OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

BOTANICA CAFÉ คาเฟ่ของสะสม และความขัดแย้งของสไตล์คือความจริงใจที่เข้าถึงได้ง่าย

คุณค่าของ “ของสะสม” คือการมีตัวตนจากในอดีตถึงปัจจุบันจนอนาคต ทั้งให้ชื่นชมและใช้งานจริงในบางครั้งบางคราว เหมือนกับร้านของคุณพี ชัชวาล เที่ยงเจริญ เจ้าของร้าน โบทานิก้า คาเฟ่ (BOTANICA CAFÉ) ตั้งอยู่ติดรถไฟฟ้าสถานีสำโรงที่ห่างจากทางลงสถานีไม่ไกลนัก คาเฟ่น้องใหม่ที่เปิดมาเพียง 1 เดือน แต่อายุของของด้านในทวีคูณหลายเท่าตัว จากเดิมทีเรียนจบสายแฟชั่น ทำงานฟรีแลนซ์ตกแต่งและจัด Window display และที่สำคัญคือรักการสะสมของ มีมูลค่าทางจิตใจเป็นอย่างมาก

สะสมของ…ลองแบ่งปัน

“ ชอบของเก่า เริ่มจากการสะสมจาน มันค่อยๆเยอะขึ้น จนวันหนึ่งคิดว่าถ้าเราได้ใช้ประโยชน์จากมันบ้างก็คงจะดี จึงคิดเปิด โบทานิก้า คาเฟ่ ” แนวคิดหลักของร้านคือ การเอาของสะสมที่มีอยู่มาใช้ และแบ่งปันของสะสมของเจ้าของร้านให้คนอื่นได้มาใช้ และชื่นชมในความงาม รวมไปถึงความชื่นชอบด้านต้นไม้ ที่ได้ลองไปคลุกคลีอยู่กับวงการตันไม้ ทำให้เกิดความหลงรักในพืชพรรณต้นไม้  จึงได้นำความรู้และความชอบที่มีมาใช้  ทำให้โทนของร้านเป็นสีเขียวจากต้นไม้หลายสิบต้นที่ทำให้เข้ามาในร้านแล้วรู้สึกสดชื่นและอบอุ่นในเวลาเดียวกัน จากการตั้งใจในแนวคิด “สะสมของให้ลองใช้”  เหมือนเป็นการแบ่งกันใช้ ไม่ว่าจะเป็น จาน ชาม แก้ว แจกัน เครื่องใช้ในสำนักงาน อาทิ เครื่องเจาะรูกระดาษ โปรเจคเตอร์ฉาย หนังสือ เปียโน ตะเกียง  โต๊ะเก้าอี้ ตู้ ที่มาทั้งจากของสะสม ตลอดจนของที่ใช้ในงานฟรีแลนซ์ที่เคยได้ทำ

“ คุณค่าอย่างหนึ่งนอกจากการสะสมสิ่งของ คือการได้แบ่งปัน ”

อาคารพาณิชย์ 3 ชั้น  BOTANICA ในส่วนของชั้น 1 เปิดเป็นส่วนคาเฟ่ที่จัดมุมต่างๆไว้ให้ถ่ายรูป ทั้งส่วนต้อนรับด้านหน้า มุมฮิตของที่นี้คือ ของสะสมและอักษรบนผนังที่เขียนไว้ว่า All you is need wild. แสดงให้เห็นถึงแนวคิดหลักตั้งแต่เข้ามาที่หน้าร้านกันเลยทีเดียว รวมถึงการถักเมคราเม่ (Macramé) รูปหัวช้างตัวใหญ่ จากความสามารถของคุณพี ที่ได้ถักและนำมาตกแต่ง และแนวเคาเตอร์ที่ใช้ตู้สะสมจาน ชาม ช้อน แก้ว ลวดลายครามที่วางเรียงกันเป็นแนวยาวตลอดทางเดิน ที่มีพรมเป็นของสะสมเก่าปูอยู่ใกล้กัน ตลอดจนก่อนขึ้นบันได คือเปียโนไม้โบราณ ได้รับกลิ่นอายของสะสมโบราณและพรรณไม้ทั้งเล็กใหญ่ที่เข้ากันอย่างลงตัว  

อาคารพาณิชย์ 3 ชั้น BOTANICA CAFÉ  ในส่วนของชั้น 1 เป็นส่วนคาเฟ่ที่จัดมุมต่างๆไว้ให้ถ่ายรูป ทั้งส่วนต้อนรับด้านหน้า มุมฮิตของที่นี้คือ มุมของสะสมและอักษรบนผนังที่เขียนไว้ว่า All you is need wild. แสดงให้เห็นถึงแนวคิดหลักตั้งแต่เข้ามาที่หน้าร้านกันเลยทีเดียว รวมถึงการถักเมคราเม่ (Macramé) รูปหัวช้างตัวใหญ่ จากความสามารถของคุณพี ที่ได้ถักและนำมาตกแต่ง และแนวเคาเตอร์ที่ใช้ตู้สะสมจาน ชาม ช้อน แก้ว ลวดลายครามที่วางเรียงกันเป็นแนวยาวตลอดทางเดิน ที่มีพรมเป็นของสะสมเก่าปูอยู่ใกล้กัน ตลอดจนก่อนขึ้นบันได คือเปียโนไม้โบราณ ได้รับกลิ่นอายของสะสมโบราณและพรรณไม้ทั้งเล็กใหญ่ที่เข้ากันอย่างลงตัว  

ในส่วนของชั้น 2 ตกแต่งสไตล์แอนทีค เช่นเดียวกับด้านล่าง ที่มีเฟอร์นิเจอร์การตกแต่งที่หลากหลาย เหมือนโต๊ะหินอ่อนที่วางเข้าชุดกับเก้าอี้สนามและพรม ดูแปลกตา หลากหลายสไตล์แต่ลงตัวดี  เสน่ห์ของการสะสมอีกอย่างคือของบางชนิด ก็มีแค่ไม่กี่ชิ้น ในส่วนของชั้นนี้ มีแสงธรรมชาติภายนอกจากหน้าต่างด้านหน้า ที่รับแสงธรรมชาติ และมุมถ่ายรูปเก๋ๆ และในอนาคตคุณพี เจ้าของร้านมีโครงการที่จะทำส่วนของชั้นที่ 3 เป็นส่วนของ Workshop จากความรู้และความชอบที่สะสมมาเปิดสอนให้คนได้มาเรียนรู้เช่นเดียวกัน เหมือนเป็นคอมมูนิตี้เล็กๆจากการรวมความชอบของเจ้าของมาไว้ที่นี่

อาคารกับการใช้สอย

อาคารพาณิชย์เก่า 3 ชั้นคูหากลาง ที่ถูกนำมาฟื้นคืนอีกครั้ง โดยการรีโนเวทและตกแต่ง แต่ยังคงเอกลักษณ์ของตึกเก่าไว้อยู่ ทั้งพื้นและผนัง  เน้นไปทางวัสดุปูนเปลือยของพื้นและผนัง  บางส่วนมีการซ่อมแซมและคงร่องรอยของอาคารเก่า มีการทาสีผนังบางส่วนหลังเคาเตอร์ที่ทาสีเขียวให้เข้าและกลมกลืนกับพืชพรรณต้นไม้ในร้าน ผนังสีขาวช่วยให้เฟอร์นิเจอร์เก่าและต้นไม้ในร้านมีความโดดเด่นมากยิ่งขึ้น ถือเป็นการผสมผสานของการก่อสร้างอาคารที่คงรูปแบบของอาคารเดิม และต่อเติมเข้าใหม่ เพื่อให้ใช้งานได้ดีมากยิ่งขึ้น

การผสมผสานของการตกแต่ง

เป็นการผสมผสานทุกสิ่งที่ดูต่างหน้าที่และการใช้สอยได้อย่างลงตัว “ คาเฟ่ที่มีของหลากหลาย เหมือนไม่เข้ากัน แต่เมื่อมองมาแล้วมันดูลงตัว ” คุณพี เจ้าของร้านได้กล่าวไว้อย่างนั้น  ทั้งการจัดสรรชุดเก้าอี้สนามกับโต๊ะหินอ่อน ก็สามารถจัดวางกับพรมได้ แม้กระทั่งพืชพรรณต้นไม้ที่น่าจะอยู่ภายนอก ก็สามารถนำมาตกแต่งด้านในร้าน เข้ากันกับของตกแต่งสะสมเก่าอื่นๆได้อย่างลงตัว และภายในร้านเอง

หมุนเวียน ผลัดเปลี่ยนกันไม่ให้เฉา

Botanica Café มีเอกลักษณ์อย่างหนึ่งที่ผสมผสานหลายๆสิ่งในคาเฟ่ คือ การผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกัน ทั้งในของสะสมเก่า ที่ต้องการให้มีการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน จากการต้องการแบ่งปันและอยากเห็นคนได้ใช้ของสวยงาม แบบที่ตนเองชอบ หรือบางส่วนที่อาจจะเข้ามาเติมเต็มในร้าน รวมถึงตัวสถาปัตยกรรมของอาคารเองก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ก็หมุนเวียนเปลี่ยนไป จากเดิมที่เคยเป็นตึกร้างที่ไม่ได้ใช้งาน ถูกทำให้กลายเป็นอาคารที่ฟื้นคืนชีวิตอีกครั้ง ในอนาคตคุณพีมีแนวทางที่จะมีส่วนของการจัด Workshop เหมือนเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ ความสนใจในทางที่คล้ายๆกัน แลกเปลี่ยนประสบการณ์ผ่านกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นซึ่งกันและกัน

หลายคนอาจจะสงสัยว่า ต้นไม้พืชพรรณต่างๆต้องการแสงนะ มันจะอยู่รอดได้ยังไงกับการอยู่ในอาคารแบบนี้ แน่นอนว่าคุณพี เจ้าของร้านมีการจัดการในส่วนนี้ คือ วันพุธที่เป็นวันหยุดของร้าน จะทำการนำต้นไม้ออกไปรับแสงแดด และผลัดเปลี่ยนต้นไม้ที่หลากหลายหมุนเวียนกันเข้ามา ทำให้กลายเป็นว่าทุกสิ่งในร้านเกิดขึ้น จากการหมุนเวียนและเปลี่ยนกันไป ถือเป็นการจัดการแบบหนึ่งที่สามารถให้ใช้งานได้อย่างลงตัว

เสน่ห์ขนมอารมณ์ศิลป์

อีกอย่างที่เป็นเสน่ห์ที่โดดเด่นของที่นี่อีกอย่างคือ ขนมและเครื่องดื่ม ที่ทางเจ้าของร้านได้ทำออกมาได้ลงตัว เป็นการผสมผสานการตกแต่งประดับพืชพรรณ เข้าไปในแต่ละเมนู ที่รสชาติก็อร่อย แถมหน้าตาสวยงามมากเลยทีเดียว เมนูแรกชื่อว่า Strawberry Versailles หรือเรียกสั้นๆว่า แวร์ซายนั่นเอง (ราคา 175 บาท) เมนูขนมอย่างที่ 2 ชื่อ เค้กช็อคโกแลตซิกเนเจอร์ (ราคา 98 บาท) ส่วนเมนูเครื่องดื่มก็ถือว่าสร้างสรรค์ตั้งแต่การคิดชื่อเลยทีเดียว เมนูแรกคือ โบทานิก้า คอฟฟี่ เอสเพรสโซ่+ชาเขียวเย็น (ราคา 115 บาท) เมนูต่อไปคือ หน่อบี่ เอสเพรสโซ่+ชาไทย (ราคา 95 บาท) อย่างสุดท้ายคือสตอเบอรี่อุ่น (ราคา 88 บาท) ที่เป็นเมนูน้องใหม่เลยก็ว่าได้

หน่อบี่ เอสเพรสโซ่+ชาไทย (ราคา 95 บาท)

แวร์ซาย (ราคา 175 บาท) 

เค้กช็อคโกแลตซิกเนเจอร์ (ราคา 98 บาท)

จากการสะสมที่มีมูลค่าทางใจ ที่ต้องการแบ่งปันให้เกิดคุณค่าภายในต่อใครอีกหลายคน สะท้อนผ่านประสบการณ์ที่เคยสั่งสมมา จนออกมาเป็นร้าน Botanica Café คาเฟ่ที่สื่อผ่านของสะสม พืชพรรณต้นไม้ สไตล์กลิ่นอายวินเทจแอนทีค ที่ผสมผสาน สิ่งที่ดูเหมือนไม่เข้ากันตามตัวตนของสิ่งนั้น แต่ออกมาลงตัวอย่างไม่น่าเชื่อ ใครจะเชื่อว่าหลายๆอย่างก็สามารถผสาน ในวงจรเดียวกัน หมุนเวียนและผลัดเปลี่ยนไป เพราะเชื่อว่า เสน่ห์ของความเก่า คือเอากลับมาใช้ใหม่ ทำให้ร้านมีเอกลักษณ์เฉพาะที่หาที่ไหนไม่ได้อีก

 

Facebook : Botanica Cafe

เรื่อง : ปัณฑิตา สังฆ์การีย์
ภาพ : จิณณวัตร บริหารกิจอนันต์
ผู้ช่วยช่างภาพ : วราพร เจนไธสง, ตมิสา ศรีตะปัญญะ