สถาปัตยกรรมไม่สามารถสื่อสารออกมาด้วยคำพูด แต่สามารถสร้างประสบการณ์ให้กับผู้ใช้งานได้
Blavatnik School of Government
“สถาปัตยกรรมก็คือสถาปัตยกรรม ไม่สามารถอ่านได้ง่ายๆเหมือนการอ่านหนังสือ ไม่มีคำบรรยาย ไม่มีเครดิตผู้ออกแบบเหมือนงานศิลปะในแกลเลอรี่ นั่นหมายความว่าสถาปัตยกรรมเป็นสิ่งที่ไม่สามารถสื่อสารออกมาด้วยคำพูด แต่ตัวสถาปัตยกรรมที่สามารถสร้างประสบการณ์กับผู้ใช้งานได้” Jacques Herzog และ Pierre de Meuron กล่าวเกี่ยวกับงานออกแบบของเขา หลังได้รับรางวัล Pritzker Architecture Prize ในปี 2011
Matmut Atlantique Stadium
สิ่งที่เห็นได้ชัดในงานของ Herzog & de Meuron คือ ’ความขัดแย้ง’ จากงานออกแบบที่ใช้รูปทรงเรขาคณิตพื้นฐานแต่มีองค์ประกอบที่ทั้งเรียบง่ายและแตกต่าง นอกจากนั้นพวกเขามักจะได้รับการยกย่อง ว่าเป็นสถาปนิกที่อุทิศตนในการออกแบบสถาปัตยกรรมแบบดั้งเดิม ที่นำนวัตกรรมสมัยใหม่มาประยุกต์ในการออกแบบ และนำทั้ง 2 องค์ประกอบมาพัฒนางานออกแบบให้ดียิ่งขึ้น
จุดเริ่มต้นของ Herzog & de Meuron
Jacques Herzog และ Pierre de Meuron เกิดในเมือง Basel ประเทศ สวิตเซอร์แลนด์ ในปี 1950 บ้านของพวกเขาอยู่ห่างกันเพียงไม่กี่บล็อก แต่พวกเขาเริ่มรู้จักกันตอนอายุ 7 ปี ซึ่งในตอนนั้นต่างคนก็ต่างพูดกันคนละภาษา Meuron พูดภาษาฝรั่งเศส ส่วน Herzog พูดภาษาสวิตเซอร์แลนด์
Elbphilharmonie Hamburg
หลังจากที่พวกเขาสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยม Herzog เลือกเรียนเกี่ยวกับ Commercial design school จากนั้นจึงย้ายไปเรียนด้านชีววิทยาและเคมีที่ University of Basel ซึ่งยังไม่ถูกใจเขาซักเท่าไหร่นัก เพราะเขาชื่นชอบในงานศิลปะและรักการออกแบบ แต่ในขณะเดียวกันวิทยาศาสตร์ก็เป็นเรื่องที่เขาสนใจ การเรียนสถาปัตยกรรมจึงตอบโจทย์กับ Herzog มากที่สุด เพราะเป็นการเรียนที่รวมความสนใจหลายๆอย่างของเขาไว้ด้วยกัน โดยเขาเริ่มเรียนสถาปัตยกรรมที่ Lausanne Federal Technical University (ETH) นั่นเอง
ส่วน de Meuron เป็นบุคคลที่เชี่ยวชาญในเรื่องการคำนวณและการวาดภาพเหมือน เขาจึงตัดสินใจเรียนที่ Lausanne Federal Technical University (ETH) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ เช่นเดียวกับ Herzog ทั้ง 2 คนจบการศึกษาในปี 1975 จากนั้นในปี 1978 พวกเขาจึงเริ่มทำงานด้วยกันและก่อตั้งออฟฟิศ Herzog & de Meuron ที่เมือง Basel บ้านเกิดของพวกเขา
Miu Miu Aoyama Store
ในปี 2001 Herzog & de Meuron ชนะรางวัล Pritzker Prize ซึ่งถือเป็นรางวัลที่มีเกียรติมากที่สุดในสาขาสถาปัตยกรรม และพวกเขาทั้ง 2 คน ยังเป็นพาร์ทเนอร์คู่แรกที่ได้รับรางวัลนี้อีกด้วย
Ada Louise Huxtable หนึ่งในคณะกรรมการผู้ตัดสินกล่าวว่า “Herzog & de Meuronพวกเขานำวิถีชีวิตดั้งเดิมมาปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ คงความเรียบง่ายในงาน โดยใช้การสำรวจ ค้นหาเทคนิคใหม่ๆมานำเสนอในเรื่องราวของวัสดุและพื้นผิวทางสถาปัตยกรรม”
Perez Art Museum
แนวคิดและวิสัยทัศน์
“จุดแข็งของ Herzog คือจุดอ่อนของผม” de Meuron กล่าวเกี่ยวกับการทำงานร่วมกันของพวกเขา “และจุดอ่อนของเขาก็คือจุดแข็งของผม ผมคิดว่าผมเชี่ยวชาญการออกแบบในช่วงกลางของแต่ละโปรเจค ในขณะที่ Herzog ทำได้ดีในช่วงเริ่มต้นและช่วงจบโปรเจค พวกเราต่างช่วยกันทำในสิ่งที่ตนเองถนัด โดยพวกเรามักจะเข้าไปพูดคุยกับทีมและพนักงานของเราในทุกๆวัน เพื่อช่วยกันระดมความคิดในแต่ละขั้นตอนการทำงาน”
Tai Kwun Centre for Heritage and Art
“Andy Warhol เป็นศิลปินที่พวกเราชื่นชอบมากที่สุด เขาอยู่เหนือการแบ่งประเภทของงานศิลปะ ผมคิดว่ามันง่ายเกินไปที่จะบอกว่าเขาเป็นศิลปินในยุคป๊อป เพราะเขาวาดรูปภาพที่เห็นโดยทั่วไป แต่นำสิ่งเหล่านั้นมาอธิบายในมุมมองที่แปลกใหม่ แตกต่างจากเดิม นั่นแหละครับคือสิ่งที่พวกเราสนใจ เราออกแบบฟอร์มอาคารและวัสดุแบบเดิม ด้วยวิธีการที่แตกต่าง จึงทำให้งานกลับมามีชีวิตอีกครั้ง เพราะเราชอบที่จะทำให้ผู้ใช้งานพูดเกี่ยวกับงานของเราว่า ดูบ้านเก่าหลังนั้นสิ ดูเป็นบ้านธรรมดาแต่ก็มีบางสิ่งบางอย่างที่แปลกใหม่อยู่นะ” Herzog กล่าว
Tai Kwun Centre for Heritage and Art
“ในโลกของวัสดุ พวกเราพยายามที่จะเข้าใจถึงสัจจะวัสดุนั้นๆ ว่าคืออะไรและมีคุณสมบัติเฉพาะอย่างไร เช่น เรารีเสริชจนค้นพบการพิมพ์ภาพลงบนคอนกรีต โดยเป็นวิธีการพิมพ์แบบดั้งเดิมแต่เรานำมาประยุกต์ใช้ลงบนพื้นผิวคอนกรีต นอกจากนั้นเรายังสนใจเรื่องพืชอย่างมอสและไลเคนที่เกิดขึ้นบนหิน เพราะพืชเหล่านี้บ่งชี้ถึงคุณภาพอากาศและมีสีสันที่สวยงามและน่าหลงใหล” Herzog กล่าวถึงหลักการในเรื่องวัสดุของเขา
Feltrinelli Porta Volta.
ในปัจจุบันออฟฟิศของ Herzog & de Meuron ได้เติบโตมากขึ้น โดยมีพนักงานมากถึง 120 คน สาขาหลักของ Herzog & de Meuron ตั้งอยู่ที่เมือง Basel ในสวิตเซอร์แลนด์บ้านเกิดของพวกเขา นอกจากนั้นยังมีออฟฟิศอยู่ที่ ลอนดอน มิวนิค และซานฟรานซิสโก “พวกเราทำงานเป็นทีม แต่ละทีมนั้นจะเป็นทีมที่เกิดขึ้นในแต่ละโปรเจค เมื่อจบโปรเจคก็จะตั้งทีมใหม่ทุกครั้ง ผมมองว่างานที่เกิดขึ้นจะได้มีความหลากหลาย ไม่ซ้ำกัน”
Blue House และ Stone House
ผลงานในสมัยเริ่มต้นของ Herzog & de Meuron มักจะเป็นงานสไตล์โมเดิร์นโดยคำนึงถึงสภาพแวดล้อมรอบข้างอย่าง Stone House และ Blue House แต่อย่างไรก็ตามในปัจจุบันงานของพวกเขาจะมีสไตล์งานที่เปลี่ยนแปลงไปจากในอดีต เช่น การใช้รูปแบบและรูปร่างอาคารจากกระจกหรืองานศิลปะบางอย่าง เช่นการใช้กระจกที่มีสีสันในยุค Art Deco นั่นเป็นเพราะในปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย กระบวนการสร้างอาคารและงานของพวกเขาจึงมีแนวทางที่หลากหลายมากขึ้นนั่นเอง
Tate Modern
Type: Museum
Location: London, UK
Year: 2000
จากโรงงานไฟฟ้าเก่า Bankside Power Station ที่ถูกทิ้งร้าง ได้ถูกปรับปรุงพื้นที่ให้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งชาติของอังกฤษในยุคสมัยใหม่ Tate Modern เป็นมิวเซียมแห่งหนึ่งที่คนมาเยือนลอนดอนไม่ควรพลาด
เนื่องจากที่ตั้งของโรงไฟฟ้าอยู่ริมแม่น้ำเทมส์ แม่น้ำสายสำคัญของประเทศอังกฤษ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะรีโนเวทอาคารร้างแห่งนี้ให้กลายเป็นพื้นที่สำหรับเสพงานศิลปะสมัยใหม่ ในปี 2000 Herzog and de Meuron เป็นผู้ออกแบบและดัดแปลงสเปซและรูปลักษณ์อาคารเป็นแบบที่เราเห็นในปัจจุบันภายในพิพิธภัณฑ์ Tate Modern นี้ มีจำนวนชั้นถึง 10 ชั้น ประกอบด้วยนิทรรศการต่างๆ ทั้งหมุนเวียนและถาวร ซึ่งจะมีงานภาพวาด ภาพถ่าย ประติมากรรม และยังมีมุมพักผ่อน มุมอ่านหนังสือ ร้านอาหาร รวมทั้งจุดชมทิวทัศน์ในชั้นบนสุดของอาคาร
ลักษณะที่โดดเด่นของ Tate Modern คือตัวอาคารที่เป็นรูปตัว T หัวคว่ำ เป็นการดัดแปลงรูปแบบอาคารเก่าให้เข้ากับปัจจุบันมากขึ้น
VitraHaus
Type: Multifunction Space
Location: Weil am Rhein,Germany
Year: 2010
VitraHaus เป็นโชว์รูมผลิตภันฑ์ Vitra ซึ่งเกิดจากการเรียงตัวซ้อนกันของเลเยอร์แต่ละชิ้นส่วน ภายในอาคารมีทั้งหมด 5 ชั้น ถูกแบ่งพื้นที่ทั้งหมดออกเป็น 12 ส่วน ทั้งโชว์รูมขายของ ร้านค้า ร้านกาแฟ และห้องประชุมเป็นต้น สิ่งที่โดดเด่นของสถาปัตยกรรมชิ้นนี้คือการเรียงตัวของอาคารแต่ละส่วนและการเล่นกับวัสดุภายในและภายนอกที่ตัดกันอย่างเห็นได้ชัด เช่นภายในแต่งแต้มด้วยสีขาว มีการใช้กระจกใสเปิดตลอดแนว แต่ภายนอกใช้คอนกรีตสีเทาเข้ม สร้างความขัดแย้งระหว่างภายในและภายนอก เป็นการสร้างความอบอุ่นและความมีชีวิตชีวาให้กับบ้านรูปร่างน่าสนใจหลังนี้
ภายในอาคาร
Bird’s Nest Stadium
Type: Stadium
Location: Beijing, China
Year:2004
Bird’s Nest Stadium หรือสนามกีฬารังนกในกรุงปักกิ่งประเทศจีน ซึ่งสามารถจุผู้ชมได้ถึง 91,000 ที่นั่ง เพราะรังนกเป็นอาหารยอดฮิตของชาวจีน Herzog & de Meuron จึงนำรังนกมาใช้เป็นแนวคิดหลักในการออกแบบ เพื่อแสดงสัญลักษณ์ที่ต้องการสื่อถึงประเทศจีน
รูปแบบของการสอดประสานชิ้นส่วนแต่ละส่วนนั้น เกิดจากการใช้โครงสร้างเหล็กมาประสานกันไปมา คล้ายกับการสานรังของนก โดยมีแกนวงกลม3วงล้อมรอบ ได้แก่แกนด้านนอก ด้านกลาง และด้านใน และวงกลมแต่ละวงนั้นจะมีโครงสร้างที่ช่วยพยุงวงกลมแต่ละวงไว้ด้วยกันนั่นเอง
จากเรื่องราวการทำงานและวิสัยทัศน์ของ Herzog & de Meuron เราจึงไม่แปลกใจเลยว่า ทำไมพวกเขาทั้ง 2 ถึงได้รับรางวัลต่างๆมากมาย คงจะเป็นเพราะการไม่หยุดอยู่กับที่ มีการปรับตัวตามเทคโนโลยีที่พัฒนามากขึ้นในทุกยุคสมัย แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ลืมนำเรื่องราวความดั้งเดิมมาใส่ในชิ้นงานสถาปัตยกรรมของพวกเขา
ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก Herzogdemuron.com, Archdaily, Wikipedia, Pritzkerprize, Inexhibit, pressjournal