OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

รีโนเวทบ้านตึกแถว จังหวะแสง-กาลเวลา-ความสัมพันธ์ของพื้นที่

“ถ้าทุกอย่างมันเรียบหมด มันไม่เป็นจริงของธรรมชาติ คือในธรรมชาติมันไม่มีอะไรเรียบหมดอยู่แล้ว”

Architect & Owner: คุณณรงค์-คุณพิมพิดา โอถาวร
Location: บางรัก, กรุงเทพฯ
Photographs: จิณณวัตร บริหารกิจอนันต์

การพลิกโฉมรีโนเวทบ้านตึกแถวหรืออาคารพาณิชย์ ยังคงได้รับความนิยมในปัจจุบันอยู่เสมอ อาจเป็นเพราะทำเลที่ตั้งที่ดีอยู่แล้วหรือใดๆก็ตาม ซึ่งในฐานะสถาปนิกเจ้าของบริษัท SO Architects และบรรณาธิการแห่งนิตยสาร Art4D อย่าง “คุณณรงค์ โอถาวร” ก็เป็นหนึ่งคนที่เลือกปรับเปลี่ยนพื้นที่เดิมในมุมมองใหม่ เพราะด้วยความที่เติบโตมากับอาคารประเภทนี้ และคุ้นชินกับทำเลเดิม จึงตัดสินใจต่อเติมความสุขเพื่อสร้างครอบครัวกับภรรยา “คุณพิมพิดา โอถาวร” ภายใต้ตึกแถวที่มีอายุมากกว่า 30 ปี ในย่านสี่พระยา

คุณณรงค์-คุณพิมพิดา โอถาวร

ภาพลักษณ์ภายนอกของบ้านที่ดูกลมกลืนไม่ต่างจากบ้านรอบข้างมากนัก เป็นความตั้งใจของคุณณรงค์ที่ยังคงเก็บประตูบานพับเหล็กเดิมไว้ และนำมาผสมผสานเข้ากับประตูไม้ เพื่อเป็นทางเข้าหลักเล็กๆ ซึ่งมองภายนอกเหมือนบ้านตึกแถวเพียงแค่หนึ่งคูหา แต่ทว่าพื้นที่ภายในตั้งแต่ชั้น 2 มีการเชื่อมต่อระหว่างสองคูหาเข้าด้วยกัน

เมื่อก้าวผ่านประตูบานนี้ไป ภาพที่เห็นกลับไม่ธรรมดาเหมือนภายนอก เพราะความต้องการให้พื้นที่โล่งที่สุด โปร่งที่สุด และมีของน้อยที่สุด ฟังก์ชันในชั้นแรกจึงมีเพียงโถงทางเข้าที่มีชั้นเก็บรองเท้า ครัว และก็พื้นที่นั่งเล่นที่มีช่องที่อนุญาตให้แสงธรรมชาติสาดส่องเข้ามาจากสวนเล็กๆด้านหลังบ้าน

– ปรับบันได เพื่อเพิ่มพื้นที่ –

การเริ่มต้นแก้ไขปัญหาพื้นที่ภายในของตึกแถวอย่างเรื่องบันได ซึ่งสำหรับบันไดของบ้านหลังนี้เดิมทีเป็นบันไดรูปตัว L ที่กินเนื้อที่ใช้สอยไปกว่า 1 ใน 3 ของพื้นที่ทั้งหมด ทำให้คุณณรงค์ตัดสินใจย้ายบันไดชั้นแรกจากฝั่งซ้ายไปชิดติดฝั่งขวาแทน และบันไดเชื่อมต่อจากชั้น 2 ไปชั้น 3 ไปชิดด้านซ้าย โดยเปลี่ยนเป็นบันไดแนวตรงทั้งหมด เพื่อให้เอื้อต่อพื้นที่อยู่อาศัยภายในบ้านที่มากขึ้น

– ความสัมพันธ์ของแต่ละชั้น –

“ปกติบ้านตึกแถวจะค่อนข้างทึบ การที่เราตัดพื้นที่ออกไป หรือการปล่อยเป็นพื้นที่ว่างก็ดี มันไม่ใช่แค่เรื่องความงามอย่างเดียว มันเป็นเรื่องของประโยชน์ที่จะทำให้คุณภาพในการใช้อาคารนั้นมันดีขึ้น” คุณณรงค์กล่าวถึงการออกแบบพื้นที่เปิดรับช่องแสงขนาดใหญ่ด้านหลังบ้าน ที่เชื่อมต่อตั้งแต่ชั้นล่างไปถึงชั้นบนสุด เพื่อเพิ่มสุนทรียะจากธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นแสงที่เข้ามาสร้างมิติให้กับพื้นที่ภายใน หรือลม ที่พัดผ่านเข้ามาทำให้อากาศไหลเวียนได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้การยอมเสียพื้นบ้านชั้นสองบริเวณด้านหลังของบ้าน เพื่อสร้างพื้นที่เปิดโล่งแบบดับเบิ้ลสเปซ ไม่เพียงแต่เปิดรับแสงสว่างจากธรรมชาติเข้าสู่พื้นที่ชั้นสองได้มากขึ้น แต่ยังช่วยเชื่อมต่อความสัมพันธ์ของทุกพื้นที่ภายในบ้านให้กลายเป็น Single Space ได้อีกด้วย

Section ของบ้าน

มุมโต๊ะอาหารและเคาน์เตอร์บาร์กาแฟ ที่สามารถมองผ่านบานเฟี้ยมกระจกไปยังสวนขนาดเล็กด้านหลังบ้านได้

– แสงตรงกลางระหว่างเรา –

เนื่องด้วยความชอบระดับความสว่างของแสงที่แตกต่างกัน ระหว่างคุณณรงค์ที่ชอบแสงสลัวๆ และคุณพิมที่ชอบแสงสว่างๆ เลยทำให้พื้นที่ภายในบ้านเกิดจังหวะแสงเฉพาะพื้นที่แตกต่างกันตามช่วงเวลา เช่น พื้นที่นั่งเล่นชั้นล่างที่มีความสว่างจากแสงธรรมชาติส่องผ่านเข้ามาในเวลาเช้า ส่วนชั้นสองของบ้านบริเวณโต๊ะนั่งทานข้าวแสงก็จะสลัวกว่า และจังหวะความสว่างของแสงจะค่อนๆเพิ่มขึ้นในมุมโซฟานั่งเล่น

มุมนั่งเล่น และอ่านหนังสือ ชั้นสองของบ้าน ที่ได้รับแสงสว่างจากแสงทิศหน้าบ้านตลอดวัน

พื้นที่รับประทานอาหารและเคาน์เตอร์บาร์ ที่มีแสงสลัวเพื่อให้ได้บรรยากาศที่โรแมนติก

ส่วนแต่งตัว และห้องน้ำชั้นสาม ที่เปิดรับแสงจากด้านหลังบ้าน นอกจากช่วยเพิ่มแสงสว่างแล้ว ยังช่วยในเรื่องความชื้นได้ดีอีกด้วย

– พื้นผิวสัมผัสที่แตกต่าง –

“ผมว่าถ้าทุกอย่างมันเรียบหมด มันไม่เป็นจริงของธรรมชาติ คือในธรรมชาติมันไม่มีอะไรเรียบหมดอยู่แล้ว หลายคนบอกว่าการใช้ปูนเปลือย ใช้หิน มันคือสัจจะวัสดุ ผมไม่ได้คิดเรื่องสัจจะวัสดุเลย คิดแค่ว่า ถ้าวัสดุมันให้ Texture หรือ สี ที่รู้สึกว่าโอเค ถึงมีการปรุงแต่งเล็กน้อยก็ตาม มันเกิดประโยชน์ หรือให้อะไรกับเราบ้าง” คุณณรงค์ตอบกับเราเมื่อถามถึงวัสดุที่เลือกใช้ภายในบ้าน ซึ่งถ้าสังเกตดีๆ ถึงแม้ว่าบ้านจะเป็นโทนสีเข้มเดียวกันหมด แต่ก็เป็นสีที่เกิดจากวัสดุจริงๆ และสัมผัสบางอย่างที่เกิดขึ้นของ Texture ของวัสดุที่มีทั้งผิวเรียบ ผิวหยาบ ผิวละเอียด ผิวเงา และผิวมัน

ผนังและพื้นบันได ที่ทำจากวัสดุหินกรวด

เคาน์เตอร์บาร์ และพื้นชั้น 1 ที่คุณณรงค์พยายามคุมให้อยู่ในโทนเข้มเหมือนกันแต่ใช้วัสดุแตกต่างกัน

การออกแบบบ้านให้ลูกค้า มันคือการพยายามทำความเข้าใจคนอื่น การออกแบบบ้านตัวเอง มันคือการทำความเข้าใจตัวเองและคู่ชีวิตเรา ฉะนั้นถามว่ายากต่างกันไหม ไม่ได้ยากต่างกัน มันยากพอๆกัน

คำตอบที่คุณณรงค์บอกกับเราว่าจริงๆแล้วการออกแบบบ้านให้ตัวเองอยู่นั้น มันกลับกลายเป็นบทเรียนที่ดีมากกว่า ที่เคยคิดว่าที่ออกแบบไปมันเวิร์คจริงรึเปล่า แล้วมันต่อยอดไปในแบบอื่นได้อีกไหม

บ้านหลังนี้เป็นอีกหนึ่งตัวอย่าง ในการรีโนเวทพื้นที่ภายในบ้านตึกแถวให้กลายเป็นพื้นที่ที่มีความพิเศษได้อย่างน่าสนใจ แม้ว่าจะมีพื้นที่จำกัด แต่ด้วยการออกแบบ จึงทำให้บ้านนี้ดูสวยงามและน่าอยู่ มากกว่าบ้านหลังไหน