“แบ่งสัดส่วน ลดพื้นที่ ลงตัวในบ้านทาวน์เฮ้าส์”
Location: Bangkok, Thailand
Owner&Architect: Wipavee Kueasirikul & Sitthana Phongkitkaroon A Millimetre
Photograph: Jinnawat Borihankijanan
“Home Sweet Home” เป็นประโยคที่เรานึกถึงเสมอ เมื่อได้สัมผัสถึงความอบอุ่นของผู้อยู่อาศัยภายในบ้าน ถึงแม้ว่าพื้นที่จะมีขนาดเล็กกะทัดรัด แต่การออกแบบก็สามารถทำให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดี และมีความสุขได้ เช่นเดียวกันกับการรีโนเวทบ้านทาวเฮาส์สีขาวนี้ ด้วยฝีมือของเจ้าของบ้านผู้เป็นสถาปนิกอย่าง “คุณทราย-วิภาวี เกื้อศิริกุล และคุณน็อต-สิทธนา พงษ์กิจการุณ” ที่ตั้งใจแปลงโฉมบ้านหลังนี้ให้เหมาะสมกับการอยู่อาศัยของเขาทั้งสอง และกลายเป็นบ้านที่แสนอบอุ่นในทุกๆวัน
จุดเริ่มต้นในการมองหาบ้านใหม่ในทำเลเดิมที่คุ้นเคยแถวศรีนครินทร์ ที่อยู่ไม่ห่างไกลจากที่ตั้งของ “A Millimetre” ออฟฟิศสถาปนิกของคุณทรายและคุณน็อตมากนัก ทำให้ทั้งคู่ตัดสินใจซื้อบ้านทาวน์เฮาส์สองชั้น ที่มีอายุมากกว่า 30 ปีหลังนี้ ซึ่งโครงสร้างของบ้านหลังนี้ยังมีความแข็งแรงดีอยู่
– ลดลง แต่เพิ่มขึ้น –
“บ้านทาวน์เฮ้าส์ที่มีขนาดเล็ก คนส่วนใหญ่ชอบรักษาพื้นที่ใช้สอยไว้ หรือต่อเติมให้มีพื้นที่ภายในบ้านมากที่สุด เพื่อให้ชีวิตภายในบ้านสะดวกสบาย แต่จริงๆแล้วก็ไม่ได้เป็นแบบนั้นเสมอไป” คุณน็อต เริ่มเล่าถึงแก่นสารของบ้านทาวน์เฮ้าส์หลังนี้ที่แตกต่างออกไป นั่นคือ การยอมเสียพื้นที่ชั้นสอง ด้านบนของห้องนั่งเล่นกว้าง 3×2 ตารางเมตร เพื่อให้ห้องนั่งเล่นกลายเป็น Double high ให้ความรู้สึกถึงความโปร่งโล่งมากกว่าเดิม
ด้านบนสุดมีช่อง Sky Light ที่เปิดรับแสงจากภายนอกเข้ามาภายในบ้าน ทำให้พื้นที่ส่วนห้องนั่งเล่นนี้สว่างขึ้น และใส่หน้าต่างชั้นสอง ที่สามารถเลือกเปิดเพื่อให้พื้นที่เดียวกันที่อากาศไหลต่อกันไปได้
ในส่วนถัดจากห้องนั่งเล่นมาเป็นห้องครัว ซึ่งจะมีพื้นที่ด้านนอกเล็กๆที่เปิดรับธรรมชาติอย่างแสงแดด สายลม และสายฝนที่หมุนเวียนเข้ามาได้ ทำให้ขณะที่อาศัยอยู่ในบ้านสามารถรับรู้กาลเวลา และสัมผัสสภาพอากาศจากภายนอกได้แม้อยู่ภายในบ้าน
– แบ่งสันปันส่วน –
แทนที่จะรวมให้พื้นที่เป็นหนึ่งเดียวกัน อย่างการจัดบ้านในรูปแบบ Open plan กลับมีการแบ่งสัดส่วน ตั้งแต่เข้ามาสู่พื้นที่ภายในบ้าน อย่างการกั้นผนังระหว่างพื้นที่ใช้สอยหลักที่ห้องนั่งเล่นและห้องครัว กับทางขึ้นบันไดและทางเข้าห้องน้ำ เพื่อการใช้งานที่ง่ายและเป็นระบบระเบียบมากยิ่งขึ้น
โดยในส่วนของห้องน้ำชั้นแรกได้มีการเปลี่ยนแปลงประตูทางเข้า จากเดิมที่อยู่ติดกับส่วนหลังบ้าน ต้องเดินออกพื้นที่ภายนอกก่อนจึงจะเข้าห้องน้ำได้ จึงเปลี่ยนมาใส่หน้าต่างที่สามารถระบายอากาศได้แทน แล้วย้ายประตูทางเข้ามาไว้ภายในบ้านฝั่งตรงข้ามกับทางขึ้นบันได พร้อมสร้างผนังกั้นทางเข้าเพื่อความลงตัว แยกสัดส่วนกับห้องครัวที่เบื้องหลังผนังนั้นเป็นเคาน์เตอร์นั่นเอง
ในส่วนของชั้นสองมีการแบ่งสัดส่วนออกเป็นด้านหน้าที่เป็นห้องนอน กับด้านหลังที่เป็นห้องน้ำและWalk in closet เชื่อมต่อกันผ่านสะพานเล็กๆที่มองลงไปเห็นพื้นที่นั่งเล่น
Walk in closet และห้องน้ำชั้นสองที่มีช่องแสง Skylight ด้านบน และหน้าต่างบานเลื่อน ที่เปิดรับแสงธรรมชาติเข้ามาและเปิดระบายความชื้นในพื้นที่ได้
ห้องนอนที่มีพื้นที่เชื่อมต่อออกไปสู่ระเบียงภายนอก
– ขาว ลึก หนา บาง –
เนื่องจากทิศทางหน้าบ้านเป็นทิศตะวันตก พื้นที่ระเบียงจึงกลายเป็นฉนวนกันความร้อนจากแดดที่สาดส่องเข้ามา และสร้างระแนงด้วยเหล็กกล่องขนาด 1×2 นิ้ว ไล่ระดับความห่างของช่องว่างจากน้อยไปมาก เพื่อทำหน้าที่กันสายตาจากภายนอก และความเป็นส่วนตัวปลอดภัย ซึ่งรูปแบบเป็นไปในทางเดียวกับประตูบ้านด้านล่างอีกด้วย
ประตูบ้านด้านล่างที่ใช้รูปแบบระแนงเดียวกันกับด้านบน
– สวนหิน และสุนทรีภาพ –
การสร้างพื้นที่สีเขียวภายในบ้านเป็นเรื่องยากเพราะด้วยปัจจัยของแสงที่อาจไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของพืช สถาปนิกจึงเลือกออกแบบให้มีสวนหินส่วนทางเดินเข้าห้องน้ำและทางขึ้นบันไดชั้นสอง ซึ่งนอกจากจะเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าอย่างปัญหาน้ำใต้ดินที่น้ำซึมขึ้นมา ทำให้ไม่สามารถปูพื้น Epoxy แบบเดียวกับในบ้านได้ ยังทำให้เกิดสุนทรียภาพที่ดีภายในบ้านเพิ่มขึ้นอีกด้วย
“บางทีพื้นที่ใช้สอยที่เยอะที่สุด อาจจะไม่ได้เกิดความงาม หรือการใช้งานที่ดีที่สุดเสมอไป เพราะฉะนั้นต้องชั่งน้ำหนักว่าการเสียพื้นที่บางส่วนไป มันคุ้มค่ากับการได้อะไรกลับคืนมาไหม”
คำตอบของคุณทราย เมื่อเราถามถึงความแตกต่างสำหรับบ้านทาวน์เฮ้าส์หลังนี้ที่ยอมเสียพื้นที่ 6 ตารางเมตรไป เพื่อเปิดรับแสงธรรมชาติ สายลม และความรู้สึกโปร่ง เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการอยู่อาศัย เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่การออกแบบของสถาปนิกเข้ามาช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตภายในบ้านขนาดกะทัดรัดอย่างทาวน์เฮ้าส์ ให้ดีขึ้นได้อย่างมีความสุข