“ความกลมกล่อมแบบไทยๆ ในสถาปัตยกรรมสไตล์อินดัสเทรียลลอฟท์”
Location: วันนิมมาน, เชียงใหม่
Architect: ภู-ภูริทัต คุณุรัตน์ Proud Design
Photograph: จิณณวัตร บริหารกิจอนันต์
หากเอ่ยชื่อร้าน “เขียวไข่กา” หลายคนน่าจะคุ้นชื่อกันดี กับร้านอาหารไทยที่เลือกเสิร์ฟบรรยากาศดีๆภายในสถาปัตยกรรมสไตล์อินดัสเทรียลลอฟท์ เน้นโทนสีเข้มตัดกับสีเขียวไข่กาบนฝาผนัง ตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์วินเทจ และนี่เป็นบ้านหลังที่สอง ณ “วันนิมมานเชียงใหม่” ที่เกิดขึ้นจากแนวคิดที่มากกว่าความบังเอิญ ภายใต้บรรยากาศการตกแต่งใหม่ที่ผสมผสานวัฒนธรรมของตะวันตกและตะวันออกเข้าด้วยกัน พร้อมทั้งใส่ความพิเศษของภาคความเป็นล้านนา คลุกเคล้าจนเกิดเป็น “เขียวไข่กาx Artisan วันนิมมาน” ที่สวยงาม กลมกล่อม และน่าลิ้มลองสักครั้งเมื่อมีโอกาสไปเยือนเชียงใหม่

จาก “กรุงเทพ” ส่งตรงถึง “เชียงใหม่”
จุดเริ่มต้นที่เกิดขึ้นจากความประทับใจ เมื่อครั้งได้เดินดูสถาปัตยกรรมที่ “วันนิมมาน” ย่านที่รวมวิถีชีวิตร่วมสมัยและร้านค้าสร้างสรรค์เข้าไว้ด้วยกัน หนึ่งในแลนด์มาร์คแห่งใหม่ใจกลางเมืองเชียงใหม่ที่ใครหลายๆคนชื่นชอบ ไม่ต่างกับ “คุณภู-ภูริทัต คุณุรัตน์” สถาปนิกจาก Proud Design และหุ้นส่วนร้านเขียวไข่กา ที่มองเห็นความคล้ายคลึงบางอย่างที่เกิดขึ้นระหว่างร้านและวันนิมมานแห่งนี้ ทั้งแนวคิดการผสมผสานระหว่างความเป็นไทยในรูปแบบทันสมัย และต้นไทรที่อยู่ด้านหลังของพื้นที่ คล้ายกับบริบทที่กรุงเทพที่มีต้นไทรเป็นพระเอกในการออกแบบ
Inside Out เชื่อมภายในให้กลายเป็นหนึ่ง
เนื่องจากอาคารของวันนิมมานสามารถเปิดทางเข้าได้ทั้งภายในอาคารและภายนอกอาคาร ด้านในอาคารมีการออกแบบดูเหมือนแบ่งออกเป็นสองร้าน โดยที่ฝั่งร้านกาแฟ “Artisan” ถูกออกแบบให้ย่นระยะเข้าไปกว่าร้านอาหารเขียวไข่กาเล็กน้อย เพื่อสร้างมิติที่แตกต่างให้กับทางเข้า พร้อมหยิบเอาแลนด์สเคป และวางโต๊ะนั่งทานกาแฟเล็กๆด้านหน้า เพื่อรองรับลูกค้าของ Artisan โดยเฉพาะ

แต่ทว่าภายในกลับเชื่อมต่อพื้นที่ทั้งหมดเข้าด้วยกัน ทำให้พื้นที่ภายในดูโปร่งโล่งยิ่งขึ้น จัดวางโต๊ะเก้าอี้โดยคำนึงให้พื้นที่มีความยืดหยุ่นมากที่สุด เฟอร์นิเจอร์สไตล์วินเทจที่สามารถเคลื่อนย้ายได้ ทำให้จัดได้หลากหลายรูป เพื่อรองรับลูกค้าส่วนใหญ่ที่มาเป็นกลุ่ม
“นอก” (และ) “เหนือ”
บ้านหลังที่สองของร้านเขียวไข่กานี้ ยังคงแนวคิดการออกแบบไว้ไม่ต่างจากสาขากรุงเทพฯ ไม่ว่าจะเป็นการตกแต่งสไตล์อินดัสเทรียลลอฟท์ การใช้ลายกราฟิกที่มีส่วนผสมของสีเขียวไข่กาบนฝาผนัง สื่อถึงความอุดมสมบูรณ์ของเมืองไทย อาหารไทย โดยแรงบันดาลใจมาจากลายเครื่องเคลือบเผาศิลาดล ซึ่งเป็นภาชนะใส่อาหารไทยมาตั้งแต่โบราณ และสีเขียวไข่กาก็เกิดขึ้นจากการเผาเครื่องเคลือบศิลาดล เพื่อให้เกิดภาพจำเอกลักษณ์ของร้าน แต่ที่นี่จะเป็นการออกแบบอินเทอเรียแบบอาคิเทค หรือการตกแต่งที่เกิดขึ้นจากโครงสร้างของฟังก์ชันผสมกับงานสถาปัตยกรรมที่เราใช้งานจริงๆ เช่น การใช้โครงสร้างเหล็กในพื้นที่นั่งชั้นลอยในรูปแบบวินเทจ ซึ่งทั้งหมดถูกออกแบบอยู่ภายใต้โครงสร้างของอาคารวันนิมมานเอง

ฝาผนังลายกราฟิกที่มีส่วนผสมของสีเขียวไข่กาบริเวณบันไดวนขึ้นชั้นลอย
หลังคาโครงสร้างเหล็กรูปทรงจั่วภายในร้านนี้ ได้รับแรงบันดาลใจมาจากรูปทรงของบ้านไทยล้านนาสมัยก่อน ที่นำมาดัดแปลงในรูปแบบที่เกลี้ยงเกลาและเข้ากับยุคสมัยมากขึ้น พยายามให้รูปแบบมีความเป็นสากล ดูแล้วเหมือนการออกแบบสถาปัตยกรรมเมือง“นอก” ที่ซุกซ่อนความหมายแบบไทยภาค“เหนือ”ได้อย่างงดงาม ในขณะเดียวกันก็สามารถคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของเขียวไข่กาเองด้วย เพราะมีลักษณะคล้ายกับรูปแบบสถาปัตยกรรม “Glass house” ของร้านสาขาที่กรุงเทพ
ร้านเขียวไข่กา Artisan Cafe สาขากรุงเทพ ที่มีรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบ Glass House อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่.. http://bit.ly/KiewKaiKa_Line
ความพิเศษในงานออกแบบอยู่ที่การเพิ่มเติมเอกลักษณ์ของบริบทอย่างภาคเหนือเข้าไปในการตกแต่ง โดยเป็นการผสมผสานนำของพื้นถิ่นมาทำให้อยู่ในรูปแบบทันสมัย เสมือนการผสมผสานการออกแบบในยุคตะวันออกและตะวันเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการหยิบปลาเพียะ ซึ่งเป็นส่วนประกอบในการทำลาบหรืออาหารเหนือ มาแปลงโฉมอย่างสร้างสรรค์ให้กลายเป็นโคมไฟ ภายในร้าน สร้างบรรยากาศแบบไทยๆในรูปแบบทันสมัย
ต้นไม้ภายในร้านยังคงใช้ต้นไม้จริงไม่ว่าจะเป็นต้นไม้ที่สามารถปลูกในร่มได้อย่างเฟิร์น ไทรใบสัก ต้นคูเซีย เนื่องจากต้นไม้จริงให้ความรู้สึกที่สัมผัสได้มากกว่า

ส่วนใหญ่จะเป็นของรีไซเคิลที่นำมาตกแต่ง อย่างหนังสือที่นำมาห้อยตกแต่งเป็นเหมือนงานศิลปะในคอนเซปต์ “Cloud of knowledge” พื้นที่เก็บข้อมูลในอากาศ เหมือนเขียวไข่กาสาขากรุงเทพนั่นเอง
แตกต่าง แต่ไม่แปลกแยก
“มันแตกต่างด้วย Sense of place อยู่แล้ว” คำตอบของคุณภูเมื่อเราถามถึงความแตกต่างระหว่างสาขากรุงเทพและเชียงใหม่ อย่างที่กรุงเทพมีการแยกระหว่างร้านกาแฟกับร้านอาหารอย่างชัดเจน ส่วนที่เชียงใหม่ภายในจะเป็นร้านเดียวกัน ซึ่งบรรยากาศต่างๆที่เกิดขึ้น ถูกออกแบบให้เข้ากับบริบทและดูกลมกลืนมากที่สุด



อาหารของที่นี่ยังคงเหมือนสาขาที่กรุงเทพฯ แต่จะมีเมนูอาหารถิ่นภาคเหนือ อย่างเซทน้ำพริกที่เสิร์ฟผ่านฝีมือการคิดค้นสูตรของ “เชฟปอย-ณัฐวุฒิ นันต๊ะแขม” มาสเตอร์เชฟประจำร้านอาหารเขียวไข่กาทั้งสาขากรุงเทพและเชียงใหม่
เครื่องดื่มจากผลไม้ของไทย ที่เสิร์ฟในรูปแบบที่แปลกตา

“เราเป็นร้านที่มาจากกรุงเทพ แต่เราไม่อยากแปลกแยกกับเชียงใหม่” คุณภูเล่ามาถึงตอนสุดท้าย เกี่ยวกับความตั้งใจที่จะออกแบบร้านแห่งนี้ให้กลมกลืนกับความเป็นเชียงใหม่มากที่สุด รวมถึงยังคงเอกลักษณ์ของร้านเดิมไว้ได้อย่างแนบเนียน โดยการผสมผสานความเป็นตะวันออกและตะวันตกเข้าด้วยกัน ในรูปแบบของความเป็นไทยอย่างทันสมัยได้สมบูรณ์แบบ