OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

Playville สนามเด็กเล่นที่จริงจังเรื่องที่ว่าง ธรรมชาติ และวัสดุ

‘ตอนเป็นเด็ก เจ็บสุดก็แค่หกล้ม’

เป็นประโยคที่เรามักจะได้ยินบ่อยๆ เพื่อเปรียบเปรยชีวิตวัยเด็กและวัยทำงาน แต่จริงๆ แล้ว ประโยคนี้มีความนัยซ่อนเร้นถึงการเติบโตของเด็กแต่ละช่วงวัย เพราะเด็กจะเรียนรู้สิ่งต่างๆ จากการทำกิจกรรม ไม่ว่าจะเป็นการสัมผัส การเดิน หรือการวิ่ง และแน่นอนว่าเด็กมักมีข้อจำกัดเรื่องการควบคุมร่างกายหรือการทรงตัวที่ยังไม่ดีพอ การหกล้มจึงกลายเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับพวกเขา …

ซึ่งเหตุผลข้างต้น จึงนำมาสู่แนวคิดหลักของ Playville สนามเด็กเล่นใจกลางเมือง บนพื้นที่ 266 ตารางเมตร สำหรับเด็กอายุ 6 เดือน – 6 ปี เป็นอาคาร 2 ชั้น ที่ชั้นล่างเป็นโซน Dog Park และชั้น 2 เป็น Playville โดยมีคุณพราว พุทธิธรกุล และคุณนิษฐา ยุวบูรณ์ จาก NITAPROW เป็นผู้ออกแบบ

คุณพราว พุทธิธรกุล และคุณนิษฐา ยุวบูรณ์ สองสถาปนิกผู้ออกแบบจาก NITAPROW

ความไม่สมดุลของเด็ก

จากการศึกษาข้อมูลและประสบการณ์คลุกคลีกับเด็กๆ ของคุณนิษฐา และคุณพราว ก็พบว่าพัฒนาการของเด็กช่วง 6 เดือน – 6 ปี จะเริ่มมีการเคลื่อนไหว โดยเริ่มตั้งแต่การคลาน การเดิน การวิ่ง และการทรงตัวที่แตกต่างกันตามอายุ เช่น เมื่อเด็กเริ่มหัดเดิน ก็จะยังเดินไม่ค่อยมั่นคง โคลงเคลงไปมา แต่ในทางกลับกัน ถ้าเด็กเดินหรือวิ่งได้เมื่อไหร่แล้วละก็ ผู้ปกครองจะต้องคอยติดตามดูความปลอดภัยอยู่เสมอ เพราะบางครั้งก็อาจจะเกิดอุบัติเหตุโดยไม่ตั้งใจ

ซึ่งการพัฒนาที่ต่างกันและความไม่สมดุลนี้ นำมาสู่แรงบันดาลของ Playville ซึ่งแบ่งเป็นหลายองค์ประกอบในการออกแบบ ไม่ว่าจะเป็น สเปซ ผิวสัมผัส ธรรมชาติ และการสร้างมุมมองที่แตกต่าง โดยเป้าหมายของ Playville นอกจากจะตั้งใจให้เป็นสถานที่สำรวจ ทดลอง และเล่นสนุกสำหรับเด็กแล้ว ยังต้องพัฒนาร่างกายและจิตใจพวกเขาได้ในเวลาเดียวกัน

เรียนรู้จากร่างกาย

Playville จำลองบรรยากาศจากสนามเด็กเล่นในอดีต ที่มักจะมีพื้นที่โล่ง กว้างให้เด็กวิ่งเล่นอย่างสบายใจ มีบ่อทราย มีพื้นหญ้าให้คุ้นเคยกับธรรมชาติ นำมาประยุกต์ให้เข้ากับการออกแบบในปัจจุบันที่มีพื้นที่จำกัด กล่าวคือเป็นสนามเด็กเล่นในความทรงจำที่ทันสมัยมากขึ้น ทั้งนี้เพราะ Playville ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ผ่านการใช้ประสาทสัมผัส เด็กในวัย 3 – 6 ปี ควรได้รับการพัฒนาจากกล้ามเนื้อมัดใหญ่มากกว่ามัดเล็ก ดังนั้นเครื่องเล่นและพื้นที่ในอาคาร จึงออกแบบมาให้เด็กได้ลองสัมผัส ได้วิ่ง และได้เล่นท่ามกลางความอบอุ่นจากบรรยากาศเรียบง่าย

ซึ่งข้อจำกัดของสนามเด็กเล่นที่เน้นทางกายภาพนั้น ควรออกแบบเครื่องเล่นให้มีความปลอดภัย โดยเลือกวัสดุที่ไม่อันตราย ไม่มีเหลี่ยมมุม ปราศจากสารพิษ และเลือกใช้วัสดุหรือของเล่นที่แข็งแรง คงทน เพราะในบางครั้งเด็กๆ จะไม่สามารถควบคุมแรงหรือการใช้งานได้ ทางผู้ออกแบบจึงต้องแก้ปัญหาด้วยการเสริมความแข็งแรงเป็นพิเศษให้กับพื้นผิวและของเล่นทั้งหมด เพื่อช่วยยืดระยะเวลาการใช้งานนี่เอง

ผังอาคาร

พื้นที่ไม่จำกัดขอบเขต

สเปซใน Playville จะไม่แบ่งพื้นที่แต่ละส่วนอย่างชัดเจน (Open Plan) มาจากนิสัยของเด็กที่ไม่หยุดนิ่ง มักมีการเดิน วิ่งตลอดเวลา Circulation ในอาคารจึงไม่มีทั้งจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุด ช่วยให้เกิดการเคลื่อนไหวอย่างอิสระ เพราะทุกพื้นที่ต่างเชื่อมต่อถึงกัน ทั้งโถงต้อนรับ พื้นที่เล่นภายนอก สไลเดอร์และบ่อบอลในอาคาร

เด็กๆ จะมีพื้นที่เล่นสนุกกับสไลเดอร์อันใหญ่ที่สามารถปีนป่ายและลื่นไถลลงมา ส่วนข้างล่างสไลเดอร์จะเป็นเสมือนถ้ำส่วนตัวของพวกเขา ที่สามารถเล่นหรือทดลองได้ทุกอย่างตามความชื่นชอบ

‘บ่อบอล’ ของเล่นยอดฮิต ที่เด็กๆ จะวิ่ง นอน หรือกลิ้ง ลงไปในบ่อบอลได้อย่างสนุกสนาน ยิ่งมีสไลเดอร์ที่เด็กต้องปีนป่ายขึ้นไปและไถลลงมาในบ่อบอลข้างล่างแล้วละก็ จะยิ่งเพิ่มความสนุกและความตื่นตาตื่นใจให้กับเด็กๆ ไม่น้อยเลยทีเดียว ซึ่งการเล่นเช่นนี้จะเพิ่มทักษะทางกล้ามเนื้อและการเคลื่อนไหวได้เป็นอย่างดี

‘บล็อกตัวต่อ’ ของเล่นเสริมสร้างจินตนาการ ด้วยการให้เด็กๆ หยิบ จับ วาง บล็อกตัวต่อหลากสีสันให้อยู่ในรูปทรงและรูปแบบตามความคิดสร้างสรรค์ของพวกเขา

‘สไลเดอร์’ ใน Playville นั้นทำจากไม้จริงทั้งหมด และเด็กๆ ต้องปีนป่ายขึ้นไปแทนการใช้บันได มากไปกว่านั้นยังมีพื้นที่เล็กๆ ให้เด็กๆ ได้มุด วิ่ง คลาน และไถลลงมาสู่บ่อบอลนุ่มนิ่มที่อยู่ข้างล่าง รับรองได้เลยว่าพวกเขาจะสนุกจนลืมเวลาเลยทีเดียว

ผิวสัมผัสที่แตกต่าง

เด็กในวัย 6 เดือน – 6 ขวบ เริ่มรับรู้ความแตกต่างของผิวสัมผัสแต่ละชนิด ซึ่งในการออกแบบสนามเด็กเล่น ‘พื้น’ เป็นผิวสัมผัสที่เด็กจะได้ทำความรู้จักมากที่สุด ทางคุณนิษฐาและคุณพราวจึงเลือกใช้วัสดุพื้นหลายประเภท เช่น ใช้พื้นไม้ยาง เพื่อรองรับแรงกระแทกในส่วนโถงทางเข้า เมื่อเข้ามาด้านในก็ใช้พื้นโฟมที่นิ่มและยืดหยุ่น ป้องกันการเจ็บตัวจากอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นขณะเด็กๆ กำลังเล่นสนุก

ส่วนพื้นที่กึ่งภายใน – ภายนอกเป็นพื้นที่ ที่ช่วยให้เด็กทำความรู้จักและคุ้นเคยกับวัสดุจากธรรมชาติรอบตัว ด้วยการใช้ ‘พื้นหญ้าเทียม’ และ ‘บ่อทราย’ เพราะในวัยเด็กเรามักสนุกกับการสร้างปราสาททราย การได้เล่นกลางทุ่งหญ้า เด็กๆ ก็น่าจะเพลิดเพลินไม่แพ้กัน โดยเฉพาะบ่อทรายและพื้นหญ้าที่เตรียมของเล่นไว้ครบครัน ทั้งช้อนตัก ที่ขุดทราย ถาดพลาสติก พร้อมให้เด็กเรียนรู้และเล่นสนุกได้ตลอดเวลา

ธรรมชาติใกล้ตัว

เพื่อสร้างบรรยากาศให้คล้ายกับภายนอกอาคาร จึงออกแบบโดยนำแสงธรรมชาติเข้ามาในอาคารให้มากที่สุด ด้วยการเจาะช่อง Skylight ให้แสงส่องเข้ามาจากด้านบนอาคาร เปรียบเสมือนแสงส่องมาจากท้องฟ้าด้านนอก

มากไปกว่านั้นยังมีการออกแบบม่านบังแดดเป็น Pixel Screen หรือผ้าสักหลาดนำมาตัดเป็นรูปทรงวงกลมและค่อยๆ เปลี่ยนเป็นทรงสี่เหลี่ยมเมื่อสูงขึ้น สร้างแสงสะท้อนและความเคลื่อนไหวในอาคาร โดย Pixel Screen จะมีลวดลายต้นไม้ สัตว์ กระจายกันตามแต่ละส่วน เพื่อจำลองธรรมชาติให้เด็กได้เรียนรู้ และเมื่อมีแสงลอดผ่าน ก็จะสะท้อน Pixel Screen เกิดเป็นเงาที่ต่างกันตามแต่ละช่วงเวลา โดยคุณสมบัติของ Pixel Screen นอกจากจะใช้กันแดดและสร้างความเป็นส่วนตัวแล้ว ยังสามารถดูดซับเสียงรบกวนได้อีกด้วย

ผ้าสักหลาดที่ทาง Playville เลือกใช้เป็นตัวช่วยพรางสายตาและดูดซับเสียง

อีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือการเลือกใช้ ‘สี’ ในการออกแบบ ซึ่งสีใน Playville จะเป็นสีโทนอ่อน เฉดสีธรรมชาติ ที่เป็นเช่นนั้น เพราะสีอ่อนช่วยสร้างสภาวะแวดล้อมที่สงบนิ่ง ทำให้เด็กจดจ่อกับของเล่นและกิจกรรมที่อยู่ตรงหน้า ไม่ถูกรบกวนด้วยสีสันฉูดฉาดนั่นเอง

Playville เป็นโปรเจคสนามเด็กเล่นที่นอกจากจะให้ความสำคัญกับการเล่นสนุกของเด็กแล้ว ยังคำนึงถึงการใช้งานและการพัฒนาศักยภาพของเด็กด้วย ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบบรรยากาศให้คล้ายกับธรรมชาติมากที่สุด การสร้างสเปซ การเลือกใช้วัสดุพื้นผิวที่แตกต่างเพื่อให้เด็กเกิดการพัฒนาและเรียนรู้ และที่สำคัญที่สุดคือมีบรรยากาศอบอุ่น ผ่อนคลาย ทำให้ผู้ปกครองรู้สึกเสมือนได้มาพักผ่อน ในขณะที่กำลังเฝ้ามองลูกๆ เล่นสนุกใน Playville


Location: Playville, Sukhumvit 49, Bangkok

Owners: Playville93 Co.,Ltd.

Architect: Nita Yuvaboon, Prow Puttorngul, NITAPROW 

Photographer: Ketsiree Wongwan

Map:

Discover more from Design Makes A Better Life.

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading