บ้านเรียบง่ายสีขาวซึ่งมีการจัดวางฟังก์ชันได้อย่างลงตัวภายใต้พื้นที่จำกัด พร้อมทั้งนำธรรมชาติเข้าสู่ตัวบ้านด้วยโถงทางเดินรูปเครื่องหมายบวกและ Façade ที่โค้งหลบต้นมะม่วงต้นใหญ่
Location: Bangkok, Thailand
Owner: Piyabutr Sunsap, Sunadda Rattananai
Architect: Karjvit Rirermvanich, Physicalist
Drone Image: Akarat Sitkrongwong
Photographer: Jinnawat Borihankijanan
“เราไม่ได้มีเจตนาที่จะออกแบบบ้านให้เกิดลูกเล่นอะไรมากมาย แต่หากเป็นเพราะเรื่องราวระหว่างการออกแบบทั้งความเป็นส่วนตัวและขนาดพื้นที่ ที่ค่อนข้างจำกัด ถึงสร้างสเปซนี้ให้มีความพิเศษขึ้นมา” คุณกาจวิศว์ ริเริ่มวนิชย์ สถาปนิกผู้ออกแบบจาก Physicalist ผู้ออกแบบบ้านหลังนี้กล่าว
คุณซุ่น ปิยะบุตร ซุ่นทรัพย์ และคุณพลอย สุนัดดา รัตนนัย เจ้าของบ้าน
บ้านที่ดูเรียบง่ายเมื่อแรกเห็น แต่กลับเต็มไปด้วยรายละเอียดมากมายในการออกแบบที่ถูกคิดมาแล้วทุกสัดส่วน เพื่อการพักอาศัยที่ผ่อนคลาย เช่น การมีช่องเปิดให้แสงธรรมชาติและลมเข้ามาในพื้นที่ การจัดสเปซภายในบ้านเชื่อมถึงกันเพื่อให้ผู้ใช้งานเกิดสภาวะอยู่สบายตลอดการพักอาศัย การแบ่งระดับความเป็นส่วนตัว และการจัดการกับที่ดินซึ่งมีอยู่อย่างจำกัดให้ตอบสนองต่อการใช้งานภายในบ้าน ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นความต้องการของ คุณซุ่น ปิยะบุตร ซุ่นทรัพย์ และคุณพลอย สุนัดดา รัตนนัย เจ้าของบ้านทั้ง 2 ท่าน โดยมี คุณกาจวิศว์ ริเริ่มวนิชย์ สถาปนิกจาก Physicalist เป็นผู้ออกแบบ
คุณกาจวิศว์ ริเริ่มวนิชย์ สถาปนิกผู้ออกแบบจาก Physicalist
บ้านนี้ตั้งอยู่ในเขตที่พักอาศัยย่านจรัญสนิทวงศ์ บริบทเป็นบ้านพักอาศัย โดยเป็นบ้าน 2 ชั้น มีขนาด 300 ตารางเมตร ชั้น 1 ประกอบด้วยส่วนนั่งเล่น ส่วนรับประทานอาหาร และห้องครัว อยู่ในพื้นที่เดียวกัน และมีระเบียงซึ่งเปิดเชื่อมต่อสู่พื้นที่ภายนอกอาคารได้ ส่วนชั้น 2 จะมี Family Room และห้องนอน 3 ห้อง มากไปกว่านั้นยังมีชั้นดาดฟ้าเพื่อเป็นลานซักล้างและเป็นพื้นที่สังสรรค์ของเจ้าของบ้านอีกด้วย
– ที่ดินรูปสี่เหลี่ยมคางหมูและการสร้างความเป็นส่วนตัว –
แนวคิดที่สำคัญมากที่สุดในการออกแบบบ้านหลังนี้ คือการทำให้ทุกสเปซภายในบ้านมีคุณภาพในการอยู่อาศัยทั้งทางแสง ลม เพื่อการพักอาศัยที่สบายที่สุด คุณกาจวิศว์จึงเริ่มต้นจากการศึกษาที่ดินและความเป็นไปได้ในการวางอาคาร โดยความท้าทายในการออกแบบบ้านหลังนี้คือไซท์ที่ดินเป็นรูปสี่เหลี่ยมคางหมูและมีขนาดแค่ 47 ตารางวาเป็นพื้นที่ขนาดเล็กที่มีรูปทรงต่างจากปกติ คุณกาจวิศว์ออกแบบให้ตัวอาคารวางเต็มพื้นที่ และเว้นระยะ Setback 50 เซนติเมตรขึ้นไปตามกฎหมายการออกแบบอาคาร ผนังบ้านที่ชิดกับด้านนอก จึงเป็นผนังทึบทั้งหมดเพื่อสร้างสเปซให้ใหญ่มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และออกแบบส่วนช่องเปิดโดยเจาะผนังเว้าเข้าภายในบริเวณบ้านชั้น 2 เพื่อนำลมและแสงธรรมชาติเข้าสู่พื้นที่ดังกล่าว
ที่จอดรถซึ่งอยู่หน้าบ้านสามารถรองรับรถได้ถึง 3 คัน ผนังหน้าบ้านจะเป็นผนังทึบทั้งหมด มีเพียงประตูกระจกเท่านั้นที่ทำให้ภายในสามารถมองเห็นภายนอกได้ เป็นการกั้นความเป็นส่วนตัวให้กับผู้พักอาศัย ส่วนฝ้าที่มีรูปร่างหยักไปมาในบริเวณที่จอดรถ เกิดจากการต้องการออกแบบพื้นที่ให้กว้างขึ้นด้วยการเปิดแนวฝ้านั่นเอง
แผนผังอาคารชั้น1
สถาปนิกมีการออกแบบให้พื้นที่ต่างๆภายในบ้านมีความเป็นส่วนตัวมากที่สุด เห็นได้จากพื้นที่ชั้น 1 จะมีการบังคับมุมมองภายนอก ไม่สามารถมองเข้ามาภายในได้ เสมือนเราเลือกที่จะหันหลังให้หน้าบ้านและเลือกที่จะเปิดพื้นที่ไปยังบริเวณหลังบ้าน ซึ่งมีความเป็นส่วนตัวและสร้างบรรยากาศน่าอยู่ให้กับตัวบ้าน
แผนผังอาคารชั้น 2
ช่องเปิดที่ถูกเจาะเข้ามาในพื้นที่ชั้น 2
ผนังชั้น 2 ด้านที่อยู่ชิดกับขอบที่ดินจะเป็นผนังทึบทั้งหมด โดยมีการเว้าพื้นที่สี่เหลี่ยมเล็กๆของแต่ละห้องเพื่อปลูกต้นไม้และสร้างช่องเปิดในบริเวณนั้นขึ้นมาแทน เป็นการออกแบบสเปซที่มีอยู่อย่างจำกัดให้สามารถเปิดรับทิศทางลม แสงแดด และทิวทัศน์ได้เป็นอย่างดี
ชั้น 2 ประกอบด้วยห้องนั่งเล่น และห้องนอน 3 ห้อง โดยในส่วนของห้องที่วางอยู่ติดรั้วหน้าบ้าน คุณกาจวิศว์ได้ออกแบบ Façade เป็นระแนงไม้เทียม เพื่อสร้างความเป็นส่วนตัวให้กับผู้พักอาศัย
– สีขาวและธรรมชาติ –
Mood & Tone หลักของบ้านจะใช้สีขาวเป็นองค์ประกอบหลัก การออกแบบบ้านให้โปร่งและเรียบง่าย ทำให้ผู้ใช้งานรู้สึกว่าพื้นที่ภายในมีขนาดที่พอดีกับการใช้งาน เพราะไม่มีองค์ประกอบหรือแพทเทิร์นบางอย่างมาจำกัดขอบเขตในการออกแบบนั่นเอง
ในพื้นที่ชั้น 1 จะประกอบด้วยส่วนนั่งเล่น รับประทานอาหาร ห้องครัว และห้องน้ำ โดยส่วนที่ต้องการผนังและความเป็นส่วนตัวอย่างห้องครัวและห้องน้ำ สถาปนิกวางผังให้อยู่ริมสุดของบ้าน ส่วนพื้นที่อื่นๆเป็น Open Plan เชื่อมต่อถึงกันหมด โดยมีกระจกล้อมรอบเพื่อเปิดรับวิวและธรรมชาติ เมื่อเปิดกระจกออกส่วนห้องนั่งเล่นจะกลับกลายเป็นพื้นที่ Semi-Outdoor เกิดการเชื่อมต่อระหว่างพื้นที่ภายใน ภายนอก ช่วยให้แสงธรรมชาติเข้าสู่พื้นที่ในบ้านได้มากขึ้น เป็นการเสริมสร้างบรรยากาศภายในบ้านให้ดูโปร่ง โล่ง และน่าพักอาศัย
– โถงรูปเครื่องหมายบวก –
ในส่วนพื้นที่ชั้น 2 ซึ่งประกอบไปด้วยห้องนั่งเล่น และห้องนอนทั้งหมด 3 ห้อง มีโถงทางเดินเครื่องหมายบวก (+) ซึ่งโถงนี้จะทำหน้าที่เป็นพื้นที่ส่วนกลางหรือ Common Space กลางบ้าน โดยออกแบบให้โถงทางเดินนี้มีขนาดใหญ่กว่าปกติเพราะต้องการให้พื้นที่ตรงนี้สามารถรับแสงธรรมชาติ และมีช่องเปิดรับลมจากภายนอกอาคาร จึงเกิดการเว้าพื้นที่สี่เหลี่ยมเข้ามาในแต่ละด้าน ซึ่งพื้นที่ ที่ถูกเว้าเข้ามานั้นจะมีการปลูกต้นไม้เพื่อสร้างทิวทัศน์ที่สวยงามจากภายในแทนการเปิดรับทิวทัศน์จากภายนอก
ในพื้นที่ช่องสี่เหลี่ยมที่เว้ามานั้นจะอยู่ตรงกลางระหว่างห้องพักอาศัย โดยห้องพักทุกห้องจะมีช่องเปิด 2 ด้าน เพื่อเปิดรับลมให้พัดผ่านสู่ภายในห้องนั่นเอง
– เปลือกอาคารที่โค้งหลบต้นไม้ –
“ที่ดินเดิมก่อนสร้างบ้านจะมีต้นมะม่วงต้นใหญ่ตั้งอยู่หน้าบ้าน ผมและเจ้าของบ้านจึงตั้งใจที่จะเก็บต้นมะม่วงต้นนี้ไว้ และวิธีที่ง่ายที่สุดในการเก็บต้นไม้ก็คือการสร้างผนังที่สามารถโค้งหลบต้นมะม่วงได้” คุณกาจวิศว์ตอบเมื่อเราถามถึงการออกแบบผนังที่โค้งหลบต้นไม้
พื้นที่เดิมก่อนสร้างบ้านจะมีต้นมะม่วงต้นใหญ่ตั้งตระหง่านอยู่บริเวณหน้าบ้าน โดยเจ้าของบ้านและคุณกาจวิศว์ต้องการที่จะเก็บต้นไม้ต้นใหญ่ไว้ เนื่องจากพื้นที่ของบ้านมีค่อนข้างจำกัด การจะปลูกต้นไม้ใหญ่จะเป็นไปได้ค่อนข้างยาก การเก็บต้นไม้เดิมไว้จะเป็นตัวเลือกที่ดีสุดในการมีธรรมชาติใกล้ชิดกับตัวบ้าน โดยคุณกาจวิศว์ได้ออกแบบให้ Façade ด้านหน้าอาคารมีเส้นสายที่โค้งหลบต้นมะม่วงนั่นเอง
Façade ในพื้นที่ชั้น 2 เป็น Double Façade ซึ่ง Façade ภายนอกจะเป็นระแนงไม้เทียมที่ดูแลรักษาได้ง่าย ส่วนภายในเป็นช่องเปิดเต็มพื้นที่ เพื่อเปิดรับลมจากภายนอก
“ผมมองว่าจริงๆแล้วการออกแบบบ้าน อาจจะไม่ได้ต้องการอะไรมากกว่าการเป็นบ้านที่อยู่แล้วรู้สึกสบาย” คุณกาจวิศว์กล่าวปิดท้ายกับเรา
ซึ่งแนวคิดนี้สามารถสื่อลักษณะของบ้านได้ชัดเจนมากที่สุด บ้านที่ดูเรียบง่ายภายใต้ข้อจำกัดในเรื่องพื้นที่ แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นบ้านที่คำนึงถึงผู้ใช้งานเป็นหลัก เพื่อให้ผู้พักอาศัยเกิดความสุข ความผ่อนคลาย และเกิดภาวะอยู่สบายระหว่างการพักอาศัยในบ้านหลังนี้ …