OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

Arata Isozaki จากสงครามโลก สู่สถาปนิกรับรางวัล Pritzker Prize 2019

“สถาปัตยกรรมชิ้นแรกที่ผมรู้จักคือความว่างเปล่า” Arata Isozaki

Arata Isozaki สถาปนิกชาวญี่ปุ่น ในวัย 87 ปี เขาเป็นสถาปนิกผู้มีอิทธิพลมากที่สุดคนหนึ่งของญี่ปุ่น และยังได้รับรางวัล Pritzker Prize รางวัลที่เปรียบเสมือนรางวัลโนเบลสาขาสถาปัตยกรรมในปีนี้อีกด้วย

“เขาสร้างแรงบันดาลใจในโลกสถาปัตยกรรมมาเป็นระยะเวลายาวนาน แม้เขาจะมีอิทธิพลต่อการออกแบบ แต่กลับมีแนวคิดที่เป็นปัจเจก ไม่ตามกระแสใดๆ ผลงานของเขาแต่ละชิ้นนั้นแตกต่างและไม่เหมือนใคร” หนึ่งในคณะกรรมการ Pritzker Prize กล่าว

CaixaForum

Arata Isozaki เกิดที่เมือง Ōita, Japan ในปี 1931 เมื่อเขาอายุได้ 12 ปี ก็เป็นช่วงเวลาเดียวกับสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งมีการทิ้งระเบิดปรมาณูที่เมือง Hiroshima และ Nagasaki จึงทำให้บ้านเรือน อาคารต่างๆ และเมืองเกิดของเขาถูกทำลายจนหมดสิ้น

Domus (House of Mankind)

“ในตอนที่ระเบิดปรมาณูถูกปล่อย ทุกอย่างพลันหายไปหมด ผมต้องเติบโตในสภาวะแวดล้อมที่ไม่เหลืออะไรเลย ไม่มีสถาปัตยกรรม ไม่มีบ้านเรือน ไม่มีเมือง บรรยากาศรอบตัวผมมีเพียงค่ายทหารและที่พักอาศัยชั่วคราวเท่านั้น” Arata Isozaki กล่าวถึงชีวิตเขาในวัยเยาว์

“สถาปัตยกรรมชิ้นแรกที่ผมรู้จักคือความว่างเปล่า ต่อมาคือการตระหนักว่า ผู้คนจะสร้างบ้านและฟื้นฟูเมืองขึ้นใหม่อย่างไร”

Nara Centennial Hall

จากเหตุการณ์ในตอนนั้น ทำให้ Arata Isozaki สนใจด้านสถาปัตยกรรม เขาจึงตัดสินใจเข้าศึกษาปริญญาตรีที่ University of Tokyo คณะสถาปัตยกรรมและวิศวกรรม ในช่วงเรียนมหาวิทยาลัย เขามีโอกาสได้เรียนกับ Kenzo Tange สถาปนิกผู้โด่งดังในการออกแบบสไตล์ Metabolism และเมื่อเขาสำเร็จการศึกษา ปี 1954 เขาก็ได้ร่วมงานกับ Kenzo Tange  จนกระทั่งปี 1963 เขาจึงออกจากบริษัท และก่อตั้งออฟฟิศของตนเองในชื่อ Arata Isozaki & Associates ซึ่งถือเป็นการเริ่มต้นในการเป็นสถาปนิกอย่างเต็มตัว

Manggha Krakow

ในชีวิตการเป็นสถาปนิกกว่า 60 ปี เขาสร้างสถาปัตยกรรมมากกว่า 100 อาคารทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นในเอเชีย ยุโรป อเมริกา หรือออสเตรเลีย ทุกโปรเจคนั้นล้ำสมัยและไม่เหมือนกัน สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่สดใหม่ของเขาอยู่เสมอ มากไปกว่านั้นเขายังเป็นสถาปนิกญี่ปุ่นคนแรก ที่ผสานเรื่องราวสถาปัตยกรรมตะวันออกและตะวันตกได้อย่างลึกซึ้ง เพราะเขาประยุกต์ความรู้ทางด้านประวัติศาสตร์ ทฤษฎีสถาปัตยกรรม และวัฒนธรรมลงไปในงานออกแบบของเขาเอง

Shanghai Symphony Orchestra Hall

Qatar convention center

แม้ประเทศญี่ปุ่นยุคหลังสงครามโลกจะได้รับการปลดปล่อยจากพันธมิตร แต่ญี่ปุ่นก็ยังได้รับผลกระทบจากสงครามอยู่ จึงถือเป็นช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวครั้งใหญ่ วิธีแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุดสำหรับ Arata Isozaki คือการปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เพราะด้วยการแก้ไขปัญหาเพียงวิธีเดียวนั้นไม่สามารถแก้ไขและพัฒนาเมืองได้ ด้วยวิธีคิดเช่นนี้จึงทำให้เขามีรูปแบบงานที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

Ōita Prefectural Library

ลักษณะงานออกแบบของเขาคือการผสานสไตล์ Metabolism และ Brutalism เข้าด้วยกัน Metabolism คือการออกแบบสถาปัตยกรรมในอนาคต โดยเขาศึกษารูปแบบนี้จากตอนเรียนมหาวิทยาลัยและเริ่มทำงานกับ Kenzo Tange ส่วน Brutalism เป็นการออกแบบที่มักจะใช้รูปทรงเรขาคณิตและเป็นงานออกแบบขนาดใหญ่ แสดงถึงสัจจะวัสดุและมีรายละเอียดซ้ำๆ เช่น ห้องสมุด Ōita Prefectural Library โรงเรียนสตรี Iwata Girls’ High School และ Fukuoka City Bank เป็นต้น

Dtip: Kenzo Tange เปรียบดั่งบิดาแห่งสถาปัตยกรรมสไตล์ Metabolism ของประเทศญี่ปุ่น ที่ส่งผลต่องานออกแบบของ Arata Isozaki นี่เอง

City in the Air

หนึ่งในผลงานที่มีชื่อเสียงของ Arata Isozaki คือ City in the Air หรือการวางผังเมืองในอนาคตของเขต Shinjuku, Japan เป็นการออกแบบเส้นทางคมนาคม บ้านพักอาศัย และอาคารต่างๆ ให้ลอยขึ้นเหนือเมือง Shinjuku ในปัจจุบัน ถึงแม้ว่า โปรเจคนี้จะไม่ได้สร้างขึ้นจริง แต่แนวคิดนี้ (ในสมัยนั้น) ถือเป็นก้าวแรกของการพัฒนาสังคมเมืองญี่ปุ่นให้ทันสมัยมากขึ้น และยังเป็นโปรเจคที่ทำให้ Arata Isozaki ได้วางผังเมืองในเมืองต่างๆ ทั่วโลกอีกด้วย

Museum of Contemporary Art, LA

Kitakyushu City Library

ผลงานที่โดดเด่นอื่นๆ ได้แก่ Expo ’70 Festival Plaza, Osaka , พิพิธภัณฑ์ศิลปะ Museum of Modern Art, Gunma  พิพิธภัณฑ์ Museum of Contemporary Art, Los Angeles และพิพิธภัณฑ์ Kitakyushu Municipal Museum of Art, Fukuoka  ผลงานส่วนมากของเขามักมาจากประสบการณ์ในวัยเด็ก โดยแสดงให้เห็นถึงความโหดร้ายของสงครามอย่างชัดเจน

Arata Isozaki เป็นหนึ่งในสถาปนิกที่มีอิทธิพลกับสถาปัตยกรรมในยุค Contemporary เขาไม่เกรงกลัวต่อการเปลี่ยนแปลงและการค้นคว้าวิธีการใหม่ๆ งานของเขามีความหมายอันลึกซึ้ง เขาผสานรวมโลกตะวันตกและตะวันออกเข้าด้วยกัน จากการสร้างสรรค์แนวคิดใหม่ และไม่เพียงแต่สถาปัตยกรรมเท่านั้น หากยังรวมถึงปรัชญา ทฤษฎี ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม เหตุผลเพียงเท่านี้ ก็น่าจะเป็นคำตอบที่เพียงพอแล้วว่า ทำไม Arata Isozaki ถึงเป็นผู้ได้รับรางวัล Pritzker Prize ในปี 2019 นี้

ขอบคุณรูปภาพและข้อมูลจาก Archdaily, Dezeen, Pritzker Prize