ร้านอาหารเรียบง่าย อบอุ่น จากฟาร์มเมล่อนสู่วัตถุดิบหลักในการทำอาหาร ส่งตรงถึงผู้บริโภค
Location: พัทยา, ชลบุรี
Owner: ธัญชนก เสถียร, ณัฐภัทร หมั่นทำ
Architect: ปรีชา นวประภากุล, ชายแดน เสถียร, วริยา วงศ์ประชุม, DFAP Architect
Photographer: Jinnawat Borihankijanan
‘So fine so fresh เมื่อความสดใหม่จากฟาร์มผักผลไม้ส่งตรงถึงมือคุณ’
เป็นสโลแกนของร้าน Honeydew ร้านอาหารผสมคาเฟ่ที่ใส่ใจถึงกระบวนการผลิต วัตถุดิบ และการทำอาหารในแต่ละจาน เพื่อส่งต่อความรู้สึกดีควบคู่กับการมีสุขภาพดีไปพร้อมกัน
Honeydew ตั้งอยู่ที่ตัวเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี เป็นร้านอาหารที่เกิดจากกิจการทำฟาร์มเมล่อนของทางเจ้าของ คุณเต้ย ณัฐภัทร หมั่นทำและคุณป่าน ธัญชนก เสถียร พวกเขาทั้ง 2 คน ตั้งใจว่า Honeydew จะเป็นร้านที่มีความเป็นส่วนตัว กลมกลืนกับธรรมชาติ อีกทั้งอาหารที่ทางร้านจำหน่ายและสถาปัตยกรรมจะสามารถเชื่อมโยงเป็นสิ่งเดียวกันได้ นั่นคือการส่งต่อเรื่องราวจากฟาร์มสู่ผู้บริโภคนั่นเอง
คุณเต้ย ณัฐภัทร หมั่นทำและคุณป่าน ธัญชนก เสถียร เจ้าของร้าน Honeydew
ร้านแห่งนี้เกิดจากการรีโนเวทร้านเดิมซึ่งมีเพียงโครงสร้าง เสา คาน และหลังคา ที่พ่อแม่ของคุณเต้ยสร้างระหว่างคุณเต้ยไปเรียนที่ต่างประเทศ เมื่อคุณเต้ยกลับมาจึงทำการรีโนเวทบางส่วนและแบ่งสัดส่วนพื้นที่ขึ้นมาใหม่ โดยมี คุณปรีชา นวประภากุล คุณชายแดน เสถียร และคุณวริยา วงศ์ประชุม สถาปนิกจาก DFAP Architect เป็นผู้รีโนเวท
ร้าน Honeydew ใช้เวลาออกแบบและรีโนเวทประมาณ 6 เดือน มีพื้นที่ร้าน 340 ตารางเมตร และพื้นที่ในการทำฟาร์มทั้งหมด 7 ไร่ โดยสถาปนิกพยายามที่จะเก็บโครงสร้างและหลังคาเดิม จากนั้นจึงออกแบบรูปลักษณ์อาคารขึ้นมาใหม่ เพื่อประหยัดงบประมาณในการก่อสร้างและใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างไม่นานนัก
เรียงจากซ้ายไปขวาเป็นส่วนภายในห้องแอร์ พื้นที่ส่วนกลาง และพื้นที่กึ่งส่วนตัว
พื้นที่ภายในฟาร์มแบ่งเป็นส่วนร้านอาหารและฟาร์ม ซึ่งส่วนของร้านอาหารก็ถูกแบ่งเป็น 3 ส่วนย่อยด้วยกัน คือส่วนภายในห้องแอร์ พื้นที่กึ่งส่วนตัว และพื้นที่ส่วนกลาง
สดใหม่จากฟาร์ม
หัวใจสำคัญของร้าน Honeydew คือฟาร์มเมล่อนและผลไม้ต่างๆ เนื่องจากคุณเต้ยและคุณป่านต้องการพัฒนาต่อยอดการทำฟาร์มของครอบครัวให้มั่นคงยิ่งขึ้น แนวคิดของร้านจะเกี่ยวกับการเล่าเรื่องราวในฟาร์มตั้งแต่กระบวนการผลิต การเก็บเกี่ยวผลผลิต การนำผลผลิตมาขายให้แก่ผู้บริโภค และการนำผลผลิตมาแปรรูปเป็นอาหารชนิดต่างๆ
“เมื่อพูดถึงเมล่อนแล้ว หลายๆคนจะนึกถึงฟาร์มเมล่อนในประเทศญี่ปุ่น ผมจึงนำภาพจำเหล่านี้มาออกแบบครับ โดยนำฟาร์ม โรงเรือน และรายละเอียดบางส่วนมาประยุกต์ใช้กับงานนี้” คุณชายแดน สถาปนิกผู้ออกแบบกล่าว
เมื่อแนวทางการออกแบบคือการนำรายละเอียดและการประยุกต์ใช้สถาปัตยกรรมรูปแบบญี่ปุ่นมาใช้ ตัวร้านจะมีความเรียบง่าย โล่ง โปร่ง และใกล้ชิดกับธรรมชาติ ซึ่งทางผู้ออกแบบได้นำโรงเรือนญี่ปุ่นและลังไม้ใส่ผลไม้มาใช้เป็นแนวคิดหลัก
สีสันและโรงเรือน
Mood & Tone ของร้านจะเรียบง่าย เป็นส่วนตัว และใช้ไม้เป็นวัสดุหลัก ซึ่งทางร้านต้องการคุมโทนและสร้างบรรยากาศอบอุ่นให้กับผู้ใช้บริการ ผู้ออกแบบจึงได้แนวคิดการออกแบบด้วยการนำลังไม้ใส่ลูกเมล่อนและโรงเรือนของทางประเทศญี่ปุ่นมาลดทอนและปรับเปลี่ยนรูปแบบให้เข้ากับร้าน Honeydew เพราะเมื่อสเปซต่างๆภายในร้านใช้ไม้ก็จะทำให้ความรู้สึกเหมือนอยู่ในฟาร์มญี่ปุ่น และไม้ก็ยังเป็นวัสดุที่ช่วยเพิ่มความอบอุ่นกับอาคารได้เป็นอย่างดีอีกด้วย ส่วนวัสดุอื่นๆ จะใช้สีโทนอ่อนหรือเรียบ ช่วยเน้นความโดดเด่นของไม้ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
มีการใช้เฟอร์นิเจอร์หรือของตกแต่งบางชนิดเป็นสีน้ำเงินเข้ม ช่วยสร้างความแตกต่างกับไม้ไม่ให้กลมกลืนจนเกินไปนัก
So fine so fresh
จากโครงสร้างเดิมก่อนการรีโนเวทผู้ออกแบบจึงสร้างอาคารใหม่ 2 อาคาร โดยเก็บเสาเดิมไว้ แต่เปลี่ยนโครงสร้าง และสร้างเสต็ปภายในร้านขึ้นมาใหม่ เพื่อแยกสเปซให้เป็นสัดส่วนมากขึ้น โดยแบ่งสเปซทั้งหมดออกเป็น 3 ส่วนได้แก่ ส่วนภายในห้องแอร์ พื้นที่กึ่งส่วนตัว และพื้นที่ส่วนกลางซึ่งเป็นพื้นที่เปิดโล่ง ซึ่งแต่ละส่วนนี้จะมีการออกแบบที่คล้ายคลึงกัน กล่าวคือมีบรรยากาศที่เรียบง่าย ใช้วัสดุจากไม้เป็นหลัก และมีช่องเปิดหลากหลายส่วน ช่วยสร้างความส่วนตัวให้กับผู้เข้ามารับประทานอาหาร
บรรยากาศภายในส่วนห้องแอร์และพื้นที่กึ่งส่วนตัว จะเป็นฟังก์ชันหลังของอาคาร ซึ่งมีกลิ่นอายของโรงเรือนไม้ญี่ปุ่นเป็นรายละเอียดแอบซ่อนอยู่
ความตั้งใจของคุณเต้ยและคุณป่านคืออยากให้ลูกค้าเห็นถึงความสดใหม่ของฟาร์ม จึงมีการเปิดพื้นที่ส่วนกลาง ตรงกลางร้านให้เป็นพื้นที่เปิดโล่ง กึ่งภายใน-ภายนอก เมื่อลูกค้าเดินเข้ามาหรือมองจากภายนอกร้านแล้ว ก็จะสามารถมองเห็นฟาร์มข้างในได้โดยตรง
หน้าต่างในพื้นที่กึ่งส่วนตัว เป็นหน้าต่างบานเฟี้ยมด้านหน้าและเป็นประตูกระจกบานสไลด์ด้านข้าง เมื่อเปิดหน้าต่างออกจนหมดจะช่วยให้ลมพัดผ่านตลอดทั้งวัน และสร้างความรู้สึกเชื่อมโยงกับบ่อน้ำข้างเคียงนั่นเอง
เชื่อมโยงผืนน้ำ
มีการออกแบบสเต็ปภายในร้านด้วยการสร้างพื้นที่นั่งริมบ่อน้ำ เชื่อมโยงแต่ละสเปซด้วยบ่อน้ำขนาดใหญ่ ทำให้ร้านดูโล่ง โปร่ง แต่ละพื้นที่เกิดการเชื่อมโยง เพราะการมีน้ำจะช่วยให้ตัวอาคารดูบางเบาและยังทำให้พื้นที่ดูกว้างขึ้นอีกด้วย
โซนที่นั่งซึ่งลดเสต็ปลงจากพื้นที่ส่วนอื่นๆ ช่วยให้ใกล้ชิดกับน้ำและธรรมชาติมากขึ้น
ใส่ใจทุกรายละเอียด
หลังคาเดิมก่อนรีโนเวทจะค่อนข้างใหญ่และหนา สถาปนิกจึงออกแบบโดยให้บริเวณหน้าอาคารมีการเล่นระดับโดยใช้ไม้ระแนงมาตีปิดบางส่วนของหลังคา ทำให้ตัวอาคารดูเบาและโปร่งมากขึ้น มากไปกว่านั้นยังมีการออกแบบ Double Façade ในบริเวณจั่วด้านหน้าอาคาร ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากระเบียงบ้านของชาวญี่ปุ่น ที่มักจะใช้ไม้ระแนงมาสร้างพื้นที่ส่วนตัว ให้บ้านเกิดมิติของแสงและเงา แต่ในขณะเดียวกันก็สามารถกันแดดได้ด้วย
ฝ้าหลังคาที่ได้รับแรงบันดาลใจจากการลดทอนโครงสร้างโรงเรือนจากประเทศญี่ปุ่น
ผนังภายในร้านจะตกแต่งด้วยการเล่าเรื่องขั้นตอนการเก็บผลผลิตจากในฟาร์ม เช่น ใช้เส้นสายและลวดลายของเมล่อนประกอบเป็นรูปแบบต่างๆภายในร้าน และส่วนเคาน์เตอร์จะใช้ไม้ลังมาตกแต่งบางส่วนด้วยเช่นกัน
มีการเก็บต้นปีปหรือต้นไม้เดิมในพื้นที่อาคาร ด้วยการเจาะช่องบนหลังคาและเว้นพื้นที่ให้ต้นไม้ได้เติบโต
นอกจากที่นั่งภายในร้านแล้ว ยังมีที่นั่งกลางแจ้งซึ่งหันเข้าหาตัวร้าน เป็นการเปิดมุมมองไปยังส่วนร้านและฟาร์ม แสดงให้เห็นถึงขั้นตอนการทำงานของฟาร์มตั้งแต่การเก็บผลผลิตจนถึงการนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการทำอาหาร
Melon Frosty (120 baht), Pork fillet steak (275 baht), Honeydew Salad (240 baht)
ภายในร้านประกอบด้วยเมนูอาหาร เครื่องดื่มและขนมต่างๆ ที่ใช้วัตถุดิบสดๆ ปลอดสารพิษจากในฟาร์ม เป็นความตั้งใจของคุณเต้ยและคุณป่านที่ต้องการให้ทุกเมนูอาหารมีส่วนผสมของธรรมชาติหรือพืชผักจากฟาร์ม ให้ลูกค้าได้รับประทานอาหารอย่างมีความสุขพร้อมกับการมีสุขภาพดีไปพร้อมกัน
Honeydew ร้านอาหารที่เป็นส่วนตัวกลมกลืนกับธรรมชาติ ทั้งอาหารและแนวคิดการออกแบบ ตลอดจนสร้างกระบวนการจากขั้นตอนผลิตสู่การจำหน่ายแก้ผู้บริโภค ภายใต้การออกแบบสถาปัตยกรรมที่เรียบง่ายแต่อบอุ่นแห่งนี้
แผนที่ร้าน Honeydew
SomethingMORE
- Honeydew เป็นชื่อพันธ์เมล่อนที่นิยมปลูกในสมัยก่อน และยังเป็นชื่อโทนสีแพนโทนอีกด้วย
- ความตั้งใจต่อไปของคุณเต้ยและคุณป่านคือพัฒนา Honeydew ให้มีสเปซเพิ่มเติมสำหรับขายของเพื่อรองรับการค้าขายของคนในพื้นที่ ต่อยอดจากผลผลิตในฟาร์มเชื่อมโยงกับลูกค้าและชุมชน