OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

แสงสว่างในสถาปัตยกรรม Louis Kahn

“ทุกสถาปัตยกรรมล้วนมีจิตวิญญาณของตนเอง”

Louis Kahn สถาปนิกรุ่นเก๋าผู้โด่งดังในปลายศตวรรษ 20 เป็นที่รู้กันดีว่างานของเขามีรูปแบบหนักแน่นสไตล์โมเดิร์นผสมผสานเข้ากันได้ดีกับสถาปัตยกรรมยุคกลาง

Yale University Art Gallery

เขาเข้าเรียนปริญญาตรีด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย University of Pennsylvania และหลังจบการศึกษาในปี 1924 เขาได้ไปศึกษา ดูงานหลายๆประเทศทางฝั่งยุโรป จากนั้นเมื่อกลับมาทำงานสานฝันการเป็นสถาปนิก เขาก็ได้รับงานออกแบบโปรเจค Sesquicentennial Exposition และตอบรับตกลงเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัย Yale คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์

Indian Institute of Management

การเดินทางไปยุโรปครั้งนั้นเป็นการจุดประกายให้ Louis Kahn สนใจในสถาปัตยกรรมยุคกลาง เช่น ปราสาท กำแพงเมืองเก่ามากกว่าสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ และทำให้เริ่มสนใจสถาปัตยกรรมแนว Beaux Arts ซึ่งส่งผลต่อแนวทางการออกแบบของเขาในเวลาต่อมา โดยรูปแบบอาคารจะเป็นรูปทรงเรขาคณิตขนาดใหญ่ สะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างที่ว่างและฟังก์ชันอย่างเด่นชัด มากไปกว่านั้นยังใส่ใจถึงรูปแบบและทิศทางของแสงธรรมชาติ จากภายนอกอาคารส่องเข้ามายังสเปซภายใน เพราะแสงธรรมชาติที่เกิดขึ้น ไม่ได้มาจากช่องเปิดขนาดใหญ่ แต่เป็นแสงที่สอดแทรกเข้าสู่สเปซภายใน ช่วยแบ่งฟังก์ชันด้วยการสร้างความขัดแย้งในอาคาร

National Assembly Building of Bangladesh

Exeter Library

Louis Kahn มีความเป็นปัจเจก ทรงพลัง และลึกลับ แม้ตัวเขาจะค่อนข้างเข้าใจยาก แต่สถาปัตยกรรมกลับตรงกันข้าม งานของเขาซ่อนความลึกซึ้ง เป็นสถาปัตยกรรมที่มีมากกว่าสเปซและฟังก์ชัน เพราะเขาใส่ใจถึงการรับรู้และรูปแบบของธรรมชาติ หลายๆ คนมองว่าเขาเป็นทั้งนักปราชญ์และบุคคลลึกลับในเวลาเดียวกัน และเขายังมีชีวิตส่วนตัวที่ซับซ้อน จนเป็นแรงบันดาลใจให้ลูกชายถ่ายทำสารคดีเข้าชิงรางวัล “My Architect” ในปี 2003 อีกด้วย

“Louis Kahn เป็นศิลปิน เป็นตัวของตัวเอง และมีความเป็นอิสระสูง เมื่อเปรียบเทียบกับผม” Philip Johnson สถาปนิกชื่อดังกล่าวถึง Louis Kahn ในสารคดี My Architect

 Salk Institute

Location: San Diego, California, USA

Jonas Salk ผู้ค้นพบวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอ มีโครงการสร้างอาคารวิจัย Salk Institute ในเมือง San Diego, California ซึ่งได้ Louis Kahn เป็นสถาปนิกผู้ออกแบบโปรเจค Salk Institute เป็นโปรเจคที่มีชื่อเสียงอย่างมากของเขา เพราะเป็นสถาบันวิจัยที่พิเศษและแตกต่างจากอาคารวิจัยทั่วไป โดย Jonas Salk ตั้งใจให้อาคารนี้นอกจากจะเป็นที่วิจัยแล้ว ยังเป็นสถานที่จุดประกายความคิดสร้างสรรค์ เป็นสถานที่รวมตัว พบปะผู้คนอีกด้วย

ฟังก์ชันอาคารประกอบด้วยห้องทดลอง ห้องวิจัย และ Meeting Space สำหรับบุคคลภายในและภายนอก Salk Institute เป็นอาคารที่ดูเคร่งขรึม จริงจัง มีความสมมาตร และมีพื้นที่ค่อนข้างเยอะ แต่เมื่อเดินเข้าไปในสเปซจะสัมผัสได้ถึงพลังและความใหญ่โตของอาคาร รวมทั้งยังมีการออกแบบแสงธรรมชาติให้สอดแทรกเข้ามาในอาคารแบบเป็นจังหวะ มีแสงส่องลงมาเป็นช่วงๆ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ Salk Institute มีความแตกต่างจากอาคารอื่นๆ ในสมัยนั้น

Salk Institute เป็นอาคารเปิดกว้างมีพื้นที่โล่ง สำหรับวางอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ ส่วนวัสดุที่เลือกใช้ Louis Kahn เลือกวัสดุที่เรียบง่าย คงทน และไม่ต้องดูแลรักษามาก แต่ในขณะเดียวกันก็มีความเป็นมิตร ไม่เคร่งขรึมจนเกินไปนัก เพื่อให้เหล่านักวิทยาศาสตร์และผู้เยี่ยมชมมีแรงบันดาลใจในการทำวิจัยต่อไป

Art United Center

Location: Fort Wayne, Indiana, USA

Art United Center อาคารจัดแสดงงานละครและศิลปะ มี Façade อิฐทรงโค้งและผนังคอนกรีตเป็นจุดเด่น ภายในอาคารออกแบบโรงละครด้วยระบบ Acoustic ทำให้เสียงมีคุณภาพดี และทุกที่นั่งในโรงละครก็สามารถมองเห็นเวทีได้ชัดเจน

ภายในอาคารมีสตูดิโอ 2 แห่ง ห้องซ้อมและห้องเก็บอุปกรณ์สำหรับทำฉาก ออฟฟิศของโรงละคร Youtheatre และห้องพักเจ้าหน้าที่ ส่วนด้านหน้าอาคารจะมีลานขนาดใหญ่ติดกับถนนสายหลัก เป็นพื้นที่พบปะสังสรรค์ จัดกิจกรรมหรือเทศกาลกลางแจ้ง

“หลังจากการรีเสริชและสังเกตโรงละคร ก็ได้ข้อสรุปที่ว่า ผมจะออกแบบโรงละครและเวทีเป็นดั่งไวโอลิน เพราะเป็นเครื่องดนตรีที่มีความประณีตและอ่อนโยน ใครๆ ก็สามารถได้ยินเสียงเครื่องดนตรีชนิดนี้ แม้เสียงจะเบาเพียงใดก็ตาม ส่วนโถงต้อนรับและพื้นที่อื่นๆ เปรียบดั่งกล่องไวโอลินที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง” Louis Kahn กล่าวถึงแนวคิดในการออกแบบ

แนวทางการออกแบบของ Louis Kahn เน้นที่ความรู้สึกและการใช้ประสาทสัมผัสของผู้ใช้งานสามารถรับรู้และเข้าใจเรื่องราวของละครที่ได้รับชม ด้วยเสียงคุณภาพดีและโครงสร้างที่เรียบง่าย วัสดุที่ใช้ในอาคารก็เป็นวัสดุที่หาได้ง่าย เช่น อิฐ คอนกรีต และไม้โอ๊ค เป็นต้น มากไปกว่านั้นยังใส่ใจถึงแสงธรรมชาติและการเล่นกับแสงที่ส่องทะลุผ่านพื้นที่ภายในอาคาร เพื่อสร้างอาคารที่เป็นดั่งบทกวี ชีวิต และความยิ่งใหญ่

Four Freedoms Park

Louis Kahn ใช้เวลาสั่งสมประสบการณ์อยู่นานหลายปี จนกระทั่งประสบความสำเร็จตอนอายุ 50 ปี และเสียชีวิตในวัย 73 ปี ในปี 1974 ซึ่งการเสียชีวิตของ Louis Kahn เป็นเรื่องที่น่าเศร้า เพราะเขาเสียชีวิตด้วยอาการหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันในห้องน้ำชาย สถานีรถไฟ Penn Station และใช้เวลาถึง 3 วัน กว่าจะมีคนพบเขา อย่างไรก็ตามกระเป๋าถือในวันที่เขาเสียชีวิตนั้น มีแบบร่างโครงการ Franklin D Roosevelt ที่ New York Roosevelt Island อยู่ อีก 40 ปี ให้หลังแบบร่างอันนี้ ก็กลายเป็นโปรเจคชิ้นสุดท้ายของเขา กับผลงาน Four Freedom Park ใน New York นี่เอง

Salk Institute

ในช่วง 20 ปีก่อนเสียชีวิต เขาเปรียบเสมือนศาสดาแห่งสถาปัตยกรรมยุคโมเดิร์น และในปัจจุบันเขาก็ยังคงเป็นสถาปนิกที่เป็นตำนาน ผลงานของเขาต่างถูกเล่าขาน เป็นที่ชื่นชมและสร้างแรงบันดาลใจให้กับเหล่าสถาปนิกรุ่นหลังเสมอมา

ขอบคุณรูปภาพและเรื่องราวจาก Archdaily, Artsunited, Salk Institute, Chula