี่ปุ่นที่อยากนำเสนอลักษณะกายภาพอันหลากหลายของต้นไม้มาเป็นแนวคิดในการออกแบบ เพื่อเชื่อมต่อสถาปัตยกรรมเข้ากับธรรมชาติ โดยแสดงออกมาผ่านความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่ภายในและภายนอก ซึ่งองค์ประกอบต่าง ๆ ถูกสร้างขึ้นตามลักษณะโครงสร้างต้นไม้เป็นปัจจัยสำคัญ
“ต้นไม้ต้นหนึ่งนั้นมีส่วนประกอบที่เกิดจากการรวมกันของชิ้นส่วนต่าง ๆ ที่มีลักษณะแตกต่างกัน เช่น ลำต้น กิ่ง ก้าน หรือแม้กระทั่งใบไม้ เราจึงพยายามที่จะสร้างสถาปัตยกรรมที่เกิดจากการรวมกันของชิ้นส่วนต่าง ๆ ที่มีลักษณะแตกต่างกันเหมือนกับต้นไม้ เพื่อให้เกิดเป็นพื้นที่ที่มีความแตกต่างกัน” สถาปนิกกล่าว
– พื้นที่ลดหลั่น ซับซ้อน –
ฟังก์ชันการใช้งานภายในบ้านหลังนี้ ชั้นล่างสุดถูกจัดให้เป็นส่วนของออฟฟิศและแกลลอรี่ ซึ่งสังเกตได้ว่าในส่วนของแกลอรี่จะเป็นก้อนคอนกรีตทึบ ไม่มีช่องเปิดใดๆเลย เพราะต้องการควบคุมแสงภายในพื้นที่จัดแสดง
ไดอะแกรมแสดงลักษณะความซับซ้อนที่เกิดขึ้นของบ้าน และแปลนชั้น 1
ส่วนชั้นต่อไปเริ่มมีพื้นที่อยู่อาศัยอย่างห้องนั่งเล่น ห้องครัว และห้องนอนเพิ่มเข้ามา ค่อยๆเพิ่มระดับขึ้นไปเรื่อยๆ ซึ่งจัดแปลนเป็นแบบการลดหลั่นกันของพื้นที่หลากหลายระดับ มีความซับซ้อนคล้ายองค์ประกอบต่างๆของต้นไม้ ที่มีกิ่งก้านใบแตกระแหงไปในระดับที่แตกต่างกัน
แปลนภายในบ้านชั้น 2 – 5 แสดงให้เห็นถึงการลดหลั่นระดับกันระหว่างพื้นที่การใช้งาน
– จับกล่องมาพับจับจีบ –
หากมองจากรูปด้านภายนอก ที่เกิดการเชื่อมต่อระหว่างพื้นที่ภายในและภายนอกด้วยความซับซ้อนเชิงสามมิติของพื้นที่รอบบ้าน โดยสถาปนิกได้เปลี่ยนแปลงกล่องคอนกรีตเรียบง่ายธรรมดา มาสร้างรอยพับในลักษณะจับจีบรอบบ้านตั้งแต่พื้นที่ชั้น 2 ขึ้นไป เพื่อสร้างพื้นที่เปิดสำหรับการใส่ประตูและหน้าต่างเพื่อเปิดรับแสงธรรมชาติ หรือสร้างเป็นระเบียงเล็กๆที่สามารถให้ผู้อยู่อาศัยออกมาสัมผัสกับบริบทภายนอกได้ ในขณะเดียวกัน บางพื้นที่มีบันได เพื่อเชื่อมต่อกันระหว่างชั้นอีกด้วย
ไดอะแกรมแสดงลักษณะช่องเปิดของบ้าน
Section แสดงความสัมพันธ์ของพื้นที่ภายนอกและภายนอก ช่องเปิด และพื้นที่สีเขียวรอบบ้าน
นอกจากนี้ บริเวณช่องเปิดต่างๆยังมีพื้นที่เล็กๆสำหรับเพาะปลูกต้นไม้ ในระดับชั้นต่างๆที่แตกต่างกัน โดยความถี่ของพื้นที่การปลูกนั้น จะไล่ระดับจากด้านล่างที่น้อยไปจนถึงด้านบนที่มีมากกว่า ซึ่งเมื่อมององค์ประกอบรวมแล้ว คล้ายต้นไม้ที่ค่อนๆเติบโตชูกิ่งก้านและออกใบด้านบนนั่นเอง
รูปด้านของบ้านที่แสดงให้เห็นถึงพื้นที่สีเขียวที่ส่วนใหญ่ ค่อนไปทางด้านบน
– แกนกลางลำต้นของบ้าน –
ช่องเปิดโล่งที่อยู่ตรงกลางบ้าน มีหน้าที่เชื่อมต่อพื้นที่ตั้งแต่ชั้นล่างสู่ชั้นบนที่เปิดโล่งสู่บรรยากาศภายนอกเข้าด้วยกัน ซึ่งเปรียบเสมือนแกนกลางลำต้นของต้นไม้ ที่ถูกห้อมล้อมไปด้วยฟังก์ชันการใช้งานต่างๆที่เปรียบเสมือนกิ่งก้านสาขา องค์ประกอบที่ทำให้ต้นไม้ต้นนี้สมบูรณ์มากขึ้น
Section แสดงพื้นที่เปิดโล่งกลางบ้าน ที่นอกจากจะเปิดต้อนรับแสงธรรมชาติจากด้านบนสู่พื้นที่ทั้งหมดภายในบ้านแล้ว ยังเปรียบเสมือนลำต้น หรือแกนหลักของบ้านที่เชื่อมต่อฟังก์ชันต่างๆไว้ด้วยกัน
และเมื่อมีแสงสว่างเข้าถึง พื้นที่แกนกลางของบ้านนี้จะทำหน้าที่ส่งต่อแสงสว่างไปยังพื้นที่ต่าง ๆ เสมือนกับลำต้นของต้นไม้ที่ลำเลียงส่งอาหารไปยังกิ่งก้านต่อไป
ความตั้งใจที่จะสร้างสถาปัตยกรรมที่ล้ำสมัยแต่ยังคงไว้ซึ่งความดิบด้วยวัสดุคอนกรีตในเวลาเดียวกัน เป็นการนำสัญชาตญาณดั้งเดิมของมนุษย์ที่มีความผูกพันธ์กับธรรมชาติกลับมา จากการเปลี่ยนไปมาระหว่างพื้นที่ภายในและภายนอก
สุดท้ายแล้วผลงานที่ออกมานั้นคือ “บ้าน” ที่สามารถสะท้อนความเป็นสถาปัตยกรรมญี่ปุ่นได้อย่างชัดเจน อีกทั้งยังเป็นการนำวัสดุร่วมสมัยมาประยุกต์ใช้ในการออกแบบอย่างคอนกรีต ที่ข้ามขีดจำกัดของการใช้วัสดุในรูปทรงต่างๆที่ทำได้ยาก และสามารถสร้างความลงตัวระหว่างสถาปัตยกรรมรูปแบบเก่าและใหม่ออกมาได้อย่างสมบูรณ์
ขอบคุณ Archdaily และ Yellowtrace