หลังจากข่าวคราวการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับ “ลิโด” หนึ่งในโรงภาพยนต์ในเครือ Apex ใจกลางสยามสแควร์ ได้ปิดตัวลงอย่างถาวรไปเมื่อวันที่31 พฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมา ทำให้อนาคตของลิโดยังคงเป็นคำถามอยู่จนกระทั่งเกิดความเคลื่อนไหวล่าสุด กับเรื่องราวที่ยืนยันว่าการกลับมาในพฤษภาคมปีนี้ จะเกิดขึ้นจริง
Apex ส่งไม้ต่อให้ LOVEis
เนื่องจากกลุ่ม Apex ของคุณนันทา ตันสัจจา ได้หมดสัญญาการเป็นผู้ดูแลสถานที่ ทุกคนต่างเป็นกังวลว่าทิศทางของลิโดต่อไปจะเป็นอย่างไร แต่สํานักจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ PMCU ผู้ถือสัมปทานพื้นที่สยามสแควร์ ก็มิได้นิ่งนอนใจ ซึ่งได้มีการเจรจาหาพันธมิตรจากหลากหลายกลุ่มมาร่วมกันพัฒนาพื้นที่ของลิโดใหม่ให้ก่อเกิดประโยชน์สูงสุด
โดยผลสรุปจากสํานักจัดการทรัพย์สินฯ ได้ตัดสินใจสานต่อตำนานโรงหนังเก่าที่มีอายุกว่า 50 ปี ผู้ที่มารับไม้ต่อ คือ บริษัท Love is Entertainment หรือ LOVEis กลุ่มคนดนตรีค่ายเล็กมาแรง นำทีมโดย คุณเทพอาจ กวินอนันต์, คุณบอย โกสิยพงษ์ และคุณนภ พรชํานิ ที่มีเจตนารมณ์ที่ผลักดันให้ลิโดเป็นมากกว่าโรงหนังธรรมดา นั่นคือพื้นที่ที่สามารถเชื่อมโยงกลุ่มอาชีพสร้างสรรค์หลากหลายแขนงเข้าด้วยกันโดยไม่มีปิดกั้น ไม่ว่าจะเป็นร้านค้า พื้นที่จัดงานอีเว้นท์ รวมถึงรีโนเวทพื้นที่ภายในโรงภาพยนตร์ทั้ง 3 ให้เหมาะกับการแสดงสดทุกประเภท เช่น ดนตรี ละครเวที นิทรรศการคอนเสิร์ต ห้องอัดเสียง ไปจนถึง e-Sport โดยนิยามทั้งหมดรวมๆว่า ‘Co-cultural Space’ นั่นเอง
เติมไม้โท จาก”ลิโด” เป็น “ลิโด้”
ชื่อโครงการใหม่นี้ ยังคงความหมายเดิมต่อไปเพื่อเคารพในสถานที่อันมีที่มาและเรื่องราวผ่านมาอย่างยาวนาน แต่หากมีการเติมไม้โทลงไป เปลี่ยนจาก ลิโด สู่ ลิโด้ และมีการเพิ่มเติมคำว่า CONNECT ต่อท้าย เพราะต้องการให้เป็นดั่งพื้นที่ “เชื่อมโยง” ความสัมพันธ์ แลกเปลี่ยนมุมมอง โดยไม่จำกัดกลุ่มอาชีพ ที่พร้อมเปิดให้บริการในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2562 นี้
Back to Original
ลิโดสร้างขึ้นในยุค 70’s แต่ภาพที่เราเห็นล่าสุดก่อนการปิดตัวลงนั้น ได้การรีโนเวทหลังจากเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ในยุค 90 ซึ่งไฮไลต์สำคัญของการรีโนเวทใหม่ในครั้งนี้คือ ภาพของรูปร่างหน้าตาตัวอาคารจะกลับไปเหมือนโรงภาพยนตร์ลิโดแบบดั้งเดิมในยุค 70’s เพื่อคงสถาปัตยกรรมแห่งความเคารพเอาไว้ ด้วยการออกแบบของ อู๋ ภฤศธร สกุลไทย Design Director บริษัท PIA interior และ พี รวมพร ถาวรอธิวาสน์ ผู้ก่อตั้งและ Managing Director บริษัทติโตติโต ภายใต้แนวคิด แต่ปรับปรุงให้เข้าเข้ากับยุคสมัย ส่วนด้านหน้าของอาคารพยายามเปิดให้มองเห็นจากภายนอกสู่ภายใน และสามารถเดินทะลุไปอีกด้านของอาคาร ซึ่งเป็นถนนเส้นหลักของสยามสแควร์ ตกแต่งเพิ่มเติมความทันสมัยเข้าไปใหม่โดยยังคงรักษาของเดิมไว้ให้ได้มากที่สุด
ภาพโรงภาพยนตร์ลิโดในยุค 70’s
“โรงภาพยนตร์” ที่ไม่ใช่เพียงเพื่อดูหนังอีกต่อไป
ความตั้งใจที่จะเก็บโรงภาพยนตร์ทั้งสามโรงของลิโดเดิมเอาไว้ แล้วรีโนเวทเพื่อเป็นพื้นที่ที่เปิดกว้างสำหรับศิลปวัฒนธรรม ต่อไปที่นี่จะไม่ได้มีเพียงแค่การฉายหนังเท่านั้น แต่มีทั้งดนตรี การแสดง ละครเวที จัดสัมมนา หรือเปิดตัวงานศิลปะ ไปจนถึงเปิดตัวสินค้าที่ช่วยเหลือสังคม โดยคงแนวคิดที่จะปรับเปลี่ยนด้วยความเคารพสถานที่เดิม อย่าง โรงภาพยนตร์ที่ 1 ที่นั่งเดิมและจอฉายยังคงอยู่เหมือนเดิม แต่ทว่าเอาพรมออกเพราะว่าสภาพการใช้งานที่ผ่านมาเนิ่นนาน เป็นที่สะสมของเชื้อโรค ทำความสะอาดยาก และอาจไม่คุ้มค่าต่อค่าบำรุงรักษา
ส่วนโรงภาพยนตร์ที่ 2 ที่มีขนาดใหญ่กว่าโรงภาพยนตร์ที่ 1 เก้าอี้ยังคงเก้บไว้ เพิ่มไฟที่สามารถส่องเวทีได้ แต่เอาจอฉายภาพยนตร์ออก แล้วก็เพิ่มหลังเวทีที่เป็น Backstage แทน ให้เหมาะสำหรับกิจกรรมประเภทดนตรี หรือเรียกว่า Live House นั่นเอง ส่วนสุดท้ายคือโรงภาพยนตร์ที่ 3 มีการรื้อเก้าอี้ออกทั้งหมดจัดพื้นที่ใหม่ ล้อมม่าน ใส่ไฟกริดไป เพื่อรองรับกลุ่ม Performing Art หรือศิลปะที่เกี่ยวข้องกับการแสดง
พื้นที่ชั้น 1 ที่แต่เดิมเป็นร้านค้าแฟชั่นจะถูกเปลี่ยนเป็นพื้นที่ Commercial โดยแบ่งเป็นกลุ่มที่เป็นอาหารและเครื่องดื่มประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลือเปิดกว้างสำหรับร้านค้าและบริการอื่นๆที่ต้องออกแบบกิจกรรมที่ทำเพื่อสังคม ไม่ใช่มาแสวงหากำไรเพียงอย่างเดียว
นอกจากนี้การรีโนเวทหลักๆ คือ เรื่องของโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพื่อสนับสนุนให้พื้นที่แห่งนี้เหมาะกับการเป็นพื้นที่ใจกลางแห่งศิลปวัฒนธรรมอย่างแท้จริง อย่างเช่น ห้องน้ำที่แต่เดิมมีน้อยทำให้ไม่เพียงพอต่อการใช้งาน จึงมีการเพิ่มจำนวนห้องน้ำเข้าไป รวมถึงแยกสัดส่วนให้มีห้องน้ำสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุด้วย อีกทั้งที่นี่เคยน้ำท่วม จึงมีการปรับเปลี่ยนระบบระบายน้ำใหม่ งานระบบทั้งหมด แอร์ น้ำ ไฟ และระบบความปลอดภัยใหม่ทั้งหมด
LIDO Connect พื้นที่ที่เปิดโอกาสให้ผู้คนได้มาเชื่อมต่อกันภายใต้สถาปัตยกรรมอันล้ำค่า เป็นการเก็บรักษาเรื่องราวทางประวัติศาสตร์จากรุ่นสู่รุ่นแล้ว ความผูกพันธ์ที่เกิดขึ้นนี้ยังถือเป็นบทบาทใหม่ของสังคมใจกลางกรุงเทพที่น่าค้นหาอีกด้วย
ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก LIDO CONNECT และ APEX