OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

VILLA MASON : NEO-BRUTALIST IN HOSPITALITY DESIGN

หากพูดถึงงานของ VASLAB นำโดย คุณวสุ วิรัชศิลป์ ภาพจำที่มีต่อสถาปัตยกรรมของเขาคืออาคารคอนกรีตที่สร้างความตื่นเต้นให้กับผู้ชมทั้งเรื่องรูปทรงและแนวคิดอยู่เสมอ และกับ VILLA MASON
งานออกแบบรีสอร์ตชิ้นล่าสุดของเขาก็เช่นกัน เขาได้ผนวกรวมงานสถาปัตยกรรมที่หนักแน่นเข้ากับงานออกแบบธุรกิจบริการ (Hospitality) เพื่อสร้างสมดุลระหว่างความงามของสถาปัตยกรรมที่สัมผัสได้ด้วยตา และความอบอุ่นแสนสบายที่สัมผัสได้ด้วยความรู้สึก

“ความน่าสนใจของงานนี้คือภาษาที่เราใช้ ถึงแม้จะเป็น Neo-Brutalism ที่เอาความดิบเท่จากวัสดุ สี และ mood & tone เข้ามาใช้ แต่คำว่า Hospitality คือต้องเชื้อเชิญ เพราะฉะนั้นเราต้องออกแบบสถาปัตยกรรมที่อยู่กับบรรยากาศโดยรอบ (ambience) ที่เหมาะสม”

“จากชื่อ Villa Mason ที่มาจาก Stone Mason คือช่างแกะสลักหิน เราจึงอยากให้โปรเจ็คต์ของเราสะท้อนถึงแนวคิดที่ทำให้ธรรมชาติอยู่ร่วมกันได้กับชุมชนช่างแกะสลักหิน และตัวสถาปัตยกรรมเองก็สะท้อนความเป็นอยู่ในย่านนั้นผ่านทางรูปลักษณ์เชิงประติมากรรมที่ถูกจัดวางอยู่บนวิลล่าและแนวคอนทัวร์ของเขาหิน”

โจทย์ตั้งต้นข้อแรกที่สำคัญที่สุดสำหรับงานออกแบบผังบริเวณและสถาปัตยกรรมนั่นคือไซต์ของพื้นที่ ด้วยโลเคชั่นบนเนินเขาที่ด้านหนึ่งหันหน้าไปทางหมู่บ้านชาวประมงที่สัตหีบ และอีกด้านหันหน้าเข้าสู่แสงสีของหาดจอมเทียม จุดนี้จึงเป็นเหมือนกับรอยต่อระหว่างความแตกต่างทางด้านสังคมของสองพื้นที่ บวกกับรูปแบบของพื้นที่ซึ่งเป็นเนินเขาหินที่ถูกน้ำทะเลธรรมชาติซัดกร่อนจนเกิดเป็นรูปทรงของพื้นที่หินตามธรรมชาติ จึงเลือกจัดการมาสเตอร์แพลนตามแนวคอนทัวร์ของหินที่เล่นระดับตั้งแต่ส่วนสูงสุดลงมาจนถึงส่วนหน้าหาดที่ความสูงประมาณอาคาร 5 ชั้น โดยใช้การ cut & fill หรือตัดดินจากในพื้นที่เพื่อนำมาถมภายในบริเวณ ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวคิดเพื่อความยั่งยืนที่ซ่อนแฝงระหว่างการก่อสร้าง

“แน่นอนว่า การทำวิลล่าจำเป็นจะต้องเห็นทะเลให้มากที่สุด ซึ่ง 4 แถวแรกที่ติดกับชายหาดเราออกแบบให้มองเห็นได้ทั้งหมด แถวแรกที่เตี้ยที่สุด อยู่สูงจากระดับชายหาดประมาณ 2 เมตร คือส่วน Beachfront 1 ห้องนอน ส่วนชั้นถัดมาคือ Beachside 1 ห้องนอน ซึ่งทั้งสองเป็นแบบที่ผมชอบมากที่สุด ความพิเศษของมันอยู่ตรงที่อาคารเข้าจากทางหลังคาซึ่งมีข้อดีตรงที่ช่วยรักษาสภาพของพื้นที่แบบเดิมเอาไว้ เพราะถ้าเข้าจากข้างล่าง มันหมายความว่าเราต้องขุดถนนข้างล่างอีก โดยหลังคาจะเป็นหลังคาหญ้าเทียมที่สามารถทำกิจกรรมข้างบนนั้นได้ นั่งเล่นชมวิว และยังเป็นตัวช่วยกรองแสง ลดความร้อนภายในห้องลง”

จากทางเข้าบนหลังคาเดินตามบันไดลงมา เพื่อแจกจ่ายเข้าสู่ห้องนั่งเล่นและห้องนอน ซึ่งบันไดตัวนี้เป็นบันไดโปร่งโรยด้านใต้ด้วยกรวดเพื่อสร้างหลุมแสงใต้บันไดที่สอดพ้องไปตามบรรยากาศของแสงที่เปลี่ยนแปลงตลอดทั้งวัน

ส่วนแถวที่ 3 จะเป็นห้องแบบ 2 ห้องนอนสำหรับครอบครับที่อยู่ใกล้เคียงกับระดับพื้นดินเดิมของโครงการ จึงเข้าจากหน้าห้องปกติ และแถวที่ 4-5 เป็นห้องแบบ Duplex ที่เข้าจากชั้นตรงกลางแล้วเดินขึ้นลงอย่างละครึ่งชั้น การขึ้นสู่ชั้นสองไปยังห้องนอนจึงไม่ต้องปีนขึ้นสูงมากเหมือนห้องคอนโดปกติ และชั้นล่างที่เป็นส่วนนั่งเล่นก็มองเห็นสระว่ายน้ำขนาดใหญ่ที่เดินเข้าออกจากห้องน้ำได้เลย ซึ่งนี่ก็เกิดจากหลักคิดที่ต้องการออกแบบอาคารและรูปแบบการใช้ชีวิตที่สอดคล้องกับธรรมชาติให้ได้มากที่สุด

“ส่วน Garden ตรงนี้ยากตรงที่มองไม่เห็นทะเล เราก็เลยทำสระว่ายน้ำขนาดใหญ่ยาวเท่ากับตัววิลล่า แล้วทำสวนล้อมรอบ โดยตัวอาคารเราใช้ความเป็น Scupltural Form ตัดเฉือนเปิดออกให้สกายไลต์กับหน้าต่างเป็นชิ้นเดียวกันให้เห็นธรรมชาติด้านนอก นั่นก็คือการดึงเอาธรรมชาติเข้ามาภายในวิลล่าด้วย”

องค์ประกอบที่สำคัญที่สุดของการออกแบบ Pool Villa แห่งนี้คือการดึงเอาบรรยากาศที่รายล้อมไม่ว่าจะเป็นทะเล แสงสี หมู่บ้านชาวประมง หรือแม้กระทั่งสวนให้เข้ามามีบทบาทในการพักผ่อนให้มากที่สุดบนภาษาของสถาปัตยกรรมแบบ Neo-Brutalist ในคอนเซ็ปต์หลักของหินที่เล่าเรื่องต่อเนื่องมาจากรูปฟอร์มของพื้นที่ การหาส่วนผสมที่ลงตัวผ่านทางวัสดุจึงเป็นอีกโจทย์สำคัญ และสรุปได้ว่า พื้นผิวของอาคารที่นี่เลือกใช้การตกแต่งผิวคอนกรีตด้วยสีพ่นหิน ซึ่งมีข้อดีตรงที่ไม่โทรมเร็ว จึงอยู่ได้ยาวอย่างยั่งยืน ร่วมกับการเปิดช่องแสงต่างๆ ผ่านกรอบบานหน้าต่างและประตูอะลูมิเนียมของ TOSTEM รุ่น GRANTS ซึ่งด้วยความสูงเกือบ 3 เมตรของกรอบบานหน้าต่าง และความหนาอะลูมิเนียมที่บางกำลังพอดี จึงสอดประสานเข้าพอดีกับงานดีไซน์โดยที่ฟังก์ชั่นการใช้งานและประสิทธิภาพทั้งด้านการป้องกันแดดฝนลมริมทะเลก็ทำได้อย่างเต็มที่

ในส่วนภาคการตกแต่ง ลำดับแรกคืองานตกแต่งจากช่างฝีมือแกะสลักหินในท้องถิ่นที่นำวัสดุหินจากอ่างศิลามาสร้างสรรค์เป็นของตกแต่งภายในหลายชิ้น เช่น ที่ทับกระดาษ แจกัน เชิงเทียน เป็นต้น ลำดับที่สองคือการได้ภาพถ่ายฟิล์มกระจกฝีมือ ชาติฉกาจ ไวกวี ช่างภาพชื่อดังของเมืองไทยมาถ่ายทอดภาพถ่ายจากในไซต์งานและสถาปัตยกรรม และเป็นส่วนหนึ่งของงานตกแต่งชิ้นมาสเตอร์พีซภายในวิลล่าทุกห้อง และลำดับที่สาม คือผลงานหวายจากกรกฎ อารมย์ดี ตัวแทนของหมู่บ้านชาวประมง มาร่วมกันสร้างพื้นที่แห่งนี้ให้ดูมีชีวิตอย่างสมบูรณ์

สุดท้ายแล้ว สิ่งที่คุณวสุได้เรียนรู้ ลองผิดลองถูก ทดลองทำสิ่งใหม่หลากหลายอย่างเกิดขึ้นผ่านการเปลี่ยนบทบาทของตัวเองจากการเป็นสถาปนิกมาเป็นผู้ใช้งานดูบ้าง “บางอย่างที่เราคิดว่ามันเป็นของชัวร์ แต่จริงๆ แล้วอาจจะต้องพัฒนาขึ้นอีก คือมันมีบางสิ่งบางอย่างที่ความเป็นดีไซเนอร์ ถ้าเราไม่ได้ไปอยู่ใช้เองจริงเนี่ย เราจะมองข้ามมัน ทั้งๆ ที่เวลาผู้ใช้งานกับเจ้าของโครงการมาพูดกับเรา เขาก็จะพูดเรื่องพวกนี้ แล้วเราก็จะพูดภาพใหญ่ แต่เรื่องเล็กพวกนี้เราก็มองข้ามไม่ได้ เพราะงานของเราคือการต้องผนวกความสุขจากการใช้งานให้เข้ากับสุนทรียะความงามให้ได้ และจะสร้างให้ทั้งสองอย่างอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลได้อย่างไร? นี่คือสิ่งที่อาจกำลังอยู่ในขั้นตอนการตกผลึก เพราะไม่มีใครรู้หรอกว่าอะไรคือสูตรสำเร็จของมัน”

ขอขอบคุณ

สถาปนิก : คุณวสุ วิรัชศิลป์ แห่ง VASLAB

ภาพ : วีระพล สิงห์น้อย 

 

Discover more from Design Makes A Better Life.

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading